On History : พระเจ้าอโศกมีเชื้อสายกรีก? / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

พระเจ้าอโศกมีเชื้อสายกรีก?

 

ในอินเดียมีความเชื่อที่ว่า “พระเจ้าอโศก” มหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะ ผู้เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่างช่วง พ.ศ.270-312 นั้น มีสายเลือดของพวกกรีกปนอยู่ในตัว ไม่ได้เป็นชาวอินเดีย สายเลือดชมพูทวีปข้นคลั่กแท้ๆ หรอกนะครับ

แถมความเชื่อที่ว่านี้ ยังมีเอกสารโบราณรองรับอยู่ด้วยอีกต่างหาก

เอกสารที่ว่านี้คือ คัมภีร์ปุราณะ ฉบับหนึ่งของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีชื่อว่า “ภวิษยะปุราณะ” ซึ่งมีข้อความระบุเอาไว้ในทำนองที่ว่า พระเจ้าจันทรคุปต์ได้เสกสมรสกับธิดาของพระเจ้าสุลุวะ ราชาชาวยาวนะ แห่งเปาสาธิประเทศ พระเจ้าจันทรคุปต์เป็นบิดาของพระเจ้าพินทุสาร และพระเจ้าพินทุสารนั้นเป็นบิดาของพระเจ้าอโศก

ข้อมูลในตำราทางศาสนาของพ่อพราหมณ์ฉบับนี้ ลำดับสายกษัตริย์ของราชวงศ์โมริยะได้อย่างถูกต้องชัดเจน เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ นั้น ต่างก็ระบุไม่ต่างกันนักว่า ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์โมริยะนั้นก็คือ พระเจ้าจันทรคุปต์ กษัตริย์ที่ครองราชย์องค์ถัดมาคือ พระเจ้าพินทุสารผู้เป็นบุตร ส่วนพระเจ้าอโศกนั้นก็เป็นบุตรชายของพระเจ้าพินทุสาร และครองราชย์เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปนกยูงนี้จริงๆ

ส่วนราชาที่ชื่อ “สุลุวะ” นั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าคือ “พระเจ้าเซลิวคุส” (Seleucus) แน่นอนว่า กษัตริย์พระองค์นี้เป็นชาวกรีก ดังที่ในคัมภีร์ภวิษยะปุราณะระบุว่า พระองค์เป็นราชาชาว “ยาวนะ” (Yavana, บาลีเรียก “โยนก”) ซึ่งก็คือคำที่พวกพราหมณ์-ฮินดูในชมพูทวีปใช้เรียก “ชาวกรีก” นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์เสกสมรสกับธิดาของกษัตริย์เชื้อสายกรีก ผู้บุตรของพระองค์คือพระเจ้าพินทุสารก็ย่อมมีเชื้อสายกรีกอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็หมายความด้วยว่า พระเจ้าอโศกซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าพินทุสาร ย่อมมีสายเลือดกรีกไหลเวียนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย

 

พระเจ้าเซลิวคุสที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ภวิษยะปุราณะพระองค์นี้คือ พระเจ้าเซลิวคุส ผู้พิชิต (Seluecus the Victor) ก่อนครองราชย์มีนามเดิมว่า เซลิวคุส นิเคเตอร์ (Seluecus Nicator)

เป็นอดีตแม่ทัพคนหนึ่งในทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (Alexander the Great) มหาราชแห่งมาซิโดเนีย ผู้รุกตะวันออกและสามารถครอบครองดินแดนต่างๆ ของผืนโลกเก่าได้มากมาย อย่างที่ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ไหนทำได้มาก่อน

แน่นอนว่า ดินแดนหลายส่วนที่พระองค์ได้มาตั้งอยู่ในพื้นที่ของทวีปเอเชีย

หลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เสียชีวิตลง เซลิวคุสได้ตั้งตนเป็นใหญ่ และประสบความสำเร็จในการรวบรวมดินแดนส่วนใหญ่ในเอเชีย ที่ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เคยเข้ายึดครอง จนสถาปนาเป็น “จักรวรรดิเซลิวซิด” (Seluecid Empire, หรือที่ในปุราณะของพวกพราหมณ์เรียกว่า เปาสาธิประเทศ) ซึ่งครอบคลุมดินแดนเอเชียไมเนอร์, ซีเรีย, เมโสโปเตเมีย ตลอดจนที่ราบสูงอิหร่าน โดยมีเมืองหลวงแห่งแรกคือ เมืองเซลิวเซีย (Seleucia) ในประเทศอิรัก

เอกสารโบราณหลายชิ้นของโลกตะวันตกระบุเอาไว้ตรงกันว่า พ.ศ.238 พระเจ้าเซลิวคุสพยายามขยายดินแดนลงมายังพื้นที่แคว้นคันธาระ ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เคยครอบครอง แต่ถูกพระเจ้าจันทรคุปต์เข้ายึดครองในภายหลัง

จนทำให้เกิดสงครามที่ในหลักฐานตะวันตกเรียกว่า “สมรภูมิเซลิวซิด-เมารยัน” (Seleucid-Mauryan war) ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.238-240

 

รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกครั้งดังกล่าวมีไม่มากนัก แต่ข้อมูลที่อ้างถึงกันบ่อยที่สุด ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์โรมัน” ที่เขียนขึ้นด้วยภาษากรีกที่ชื่อ “Romaiká” แต่มักจะรู้จักกันในชื่อภาษาละตินว่า “Historia Romana” ซึ่งเขียนขึ้นโดยอัปเปียน แห่งอเล็กซานเดรีย (Appian of Alexandria) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน เชื้อสายกรีก ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.638-708 ซึ่งมีข้อความระบุเอาไว้ในบท “สงครามซีเรีย” (Syrian war) ซึ่งกล่าวถึงสงครามระหว่างโรมันกับจักรวรรดิเซลิวซิด แต่ได้เล่าย้อนถึงประวัติของจักรวรรดิแห่งนี้เอาไว้ในความตอนหนึ่งว่า

“เขา (เซลิวคุส) ข้ามแม่น้ำสินธุแล้วทำสงครามกับซานโดรคอตตุส (คือ จันทรคุปต์ ตามสำเนียงกรีก) ราชันย์แห่งชนชาวอินเดียทั้งหลาย ซึ่งอาศัยอยู่บนฝั่งแม่น้ำนั้น ในที่สุดพวกเขาได้ปรับความเข้าใจกันแล้วทำสัญญาสงบสุข โดยมีการแต่งงานเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์”

ข้อมูลของอัปเปียนสอดคล้องกับเอกสารที่ชื่อ “De Historiis Phiilippicis” (แปลตรงตัวว่า ประวัติศาสตร์ของมาซิโดเนีย) ที่เขียนขึ้นโดยมาร์คุส จูนิอานุส จัสตินุส ฟรอนตินุส (Marcus Junianus Justinus Frontinus) หรือที่มักจะเรียกกันอย่างลำลองในโลกภาษาอังกฤษว่า จัสติน (Justin) ซึ่งอ้างว่าพระเจ้าจันทรคุปต์ได้เข้ายึดครองแคว้นคันธาระ มาจากทัพของพวกกรีกที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งเอาไว้ โดยจัสตินได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมพระเจ้าจันทรคุปต์ได้มอบช้างที่ฝึกให้เชื่องแล้วจำนวนหนึ่ง

เป็นของขวัญแลกเปลี่ยนให้แก่พระเจ้าเซลิวคุส

 

ในขณะที่เอกสารของพลูตาร์ก (Plutarch) ที่ในโลกภาษาอังกฤษเรียกว่า “Parallel Lives of the Noble Greeks and Romans” (แปลตรงตัวว่า หลากชีวิตคู่ขนานของบุคคลสำคัญชาวกรีกและโรมัน) ระบุไว้ว่า พระเจ้าจันทรคุปต์เคยมอบช้างจำนวน 500 เชือกให้กับพระเจ้าเซลิวคุส แต่ไม่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ว่าทำไมจึงได้มีการกำนัลช้างให้แก่กัน

ที่สำคัญก็คือ ตัวเลขดังกล่าวตรงกันกับข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ ควบตำแหน่งนักภูมิศาสตร์ และนักปรัชญา ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียไมเนอร์ ในช่วงที่โรมันผลัดเปลี่ยนจากสาธารณรัฐมาเป็นจักรวรรดิ อย่างสตราโบ (Strabo) ระบุเอาไว้ในหนังสือ “Geographica” (ภูมิศาสตร์) โดยสตราโบยังระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า พระเจ้าเซลิวคุสนั้นแลกเปลี่ยนดินแดนแถบลุ่มน้ำสินธุกับการแต่งงาน โดยแลกกับช้าง 500 เชือก

ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าเซลิวคุสในฐานะผู้รุกรานนั้นเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ซึ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงผลการสู้รบในสมรภูมิอยู่กลายๆ

แต่ในขณะที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงในอะไรที่คล้ายๆ กับค่าปฏิกรรมสงครามในปัจจุบันพอสมควร แต่ในเอกสารต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ไม่ได้มีเอกสารชิ้นใดเลยที่ระบุถึงรายละเอียดของ “การแต่งงาน” ที่ว่านี้ ไม่มีแม้กระทั่งชื่อของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวด้วยซ้ำไป ภวิษยะปุราณะจึงเป็นเอกสารเก่าชิ้นเดียวที่ระบุถึงรายละเอียดอันน้อยนิดของการแต่งงานดังกล่าว

 

เรื่องมันก็ดูเหมือนจะจบลงเท่านั้นนะครับ แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างที่ใครๆ คิด

เพราะถึงแม้ว่า “ภวิษยะปุราณะ” จะเป็นคัมภีร์เล่มสำคัญ โดยนับเป็นหนึ่งในมหาปุราณะ คือปุราณะเล่มหลักของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้ง 18 ฉบับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณกรรมสันสกฤตต่างก็ยอมรับกันว่า เก่าแก่ถึงช่วงเวลาระหว่างหลัง พ.ศ.500-ราว พ.ศ.1000

แต่ข้อความตอนดังกล่าวปรากฏอยู่ในบรรพที่เรียกว่า “ประติสรรคะปรรพ” ซึ่งมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นส่วนที่ถูกต่อเติมเข้ามาในภายหลังมากๆ เช่น ปรากฏเรื่องราวของพระคริสต์และพระมะหะหมัด รวมไปถึงราชสำนักวิกตอเรียน แห่งสหราชอาณาจักร รวมไปถึงประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ศตวรรษที่ผ่านมานี้ ทำให้ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ช วอชิงตัน (George Washington University) ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างอัลฟ์ ฮิลต์เบเทล (Alf Hiltebeitel) ได้สรุปลงไปว่า ข้อความต่างๆ ในประติสรรคะปรรพนั้น เพิ่งจะถูกแต่งเพิ่มเติม และสอดแทรกเข้าไปรวมอยู่ในภวิษยะปุราณะ ฉบับดั้งเดิมในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ.2343-2442) เท่านั้น

แน่นอนว่า ฮิลต์เบเทลย่อมหมายรวมถึงข้อความส่วนที่กล่าวว่า พระเจ้าจันทรคุปต์เสกสมรสกับธิดาเชื้อสายกรีกแห่งพระเจ้าเซลิวคุสด้วย

 

เอาเข้าจริงแล้ว นอกจาก “ประติสรรคะปรรพ” จะเป็นส่วนที่ถูกเติมเข้ามาใหม่แล้ว ก็ยังเป็นส่วนที่เขียนถึงอะไรที่เรียกว่า “กลียุค” แถมส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกลียุค คือยุคที่ความดีเสื่อมถอยที่สุดในยุคทั้ง 4 ตามคติพราหมณ์-ฮินดู ที่ว่านี้ ยังเกิดขึ้นเพราะชนชาวชมพูทวีป หันไปแต่งงานกับชนชาวโยนก ซึ่งก็คือ “กรีก” อีกต่างหาก

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามนัยยะที่ถูกเติมเข้าไว้ในคัมภีร์ปุราณะฉบับนี้แล้ว พระเจ้าจันทรคุปต์เองก็คือส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดกลียุคด้วย

อันที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนะครับว่า ทำไมคนอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงยัดเยียดว่า พวกกรีกที่รุกรานมาจากทางตะวันตกเป็นผู้ที่ทำให้เกิดกลียุคตามความเชื่อทางศาสนา ในเมื่อช่วงเวลาดังกล่าว อังกฤษก็เข้ามายึดภูมิภาคเอเชียใต้เป็นอาณานิคม ภายใต้นามของพระนางเจ้าวิกตอเรีย

ดังนั้น ถ้าจะยึดเอาหลักฐานจากภวิษยะปุราณะเพียงอย่างเดียวแล้ว จึงออกจะชวนให้เชื่อได้ยากสักหน่อยว่า “พระเจ้าอโศก” จะมีเลือด “กรีก-โยนก” ไหลเวียนอยู่ในตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว เพราะหลักฐานจากโลกตะวันตกพูดถึงการแต่งงานระหว่างฝ่ายของราชวงศ์โมริยะ และราชวงศ์แห่งจักรวรรดิเซลิวซิดจริงๆ นั่นเอง