On History : กำไลสำริด กับประเพณีฝังศพในยุคโลหะที่บ้านเชียง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
(ซ้าย) กำไลสำริด แบบรูปตัดกลวง จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (ขวา) กระดึงสำริด มีลายจำหลักรูปขวัญ ตามความเชื่อในศาสนาผี จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

 

 

กำไลสำริด

กับประเพณีฝังศพในยุคโลหะ

ที่บ้านเชียง

 

นักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี มาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่างจอยซ์ ไวต์ (Joyce White) เพิ่งจะเขียนบทความอัพเดตสถานภาพความรู้เกี่ยวกับ “วัฒนธรรมบ้านเชียง” ไว้อย่างน่าสนใจในบทความที่ชื่อว่า “The Metal Age of Thailand and Ricardo’s Law of Comparative Advantage” ลงในวารสาร Archaeological Research in Asia ฉบับประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้

(อันที่จริงแล้วบทความชิ้นนี้ให้เครดิตคนเขียนอีกคนหนึ่งคือ อลิซาเบ็ธ จี. ฮามิลตัน [Elizabeth G. Hamilton] ซึ่งก็เป็นผู้ที่ดำเนินการศึกษาเรื่องบ้านเชียงมาพร้อมๆ กับไวต์ แต่ฮามิลตันนั้นทำงานในห้องแล็บวิทยาศาสตร์มากกว่าที่จะเป็นคนตีความ และถอดรหัสหลักฐานที่ขุดค้นได้ ดังนั้นในข้อเขียนชิ้นนี้ ผมจึงขอพูดถึงข้อสันนิษฐานชิ้นนี้ว่าเป็นข้อเสนอของไวต์เพื่อความกระชับยิ่งขึ้น)

บทความชิ้นที่ว่านี้ใช้ฐานข้อมูลหลักจากการขุดค้นที่บ้านเชียง ร่วมกับข้อมูลการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีที่เป็นปริมณฑลทางวัฒนธรรมของบ้านเชียงอย่างบ้านดุง, บ้านผักตบ และดอนกลาง อย่างละเอียดยิบ เพื่อนำเสนอภาพรวมของการเติบโตของวัฒนธรรมต่างๆ ในช่วงยุคโลหะของอุษาคเนย์ โดยมีวัฒนธรรมบ้านเชียงเป็นตัวดำเนินเรื่อง

ที่สำคัญก็คือ ไวต์ได้แปลความหลักฐานเหล่านี้ผ่าน “กฎของริคาร์โด” ที่เรียกว่า “ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” ซึ่งเป็นทฤษฎีเก่าแก่ทางเศรษฐศาสตร์ ที่เสนอขึ้นโดยเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo, พ.ศ.2315-2366)

กล่าวโดยสรุป “ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” ของริคาร์โดนั้นนำเสนอแนวความคิดที่ว่า การยึดหลักการแบ่งงานกันทำ รัฐจะผลิตสินค้าที่ตนได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับอีกรัฐหนึ่ง หรือผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำที่สุด และส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอีกรัฐ ในทางตรงกันข้ามก็จะนำเข้าสินค้าที่ผลิตแล้วเสียเปรียบ หรือมีต้นทุน และค่าเสียโอกาสที่สูงกว่าจากรัฐอื่น

และก็เป็นด้วยหลักการทำนองนี้นี่เอง ที่ทำให้ไวต์สันนิษฐานว่า ชุมชนต่างๆ ที่แถบลำน้ำโขง (ซึ่งรวมถึงชุมชนต่างๆ ในวัฒนธรรมบ้านเชียง) นำทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ โดยเฉพาะทองแดง มาแลกเปลี่ยนกับทรัพยากรอย่างอื่น โดยเฉพาะดีบุก ที่มีอยู่มากทางตอนใต้ของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดพัฒนาการของโลหะผสมที่เรียกกันว่า “สำริด”

 

ไวต์ยังได้ย้ำด้วยว่า อุษาคเนย์เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่โลหะ โดยเฉพาะที่นำมาใช้ทำโลหะผสมเป็น “สำริด” มากเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ “ทองแดง” และโดยเฉพาะ “ดีบุก” เป็นแร่ธาตุหายากในโลก

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่อุษาคเนย์จะมีเทคโนโลยีการหล่อสำริดที่ก้าวหน้ามากๆ ในโลกยุคโบราณ พร้อมๆ กับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนในบริเวณนี้เติบโตขึ้นจากการค้า เพราะความต้องการในวัตถุดิบคือแร่ธาตุอย่าง ทองแดง และดีบุกนั่นแหละ

ที่สำคัญก็คือ ไวต์อธิบายว่า หลุมฝังศพต่างๆ ที่พบอยู่ในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้น เป็นหลุมศพที่ถูกขุดลงไปในใต้ถุนบ้านเรือนของผู้คนในชุมชนบ้านเชียงเมื่อครั้งกระโน้น เนื่องจากมีการขุดพบร่องรอยของหลุมเสาบ้าน คร่อมทับอยู่ในบรรดาหลุมฝังศพเหล่านี้

และนั่นก็ทำให้เธอได้ทำการจำแนกสิ่งของที่พบในหลุมขุดค้นที่บ้านเชียง อย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นพิเศษว่าของชิ้นไหนอยู่ในหลุมฝังศพ ก็หมายความว่าเป็นสิ่งของอุทิศให้กับผู้ตาย ส่วนชิ้นไหนอยู่ในชั้นอยู่อาศัย หมายถึงเป็นของที่ถูกทิ้งอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน (ซึ่งนักโบราณคดีสามารถสังเกตได้จากสี และองค์ประกอบอื่นๆ ของดินว่า แตกต่างไปจากดินในหลุมฝังศพ) ก็คือเศษขยะที่ถูกทิ้งอยู่ในบริเวณใต้ถุนบ้านนั่นเอง

จากวิธีการดังกล่าว ไวต์จึงได้ค้นพบว่า เครื่องสำริดที่พบเยอะที่สุดคือ “กำไล” ซึ่งพบทั้งที่เป็นเครื่องอุทิศ และที่ถูกทิ้งเป็นเศษขยะ

ดังนั้น เธอจึงได้เสนอต่อไปว่า ที่เคยเชื่อกันว่า กำไลสำริดนั้นเป็นเครื่องประดับที่ใช้กันอยู่เฉพาะชนชั้นสูงของคนในยุคโลหะของอุษาคเนย์นั้นไม่เป็นความจริง แต่เป็นของที่คนทั่วไปก็ใช้กันได้ จึงได้พบกำไลที่เป็นเศษขยะอยู่นอกหลุมฝังศพอยู่มากมาย

 

เธอยังสำทับ (ขิง ในภาษาวัยรุ่นทุกวันนี้นั่นแหละครับ) เอาไว้ด้วยว่า วิธีการที่นักโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ ทำมาตลอด 30 ปีคือเลือกเอาเฉพาะเครื่องสำริดชิ้นสวยๆ ไปศึกษา แต่ไม่ศึกษาชิ้นที่เป็นเศษขยะนั้น ไม่ต่างอะไรกับการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งเลือกศึกษาเฉพาะงานศิลปะ คือสิ่งของที่สวยงาม จึงทำให้เราได้ภาพของยุคโลหะของอุษาคเนย์ที่ผิดเพี้ยนไป เพราะไม่มีการศึกษาชิ้นที่เป็นเศษ ด้วยอคติบางอย่าง

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผลจากการวิจัยของไวต์และฮามิลตัน พบว่า เครื่องสำริด (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกำไล) ที่เป็นของที่อุทิศให้แก่ผู้ตายในหลุมศพ จะมีส่วนผสมของดีบุกอยู่ในปริมาณที่มาก แตกต่างจากเครื่องสำริดที่เจอนอกหลุมศพ ซึ่งแทบไม่ผสมดีบุกแสดงว่า มีความแตกต่างในการผลิตระหว่างข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม กับสิ่งของที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน

และต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่า ถ้าจะว่ากันตาม “ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” ของริคาร์โด ซึ่งไวต์ใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายความเจริญของอุษาคเนย์ในช่วงยุคโลหะ ถึงขนาดที่นำมาใช้เป็นชื่อบทความของเธอแล้ว “ทองแดง” นั้นเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายในเขตลุ่มน้ำโขง (ในบทความชิ้นนี้ของไวต์ระบุว่า แหล่งทองแดงสำคัญในอุษาคเนย์ ภาคผืนแผ่นดินใหญ่มี 3 แห่งคือ เขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี, ภูโล้น จ.หนองคาย และเซโปน ในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว)

ส่วน “ดีบุก” เป็นของที่พบอยู่ทางตอนใต้ของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ดังนั้น ดีบุกซึ่งเป็นทรัพยากรหายากในพื้นที่ จึงเป็น “สินค้า” ที่ถูกนำเข้ามาจากที่อื่น

(ในทำนองเดียวกัน “ทองแดง” ซึ่งเป็นของหายากในพื้นที่ทางตอนใต้ของอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ คือบริเวณแหลมมลายูนั้น ก็กลายเป็น “สินค้า” ที่ชุมชนบริเวณลุ่มน้ำโขง ที่มีวัฒนธรรมบ้านเชียงเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ส่งออกไปยังพื้นที่บริเวณอื่นด้วย ลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน และชุมชนในพื้นที่ทั้งสองแห่ง ซึ่งย่อมทำให้เกิดการเจริญเติบโตทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และเศรษฐกิจการค้า ที่ผลักดันให้ยุคโลหะในอุษาคเนย์เจริญรุ่งเรืองขึ้น)

และก็แน่นอนด้วยว่า เมื่อเป็นสิ่งของที่อิมพอร์ตมาจากที่อื่นแล้ว การผสมดีบุกเข้าไปในปริมาณมาก (ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อสำริดมีความแวววาวมากขึ้นไปด้วย) ก็กลายเป็นของพิเศษที่ถูกใช้ในพิธีกรรม อย่างการฝังศพเท่านั้น ส่วนเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันนั้นก็ผสมดีบุกลงไปในปริมาณที่ไม่มากนัก เพราะถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยนั่นเอง

 

ผมยอมรับว่า ทั้งวิธีการศึกษาที่ละเอียดลออ และข้อเสนอต่างๆ ของไวต์นั้น น่าสนใจเป็นอย่างมากเลยนะครับ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าข้อเสนอไวต์นั้นอาจจะไม่ถูกต้องไปทั้งหมดเสียทีเดียว

นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เพิ่งจะเสนอว่า ร่องรอยหลุมเสาที่ขุดเจอในหลุมขุดค้นจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้น อาจจะไม่ใช่หลุมเสาบ้านที่ใช้พำนักอาศัยกันโดยทั่วไป แต่เป็นหลุมเสาของ “เฮือนแฮ้ว” ต่างหาก

“เฮือนแฮ้ว” ที่ว่านี้คือ “เรือนผี” (แฮ้ว ตรงกับคำว่า เลว) เป็นเรือนเสาสูง 4 เสา มีลักษณะคล้ายเรือนจำลอง คือย่อส่วนจากบ้านเรือนจริงๆ ใช้เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ ยังมีพบใช้อยู่ในกลุ่มผู้ไท หรือไทดำ ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม แต่ยังมีร่องรอยหลักฐานด้วยว่า มีพบอยู่ในกลุ่มชนอื่นๆ ในอุษาคเนย์

ดังนั้น ถ้ารอยหลุมเสาที่พบในหลุมขุดค้นที่บ้านเชียง จะเป็นรอยหลุมเสาของเฮือนแฮ้ว ก็น่าจะเป็นไปได้อยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์ส่วนใหญ่ มักจะใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้าน ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

แน่นอนที่มีหลักฐานว่า ชุมชนในสังคมแบบดั้งเดิมของอุษาคเนย์นั้น มีการฝังศพที่ใต้ถุนบ้านด้วย แต่ด้วยขนาดของชุมชนที่บ้านเชียงที่จัดได้ว่า เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ และมีประเพณีการฝังศพที่ซับซ้อนนั้นก็ยังทำให้เราไม่อาจแน่ใจนักว่า พวกเขาจะยังฝังศพที่ใต้ถุนบ้านอยู่หรือเปล่า?

ที่สำคัญก็คือ ผมไม่แน่ใจนักว่า เครื่องสำริด โดยเฉพาะเครื่องประดับอย่าง “กำไล” จะเป็นสิ่งของที่ใช้กันโดยทั่วไป ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง (ถึงแม้จะเป็นของที่ผสมแร่อิมพอร์ตอย่างดีบุก ในปริมาณไม่มากนักก็เถอะ)

เพราะก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย ถ้ากำไลที่มีส่วนผสมของดีบุกในปริมาณต่ำ ซึ่งพบนอกหลุมฝังศพเหล่านี้ จะเป็นของที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งร่างกาย ในการประกอบพิธีกรรม

ย้ำอีกทีว่า ข้อเสนอของไวต์นั้นน่าสนใจ แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นข้อสรุปที่จริงแท้นั้น ผมคิดว่ายังไม่น่าจะใช่เสียทีเดียว