ปริศนาโบราณคดี l ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (จบ) : มนต์ดำไสยศาสตร์ ที่ราชสำนักอยุธยากระทำต่อล้านนา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (จบ)

: มนต์ดำไสยศาสตร์

ที่ราชสำนักอยุธยากระทำต่อล้านนา

 

เรื่องราวเกี่ยวกับการทำคุณไสยใส่กันในประวัติศาสตร์สยาม กำลังหวนกลับมาเป็นที่สนใจท่ามกลางหมู่ปัญญาชนอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ฉะนั้น “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ในบทส่งท้ายนี้ จึงขอนำประเด็นเกี่ยวกับ “มนต์ดำไสยศาสตร์”

ที่ราชสำนักอยุธยากระทำต่อล้านนา มาเสนอแก่ผู้อ่านด้วยเช่นกันค่ะ

 

ฆ่าลูก ทำร้ายพ่อ รังแกขุนนาง

พระเจ้าติโลกราช คือบุคคลที่แสนจะชั่วช้าสารพัดเกินกว่าจะหาคำนิยามใดๆ มาอุปมาอุปไมยได้ นี่คือภาพลักษณ์ของพระองค์ใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น”

อันเป็นด้านตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับ “มหาบุรุษ” “วีรกษัตริย์” “วิษณุอวตาร” “เทวดาโพธิสัตว์” “สรรเพชญภูวนารถ” “องค์ธิเบศรจอมปราชญ์” ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นฉายาของผู้มีนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ดังเช่นโคลงบทที่ 106 กล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชได้จับกุมราชโอรสนาม ‘ท้าวบุญเรือง’ ไปประหารชีวิต เพราะหวาดระแวงว่าจะแย่งชิงราชบัลลังก์

หรือโคลงบทที่ 107 พรรณนาถึงพระเจ้าติโลกราชว่าชอบใช้อำนาจแบบโจร อวดดี แย่งราชสมบัติพระราชบิดาคือ ‘พระญาสามฝั่งแกน’

ตอกย้ำซ้ำอีกครั้งในบทที่ 129 ก่นประณามว่าพระเจ้าติโลกราชลงโทษพ่ออย่างร้ายแรง ทั้งยังประหารลูกในไส้ ไม่เว้นแม้แต่ข้าทาสบริวารที่ซื่อสัตย์ภักดี เช่นหมื่นด้งนครก็ยังฆ่าทิ้ง

ในขณะที่ตำนานฝ่ายล้านนาระบุว่าการกระทำหลายอย่างที่รุนแรงเกินมนุษย์มนาของพระเจ้าติโลกราชนั้น น่าจะเกิดจากการที่พระองค์ถูกคุณไสยของฝ่ายอยุธยาเล่นงานต่างหาก

อนุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด

 

ขอบิณฑบาตเมืองเชลียงคืน

ศิลาจารึกวัดจุฬามณี ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก ใน 5 บรรทัดแรกกล่าวถึงการทรงผนวชของพระบรมไตรโลกนาถ

“ศักราช 826 ปีวอกนักษัตร (พ.ศ.2007) อันดับนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเปนเจ้า ให้สร้างอารามจุฬามณีที่จะเสด็จออกทรงมหาภิเนษกรม ขณะนั้นเอกราชทั้งสามเมือง คือพระญาล้านช้าง แลมหาราชพระญาเชียงใหม่ แลพระญาหงสาวดี ‘ชม’ พระราชศรัทธา ก็แต่งเครื่องอัฐบริขารให้มาถวาย

คำว่า ‘ชม’ หมายถึงสมทบ กล่าวคือ กษัตริย์ทั้งสามเมือง ล้านช้าง ล้านนา (เชียงใหม่) และหงสาวดี ขอร่วมสมทบในพระราชศรัทธา จึงส่งเครื่องอัฐบริขารมาถวาย “ราชะนักบวช” พระบรมไตรโลกนาถ

หนังสือเรื่อง “พระญาติโลกราชะ : พระเป็นเจ้าแห่งโลกทั้งสาม” เรียบเรียงโดย ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี และอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ข้อมูลส่วนใหญ่อ้างอิงจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับที่ทั้งสองช่วยกันปริวรรตใหม่นั้น ได้กล่าวถึงเหตุผลที่แท้จริงของการบวช เนื้อหาช่างต่างจากยวนพ่ายโคลงดั้น ราวกับเป็นหนังคนละม้วน ดังนี้

“พระบรมไตรโลกนาถทรงเห็นว่ากำลังพลของพระเจ้าติโลกราชเข้มแข็งมาก ยากที่จะรบให้ชนะได้ จึงทรงคิดที่จะเจรจาทางพระราชไมตรี แล้วพระองค์จะออกผนวชโดยมอบเมืองให้แก่พระโอรสคือพระอินทราชา ครั้งนั้น (อยุธยา) ได้ส่งราชทูตมาทูลความต่อพระเจ้าติโลกราช และขอเครื่องอัฐบริขารและพระสงฆ์ไปทำพิธีผนวช

กลายเป็นว่า การตัดสินใจผนวชของพระบรมไตรโลกนาถนั้น เป็นการเสริมบารมีทางโลกด้วยบารมีทางธรรม เพื่อให้มีกำลังกล้าแกร่งยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับพระเจ้าติโลกราชต่างหาก

แถมอัฐบริขารที่กษัตริย์แว่นแคว้นต่างๆ ส่งไปสมทบนั้น ก็เพราะพระบรมไตรโลกนาถส่งสาส์นมาขอก่อน

หลังจากที่ทรงผนวชแล้ว “ราชะนักบวช” หรือพระภิกษุพระบรมไตรโลกนาถยังได้ส่งสมณทูตชื่อ ‘โพธิสัมภาระ’ มาขอบิณฑบาตเอาเมืองเชลียงคืนอีก

ขอบอกไว้ในที่นี้ว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่มิได้ระบุว่ามีการทำ “บาตรแตก” แล้วเอาฝังไว้ในสถานที่ใดด้วยหรือไม่ดอกนะคะ (แต่เดี๋ยวสักครู่เนื้อหาตอนถัดๆ ไป จะมีการฝังสิ่งอื่นแทนแถวประตูไหยา)

ตำนานพื้นเมืองฯ บอกแค่เพียงว่าฝ่ายเชียงใหม่รู้ทันจึงตอบกลับไปว่า “อุตส่าห์มาบวชเป็นพระแล้ว ยังจะมาขอบิณฑบาตเอาบ้านเอาเมืองคืนอีกหรือ มันใช่กิจของสงฆ์ไหม?”

ครั้นเมื่อ “ราชะนักบวช” ทราบคำตอบของฝ่ายเชียงใหม่จากสมณทูตแล้วก็ “เก็บไว้ในใจ” หมายถึงขอบ่มเพาะบาดแผลที่ถูกปฏิเสธการคืนเมืองเชลียงนี้ไว้ก่อนด้วยความเคียดแค้น เฝ้ารอวันปะทุ

อนุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด

 

“ชีม่าน” ทำลาย “ไม้สรีเมือง”

โดยที่ยังไม่ทันลาสิกขาเพศ ราชะนักบวชพระบรมไตรโลกนาถก็ปฏิบัติการจ้างสายลับชื่อ “หาญพรหมสะท้าน” ขึ้นไปสอดแนมก่อนเป็นรายแรก เพื่อค้นหาสาเหตุว่า ทำไมเมืองเชียงใหม่จึงมีเดชานุภาพมากนัก ทำให้พระองค์ไม่อาจทำร้ายได้เลย?

หาญพรหมสะท้าน สืบความได้ว่า “เหตุเพราะเมืองเชียงใหม่มี ‘ไม้สรีเมือง’ ตราบที่ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์นี้ยังคงอยู่ เชียงใหม่ก็จักไม่มีวันถูกทำลาย”

คำว่า “สรี” (ศรี) หมายถึงสิริมงคล “ไม้สรีเมือง” บ้างเรียก “ไม้มิ่งเมือง” หรือ “ไม้นิโครธ” เชื่อว่าเป็นไม้ในตระกูลต้นไทร ต้นไม้นี้ปลูกให้เป็นสรีเมืองตั้งแต่ครั้งพระญามังรายสร้างเชียงใหม่ในปี 1839 ปัจจุบันคือบริเวณวัด “ชัยศรีภูมิ” ทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกคูเมืองเชียงใหม่

ฝ่ายอยุธยาจึงแก้เคล็ดด้วยการจ้างวานนักบวชชาวพม่า (ล้านนาเรียก “ชีม่าน”) ตนหนึ่ง (ล้านนาเรียกนักบวชว่า “ตน” แทน “รูป) เป็นชาวพุกามชื่อ “มังหลุงหลว้าง” ด้วยค่าจ้างสูงลิบลิ่ว ทองคำ 1 พัน เงิน 300 และจีวร 1 คู่ ให้ขึ้นไปทำลายไม้สรีเมืองของเชียงใหม่

ช่วงแรกชีม่านตนนี้ได้แฝงตัวเนียนๆ อยู่แถววัดนันทาราม นอกประตูเชียงใหม่ทางทิศใต้ ดำรงตนเยี่ยงผู้คงแก่เรียน คงกระพันชาตรี ชำนิชำนาญทางคาถาอาคม จนขุนนางผู้หนึ่งชื่อ “พันคราวอ้าย” บังเกิดความเลื่อมใส เห็นว่าคุณสมบัติเช่นนี้น่าจะเข้าตากษัตริย์เชียงใหม่ จึงนำความไปทูลต่อพระเจ้าติโลกราช พระองค์โปรดปรานชีม่านตนนี้ทันที ถึงกับสร้างกุฏิในอารามน้อยแห่งหนึ่งไม่ไกลวัดนันทาราม ชื่อวัดพุกามถวายให้

พระเจ้าติโลกราชได้ถามชีม่านว่า “ทำอย่างไรพระองค์จึงจะมีเดชานุภาพเหนือเมืองอื่นๆ มีชนมายุยืนยาวและอยู่ด้วยความสุขสวัสดี?” เล่นถามแบบนี้ก็ ‘เข้าทาง’ ชีม่าน ซึ่งรอจะให้คำแนะนำมานานแล้ว

มังหลุงหลว้างแนะนำว่า “ศรี” (สรี) ของเชียงใหม่อยู่ที่ทิศอีสาน จึงควรตั้ง “หอคำหลวง” ในทิศนั้น (ปกติหอคำหลวง หรือพระราชวังของกษัตริย์เชียงใหม่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในคูเมือง ปัจจุบันคือจุดที่กำลังขุดค้นทางโบราณคดีเรียกว่า “เวียงแก้ว”)

โดยอ้างเงื่อนไขถึงความจำเป็นว่า “ต้องรื้อกำแพงเมืองบางส่วน เพื่อสามารถข้ามคูเมืองออกไปได้” ทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่า กำแพงเมืองเชียงใหม่ที่เคยตระหง่านปกปิดมิดชิดทั้งสี่ด้าน ได้ถูกทะลวงกลายเป็นช่องโหว่ไปแล้ว 1 ช่อง

ข้อสำคัญต้อง “ขุดรากถอนโคนต้นไม้ทุกชนิด” ในบริเวณออกให้หมด

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ความกระหายในอำนาจที่อยากมีบารมีล้นฟ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้พระองค์ (แสร้ง) ลืมไปเสียสนิทเลยหรือว่าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของ “ไม้สรีเมือง” มานานกว่าสองศตวรรษ

ไม่เพียงแต่ไม้นิโครธจักถูกทำลายลงเท่านั้น หอคำหลวงที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ มังหลุงหลว้างยังสั่งให้ช่างนำไม้อัปมงคลนานาชนิดมาใช้ก่อสร้างอีกด้วย

เมื่อกำแพงเมืองถูกเจาะ ซ้ำมีพระราชวังแห่งใหม่ ก็ย่อมมีโรงช้างโรงม้า ทิมดาบฝึกอาวุธ บริเวณนี้ที่เคยสงบศักดิ์สิทธิ์ พลันกลายเป็นที่ระบายอุจจาระปัสสาวะสิ่งโสโครกคราบเลือดคนและสัตว์หลอมรวมกันอีกด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน “แม่ท้าวหอมุก” ชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งติดตามพระญายุทธิษเฐียรขึ้นมาจากเมืองสองแควด้วยนั้น ก็กล่าวหา “พ่อท้าวบุญเรือง” พระโอรสองค์เดียวของพระเจ้าติโลกราช ว่าคิดก่อกบฏจะแย่งชิงราชบัลลังก์

พระเจ้าติโลกราชไม่ฟังอีร้าค่าอีรมใดๆ (ด้วยฤทธิ์คุณไสย ที่ไม้สรีเมืองถูกทำลายลง) สั่งให้เนรเทศพ่อท้าวบุญเรืองไปอยู่ที่ “เวียงน้อย” (ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ช่วงรอยต่อใกล้อำเภอเวียงแหง เชียงใหม่) ซึ่งเป็นเขตที่ปกครองโดยชาวไทใหญ่ ห่างไกลจากราชธานีเชียงใหม่มาก และในที่สุด แม่ท้าวหอมุกยัง “ลักใจ” (ลวง) พระเจ้าติโลกราชให้ฆ่าพระโอรสนั้นเสียอีก

ถัดมา ราชสำนักเชียงใหม่มีแต่เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ พระเจ้าติโลกราชสั่งประหารขุนนางอำมาตย์โดยไร้ความผิดเป็นว่าเล่น เช่น คนสำคัญที่เรากล่าวถึงแล้วในฉบับก่อนคือ หมื่นด้งนคร หมื่นม้า ฯลฯ

ประเด็นเรื่องความโหดร้ายของพระเจ้าติโลกราชในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้น จะเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจนัก ด้วยเหตุที่แม้ก่อนอยุธยาจะทำคุณไสยใส่เมืองเชียงใหม่ มหาราชพระองค์นี้ก็มีใจที่เหี้ยมหาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมิใช่หรือ อาทิ การจับพระราชบิดาไปขัง การควักดวงตาทหารที่แพ้สงคราม ฯลฯ

วิหารหลวง วัดชัยศรีภูมิ

 

จีนมุสลิม “ห้อผาสี” กับประตูไหยา

ใช่เพียงแต่ราชะนักบวชพระบรมไตรโลกนาถจะใช้ “ชีม่าน” มาทำลายไม้สรีเมืองให้เชียงใหม่หมดสง่าราศีสูญสิ้นสิริมงคลไปแล้วเท่านั้น

ราชสำนักอยุธยาซึ่งครั้งกระนั้นมีสถานที่บัญชาการอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ยังได้จ้างวาน “จีนมุสลิม” หรือ “จีนฮ่อ” (ล้านนานิยมเขียน “ห้อ”) ชื่อ “ผาสี” จึงเรียกกันว่า “ห้อผาสี” ขึ้นมากระหน่ำซ้ำเมืองเชียงใหม่ด้วยคุณไสยโอบกระหนาบรอบเมืองอีกด้วย

นั่นคือการทำพิธี “ตู้ลอง” แปลว่ากระทำกฤตยามนต์ ด้วยการนำ “ยา” หมายถึงสิ่งที่ปรุงขึ้นด้วยของต่ำสิ่งปฏิกูล ใช้เป็นกฤตยาคม นำมาฝังใส่ “ไห” ไว้ที่ประตูเมืองทุกแห่ง เพื่อทำลายล้างอาถรรพณ์หรือ “ยนตร์” ที่โหราจารย์เคยผูกไว้ให้คุ้มครองเมืองเชียงใหม่

ให้เผอิญว่า “ห้อผาสี” มีพิรุธหลายอย่างทำให้ฝ่ายเชียงใหม่จับได้ จึงจัดเครื่องแก้กฤตยาคมไว้ทัน พระเจ้าติโลกราชให้ขุดประตูเมืองทั้ง 6 แห่ง กับที่กลางเมืองอีกแห่ง ก็พบ “ไหยา” คือไหบรรจุที่มีอำนาจในการข่มทำลายอาถรรพ์ที่ช่วยรักษาเมือง ให้นำไหเหล่านั้น ไปเผาทิ้งที่สะพาน “ซิบคำ” ที่ทอดข้ามลำน้ำแม่โทร

คำว่า “ประตูเมืองทั้ง 6 แห่ง” นั้น อาจตีความได้ว่า ปกติประตูที่กำแพงเมืองชั้นในของเชียงใหม่นั้นมี 5 ประตูคือ ประตูท่าแพ, เชียงใหม่, สวนปรุง, สวนดอก และข่วงสิงห์ การนับประตูที่ 6 เพิ่มขึ้นมา คงหมายถึงประตูชั้นนอกด้านทิศใต้อีกแห่งคือประตูไหยา เนื่องจากปัจจุบันยังเหลือซากป้อมประตูแห่งหนึ่งมีชื่อว่า “ประตูหายยา” (ออกเสียงลากยาวเพี้ยนมาจาก “ไหยา”)

ส่วนการฝังไหยาอีกใบใน “กลางเมืองเชียงใหม่” นั้น น่าจะหมายถึงใจกลางเมือง แถวบริเวณวัดสะดือเมือง (ในพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ของเทศบาล) จนถึงวิหารหลวงพ่อขาว ใกล้อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน

ในที่สุด ทั้งชีม่าน “มังหลุงหลว้าง” และจีนมุสลิม “ห้อผาสี” (น่าแปลกที่ราชสำนักพิษณุโลก ไม่มีการใช้หมอเขมรที่เราได้ยินกิตติศัพท์ว่าขึ้นชื่อเรื่องขมังเวทย์ มารับงานทำลายเชียงใหม่) ก็ถูกจับได้ ครั้นเมื่อมีการสอบสวนทั้งคู่ยอมรับสารภาพโดยดี

พ่อหมอทั้งสองถูกทุบตีจับมัดแล้วนำไปถ่วงน้ำทิ้งที่ “แก่งพอก” ในลำน้ำปิง คำว่า “พอก” ในภาษาล้านนามีความหมายสองอย่าง หนึ่ง พอกหมายถึงหุ้ม

สอง พอก ยังแปลว่าย้อนกลับคืนได้อีกด้วย เป็นนัยว่าการนำผู้ทำมนต์กฤตยาไปทิ้งให้ตายที่แก่งพอกนี้ มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ความเลวร้ายแห่งกฤตยาคมของพ่อหมอทั้งสองย้อนกลับไปทำร้ายผู้จ้างวานดุจเดียวกัน

เรื่องราวเกี่ยวกับมนต์ดำไสยศาสตร์เหล่านี้ไม่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของฝ่ายราชสำนักพิษณุโลก (อยุธยา) แต่อย่างใด

ส่วนฝ่ายราชสำนักล้านนา หลังจากจัดการส่งดวงวิญญาณสองพ่อหมอผู้ทำคุณไสยใส่เมืองเชียงใหม่ให้ล่องไหลตามน้ำปิงลงไปหลอกหลอนราชสำนักพิษณุโลก (อยุธยา) แล้ว พระเจ้าติโลกราชก็ทรงดำเนินการถอน “ขึดบ้านขึดเมือง” เป็นการใหญ่

หอธรรม (หอพระไตรปิฎก) วัดชัยศรีภูมิ

ทำให้ทุกวันนี้เมื่อเราไปวัดชัยศรีภูมิ จึงไม่พบหอคำหลวง พระราชวังที่พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างทับที่ไม้สรีเมืองตามคำแนะนำของชีม่านอีกแต่ประการใด

พบแต่ “หอธรรม” (หอพระไตรปิฎก) หลังงามแทน ซึ่งหลายท่านเชื่อว่าหอธรรมหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นทับจุดหอคำหลวงที่ใช้ไม้อัปมงคล เพื่อเป็นการล้าง “ขึด” หรืออาจกล่าวได้ว่า ในที่สุดฝ่ายล้านนาจำต้องเอา “มนต์ขาว” (ธรรมะ) เข้าข่ม “มนต์ดำ” (อธรรม) นั่นเอง