ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ค้นพบซากโครงกระดูกของ “ลูกหมู” ในการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทั้งศรัทธาความเชื่อ วัฒนธรรม และการปกครองของ “ชาวยิว” มาอย่างยาวนานเลยทีเดียว
แต่ถ้าจะว่ากันอย่างละเอียดลออมากไปกว่านั้นก็คือ เจ้าลูกหมูตัวที่ว่านี้ ถูกขุดพบที่คฤหาสน์แห่งหนึ่ง (แน่นอนว่าเจ้าของบ้านย่อมมีฐานะไม่ธรรมดา เมื่อพิจารณาจากความหรูหราของบ้าน) ที่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “เมืองของเดวิด” (the City of David) ซึ่งว่ากันว่าเป็นส่วนที่เก่าที่สุดของเมืองเยรูซาเลมเลยทีเดียว
โดยทางทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ประเทศอิสราเอล ที่ดำเนินการขุดค้นในครั้งนี้ ได้กำหนดอายุของลูกหมูตัวนี้เอาไว้ที่ 2,700 ปีที่แล้วเลยทีเดียว
ดร.ลิดาร์ ซาปีร์-เฮน (Lidar Sapir-Hen) นักโบราณคดีผู้เป็นหัวหน้าโครงการขุดค้นได้ระบุเอาไว้ว่า โครงกระดูกของลูกหมูอายุไม่ถึง 7 เดือนตัวนี้ ถูกพบอยู่ในห้องหลังหนึ่งในบ้านร่วมกับกระดูกของสัตว์ชนิดต่างๆ คือ แพะ, แกะ, วัว, สัตว์ปีกบางชนิด และปลา
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ห้องดังกล่าวคือห้องที่ใช้สำหรับประกอบอาหาร พูดง่ายๆ ว่า เป็นครัวนั่นเอง แถมยังเป็นครัวของคนชั้นสูงอีกด้วย
ดังนั้น โครงกระดูกของเจ้าหมูน้อยที่เพิ่งถูกขุดพบตัวนี้ จึงน่าจะเป็นซากของอะไรคล้ายๆ กับ “หมูหัน” ในปัจจุบันนั่นแหละนะครับ
และก็ทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นในสังคมชาวยิวยุคปัจจุบันเลยทีเดียว เพราะพวกเขาเชื่อว่า ชนชาติของตนเองนั้นมีศีลข้อห้ามไม่ให้กินหมูเป็นอาหาร (เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู อูฐ ม้า และอื่นๆ อีกสารพัด แต่ก็ไม่มีอะไรที่ถือกันเคร่งชัดเจนเท่ากับหมู) มาตั้งแต่เมื่อ “โมเสส” นำพาชนชาติของพวกเขาอพยพหนีความโหดร้ายของชนชาวอียิปต์ในยุคสร้างพีระมิด แหวกทะเลแดงมาสู่เยรูซาเลมแล้ว
ผลการศึกษาของนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ ที่สนใจทางด้านอียิปต์วิทยา ในช่วงหลังๆ มานี้ มักจะระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า โมเสส ถ้าจะเคยมีชีวิตอยู่จริงแล้ว ก็ควรที่จะเติบโตในราชสำนักของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III, ครองราชย์ 3,386-3,349 ปีที่แล้ว) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ไม่ใช่สมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramesses II) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ 19 อย่างที่เคยเข้าใจผิดกัน
ที่น่าสนใจก็คือ ช่วงราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ เป็นช่วงที่การเลี้ยงหมูในอียิปต์นั้นเป็นที่นิยม และเติบโตขึ้นจากสมัยราชวงศ์ก่อนหน้าเป็นอย่างมาก
จารึกบางหลักในช่วงราชวงศ์ที่ 18 ระบุเอาไว้ว่า นายกเทศมนตรี (ชื่อตำแหน่งนี้ผมแปลตรงตัวมาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า mayor ส่วนในเอกสารต้นฉบับของอียิปต์โบราณเอง จะเรียกว่าตำแหน่งอะไรนั้น ผมไม่ทราบชัด?) แห่งเมืองเอลกาบ (El Kab) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์นั้น เป็นเจ้าของหมูถึง 15,000 ตัว
ในขณะที่มีการอุทิศถวายหมู และลูกหมู จำนวนอย่างละ 1,000 ตัวให้กับวิหารของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ที่เมืองเมมฟิส ก็น่าจะระบุถึงความสำคัญของหมูในสังคมอียิปต์ในช่วงที่โมเสสมีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ถ้า “โมเสส” จะเคยลิ้มชิมรสชาติของ “เนื้อหมู” มาก่อนก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร
เพราะกว่าที่ชาวยิวจะเชื่อกันว่า พระเจ้ามีรับสั่งห้ามไม่ให้ผู้ที่นับถือและศรัทธาในพระองค์ กินเนื้อหมูนั้น ก็เป็นช่วงระหว่างที่โมเสสได้อพยพชาวยิวกลับมาที่ “คานาอัน” (Canaan) ดินแดนแห่งพันธสัญญาที่ชนชาติยิวเชื่อว่าพระเจ้าประทานไว้ให้กับพวกตน ซึ่งก็คือเขตปาเลสไตน์ในปัจจุบันนั้น ซึ่งท่านได้แวะไปรับอะไรที่เรียกกันในภายหลังว่า “บัญญัติสิบประการ” ที่อาจจะนับได้ว่าเป็น “กฎ” หรือ “ระเบียบ” ชุดแรกจากดำรัสของพระเป็นเจ้าบนเขาไซนาย
แต่ความเชื่อก็ยังคงเป็นแค่ความเชื่อเท่านั้นนะครับ เพราะในบัญญัติทั้ง 10 ข้อที่ว่านั้น ไม่ได้มีข้อไหนที่ห้ามไม่ให้ชนชาวยิวกินเนื้อหมูเสียหน่อย ดังนั้น ถ้าพระเจ้าจะรับสั่งให้โมเสสเลิกกินหมูจริง ก็ไม่ได้รับสั่งเมื่อคราวมอบบัญญัติสิบประการแน่
และถึงแม้ว่าบทพระธรรมอพยพ (Exodus) ในพระคัมภีร์ (Bible, แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ภาคพันธสัญญาเก่า (Old Testament, คือคัมภีร์ของพวกยิว ที่ศาสนาคริสต์รับมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของไบเบิล) จะบอกกับเราว่า โมเสสได้พาชาวยิวหลบหนีออกจากอียิปต์แล้วมุ่งหน้าสู่คานาอัน แต่ในท้ายที่สุดโมเสสท่านก็พาชาวยิวไปไม่ถึงดินแดนแห่งพันธสัญญาดังกล่าว
พวกยิวได้ครอบครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น ก็เพราะการนำทัพของ “แม่ทัพโยชูอา” (Joshua) ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำของพวกยิวหลังจากที่โมเสสเสียชีวิต ซึ่งก็ยังตรงอยู่กับช่วงสมัยที่ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ที่การบริโภคหมูเฟื่องฟู ยังครองราชย์อยู่ในอียิปต์นี่แหละ
จากนั้นพวกยิวจึงได้สร้างบ้านแปงเมือง และปกครองด้วยระบบกษัตริย์ จนกระทั่งวัฒนธรรมของพวกอียิปต์เบาบางลงไปในที่สุด
แต่ต่อมาอิทธิพลของวัฒนธรรมแบบไมนวน (Minoan) ในลุ่มทะเลอีเจียน (Aegean Sea) และอิทธิพลวัฒนธรรมของพวกฮิตไทต์ (Hittite) ก็เข้ามามีบทบาทในดินแดนคานาอัน แทนที่วัฒนธรรมอียิปต์อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของพวกฮิตไทต์นี่แหละ ที่มีความนิยมในการใช้ “หมู” เป็นเครื่องเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพวกเทพีต่างๆ กันให้เต็มไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นการถวายลูกหมูให้แก่เทพีฮันนาฮันนา (Hannahanna) เทพีแห่งการให้กำเนิดบุตร, การถวายลูกหมู พร้อมเบียร์และไวน์ ให้แก่เทพีกุลเสส (Gulses) เทพีแห่งโชคชะตา
หรือแม้กระทั่งการเฉลิมฉลองเทศกาลนานตาร์ริยะศา (Nantarriyasha festival) ด้วยเนื้อหมู อันเป็นเทศกาลฉลองเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 35 ของปี โดยพระราชินีของอาณาจักร เป็นต้น
นี่ยังไม่นับว่าเมื่อพวกยิวเข้าไปยึดครองดินแดนแห่งพันธสัญญา ตามความเชื่อของพวกเขาได้แล้ว พวกเขายังมีปมกับชนในดินแดนเมโสโปเตเมียอีกหลายกลุ่ม ซึ่งต่างก็กินหมู และใช้หมูในการบูชาเทพเจ้า (ที่พวกยิวยุคโน้นเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าเพียงองค์เดียวของพวกตน) แต่กลับเป็นชนชาติมีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว
ร้ายที่สุดก็คือชาวอัคคาเดียน (Akkadian) เพราะคนกลุ่มนี้มีคำศัพท์ที่ใช้เรียก “หมู” อยู่มากมายและหลากหลายคำ แถมยังอาจจะกินหมูเป็นอาหารอีกด้วย
ที่สำคัญก็คือ คนพวกนี้เป็นบรรพชนของพวกอัสสิเรียน (Assyrian) ที่ชาวยิวถือว่าเป็นศัตรูโดยตรง เพราะเป็นพวกที่เข้ายึดคานาอันของพวกเขา แล้วยังเนรเทศชาวยิวออกไปอยู่ที่บาบิโลนอีกนับร้อยปี (ก่อนที่พวกเขาจะได้กลับมาอยู่ที่คานาอันอีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนของกษัตริย์ไซรัส ของพวกเปอร์เซีย)
ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ แล้วจะให้ชาวยิว (โดยเฉพาะพวกที่เคร่งศาสนา) ในยุคโน้น มีมุมมองที่ดีกับ “เนื้อหมู” ที่ถูกใช้ในพิธีกรรมเหล่านี้ได้อย่างไรกัน?
ที่สำคัญก็คือ กฎหรือข้อห้ามการกินเนื้อหมูในศาสนาของพวกยิวก็เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เองนะครับ ดังปรากฏในบทที่เรียกว่า “เลวีนิติ” (Book of Leviticus) ส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเก่า ซึ่งได้ขยายและตราข้อห้ามต่างๆ เพิ่มเติมจากบัญญัติสิบประการ เป็น 76 ข้อ
แน่นอนว่า ในบรรดากฎดังกล่าวนั้นก็ย่อมหมายรวมถึงการห้ามไม่ให้กิน “เนื้อหมู” ด้วย โดยให้เหตุผลประหลาดๆ ว่า เป็นเพราะหมูเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง แต่กลับไม่ได้มีเท้าเป็นกีบเหมือนอย่างสัตว์เคี้ยวเอื้องโดยทั่วไป ดังนั้น จึงถือว่าหมูนั้นเป็นสิ่งสกปรก จึงห้ามไม่ให้กินหมูมันเสียอย่างนั้น
ตามขนบเดิมนั้นมักจะถือกันว่า “เลวีนิติ” ถูกเขียนขึ้นโดยโมเสส แต่หลักฐานต่างๆ ในปัจจุบันก็ล้วนแต่บ่งชี้ว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะเขียนขึ้นในช่วงราว 2,500-2,300 ปีที่แล้ว คือช่วงที่ชาวยิวได้กลับเข้ามาสู่คานาอันหลังจากถูกพวกอัสซีเรียขับไล่แล้ว แต่ได้รับความช่วยเหลือของพวกเปอร์เซียจนกลับเข้ามาได้ใหม่
ถ้าจะว่ากันตามค่าอายุของเลวีนิติแล้ว ข้อห้ามกินหมูของพวกยิวเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากเจ้าของคฤหาสน์ที่เมืองเยรูซาเลมนั่งอิ่มเอมกับรสชาติของเจ้าหมูตัวน้อยที่เพิ่งถูกขุดพบ อย่างน้อยก็ 200 ปี ซึ่งก็ตรงกันกับช่วงเวลาที่กลุ่มชนอื่นๆ ในดินแดนเมโสโปเตเมียนิยมกินเนื้อหมูกันเสียด้วย
ดังนั้น จึงไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยนะครับ ถ้าเจ้าของคฤหาสน์คนเดียวกันนั้นจะชื่นชอบในรสชาติของเนื้อหมู แม้ว่าเขาจะเป็นยิวก็ตาม ในเมื่อสมัยนั้นพระเจ้าของพวกเขายังไม่เคยรับสั่งห้ามไม่ให้กินเนื้อหมูสักหน่อยนี่ครับ