On History : ทำไม ศิลป์ พีระศรี จึงเป็นชาวอิตาลีที่มีชื่อเป็นภาษาไทย?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

ทำไม ศิลป์ พีระศรี

จึงเป็นชาวอิตาลี ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย?

 

พ.ศ.2466 “คอร์ราโด เฟโรซี” (Corrado Feroci) ในวัย 31 ขวบปี ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยาม ที่จัดขึ้นในยุโรป และนี่ก็เป็นจุดพลิกผันของศิลปินชาวตะวันตกคนหนึ่ง ที่ได้เข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำแผนกศิลปากรสถาน แห่งราชบัณฑิตยสภา ในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งสยามประเทศ

หลังจากนั้น นายเฟโรซีก็ได้ทำงานในสยามเรื่อยมาผ่านยุครัชกาลที่ 6 และ 7 ตลอดจนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

จนกระทั่ง พ.ศ.2485 ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทย ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจากประเทศสยาม รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโดยเลือกเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ ภายหลังจากที่กองทัพของญี่ปุ่นได้ขอใช้ไทยเป็น “ทางผ่าน” ไปยังพม่า และอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนใต้อาณานิคมของอังกฤษ และเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายพันธมิตรในดินแดนแถบนี้ จนเกิดเป็นตำนานเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟสายมรณะ

เพียงหนึ่งปีถัดมาคือ พ.ศ.2486 รัฐบาลของเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ในอิตาลี ประเทศบ้านเกิดของนายเฟโรซี ซึ่งก็เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ก็ประกาศยอมแพ้สงคราม

และก็เป็นตรงนี้แหละครับ ที่นายเฟโรซีมีโอกาสได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นภาษาไทย

ผลจากการที่อิตาลียอมแพ้สงครามทำให้ชาวอิตาเลียนต้องตกเป็นเชลยศึกของเยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งในกรณีของประเทศไทย นายเฟโรซีในฐานะชาวอิตาเลียนก็ต้องตกเป็นเชลยญี่ปุ่น และต้องไปใช้แรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะนั่นเอง

แต่รัฐบาลของจอมพลแปลกท่านขออนุญาตควบคุมนายเฟโรซีเอาไว้เอง โดยมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการ โอนสัญชาตินายเฟโรซีจากอิตาเลียน มาเป็นสัญชาติไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศิลป์ พีระศรี” ซึ่งก็คือ อ.ศิลป์ คนเดียวกันกับที่ถูกนับว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทยนี่แหละครับ

 

ทําไมรัฐบาลของ จอมพล ป. จึงช่วยเหลือ อ.ศิลป์?

นอกเหนือจาก อ.ศิลป์จะรับราชการในไทยมานานพอควร และเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมแล้ว เรายังควรสังเกตด้วยว่า อ.ศิลป์ พีระศรี นั้น เป็นผู้ควบคุมการสร้างอนุสาวรีย์สำคัญสองแห่ง ในยุคของคณะราษฎร

แถมอนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งที่ว่านี้ยังทำพิธีเปิดในยุคที่จอมพลแปลกท่านนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยแรกอีกด้วย นั่นก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (เริ่มสร้าง พ.ศ.2482 เปิดเมื่อปี พ.ศ.2483) และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (วางศิลาฤกษ์ พ.ศ.2484 และเปิดปี พ.ศ.2485) เรียกได้ว่า อ.ศิลป์ไม่ได้เป็นห่างคนไกลอะไรเลยกับจอมพล ป.เลยสักนิด

ควรจะสังเกตด้วยว่า ในการสร้างลัทธิชาตินิยมในช่วงเวลาดังกล่าวของจอมพล ป.นั้น มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” 12 ฉบับ ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2482-2485

“รัฐนิยม” ที่ว่าก็คือประกาศของทางการเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ

และในรัฐนิยมฉบับที่ 11 เรื่องกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนไทย ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2484 มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า

“3. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืนทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศรัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส”

ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จอมพล ป.มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้คนไทยใช้เวลาว่างไปดูงานศิลปะ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่จอมพลแปลกคนเดียวกันนี้เองจะได้บัญชาให้พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ณ ขณะจิตนั้นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งโรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง ให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2486 โดยให้พระยาอนุมานราชธนเป็นอธิการบดี และให้ อ.ศิลป์เป็นคณบดีของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

แน่นอนว่า การยกสถานะโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ผู้คนใช้เวลาว่างไปดูงานศิลปะ ด้วยการยกระดับทั้งศิลปิน และงานศิลปะของไทยในเวลานั้น โดยมี อ.ศิลป์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญนั่นเอง

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราอาจจะเห็นภาพอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากปากคำของศิลปินผู้เป็นลูกศิษย์คนสำคัญ และมีความสนิทสนมกับ อ.ศิลป์เป็นอย่างมากอย่างทวี นันทขว้าง เคยเล่าถึงความคิดเห็นที่ อ.ศิลป์มีต่อจอมพล ป. เอาไว้ว่า

“ท่านอาจารย์ศิลป์เคยพูดว่า ถ้าไม่ได้จอมพลแปลก พิบูลสงคราม คอยช่วยเหลือ มหาวิทยาลัยศิลปากรของเราคงจะตั้งขึ้นสำเร็จได้ยาก และชมท่านจอมพลแปลกว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด มีเสน่ห์ สุภาพ พูดคุยเก่ง

เมื่อจอมพล ป.ต้องหมดอำนาจลงเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองผันแปร ศัตรูทางการเมืองของท่านก็ได้โอกาสขุดคุ้ยเอาเรื่องต่างๆ โจมตีซ้ำเติมเสียย่อยยับ รวมทั้งจะให้ยุบมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย ซึ่งระยะนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าท่านอาจารย์ศิลป์ดูขรึมซึมไปทีเดียว”

จากปากคำของคุณทวีข้างต้น จะเห็นได้ว่า จอมพลแปลกกับ อ.ศิลป์นั้นมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดีเอามากๆ เลยทีเดียว

ในขณะเดียวกับที่ชะตากรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรในสายตาของ อ.ศิลป์นั้นก็ผูกติดอยู่กับชีวิตทางการเมืองของจอมพลท่านนี้เป็นอย่างมาก

ซึ่งนั่นก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยในขณะนั้นอย่างชัดเจน

อันที่จริงแล้ว ชิ้นงานศิลปะต่างๆ ที่ อ.ศิลป์ผลิตขึ้นในช่วงหลังจากคณะราษฎรก้าวขึ้นมามีอำนาจ โดยเฉพาะชิ้นงานในช่วงที่จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็น่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจจอมพล ป.เป็นอย่างมาก เพราะเกือบทั้งหมดเป็นงานศิลปะแบบฟาสซิสต์ที่แสดงรูปมนุษย์อย่างแข็งๆ แต่กำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อใหญ่โตเกินจริง

ซึ่งก็ดูสอดคล้องกับการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนมีร่างกายแข็งแรง ของจอมพล ป.อย่างชัดเจน

และถึงแม้ว่างานศิลปะของ อ.ศิลป์ในช่วงก่อนการขึ้นมามีอำนาจของคณะราษฎรนั้น จะไม่ได้มีลักษณะเป็นงานแบบฟาสซิสต์ คือไม่ได้เน้นรูปร่างที่บึกบึน จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า อ.ศิลป์เป็นศิลปินที่ทำงานตามใบสั่งของรัฐ

แต่จากข้อมูลแวดล้อมหลายๆ อย่าง ก็ชวนให้เชื่อได้ว่า อ.ศิลป์ก็คลุกคลี และน่าจะมีความนิยมเลื่อมใสในศิลปะแบบฟาสซิสต์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ง่ามของความเป็นชนชาวอิตาเลียน จากนครหลวงแห่งศิลปะอย่างเมืองฟลอเรนซ์

 

เรือน พ.ศ.2468 คือสองปีหลังจากที่ อ.ศิลป์ได้เดินทางเข้ามารับราชการในสยาม รัฐบาลอิตาลีได้ก่อตั้งอะไรที่เรียกกันในโลกภาษาอังกฤษว่า Fascist National Institute of Culture และ Ministry of Popular Culture เพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อตามแนวทางแบบฟาสซิสต์

และองค์กรเหล่านี้ก็ให้การสนับสนุนงานศิลปะภายในประเทศด้วยการซื้องานศิลปะ รวมไปถึงจัดนิทรรศการศิลปะด้วย จนทำให้วงการศิลปะของอิตาลีในขณะนั้นสนับสนุนแนวคิดแบบเผด็จการฟาสซิสต์ ถึงขนาดที่มีกลุ่มก้อนศิลปินที่เรียกร้องความเป็นชาตินิยมขวาจัด และแสดงออกในชิ้นงานศิลปะของพวกเขา

องค์กรของรัฐบาลอิตาลีข้างต้นทั้ง 2 องค์กร รวมถึงกลุ่มศิลปิน ยุติบทบาทลงเมื่อ พ.ศ.2486 หลังจากที่มุสโสลินีประกาศยอมแพ้สงคราม จึงทำให้ศิลปะแบบฟาสซิสต์รุ่งเรืองอยู่ในอิตาลีเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 20 ปี ระหว่าง พ.ศ.2468-2486

แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว อ.ศิลป์ได้เดินทางกลับไปยังประเทศอิตาลีถึง 2 ครั้งในปี พ.ศ.2473 (3 เดือน) และ พ.ศ.2481 (9 เดือน)

พร้อมกับที่ได้นำอิทธิพลศิลปะแบบฟาสซิสต์มาใช้ในชิ้นงานของตนเอง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

โดยเฉพาะในช่วงยุครัฐบาลที่มีจอมพลแปลกดำรงตำแหน่งเป็นท่านผู้นำ

และผมคงไม่ต้องบอกออกมาตรงๆ ใช่ไหมครับว่า เมื่อ พ.ศ.2486 ที่มีการยกสถานะโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่รัฐบาลของมุสโสลินีประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทำไมจอมพล ป.ท่านจึงช่วยเหลือนายเฟโรซีไม่ให้ตกเป็นเชลยของกองทัพญี่ปุ่น

พร้อมกับเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็นภาษาไทยว่า “ศิลป์ พีระศรี”?