ปริศนาโบราณคดี l ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (5) : ‘ยวนพ่ายสยามตอนไหน?’ ศึกสองแควหรือสงครามแย่งชิง ‘เมืองเชียงชื่น’?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (5)

: ‘ยวนพ่ายสยามตอนไหน?’

ศึกสองแคว หรือสงครามแย่งชิง ‘เมืองเชียงชื่น’?

 

ตั้งแต่ตอนที่หนึ่งแล้ว ดิฉันได้ตั้งคำถามไว้ว่า อาณาจักรล้านนา หรือ “แคว้นยวน-โยนก” นั้น “พ่ายแพ้” แก่กรุงศรีอยุธยาในสงครามช่วงไหนกันแน่ ในเมื่อเอกสารฝ่ายล้านนาทุกฉบับบันทึกไว้ว่า พวกตนเป็นฝ่ายชนะ อยุธยาต่างหากที่พ่ายแพ้

ครั้นเมื่ออ่าน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” อย่างละเอียดหลายรอบ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่าการศึกตอนไหนบ้างหรือที่ระบุว่า “ยวนพ่ายสยาม”

ได้พบคำตอบว่า มีสองครั้ง

ครั้งแรก คือตอนที่ล้านนายกทัพมาตีพิษณุโลกแต่ต้องพ่ายแพ้กลับไป ยึดพิษณุโลกไม่ได้ ทว่าครั้งนี้ โคลงยวนพ่ายเขียนแบบรวบรัด ไม่ได้เน้นวีรกรรมอะไรมากเป็นพิเศษ ผิดกับอีกครั้งหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า

นั่นคือครั้งที่สอง “เหตุการณ์แย่งชิงเมืองเชียงชื่น” ถือเป็นจุดตัดสินชี้ขาด ว่าระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับพระเจ้าติโลกราชนั้น ใครเหนือชั้นกว่าในฐานะผู้บัญชาการรบ?

 

ใครปกครองสองแควหลังยุทธิษฐิระ?

และตกลงใครชนะศึกสองแคว?

หลังจากที่พระญายุทธิษฐิระแปรพักตร์หรือเอาใจออกหากจากกรุงศรีอยุธยาไปขึ้นกับล้านนาแล้ว เอกสาร “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ระบุว่า เมืองสองแควหรือเมืองชัยนาท ปัจจุบันคือพิษณุโลกนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถใช้วิธีบริหารจัดการด้วยการถวายให้แด่พระราชมารดาของพระองค์ ขึ้นนั่งเมืองแทน

พระราชมารดาของพระบรมไตรโลกนาถ มีศักดิ์เป็นอาหญิงแท้ๆ ของพระญายุทธิษฐิระ คืออย่างไรเสียพระราชวิเทโศบายของพระบรมไตรโลกนาถ ก็ไม่อาจปล่อยให้เจ้านายชั้นสูงจากราชสำนักศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นมาปกครองพิษณุโลกเป็นอันขาด

อำนาจต้องอยู่ในมือเจ้าหญิงสุโขทัย ผู้เป็นพระราชมารดาของพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ขอถามว่าพระบรมไตรโลกนาถจะทรงไว้วางพระราชหฤทัยใครหน้าไหนได้บ้างในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน หลังจากที่พระญายุทธิษฐิระเกณฑ์ไพร่พลไปสวามิภักดิ์ต่อทางล้านนามากกว่าหมื่นชีวิต

ในราว พ.ศ.2004 ช่วงที่พระราชชนนีของพระบรมไตรโลกนาถปกครองเมืองสองแควอยู่นั้น พระญายุทธิษฐิระหลังจากที่ปกครองเมืองพะเยาอยู่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ได้ชักชวนให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพไปตีเมืองสองแควด้วยกัน โดยกองทัพฝ่ายล้านนาสามารถโอบล้อมเมืองสองแควอยู่นานถึง 2 เดือน

ข้อสำคัญ ช่วงสถานการณ์ใกล้สุกงอม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็เสด็จมาประทับเยี่ยมพระราชชนนีอยู่ในเมืองสองแควนั้นด้วย

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “พระบรมไตรโลกนาถแหกออกจากวงล้อมได้ในยามเที่ยงคืน รุ่งขึ้นทัพเชียงใหม่ก็ไล่ตามฆ่าพลรบชาวใต้ตายมากนัก ครั้นหมื่นด้ง (เรื่องราวของหมื่นด้งจักกล่าวถึงในฉบับหน้า) ทูลอาสาว่าจะยกไป ‘กุมเอาพระญาใต้หื้อได้ทั้งเป็น'”

คือหมื่นด้งอาสาจะไปจับพระบรมไตรโลกนาถแบบตัวเป็นๆ มาถวายนั้น พระเจ้าติโลกราชตรัสว่า

“มันก็พระญา เราก็พระญา เราแพ้มันเท่านั้น มันก็อายเราแล้ว”

คือพระเจ้าติโลกราชมองว่า หากไปจับเอาตัวพระบรมไตรโลกนาถมานั้น จะทำให้อับอายขายหน้าชาวประชา เขาก็กษัตริย์ เราก็กษัตริย์ อย่าให้ถึงกับต้องให้พังพินาศกันไปข้างหนึ่งเลย พระเจ้าติโลกราชจึงตัดสินพระทัยยกทัพกลับล้านนา

ทว่า การยกทัพกลับล้านนาครั้งนั้น ฝ่ายอยุธยามองว่า นี่คือการยอมพ่ายแพ้ถอยทัพกลับไปเองดื้อๆ ของฝ่ายพระเจ้าติโลกราช โดยที่ไม่สามารถยึดสองแควได้เลย ทั้งๆ ที่เป็นเมืองเก่าของพระญายุทธิษฐิระแท้ๆ ดังบทที่ 71 ในยวนพ่ายโคลงดั้น รจนาไว้ว่า

 

แถลงปางเข้าชยนาท           กรรบร บาปฤๅ

ไกรมโหสถแสดง                       ปราชญแปล้

แถลงปางท่านริรอน                   ไพริศ

ทนท่านบได้แพ้                       พ่ายเอง

 

ถอดความได้ว่า พระบรมไตรโลกนาถเข้าประทับเมืองพิษณุโลกเพื่อป้องกันข้าศึก แสดงความเป็นปราชญ์ดังมโหสถ พระองค์ดำริว่าได้รบกับข้าศึกคือฝ่ายล้านนา จนข้าศึกสู้ไม่ไหวพ่ายแพ้ไปเอง

การยืนกรานเหตุผลของทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นหนัก ทำให้เราไม่สามารถสรุปได้อีกเช่นเคยว่า ตกลงแล้วใครแพ้กันแน่ใน “ศึกสองแคว”?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือภายหลังจากพระราชชนนีสวรรคตปี 2006 แล้ว พระบรมไตรโลกนาถก็เสด็จมาประทับที่สองแคว (อีกชื่อคือชัยนาท) เป็นการถาวร พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก

 

“เชียงชื่น” อยู่ไหน? ไยชื่อนี้ปรากฏเฉพาะ

ใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” เพียงแห่งเดียว

พบว่าสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่ถูกบันทึกไว้ในยวนพ่ายโคลงดั้นอย่างละเอียดยิบ ความยาวมากกว่าครึ่งเล่มของหนังสือ ก็คือสมรภูมิรบที่เมือง “เชียงชื่น” อันเป็นสงครามที่เกิดขึ้นก่อน “ศึกสองแคว” เล็กน้อย คือระหว่างปี พ.ศ.2002-2003

ก่อนจะเจาะลึกถึงเรื่องมูลเหตุแห่งสงคราม รายละเอียดในการศึก และผลของการรบพุ่ง จำเป็นต้องตั้งคำถามกันอีกรอบว่า “เมืองเชียงชื่น” อยู่ที่ไหนหรือ?

ประเด็นเรื่องการตามหาเมืองเชียงชื่นนี้ เหล่าปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ได้เสนอไว้สองแนวทางหลักๆ ได้แก่

กลุ่มแรก เชื่อว่าเมืองเชียงชื่น ควรหมายถึงเมืองเชียงจืน คือต้องเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยแหล่ง “บ่อจืน” (จอ-สระอือ-นอ อ่านว่า จืน)

จืน หมายถึง แร่ตะกั่ว หรือชิน ที่ชาวล้านนานิยมนำมาทำกระจกสีประดับสถาปัตยกรรม

บ่อจืนขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนาปัจจุบันอยู่ในอำเภอลอง และบางส่วนของอำเภอวังชิ้น (ในอดีตวังชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของเมืองลอง) จังหวัดแพร่

ผู้ที่เสนอทฤษฎีนี้รายแรกๆ คือ สงวน โชติสุขรัตน์ ผู้ปริวรรตตำนานเมืองเหนือหลายฉบับ และขานรับด้วยพี่ต๋อย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน

กับกลุ่มที่สอง เชื่อว่า “เชียงชื่น” เป็นคำสร้อยของคำว่า “เชลียง” มากกว่า โดยใช้เรียกควบคู่กันเป็น “เชลียงเชียงชื่น” เช่นเดียวกับการเรียกเมือง “สระหลวงสองแคว” เป็นการเรียกควบกัน แท้คือเมืองเดียวกัน

ผู้นำเสนอทฤษฎีนี้ท่านแรก คือ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ตามมาด้วย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ และอีกหลายๆ ท่าน

โดยให้เหตุผลว่า ในโคลงยวนพ่าย พรรณนาถึงสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเชียงชื่นไว้ว่าต้องมีลักษณะเด่นห้าประการคือ

 

บางเม็งเป็นขื่อหน้า                     ขวางขนัน ก่อนแฮ

มีแม่ยมเป็นแย                                  แก่งกั้น

เขาสามเกือบกันกัน                            เมืองมิ่ง เขาแฮ

คูขอบสามชั้นซึ้ง                                ขวากแขวง

เร่งหมั้นเหลือหมั้นยิ่ง                    เวียงเหล็ก

มีกำแพงแลงเลือน                             ต่อต้าย

หัวเมืองเตกเสียงกล่าว                         แก่ไพร่ พลแฮ

ทั้งขวาทั้งซ้ายถ้วน                              หมู่หมาย

 

จากโคลงสองบทนี้ สรุปได้ว่าเมืองเชียงชื่นต้องมีองค์ประกอบห้าอย่าง ซึ่งนักวิชาการรุ่นก่อนหลายท่านได้ทำการศึกษาไว้อย่างละเอียดแล้ว สรุปว่าคุณสมบัติทั้งหมดนั้น คือสภาพของเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัย ที่ในท้ายที่สุดรู้จักกันว่าเมืองสวรรคโลก

1 มีคลองบางเม็งเป็นขื่อหน้า ทุกวันนี้ยังเหลือร่องรอยของหมู่บ้านหนึ่งทางตอนใต้เมืองเก่าศรีสัชนาลัย ใกล้กับเมืองบางขลังชื่อ “บ้านเฉ็งเม็ง” อดีตเคยมีคลองชื่อเดียวกันนี้ว่า “คลองเฉ็งเม็ง”

2 มีแม่น้ำยมขวางกั้น ชัดเจนว่าเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ตรงแก่งหลวง แม้ว่าเมืองลองก็มีน้ำแม่ยมไหลผ่านเช่นเดียวกัน แต่เมืองลองยังขาดคุณสมบัติข้ออื่นๆ อันจักได้กล่าวต่อไป

แม่น้ำยมไหลผ่านหน้าเมืองเชลียง

3 มีเขาสามลูกล้อมกันเมือง พบว่าเมืองศรีสัชนาลัย มีเขาพระบาท (เขาพระบาตร) เขาพระศรี และเขารังแร้ง (เขาสกุณ) สามลูกล้อมกันเมืองอยู่

ภูเขาสามชั้นล้อมรอบเมืองเชลียง

4 มีคูสามชั้นอุดมด้วยขวาก การจากสำรวจของกรมศิลปากรมีบันทึกว่า คูเมืองศรีสัชนาลัยนี้มีไม่น้อยกว่าสองชั้น

5 มีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงล้อม ตรงกับสภาพของเมืองศรีสัชนาลัย มีแหล่งขุดบ่อแลงขนาดใหญ่ (พอๆ กับที่กำแพงเพชร) อีกทั้งกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยก็ก่อด้วยศิลาแลง

กำแพงศิลาแลงเมืองเชลียง

ดิฉันขอร่วมแจมแถมเพิ่มอีกหนึ่งประเด็น นอกเหนือจากองค์ประกอบห้าประการแล้ว กรณีของคำว่า “เวียงเหล็ก” หรือ “เวียงเล็ก” ที่ดิฉันเคยวิเคราะห์ไว้แล้วในฉบับที่เขียนถึงเรื่อง “เวียงรมณีย์ที่ห้างฉัตร” นั้นขอหยิบยกมาอธิบายอีกครั้ง

คำว่า “เวียงเหล็ก” (บ้างออกเสียง “เวียงเล็ก”) นั้น หมายถึงเวียงชั่วคราว หรือเวียงที่สร้างขึ้นก่อนเวียงหลัก (ราชธานี) ที่กษัตริย์จะย้ายไปประทับเป็นการถาวร

เช่น ที่ลำพูนเรียกบริเวณวัดกู่ละมัก (วัดรมณียาราม) ว่า “เวียงเ(ห)ล็ก” ที่ลำปางเรียกบริเวณเวียงรมณีย์ แถววัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวีว่า “เวียงเหล็ก-เวียงตอง” ที่เชียงใหม่เรียกบริเวณวัดเชียงหมั้นว่า “เวียงเ(ห)ล็ก” และในกรุงศรีอยุธยาเองก็มีการเรียกฝั่งหนองโสนว่า “เวียงเหล็ก” อีกด้วย

และหากในกรณีนี้ เมืองศรีสัชนาลัยมีความเก่าแก่ เกิดขึ้นก่อนเมืองสุโขทัย ก็ย่อมสมควรถูกเรียกว่า “เวียงเหล็ก” ได้เช่นกัน

เพื่อความยุติธรรมแก่ทฤษฎี “เมืองเชียงจืน” ดิฉันจึงได้สอบถาม ภูเดช แสนสา ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลองหลายเล่ม ว่าคนเมืองลองเชื่อว่า “เมืองเชียงชื่น” นั้นอยู่ที่ไหน ควรเป็นส่วนหนึ่งของเมืองลองหรือไม่ ในบริเวณที่เป็นแหล่งบ่อจืนนั่น

หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลอง ของภูเดช แสนสา

อาจารย์ภูเดชตอบว่า พยายามค้นหาเมืองเชียงจืน หรือเชียงชื่นทั่วทั้งอำเภอลองและอำเภอวังชิ้นแล้ว ไม่ปรากฏลักษณะเฉพาะห้าประการดังที่ระบุไว้ในโคลงยวนพ่ายแต่อย่างใด

หากเมืองเชียงชื่นไม่ได้หมายถึงเมืองที่มีบ่อจืน แต่กลับกลายเป็นคำสร้อยเมืองเดียวกันกับเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัย เราจึงควรตั้งคำถามเพิ่มอีก 2-3 ข้อ

ข้อแรก เหตุใดผู้ประพันธ์ยวนพ่ายโคลงดั้นจึงไม่เรียกชื่อเมืองที่เป็นสมรภูมิรบพุ่งกันนั้นด้วยชื่อหลักว่า เมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย เสียให้จบๆ คนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาตามหาเมืองเชียงชื่น ซึ่งเป็นแค่ “คำสร้อย”

ข้อสอง ย้อนมองเอกสารฝ่ายล้านนา ได้แก่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ กับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เรียกเมือง “เชียงชื่น” หรือ “เชลียง” นี้ว่าเมือง “แช่เลียง” หรือ “แจ้เลียง” ซ้ำตำนานสองฉบับ ยังชอบเรียกควบเอาเมืองแช่เลียง กับเมืองสองแควเป็นเมืองคู่กันอีกด้วย โดยระบุว่า พระญายุทธิษเฐียรปกครองเมืองทั้งสองนี้

ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิด เพราะในความจริงแล้ว พระญายุทธิษเฐียรปกครองแค่เมืองสองแคว ส่วนเมืองเชลียงนั้นก็มีพระญาอีกคนหนึ่งปกครองอยู่

ข้อสาม ดิฉันได้สอบถาม สมชาย เดือนเพ็ญ ผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสุโขทัยว่า สรุปแล้วคำทั้งสี่นี้ (เชียงชื่น เชลียง ศรีสัชนาลัย และสวรรคโลก) ซึ่งหมายถึงเมืองเดียวกัน คำไหนเก่าสุด ใช้แตกต่างกันอย่างไร

อาจารย์สมชายอธิบายว่า ในศิลาจารึกหลัก 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น มีการใช้สองคำคือ “เชลียง” กับ “ศรีสัชนาลัย” พบว่าสองคำนี้ใช้ปะปนกันสลับไปสลับมา

แต่อาจารย์สมชายเชื่อว่า ศรีสัชนาลัยน่าจะเป็นคำโบราณดั้งเดิมกว่า อันหมายถึง “ฤๅษีสัชนาไลย” หรืออีกชื่อคือฤๅษีอนุสิสสะ ผู้เป็นสหายกับฤๅษีสุกกทันตะ และฤๅษีวาสุเทพ ทั้งสามมีบทบาทในการช่วยสร้างเมืองหริภุญไชย ให้มีผังรูปหอยสังข์

คำว่า “เชลียง” เป็นศัพท์ภาษาเขมร จึงน่าจะบัญญัติขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ

อาจารย์สมชายอธิบายว่า หลัง พ.ศ.2017 เริ่มปรากฏราชทินนามคำว่า “ออกญาสวรรคโลก” เป็นสร้อยต่อท้ายผู้รั้งเมือง “ศรีสัชนาลัย” โดยคำว่า “ศรีสัชนาลัย” ยังคงอยู่ แต่คำว่าเชลียง ค่อยๆ หายไป

วัดชมชื่นในเมืองศรีสัชนาลัย

ส่วน “เชียงชื่น” เป็นคำภาษาไทยแท้ และปรากฏอยู่แค่ใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” เพียงเล่มเดียว ชื่อของเชียงชื่น เมื่อฟังแล้วชวนให้นึกถึงชื่อวัดแห่งหนึ่งในศรีสัชนาลัยชื่อ “วัดชมชื่น” จะมีอะไรเกี่ยวข้องกันไหม ยังไม่มีใครเคยวิเคราะห์