ปริศนาโบราณคดี : ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ศิลปินของเรา ศิลปินของโลก (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ภาพจากนิตยสาร ฅ ฅน กันยายน 2550

 

 

‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’

ศิลปินของเรา ศิลปินของโลก (1)

 

มิรู้จะสรรหาฉายาใดมากล่าวขานให้เหมาะสมกับสถานะที่แท้จริงของบุรุษผู้นี้ดี

ผู้ที่เป็นเสมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ สารานุกรมวรรณกรรมเดินได้

นักอุดมคติผู้ไม่เคยขายวิญญาณ

ปราชญ์แห่งโลกน้ำหมึก หรือบรรณาธิการเครางามชั่วชีวิต?

ทุกครั้งที่ย้อนระลึกถึงบรรยากาศภายในบ้านทุ่งสีกันริมทางรถไฟของ “พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี” แถวรังสิต มักหนีไม่พ้นภาพกองหนังสือสูงเท่าภูเขาเลากาวางกระจายเต็มมุมบ้าน ราวกับไม่มีที่จะเก็บ ทั้งๆ ที่ทุกซอกทุกอณูของฝาผนังบ้านก็มีแต่ชั้นวางหนังสือและตู้หนังสืออัดแน่นไปหมดแล้ว

เรียกได้ว่า หากเราแทรกตัวลงเข้าไปไม่ว่าหลืบมุมไหนของบ้านก็ตาม เป็นต้องปะทะกับเจ้าแผงหนังสือเป็นด่านหน้า ทั้งในระดับสายตา ระดับเหนือศีรษะ หรือแม้แต่จะก้มลงไปถูบ้านใต้โต๊ะ ก็สามารถหยิบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ณ จุดนั้นๆ เปิดอ่านได้ทันทีไม่ซ้ำเล่ม

เป็นภาพฝันที่ดิฉันจดจำมาตั้งแต่วัยเบญจเพส นับแต่ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนั้น

ฝันว่าสักวันหนึ่ง ดิฉันจะต้องมี “บ้านหนังสือ” หรือมีห้องสมุดขนาดใหญ่ให้หนอนหนังสือเช่นดิฉันชอนไชใช้เป็นนิวาสสถานแทนบ้าน เช่นนั้นบ้าง และแล้ววันนี้ก็เป็นความจริง แม้จำนวนหนังสือคงจะไม่มากเท่าที่พี่สุชาติสะสมไว้

คนที่รักหนังสือเป็นบ้าเป็นหลังในโลกนี้แบบพี่สุชาติ หรือแบบดิฉันคงมีไม่มากนัก มีเงินเท่าไหร่ไม่เคยคิดจะเอาไปลงทุนทำธุรกิจต่อยอดให้เงินในกระเป๋างอกเงย แต่กลับเอาไปทุ่มซื้อหนังสือมาดื่มกินต่างข้าว ราวกับว่ามันทำให้เราอิ่มท้องได้

ใช่! มันอาจไม่ได้ช่วยให้ท้องเราหายโหยหิว กระนั้นก็ตาม เราสัมผัสได้เองว่า “วิญญาณ” ของเรามันอิ่มเอมเสียเหลือเกิน ทั้งสมองของเราก็ไม่เคยพร่องจากอาหารทางปัญญาเลย

ดิฉันรู้สึกสะเทือนใจยิ่งนักทันทีที่ได้ทราบข่าว “การปลด” หรือ “การถอดถอน” ความเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ของพี่สุชาติ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยที่ดิฉันไม่ทราบเหมือนกันว่าตอนเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติมีมติเห็นชอบประกาศให้พี่สุชาติเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อนนั้น เขาให้เหตุผลว่าอย่างไรกันบ้าง

ช่างเถิด! ไม่ใช่สิ่งที่ดิฉันอยากรู้เท่าใดนัก ดิฉันแค่เพียงอยากจะร่วมเป็นหนึ่งในการจาระไนถึงคุณูปการของบุรุษผู้นี้ที่มีต่อแวดวงวรรณกรรมไทย แวดวงวรรณกรรมเทศ รวมไปถึงบทบาทของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย พี่ใหญ่ที่เป็นเสาหลักคอยให้กำลังใจน้องนุ่งต่อการก้าวออกมารับผิดชอบปัญหาบ้านเมือง ว่า “อดีตศิลปินแห่งชาติ” ผู้นี้ได้ทำอะไรฝากไว้ให้แก่แผ่นดินบ้าง เท่านั้นเอง

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นทรรศนะของดิฉันล้วนๆ จากการที่ได้สัมผัสพี่สุชาติผ่านชีวิตและผลงาน บางครั้งในระยะห่าง บางครั้งใกล้ชิด โดยไม่มีการอ้างอิง “คำให้การ หรือการประกาศเกียรติคุณ” จากองค์กร หน่วยงาน สถาบันใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

เขาชวนให้คนหันมาอ่านหนังสือ

เขายกระดับมันสมองของนักอ่าน

เขาจุดประกายให้คนอยากเขียนหนังสือ

เขาสร้างสำนึกทางการเมืองให้สังคมได้ตระหนัก

เขาเขียนหนังสือและวาดภาพ

 

ชื่อหัวเรื่องย่อยๆ เหล่านี้ ตอนแรกดิฉันตั้งใจจะเขียนอรรถาธิบายแบบแยกพรรณนาทีละประเด็นให้ผู้อ่านเห็นตามทีละเปลาะๆ แต่ดูเหมือนจะยากเกินไปจึงขออนุญาตเขียนเรื่องทั้งหมดนี้รวมกันภายใต้หัวข้อย่อย 4-5 หัว

พี่สุชาติมิใช่คนที่สักแต่ว่าจมดิ่งในกองหนังสือด้วยความลุ่มหลงและดื่มร่ำมธุรสแห่งอักษรอยู่เพียงเดียวดาย ทว่าเขายังได้แบ่งปันสุนทรียารมณ์ใน “อำนาจแห่งวรรณกรรม” นั้น มาสู่มวลมนุษยชาติคนอื่นๆ อีกด้วย

เรียกได้ว่า ไม่มีหน่วยงานใดในกระทรวงศึกษาธิการ หรือนักเขียนคนไหนที่จะมีความสามารถปลุกเร้าให้คนในชาติหันมาสนใจในการอ่านหนังสือวรรณกรรมทุกประเภทได้เท่ากึ่งก้อยแล้วประสบความสำเร็จเท่าผู้ชายคนนี้อีกแล้ว

ทั้งๆ ที่ในยุค 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เรายังไม่มีโลกออนไลน์ มีแต่หนังสือตีพิมพ์บนแผ่นกระดาษเป็นเล่มๆ ท่ามกลางความขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก แต่พี่สุชาติก็สามารถสร้างพื้นที่ให้ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่มีหัวก้าวหน้าหันมาอ่านหนังสือกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นกิจจะลักษณะ

เริ่มจากการที่เขาเสพงานวรรณกรรมไทย-เทศต่างข้าวมานานหลายปีดีดัก จนค้นพบสัจธรรมว่าไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนในโลกก็ตาม “จิตวิญญาณเสรีแห่งขบถ” เท่านั้นที่จะทำให้คุณมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

เขาเห็นการต่อสู้ของนักเขียนข้ามทวีป เขากระอักรสอักษราจนแทบจะสำลัก เขาจึงต้องการแบ่งปัน จนถึงขั้นป่าวประกาศให้เพื่อนนักอ่านชาวไทยได้รู้โดยทั่วกันว่า มีหนังสือดีๆ อยู่ที่ไหนบ้างในมุมโลก มีนักเขียนคนไหนที่คนไทยควรรู้จัก

ชีวิตของเขาทั้งหมดคือมหาวิทยาลัยวรรณกรรม เขาสร้างสถาบันการเรียนรู้แห่งโลกศิลปะขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง เริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือวรรณกรรมไทย-เทศจนทะลุปรุโปร่ง ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาอ่านระหว่างบรรทัด จากนั้นหยิบงานต้นฉบับภาษาต่างชาติขึ้นมาแปล วิจารณ์ เผยแพร่ หาทุนตีพิมพ์ในรูปแบบวารสาร นิตยสาร พ็อกเก็ตบุ๊กต่างๆ

เขาไม่ได้เก็บตัวเป็น “นักแปล” หรือ “นักเขียน” แบบเงียบๆ เพียงลำพัง แต่เขาสนุกและยอมเหนื่อยกับการก้าวมาเป็น “ตัวกลาง-นักประสานสิบทิศ-ครูใหญ่แห่งโลกวรรณกรรม” ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยบทบาทของ “บรรณาธิการ” ที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่คัดเลือกผลงานของนักเขียนลงมาตีพิมพ์เท่านั้น

แต่เขายังเชื้อเชิญนักเขียนทุกรุ่นทุกวัยกระโจนสู่เวทีที่ท้าทาย ให้เข้าประกวดเรื่องสั้นในนาม “ช่อการะเกด” ทำให้ถนนทุกสายของเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงน้ำหมึกต่างพุ่งตรงมาหาเขา ล้อมวงเสวนาถกสาระของวรรณกรรมไทย-เทศ

นี่คือบทบาทใหญ่ที่สำคัญยิ่ง ที่ไม่มีองค์กรภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าหอสมุดแห่งชาติ ชมรมวรรณศิลป์ในสถานศึกษา หรือภาควิชาภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยแห่งใดทำได้

คนที่สนใจในงานวรรณกรรมไทย-เทศ จึงถูกหลอมรวมมารู้จักกันที่บ้านทุ่งสีกัน บ้างก็คุยกันผ่านคำถาม-คำตอบในคอลัมน์ “สิงห์สนามหลวง” โดยไม่ต้องเห็นหน้าค่าตา พวกเรามาจากต่างสารทิศต่างอาชีพต่างภูมิภาค นานทีปีหนจักได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนหัวใจเดียวกันในเวที “โลกหนังสือ” ในงานประดับ “ช่อการะเกด” แบบตัวเป็นๆ ปีละ 2-3 งานบ้าง

 

 

พี่สุชาติทำงานแบบ Work from Home มีบ้านเป็นออฟฟิศตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว วันๆ เขาต้องไปส่งจดหมายที่เขียนตอบเหล่านักเขียน-นักอ่าน หรือบ้างก็ส่งหนังสือให้มิตรรักแฟนคลับที่ไปรษณีย์ กลับมาบ้านไขตู้ไปรษณีย์หอบซองเอกสารกองพะเนินเทินทึกมาเปิดอ่านทีละฉบับ ทั้งนักเขียนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ นักอ่าน ครูภาษาไทย ร้อยพ่อพันแม่ ที่ล้วนต่างก็เห็นว่าเขาคือ “ครูใหญ่แห่งวงวรรณกรรม”

จดหมายเหล่านั้นมีทั้งแสดงความเห็นวิพากษ์ต่อทรรศนะของนักเขียนคนนั้นคนนี้ มีทั้งวิจารณ์แย้งต่อบทวิจารณ์ของพี่สุชาติที่มีต่อหนังสือบางเล่ม มีทั้งนักเขียนหน้าใหม่นำเสนอผลงานเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย ซึ่งพี่สุชาติต้องนั่งอธิบายยาว 2-3 หน้า ว่าจุดเด่นจุดด้อยในเรื่องสั้นชิ้นนี้คืออะไร ต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร

บ้างถามเรื่องประวัติความเป็นมาของนักเขียนยุคดึกดำบรรพ์ นับแต่มหากาพย์โฮเมอร์ มาจนถึงโองการแช่งน้ำ เจ้าฟ้ากุ้ง เทียนวรรณ วรรณกรรมปฏิวัติของจีน รัสเซีย อเมริกาใต้ หรือแม้แต่วรรณกรรมหาอ่านยากอย่างทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ พี่สุชาติยังต้องทำหน้าที่เป็นเสมือนนักข่าวแถวหน้าสุดคอยรายงานเกาะกระแสโลกวรรณกรรมมาให้แฟนๆ รับทราบอีกด้วย คือต้องติดตามความเคลื่อนไหวว่าปีนั้นๆ รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมตกเป็นของนักเขียนคนไหน มีข้อโต้แย้งของคณะกรรมการบางท่านหรือไม่

พี่สุชาติต้องรีบสั่งซื้อผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบล พูลิตเซอร์ ฯลฯ มาแปล ทำความรู้จักกับชีวิตของนักเขียนเหล่านั้นอย่างตกผลึกก่อน จึงรีบนำเสนอให้ผู้อ่านชาวไทยไม่ตกข่าว

ทั้งนี้ ยังไม่นับว่า การที่พี่เขาต้องอยู่ในกระแสคอยรับทราบข่าวว่านักเขียนคนไหนเสียชีวิต หรือมีผลงานอะไรออกมาใหม่อีกด้วย

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ภาพจากนิตยสาร ฅ ฅน กันยายน 2550