ประเทศไทย เคยมีกระทรวงเวทมนตร์? | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

มีคนบอกว่าประเทศไทยเคยมีอะไรที่คล้ายๆ กับ “กระทรวงเวทมนตร์” โดยมีชื่อว่า “กระทรวงแพทยาคม” ทำหน้าที่ในการชำระคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคุณไสย เวทมนตร์ต่างๆ โดยเป็นกระทรวงเก่าแก่ ในระดับที่มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อยแล้วเลยทีเดียวนะครับ

ใครคนเดิม (ซึ่งไม่ใช่แค่คนเดียว) ยังอ้างอีกต่อไปว่า คำว่า “แพทยาคม” นั้น ผูกขึ้นมาจากคำว่า “แพทย+อาคม” โดยคำว่า “แพทย์” หมายถึง “หมอรักษาโรค” ส่วนคำว่า “อาคม” นั้นก็คือ “เวทมนตร์”

ดังนั้น แพทยาคมจึงหมายถึง“หมอรักษาเวทมนตร์” ดังนั้น ในกระทรวงนี้จึงมี “ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคม” เป็นตุลาการสำหรับไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณไสยต่างๆ

ที่สำคัญก็คือ มีการอ้างข้อมูลด้วยว่า เมื่อ พ.ศ.2168 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ได้มีการปรากฏตัวของกระทรวงแพทยาคม เพื่อชำระคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคุณไสย เสน่ห์ยาแฝด หรือการฝังรูปด้วยวิทยาคมต่างๆ มีกฎหมายบัญญัติลงโทษผู้กระทำผิด ในการใช้คุณไสยและวิทยาคมทำร้ายผู้อื่นทางอาญาอีกด้วย

ผมไม่แน่ใจนักว่า ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใด?

แต่จากข้อมูลในพระธรรมนูน คือกฎหมายที่รวบรวมการประทับฟ้องโดยสมควรต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถเมื่อ พ.ศ.2165 มีข้อความระบุว่า

“อนึ่ง มีพระธรรมนูนไว้ว่า หากันว่าเปนกระสือจะกละกระหางฉมบกฤษดิยาอาคมใส่หว้านยา แลทำเสน่หทำยาแฝดยาเมา แลรีดลูกเสียสารพัดทำทังปวงประการใด แต่ที่หมีถึงตายนั้นก็ดีพรามณาจารยอาทารโยคีกิริยมเหศเทษสารตรีทังปวงเปนโจทก็ดีเปนจำเลยก็ดีหาความกัน เปนแพ่งอาญาประการใดก็ดี เปนตระทรวงแพทยาได้พิจารณา ถ้าหัววเมือง เปนตระทรวงขุนหมื่นกรมแพทยาหัววเมืองได้พิจารณา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อมูลในกฎหมายตราสามดวงก็เป็นพยานให้เราเห็นแล้วว่า มีการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องไสยศาสตร์จริงๆ โดยอยุธยาเองก็มีกฎหมายสำหรับรองรับเมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงแพทยาคมที่ว่านี่จะมีอยู่จริงนะครับ

เอาเข้าจริงแล้ว ชื่อขององค์กร หรือหน่วยงานขนาดใหญ่ของรัฐในสมัยอยุธยา ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวงนั้น ทั้งหมดจะถูกเรียกว่า “กรม”

ในขณะที่คำว่า “กระทรวง” นั้น ในกฎหมายตราสามดวงยังสะกดว่า “ตระทรวง”

โดยเมื่อพิจารณาจากบริบทแล้วก็ดูเหมือนว่า อะไรที่เรียกว่าตระทรวงนั้น ก็ดูจะยังมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกับกระทรวง ในความหมายปัจจุบันเท่าไหร่นัก

และหากจะลองไล่ดูรายชื่อของหน่วยงานหรือ “กรม” ทั้งหลายของรัฐอยุธยาจากกฎหมายตราสามดวง โดยเฉพาะในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยตำแหน่งทางราชการ และศักดินาต่างๆ ของอยุธยา (ซึ่งใช้สืบเนื่องมาจนถึงยุคต้นกรุงเทพฯ เมื่อครั้งยังเป็นรัฐแบบจารีตอุษาคเนย์เดิม) ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1998 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว ก็ไม่มีชื่อกรมที่ชื่อว่า “แพทยาคม” อยู่เหมือนเดิม มีแต่ที่ใกล้เคียงคือ “แพทยา”

ดังปรากฏชื่อตำแหน่ง พระศรีมโหสถแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า, พระศรีศักราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหลัง และออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดีอะไภยพิรียบรากรมภาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ

ข้อมูลจากพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนจึงมีชื่อของหน่วยงาน ที่ชื่อมีคำว่า “แพทยา” ประกอบอยู่ด้วยอย่างน้อย 3 หน่วยงานก็คือ กรมแพทยาหน้า, กรมแพทยาหลัง และกรมแพทยาโรงพระโอสถ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากชื่อตำแหน่งทั้งหมดนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับการแพทย์แน่

ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวกับแพทย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายแพทย์เหล่านี้ต้องทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ดังปรากฏอยู่ในพระธรรมนูน ดังที่ผมได้อ้างเอาไว้ข้างต้น ที่น่าสนใจก็คือ ในกฎมณเฑียรบาล คือกฎหมายที่ใช้ในวัง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถเช่นกัน มีข้อความระบุว่า

“อนึ่ง การอายัดพระมหาราชครู พระราชครู พระอาลักษณ พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ ให้ทำกำหนดราชปะเพนีโดยขบวนโบราณ แลให้ถือกำหนดพิทธีโดยดำหรับสาตราเวท มีทวาทโศศกโสฬศกรรมเปนต้น แลปัถมาพิเศก ราชาภิเศก อินทราภิเศก สังครามาภิเศก อาจาริยาภิเศก แลการภิเศกโดยสารทดำหรับทังปวง แลจัดครูพิทธีให้ชอบด้วยสารทบังคับ อันขบวนการโดยการนั้นสมุหปธานทหารพ่อเรือนโดยพนักงาน แลได้เงีนโดยการนั้นเท่าครูพิทธี ผิ้ให้พระนามโดยการแผ่นดินแลสมเดจ์พระอรรคมเหษีท่าน ลูกเธอหลานเธอเอกโท ได้เสื้อผ้าหมวกเงีน ตามใหญ่น้อยเอกโทให้นามวิเสศทังปวงผู้ได้งาน ให้เท่าตำแหน่งศักดิ์ ผิ้ให้นามมิชอบโดยพยากร จัดครูพิทธีหมีต้องสารท บังคับผู้ชุบโหมเวทมนตร บอกดำหรับผิดพลั้ง โทษพระอาลักษณมัดแขวน โทษพระมหาราชครูพระราชครูพระโหราธิบดีพระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ประคำใหญ่แขวนฅอ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งพระศรีมโหสถ และพระศรีศักดิ์ (หรือพระศรีศักราชฯ) เจ้ากรมแพทยาหน้า และเจ้ากรมแพทยาหลังตามลำดับนั้น ถูกจัดรวมอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบพิธีทางศาสนาคือ พราหมณ์ ไม่ว่าจะเป็น พระมหาราชครู, พระราชครู, พระอาลักษณ และพระโหราธิบดี ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งเจ้ากรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ทั้งคู่

แถมยังเป็นไปได้มากด้วยว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้จะมาจากตระกูลของพวกพราหมณ์ ซึ่งในกรณีของกรุงศรีอยุธยานั้น พ่อพราหมณ์ทั้งหลายมักจะสืบเชื้อสายมาจากอินเดียใต้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงชื่อตำแหน่งของจางวางแพทยาโรงพระโอสถคือ “ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดีอะไภยพิรียบรากรมพาหุ”

ที่สร้อยนามคือ “บรากรมพาหุ” นั้นคงจะมีที่มาจากคำว่า “ปรากรมพาหุ” อันเป็นชื่อกษัตริย์คนสำคัญของเกาะลังกา ที่สัมพันธ์กับอินเดียใต้อย่างใกล้ชิดด้วยแล้ว ก็คงจะยิ่งทำให้เห็นร่องรอยที่ว่าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่ในพระธรรมนูนจะระบุให้ คดีที่เกี่ยวข้องกับผีสาง และเรื่องเชิงกฤติยาคมนั้น “เปนตระทรวง (หน้าที่?) แพทยาได้พิจารณา”

รัชกาลที่ 5 เคยอธิบายเกี่ยวกับหน้าที่ของกรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เอาไว้ใน “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน” ว่า

“อนึ่ง กรมหมอนั้น แต่เดิมเป็นหมอสำหรับว่าความพวกหนึ่ง มีเจ้ากรมซ้ายขวาปลัดทูลฉลองซ้ายขวาปลัดนั่งศาลซ้ายขวา อีกพวกหนึ่งเป็นหมอโรงพระโอสถ แต่พวกแรกนั้นเลิกเสียไม่ได้ว่าความตามที่ว่ามาแล้ว แต่ยังคงแบ่งเป็นสองพวกอยู่ พวกหนึ่งเรียกว่าหมอศาลา พวกหนึ่งเรียกว่าหมอโรงใน คำซึ่งเรียกว่าหมอศาลานั้นจะใช้สำหรับหมอพวกที่ว่าความมาแต่เดิมเป็นพวกหมอนั่งศาลฤๅจะเป็นหมอนอกสำหรับจ่ายรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ตามที่เข้าใจกันอยู่โดยมากก็ไม่ได้ความแน่ แต่หมอโรงในคือโรงพระโอสถนั้นคงเป็นหมอสำหรับพระเจ้าแผ่นดินแน่ แต่ถึงอย่างไรๆ ในการที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ไม่ได้เลือกว่าหมอศาลาแลโรงพระโอสถ ใช้ปนกันไปหมดตามแต่ที่ต้องการ”

ถ้าจะว่ากันตามหลักฐานในกฎหมายตราสามดวงแล้ว “หมอว่าความ” หรือ “หมอศาลา” ที่รัชกาลที่ 5 กล่าวถึงก็คือ “พระศรีมโหสถ” และ “พระศรีศักดิ์” เจ้ากรมแพทยาหน้า และเจ้ากรมแพทยาหลัง (รัชกาลที่ 5 ใช้คำว่า “ซ้าย-ขวา” แทนคำว่า “หน้า-หลัง”) ดังปรากฏมีตำแหน่งปลัดทูลฉลอง และปลัดนั่งศาล เป็นผู้ติดตามเจ้ากรมทั้งสองระบุอยู่ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน

ดังนั้น ผู้พิพากษาคดีความที่เกี่ยวข้องกับผีสางและไสยศาสตร์ ตามที่มีกล่าวถึงอยู่ในพระธรรมนูนนั้นก็ควรจะเป็นเจ้ากรมแพทยาทั้งสองนี้เอง

แต่การพิพากษาคดีในยุคอยุธยาเรื่อยมาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ไม่ได้มีหน่วยงานเป็นการเฉพาะอย่างในปัจจุบันนี้นะครับ คดีความหรือการฟ้องร้องต่างๆ เจ้ากรมแต่กรมจะรับหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในคดีความที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

เช่น ถ้ามีการทะเลาะกันเรื่องที่นา กรมนาก็จะเป็นทำหน้าที่พิพากษาในคดีนั้น เช่นเดียวกับกรมอื่นๆ แล้วแต่หน้าที่รับผิดชอบของแต่ละกรม

ดังนั้น การที่เจ้ากรมแพทยาทั้งสอง ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับ “กรมหมอ” นั้น ต้องมาพิพากษาคดีความที่เกี่ยวกับผีสางและไสยเวท ก็เพราะผู้คนในยุคโน้นจำแนกเรื่องราวเหล่านี้อยู่ร่วมในกลุ่มก้อนของความป่วยไข้

และก็แน่นอนด้วยว่า หมอในสมัยโน้นเขาไม่ได้รักษาผู้ป่วยกันด้วยเฉพาะแค่หยูกยา หรือการรักษาตามมาตรฐานของวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์หรอกนะครับ ถ้าจะพึ่งพาอำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์อันใดด้วยก็ไม่เห็นจะน่าแปลกที่ไหน

แถมเอาเข้าจริงแล้ว รัชกาลที่ 5 ยังทรงบอกไว้ในพระบรมราชาธิบายเรื่องเดียวกันอีกด้วยว่า

“ศาลกระทรวงแพทยานี้เป็นอันเลิกขาดไม่มี ด้วยข้อความที่จะหากันให้ถูกต้องในพระธรรมนูญ ก็ไม่ใคร่จะมีใครฟ้องหา”

ถ้าเชื่อตามรัชกาลที่ 5 พระศรีมโหสถ และพระศรีศักดิ์ในแต่ละยุคสมัยนั้นก็คงจะไม่ได้มีคดีความให้ต้องพิพากษามากเท่ากับเจ้ากรมอื่นๆ เขาหรอกนะครับ ส่วนใหญ่แล้วพวกท่านคงจะต้องทำงานเกี่ยวกับการแพทย์เสียมากกว่า

แน่นอนว่า ในยุคที่สยามยังเป็นรัฐจารีตแบบโบราณนั้น ย่อมมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา และไสยศาสตร์อาคมต่างๆ ซึ่งก็ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับการปกครอง และบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานตรงไหนเลยที่ระบุว่า กรุงศรีอยุธยาและยุคต้นกรุงเทพฯ นั้น จะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเวทมนตร์เป็นการเฉพาะ