ปริศนาโบราณคดี : ‘สงครามสามนคร’ (2) เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมสกุลช่างเมืองสรรคบุรี รับรูปแบบมาจากหริภุญไชย?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘สงครามสามนคร’ (2)

: เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมสกุลช่างเมืองสรรคบุรี

รับรูปแบบมาจากหริภุญไชย?

 

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการหนีทัพของกษัตริย์หริภุญไชยนาม “พระญาตราพกะ-พกราช-อัตราสตกราช” (ตำนานแต่ละฉบับเรียกชื่อแตกต่างกัน) ว่าหลังจากที่พระองค์ยกทัพหวนกลับมาต่อสู้กับ “พระญาอุจฉิฏฐจักรวัติราช” แห่งเมืองละโว้ที่มายึดครองเมืองลำพูนของตน เพื่อจะเอาเมืองลำพูนคืนให้ได้นั้น พระองค์ต้องประสบกับความปราชัยอีกคำรบหนึ่ง

คราวนี้ตำนานระบุว่า พระองค์กับไพร่พลนายทหาร ถึงกับต้องอพยพหนีด้วยการล่องน้ำปิงลงไปอาศัยอยู่ตามเขตป่า ณ สถานที่แห่งหนึ่งทางทิศใต้

คุณณัฏฐภัทร จันทวิช อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร ในช่วงหนึ่งราวสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมืองลำพูนมาก่อน ทำให้ท่านสนใจประเด็น “การหายสาบสูญไปของพระญาตราพกะ” พระองค์นี้อย่างมาก

กระทั่งปี 2545 ช่วงที่ดิฉันทำงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้จัดสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยประวัติศาสตร์หริภุญไชยและพระพิมพ์สกุลลำพูน ได้เชิญคุณณัฏฐภัทรมาร่วมเป็นวิทยากรหลักในครั้งนั้น

ปรากฏว่าคุณณัฏฐภัทรได้ตั้งคำถามหนึ่งแก่ดิฉันให้ช่วยขบคิดต่อ เป็นปรัศนีที่ดิฉันยังคาใจ จดจำได้อย่างแม่นยำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า

“เป็นไปได้ไหมที่พระญาตราพกะหรืออัตราสตกราช จะหนีพระญาอุจฉิฏฐจักรวัติราชไปปักหลักอยู่ที่เมืองแพรกศรีราชาหรืออีกชื่อคือเมืองสรรคบุรี?”

 

เมื่อคุณณัฏฐภัทรเห็นดิฉันขมวดคิ้วแล้วขมวดคิ้วอีก ท่านก็อธิบายต่อว่า

“ยังไม่มีนักวิชาการคนไหนศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นกระบวนการ แต่ขอฝากไปขบคิดต่อว่า เมืองที่กษัตริย์หริภุญไชยพลัดถิ่นพระองค์นั้นได้หนีไป ต้องอยู่แถวลุ่มน้ำเจ้าพระยาค่อนไปทางตะวันตกอย่างแน่นอนและต้องไม่ไกลจากลพบุรีมากเกินไปด้วย”

คุณณัฏฐภัทรมองว่า คำว่า “เมืองทางใต้” ในตำนานนั้นไม่บอกว่าไกลจากลำพูนมากแค่ไหน และใต้เฉียงอะไร แต่เราต้องมาใช้ตรรกะคิดต่อเอาเอง

“เราลองมาไล่เรียงดูนะว่าหากเราเป็นพระญาตราพกะ เราควรจะหนีไปอยู่ที่ไหน หนึ่ง กลุ่มเมืองในเขตลำน้ำปิงแถวจอมทอง แก่งสร้อย ตาก กำแพงเพชร ยังเป็นเขตอิทธิพลของหริภุญไชย ย่อมไม่ปลอดภัยต่อการบุกรุกของพระญาอุจฉิฏฐจักรวัติราชผู้เกรียงไกรอย่างแน่นอน”

“สอง กลุ่มเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย แถบลุ่มน้ำยมก็ต้องตัดทิ้งออกไปอีก ยิ่งช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองเหล่านี้ยังไม่พบร่องรอยทางโบราณคดีเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากนัก”

“สาม เมื่อสุดเขตแม่ปิงที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์แล้ว ก็ต้องเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นไปได้ไหมว่า ณ บริเวณนั้น พระญาตราพกะคงสองจิตสองใจ ใจหนึ่งก็คงอยากเลี้ยวซ้าย (มองจากทิศเหนือ) หักเข้าแม่น้ำลพบุรี-บางขามเข้าไปพึ่งใบบุญของพระเจ้า ‘ชีวกะ-วรราช-สุชิตราช’ (ตำนานแต่ละฉบับเรียกนามต่างกัน) กษัตริย์นครศรีธรรมราชที่มายึดละโว้ได้ เพื่อจะขอเป็นพันธมิตรกันกับกษัตริย์ละโว้องค์ใหม่ เผื่อขอบารมีหรือยืมมือของพระเจ้าสุชิตราชไปตีเมืองลำพูนคืนให้ตน”

“แต่อีกใจหนึ่งก็คงปลงตก ทนทำใจกับสภาพกษัตริย์ไร้บัลลังก์ ไม่อยากยุ่มย่ามขอความช่วยเหลืออะไรจากใคร เพราะไม่แน่ใจว่าพระเจ้าสุชิตราชจะจริงใจหรือไม่ เกิดตีลำพูนได้แล้วนึกอยากปกครองเองไม่ยกให้ตนอีก”

“แต่อย่างน้อยที่สุด พระญาตราพกะก็น่าจะเสี่ยงดวงลองมาสร้างเมืองใหม่แถวสรรคบุรี-ชัยนาท อันเป็นจุดที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไปนักจากละโว้นี่แหละ จะได้อุ่นใจ เผื่อพระญาอุจฉิฏฐจักรวัติราชยกทัพมารุกรานตน ก็จะขอพึ่งบารมีจากพันธมิตรผู้ยิ่งใหญ่ (คือต่างก็เป็นศัตรูกับกษัตริย์ละโว้องค์เดิม) คือพระเจ้าสุชิตราชได้ง่ายขึ้น”

 

นั่นคือเหตุผลทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่คุณณัฏฐภัทรมอง สำทับด้วยเหตุผลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะแนวถนัดของสายศิลปากร

คุณณัฏฐภัทรอธิบายต่อว่า

“เมืองแพรกศรีราชาหรือเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทเจริญขึ้นมาจากไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนจะมากลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งทุกคนรู้จักกันในนามเมืองที่ปกครองโดย ‘เจ้ายี่พระญา’ ผู้เป็นเชษฐาของเจ้าสามพระยา ผู้ที่สู้รบกับเจ้าอ้ายจนสิ้นชีวิตทั้งคู่ แต่ก่อนหน้านั้นเล่า ช่วงตอนปลายทวารวดีต่อยุคละโว้ที่เรียกว่า อโยธยา-สุพรรณภูมิ (หรืออู่ทอง) นั้น สรรคบุรีต้องมีมาก่อนแล้ว มิเช่นนั้นเจ้ายี่พระญาจะถูกส่งไปปกครองที่เมืองนี้ไม่ได้ ว่าแต่ว่าใครเป็นผู้สร้างเมืองสรรคบุรียังเป็นปริศนาอยู่?”

“ข้อสำคัญ ทำไมเราจึงพบคติการสร้างพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมจำนวนมากมายในศิลปกรรมสกุลช่างสรรคบุรี คนทั่วไปมักอธิบายแบบรวบรัดว่า เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมกลุ่มเมืองสรรคบุรีน่าจะรับอิทธิพลมาจากเจดีย์รายบางองค์ทรงแปดเหลี่ยมในวัดพระมหาธาตุลพบุรี คือมักโยงไปว่าเป็นอิทธิพลของศิลปะละโว้”

“แต่ในความเป็นจริงนั้น รูปแบบการสร้างเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินสยาม ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วในหมู่นักประวัติศาสตร์ศิลปะว่าคือเจดีย์ที่ชื่อว่า ‘รัตนเจดีย์’ ในวัดจามเทวี เมืองลำพูนนั่นเอง

 

รัตนเจดีย์ วัดจามเทวี ลำพูน เจดีย์แปดเหลี่ยมที่เก่าที่สุดในประเทศไทย ศิลปะหริภุญไชย

 

รัตนเจดีย์ วัดจามเทวี ลำพูน เจดีย์แปดเหลี่ยมที่เก่าที่สุดในประเทศไทย ศิลปะหริภุญไชย

 

เจดีย์องค์นี้เป็นศิลปะหริภุญไชยช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 มีความผูกพันใกล้ชิดกับศิลปะพุกามในพม่าที่รับรูปแบบมาจากศิลปะปาละของอินเดียอีกทอดหนึ่ง”

“ต่อจากนั้น ‘รัตนเจดีย์’ ก็ส่งอิทธิพลให้กลุ่มเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมแถบเมืองสรรคบุรีและแถบเมืองละโว้”

“เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกษัตริย์หริภุญไชยพระองค์นั้นพลัดถิ่น จำต้องไปหาสถานที่สร้างเมืองใหม่หรือเปล่า?”

“และเมืองนั้นต่อมาเรียกกันว่า ‘สรรคบุรี’ หรือ ‘แพรกศรีราชา’ ก็แล้วแต่ จะจริงเท็จอย่างไรไม่ยืนยัน แต่ขอเสนอฝากไว้เป็นแนวคิดให้นักวิชาการด้านหริภุญไชยศึกษานำไปค้นคว้าต่อยอดกันต่อไป”

 

นี่คือขุมทรัพย์มหาศาลที่คุณณัฏฐภัทร จันทวิช ได้มอบไว้ให้แก่ดิฉันนำมาสานต่อ

ผลักดันให้ดิฉันต้องเดินทางไปยังเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทหลายครั้งหลายครา เพื่อค้นหาคำตอบดังกล่าว

ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ได้พบว่าทำเลที่ตั้งเมืองโบราณแห่งนี้ ณ ริมแม่น้ำน้อยหรือแม่น้ำสรรคบุรีค่อนข้างเป็นเมืองหลบ อยู่ลึกลงไปในหลืบจากจุดตัดสามแยก อันเป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุชัยนาทซึ่งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาสายหลัก

คล้ายกับว่าเมืองสรรคบุรีต้องการซ่อนตัวให้พ้นจากการติดตามของใครบางคนหรือกองทัพบางกองทัพ

ท่ามกลางซากวัดร้างที่กระจัดกระจายจำนวนมหาศาลในเมืองสรรคบุรีนี้ มีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่น่าสนใจอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ วัดพระแก้ว วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง และวัดมหาธาตุสรรคบุรี

อันที่จริงหากนับถี่นับถ้วนแล้ว ยังมีสถูปทรงแปดเหลี่ยมกระจายตัวอีกมากมายตามวัดร้าง แต่มักจะเหลือเพียงซากฐานตอนล่าง ซึ่งส่วนยอดตอนบนหักหายไปแล้ว

ดิฉันจะพาผู้อ่านมาไล่เรียงดูทีละวัด

 

วัดพระแก้ว ในบรรดาเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมเมืองสรรคบุรีทั้งหมดนั้น “สถูปที่วัดพระแก้ว” ถือเป็นเจดีย์ที่มีความโดดเด่นมากที่สุด ทั้งขนาดความสูงใหญ่ “เท่านกเขาเหิน” และก้อนอิฐที่ใช้ก่อก็มีขนาดใหญ่มหึมายิ่งกว่าที่อื่นๆ

 

เจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรี สถูปทรงแปดเหลี่ยมที่สูงมากเท่านกเขาเหิน

 

เจดีย์องค์นี้นักโบราณคดีจัดให้อยู่ในกลุ่ม “เจดีย์สมัยอู่ทอง” หรือบางครั้งเรียก “เจดีย์สมัยอโยธยา” คือมีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 ราว 1 ศตวรรษขึ้นไป แต่ไม่ได้เก่าถึงสมัยทวารวดีเหมือนกับรัตนเจดีย์ที่ลำพูน

จุดเด่นของเจดีย์องค์นี้คือ การทำฐานชั้นล่างเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ก่อน มีการประดับตกแต่งพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านกำหนดให้พระพุทธรูปอยู่ตรงกลางระหว่างพระอัครสาวก น่าเสียดายที่ปูนปั้นเหล่านั้นร่วงหล่นไปเกือบหมดแล้ว ในส่วนของความเป็นชั้นเรือนธาตุ “แปดเหลี่ยม” นั้น ถูกจัดวางไว้บนฐานสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง ฐานแปดเหลี่ยมนี้มีซุ้มพระพุทธรูปแปดทิศ รองรับองค์ระฆังทรงกลมสูงใหญ่

วัดพระยาแพรก ชื่อของวัดมีนัยยะสำคัญยิ่ง คุณณัฏฐภัทรบอกว่าชวนให้นึกถึงชื่อของกษัตริย์พลัดถิ่นหริภุญไชยพระองค์นั้น “พกราช” (อ่าน พะ-กะ-ราช) ซึ่งมีรากศัพท์คล้ายคำว่า “แพรก”

ประวัติวัดเล่าว่า คำว่า “พระยาแพรก” เป็นชื่อเจ้าเมืองที่ครองเมือง “แพรกศรีราชา” อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมือง “สรรคบุรี” คำว่า “เมืองแพรก” พบในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย

 

เจดีย์แปดเหลี่ยมวัดพระยาแพรก เมืองสรรคบุรี

 

เจดีย์องค์นี้ กรมศิลปากรเพิ่งทำการบูรณะเสร็จเมื่อปี 2562 มานี้เอง ซึ่งตอนแรกนั้นยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปเป็นร่างว่ามีรูปทรงแปดเหลี่ยม อันเป็นอัตลักษณ์ของสกุลช่าง “สรรคบุรี” เช่นเดียวกันกับที่วัดพระแก้ว แม้ขนาดไม่สูงใหญ่เท่า

วัดสองพี่น้อง ถูกเรียกเช่นนี้เนื่องมาจากมีการพบสถูปสององค์ องค์หนึ่งเป็นทรงพระปรางค์ อีกองค์เป็นทรงแปดเหลี่ยม องค์ที่เป็นทรงพระปรางค์นั้น ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่ใช่รูปทรงปรางค์แบบ “พระปรางค์มาตรฐาน” ตามอย่างสมัยอยุธยาเต็มรูปแบบ หากเป็นลักษณะที่ค่อยๆ คลี่คลายมาจากปราสาทขอมตามอย่างพระปรางค์องค์ใหญ่ที่วัดมหาธาตุลพบุรี

 

เจดีย์แปดเหลี่ยมวัดสองพี่น้อง เมืองสรรคบุรี

 

ส่วนเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมนั้น เหลือเพียงเค้าโครงอิฐก่อแบบหลวมๆ เท่านั้น ไม่มีลวดลายในส่วนรายละเอียดของปูนปั้นแต่อย่างใด

 

เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมแห่งสุดท้ายคือที่วัดมหาธาตุสรรคบุรี หรือชื่อเดิมว่า “วัดยี่พระญา” ชื่อซึ่งสะท้อนว่าครั้งหนึ่งเป็นวัดที่ “พระญายี่” โอรสองค์กลางของพระอินทราชาเคยปกครองเมืองนี้ ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

การนำเสนอพระเจดีย์กลุ่มนี้ไว้เป็นลำดับสุดท้ายของกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมเมืองสรรค์ ก็เนื่องมาจากวัดมหาธาตุมีพระเจดีย์ประธานหลักเป็นเจดีย์อีกองค์หนึ่ง เหลือเพียงซากฐานขนาดใหญ่

ส่วนเจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดมหาธาตุ แม้จะมีหลายองค์ก็จริงอยู่ ทว่ามีฐานะเป็นพระเจดีย์รายเท่านั้น คือตั้งเรียงรายเป็นเจดีย์บริวารของพระมหาธาตุองค์ใหญ่อีกชั้นหนึ่ง มิใช่เป็นพระเจดีย์หลักเหมือนกับที่วัดพระแก้ว หรือวัดพระยาแพรก

อย่างไรก็ดี แม้เจดีย์แปดเหลี่ยมของวัดมหาธาตุจะมีสถานะเป็นแค่เจดีย์ราย แต่ก็มีจำนวนมากถึง 6 องค์ แต่ละองค์ยังพบร่องรอยของการบูรณปฏิสังขรณ์ ตามซุ้มเจดีย์แปดเหลี่ยมเหล่านั้น ด้วยการพอกลวดลายปูนปั้นทับขึ้นมาใหม่จนดูงามแปลกตา ทั้งในส่วนของพระพุทธรูปทั้งนั่งและยืนในซุ้ม

กับทั้งลวดลายดอกไม้ที่ดูกระจุ๋มกระจิ๋ม ทั้งหมดนี้เป็นการทำขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี่เอง เนื่องจากทางวัดระบุว่าใน พ.ศ.2456 มีการบูรณะโบราณสถานครั้งใหญ่

 

กลุ่มเจดีย์รายทรงแปดเหลี่ยมวัดมหาธาตุสรรคบุรี บูรณะใหม่สมัยรัชกาลที่ 6

 

สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นยุคที่มีการรับอิทธิพลศิลปะตะวันตกเข้ามาในสยามอย่างมากมาย ในขณะเดียวกันก็มีการผสมผสานงานช่างฝีมือพื้นถิ่นที่ช่างจีนเข้ามามีบทบาทในการก่อสร้าง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถูปทรงแปดเหลี่ยมที่เป็นเจดีย์รายในวัดมหาธาตุ มีลวดลายที่น่าตื่นตาตื่นใจ

นิยมเรียกกันแบบลำลองว่า “ศิลปะแบบโรแมนติกชวนฝัน”

 

กล่าวโดยสรุป เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมของกลุ่มเมืองสรรคบุรี และที่วัดมหาธาตุลพบุรี มีอายุหย่อนลงมาจากสมัยหริภุญไชยเล็กน้อย คือราวพุทธศตวรรษที่ 18

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือข้อสันนิษฐานของคุณณัฏฐภัทร จันทวิช ซึ่งดิฉันรับหน้าที่มาขยายผลต่อ เพื่อหวังให้เกิดความงอกงามในแวดวงวิชาการทางโบราณคดีต่อไป

ฉบับหน้า “สงครามสามนคร” จะพิจารณาบทบาทโอรสของพระเจ้าสุชิตราชผู้มีชื่อ “พระเจ้ากัมโพช” ที่ยกทัพมาต่อสู้กับพระญาอุจฉิฏฐจักรวัติราชที่หริภุญไชยอีก ใครแพ้ ใครชนะ

การต่อสู้ครั้งนั้น ขอมตีขอม หรือแขกตีขอม หรือแขกตีมอญ หรือขอมตีมอญ?