On History : ทำไมพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ จึงรุกโลกตะวันออก? / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพโมเสก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ที่ Casa del Fauno (บ้านของฟอน [Faun] เทพเจ้าครึ่งคนครึ่งแพะของชาวโรมัน) คฤหาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองปอมเปอี (ภาพจาก : https://www.silpa-mag.com/history/article_38964)

 

 

ทำไมพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

จึงรุกโลกตะวันออก?

 

ภาพจำอย่างหนึ่งของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งมาซิดอน (Alexander the Great of Macidon, คือมาซิโดเนียในปัจจุบัน) ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.187-220 ก็คือการทำสงครามอย่างหิวกระหาย

ในช่วงชีวิตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พระองค์ได้เริ่มยาตราทัพกรีกออกจากมาซิดอน เมื่อเรือน พ.ศ.209 จากนั้นเก็บชัยชนะเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่ ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ไล่มาถึงภูมิภาคเอเชียไมเนอร์ ในประเทศตุรกีปัจจุบัน, กรุงบาบิโลน ในประเทศอิรัก, ซีเรีย, จักรวรรดิเปอร์เซีย ในประเทศอิหร่าน ซึ่งมีราชวงศ์อาคีเมนิด (Achaemenid) ปกครองอยู่ และถือได้ว่าเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น แต่พระองค์ก็ยังไม่พอใจอยู่เพียงเท่านั้น

เพราะหลังจากนั้น พระองค์ก็เริ่มออกปราบปราม และยึดครองดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้ปกครองของจักรวรรดิเปอร์เซียทั้งหมด

ซึ่งนั่นก็ครอบคลุมถึงดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีปด้วย

 

หลังการต่อสู้อย่างยาวนานในลุ่มแม่น้ำออกซุส (Oxus) ที่แคว้นแบกเตรีย (Bactria) ที่ซึ่งพระองค์ได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงพื้นเมืองที่ชื่อว่า ร็อกซานา (Roxana) ผู้ซึ่งชาวกรีกทั้งหลายต่างชื่นชมกันว่าเป็นหญิงสาวที่งดงามที่สุดในทวีปเอเชีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ยกทัพข้ามเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) และเข้ายึดครองบริเวณเมืองกาบูล (Kabul)

พวกชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนที่สูงได้ทำการต่อต้านทัพของพระองค์อย่างดุเดือด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พระองค์จึงนำทัพข้ามหุบเขากาบูล ผ่านช่องเขาไคเบอร์ (Khyber pass) ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางจากพื้นที่บริเวณเอเชียกลาง เข้าไปยังลุ่มแม่น้ำสินธุ และนำทัพข้ามแม่น้ำดังกล่าวในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ.217

พระองค์นำทัพฝ่าแคว้นคันธาระ ที่วางตัวอยู่บนลุ่มแม่น้ำสินธุ ที่อีกฟากข้างของแคว้นแบกเตรีย โดยมีเทือกเขาฮินดูกูชคั่นอยู่ระหว่างกลาง แล้วลุยฝ่าไปทางเมืองเอกของแว่นแคว้นแห่งนี้คือ เมืองตักศิลา

จากนั้นจึงเคลื่อนทัพไปยังสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดของทัพกรีกในชมพูทวีป ที่เรียกว่า “สมรภูมิไฮดาสเปส” (Hydaspes war) ลุ่มน้ำเฌลัม

เส้นทางทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต่อจากนี้ เอกสารโบราณเสียงแตกออกเป็นสองกระแส บ้างก็ว่า ด้วยกำลังใจในกองทัพที่ระส่ำระสายทำให้พระองค์ต้องเคลื่อนทัพกลับออกจากชมพูทวีป ก่อนที่จะไปเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยที่พระราชวังเนบูชัดเนซซ่า (Nebuchadnezza Palace) แห่งมหานครบาบิโลน เมื่อ พ.ศ.220

อีกกระแสว่า พระองค์ได้ข้ามแม่น้ำคงคาไปรบกับทัพผสมของพระเจ้าธนานันทะ แห่งราชวงศ์นันทะ ก่อนจะเพลี่ยงพล้ำต้องศรพิษ แล้วกำลังใจในทัพตกลงจนต้องเคลื่อนทัพกลับไปเสียชีวิตที่บาบิโลน ด้วยวัยที่ยังไม่ครบ 33 ปีดีเช่นกัน

ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธว่าตลอด 11 ปีที่พระองค์กรำศึกสงคราม ก็ทำให้ผู้คนในสมัยหลังมักจะจินตนาการกันว่า พระองค์รุกตะวันออกเพราะต้องการจะครองโลก หรือต้องการจะไปให้ถึงสุดขอบโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระองค์จะวาดฝันเอาไว้อย่างนั้นจริงๆ หรือครับ?

 

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ขึ้นครองราชย์หลังสงครามครั้งสำคัญ ระหว่างภายในกลุ่มนครรัฐของพวกกรีกเอง ที่เรียกว่า “สมรภูมิแชโรเนีย” (Chaeronea Battle) เมื่อ พ.ศ.205 ที่พ่อของพระองค์คือ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 (Philip II) แห่งมาซิดอน สามารถเอาชนะพันธมิตรแห่งนครรัฐกรีกที่นำโดยเมืองเอเธนส์ (Athens) และเมืองธีบิส (Thebes) จนยังผลให้เกิด “สันนิบาตโครินธ์” (the League of Corinth) ขี้นเมื่อราว พ.ศ.206 โดยมีพระเจ้าฟิลิปที่ 2 เป็นผู้นำ

สันนิบาตโครินธ์ตั้งขึ้นเพื่อหน้าที่หลัก 2 ประการคือ ธำรงสันติภาพของนครรัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสันนิบาต และเปิดศึกกับจักรวรรดิเปอร์เซีย เพื่อยุติความบาดหมางระหว่างกัน ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนานมากกว่า 150 ปีแล้ว นับตั้งแต่พระเจ้าดาริอุสที่ 1 (Darius I) ได้นำกองทัพเข้าสู่ทะเลอีเจียน (Aegean sea) เมื่อ พ.ศ.51 โดยสภาสันนิบาตแต่งตั้งให้พระเจ้าฟิลิปที่ 2 เป็น “Strategos” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยด้วยความหมายที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันได้ว่าคือ “จอมทัพ”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความขัดแย้งภายในสภาสันนิบาตเอง ทำให้พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ถูกลอบสังหารโดยองครักษ์ของพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ผู้เป็นรัชทายาทจึงต้องขึ้นครองราชย์ และรับช่วงภารกิจเป็นจอมทัพรุกเมืองเปอร์เซโปลิสแทนบิดาของตน โดยได้ยาตราทัพกรีกจากมาซิโดเนียเมื่อ พ.ศ.209 จนได้ชัยชนะจากเปอร์เซียไปในที่สุด

ดังนั้น หากจะพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ก็อาจจะเห็นได้ว่า การรุกตะวันออกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบาดหมางระหว่างกลุ่มนครรัฐในวัฒนธรรมกรีก กับจักรวรรดิเปอร์เซีย ที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานมามากกว่าหนึ่งศตวรรษครึ่งแล้ว เป็นปัจจัยที่สำคัญต่างหาก

 

การที่จักรวรรดิเปอร์เซียเริ่มรุกรานกรีกเป็นครั้งแรกนั้น มีเหตุผลมาจากการที่กรุงเอเธนส์ ซึ่งก็คือศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมกรีก และเมืองเอริเทรีย (Eritria) ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ห่างจากเอเธนส์นัก ได้ทำการสนับสนุนเมืองไอโอเนีย ให้กระด้างกระเดื่องต่ออำนาจปกครองของจักรวรรดิเปอร์เซีย

(และผู้ที่สืบค้นถึงสาเหตุของความขัดแย้งดังกล่าว จนทำให้พระเจ้าดาริอุสที่ 1 ได้กรีธาทัพเข้ามาสู้รบกับพวกกรีกนั้นก็คือ “เฮโรโดตุส” [Herodotus, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.58-118] ซึ่งว่ากันว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการไต่สวนข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะก่อนหน้านั้นในโลกตะวันตกก็สนใจเพียงแค่ว่า ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? และอย่างไร? เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีความสนใจถึงการสืบค้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เฮโรโดตุสได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์” นั่นเอง)

เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่หรอกนะครับ ที่ทั้งเอเธนส์ และเอริเทรีย จะกระทำการอย่างนั้น เพราะเมืองไอโอเนียที่ว่านี้ วางตัวอยู่ที่อีกฟากข้างของทะเลอีเจียน ที่คั่นกลางระหว่างคาบสมุทรบอลข่าน ที่นครรัฐทั้งหลายของพวกกรีกตั้งอยู่ กับที่ราบสูงอนาโตเลียในเขตประเทศตุรกีปัจจุบัน แถมเมืองไอโอเนียที่ว่านี่ ยังตั้งอยู่ตรงข้ามกับเอเธนส์ และเอริเทรียอย่างแทบจะพอดิบพอดี

จักรวรรดิเปอร์เซียมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเปอร์เซโปลิส (Persepolis) ในประเทศอิหร่านปัจจุบัน แต่ในช่วงที่พระเจ้าดาริอุสที่ 1 ปกครองอยู่นั้น มีอำนาจครอบคลุมไปถึงประเทศตุรกีปัจจุบัน, ตอนเหนือของทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะอียิปต์กับซีเรีย และรวมไปถึงบางพื้นที่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรบอลข่านเองอย่างเธรซ (Thrace) และยังรวมถึงมาซิดอนด้วย

ดังนั้น จึงเดาได้ไม่ยากนักว่า พระเจ้าดาริอุสที่ 1 นั้นคิดอย่างไรกับพื้นที่อื่นๆ ที่ไกลออกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งก็คือทวีปยุโรปในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 นั้นไม่เคยทำศึกชนะพวกกรีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าจะมีกำลังพลมากกว่าทัพผสมของฝ่ายกรีกอย่างมหาศาล

เหตุการณ์ในทำนองนี้ดำเนินต่อไปในรัชสมัยถัดๆ มาของเปอร์เซีย เช่น การศึกระหว่างพระเจ้าเซอร์ซิสที่ 1 (Xerxes I/Xerxes the Great) กับพระเจ้าลิโอนิดาสที่ 1 (Leonidas I) แห่งสปาร์ตา อีกหนึ่งนครรัฐในวัฒนธรรมกรีก ที่จบลงด้วยชัยชนะของทัพน้อยๆ ของชาวสปาร์ตันที่สามารถต้านทานกองกำลังเรือนแสนจากเปอร์เซียเอาไว้ได้ จนมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ดังเรื่อง 300 เมื่อ พ.ศ.2549 เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จุดมุ่งหมายสำคัญหนึ่งในสองข้อของสันนิบาตโครินธ์ จะเป็นการพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซีย การรุกตะวันออกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เป็นเพียงจุดจบของกระบวนการอันเนิ่นนานนี้เท่านั้น

 

แน่นอนว่าเมื่อพระองค์พิชิตเปอร์เซโปลิสได้แล้ว ยังรุกต่อเข้าไปในชมพูทวีป แต่ในความรับรู้ของพวกกรีกยุคนั้น แคว้นคันธาระเป็นส่วนหนึ่งในปริมณฑลของเปอร์เซีย ดังที่พระเจ้าดาริอุสที่ 1 เคยประกาศไว้บนจารึกบนหน้าผาศักดิ์สิทธิ์เบฮิสตุน (Behistun) ในประเทศอิหร่าน ที่จารขึ้นเมื่อ พ.ศ.25

และก็แน่นอนด้วยว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์อาจจะรุกตะวันออกด้วยความมุ่งมั่นส่วนพระองค์ โดยเฉพาะหลังจากที่ยึดครองเมืองเปอร์เซโปลิสได้แล้ว แต่ไม่เคยมีหลักฐานแน่ชัดว่า พระองค์วาดฝันที่จะครอบครองดินแดนทั้งหมดของโลก มาตั้งแต่เริ่มรุกตะวันออกเลย