On History : ‘โอลิมปิก’ ยุคกรีก-โรมัน แข่งอะไร? และมาจากไหน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
การแข่งรถศึก ซึ่งมีแข่งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ บนไหล่ภาชนะในวัฒนธรรมกรีกโบราณ (ภาพจาก : https://www.thevintagenews.com/2018/08/27/nero-competed-in-the-olympics/)

 

‘โอลิมปิก’ ยุคกรีก-โรมัน

แข่งอะไร?

และมาจากไหน?

 

คงจะทราบอยู่แล้วนะครับว่า “โอลิมปิก” นั้นเป็นมหกรรมกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งก็ถือกำเนิดขึ้นในวัฒนธรรมโบราณของพวกกรีก โดยที่มาแต่ดั้งเดิมนั้น มีข้อมูลเก่าแก่อยู่ในบันทึกโบราณเรื่อง “บทบันทึกว่าด้วยกรีซ” (Description of Greece) ของ “เปาซานิอาส” (Pausanias) นักเดินทางและนักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว พ.ศ.653-723

เปาซานิอาสอ้างว่า มหกรรมกีฬา “โอลิมปิก” นั้น พัฒนามาจากธรรมเนียมโบราณของพวกกรีก ที่ให้พวกเด็กสาววิ่งแข่งตัดสินกันว่า ใครจะได้เป็นนักบวชหญิงแห่งองค์เทพีเฮรา (Hera) โดยการแข่งขันนี้จะมีขึ้นในทุกเดือนแห่งสาวบริสุทธิ์ (Parthenios) จึงสันนิษฐานกันว่าน่าจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี ที่เมืองโบราณโอลิมเปีย (Olympia, การแข่งขันนี้จึงได้ชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิก) ที่มีวิหารของเทพีเฮราเป็นศาสนสถานสำคัญ และเก่าแก่ที่สุดในเมืองโบราณแห่งนั้น

ตามความเชื่ออย่างเก่าของพวกกรีกบางกลุ่ม “เฮรา” เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์มาก่อน ภายหลังพวกกรีกที่นับเมืองเอเธนส์เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม จึงค่อยเปลี่ยนเป็นนับถือว่า “อาร์เทมิส” (Artemis) เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์แทน

และต่อมาเมื่อมีความเชื่อเรื่อง “ศักติ” (consort คือ คู่ครองของเทพเจ้า) เทพีเฮราได้กลายเป็นชายาของเทวราช “ซุส” (Zeus) จึงทำให้มีการแข่งขันวิ่งรอบที่สองโดยพวกเด็กหนุ่ม เพื่อที่จะหาผู้เหมาะสมที่จะเป็นสามีของนักบวชหญิงแห่งเทพีเฮรา เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ที่คู่กับพระจันทร์

และก็คงเป็นเพราะลัทธิที่นับถือชายเป็นใหญ่ (Pratiarchy) ซึ่งนับถือผู้ชายเป็นใหญ่ ที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง ที่ทำให้ได้เกิดเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกโบราณ แต่ได้กลายเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงมหาเทพซุสแทน แถมยังกลายเป็นมหกรรมกีฬาเฉพาะของผู้ชาย ที่ห้ามผู้หญิงลงแข่งมันเสียอย่างนั้น

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันโอลิมปิกแบบที่จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าซุสนั้นก็มีมาก่อนสมัยที่เปาซานิอาส คนดี คนเดิม จะลืมตาดูโลกเสียอีกนะครับ โดยได้เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อเกือบๆ 2,800 ปีที่แล้วเลยทีเดียว และยังมีเพียงการแข่งขันเพียงแค่ประเภทเดียวคือ “การวิ่งแข่ง” ระยะทาง 600 ฟุต (182.88 เมตร) เท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เปาซานิอาสระบุไว้ว่า แต่เดิมเป็นการวิ่งแข่งชิงตำแหน่งนักบวชหญิงแห่งเทพีเฮรา

และถึงแม้จะมีข้อมูลว่า สำหรับมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่เมืองโอลิมเปียนั้น ผู้ชนะการแข่งขันจะไม่รับได้เงินรางวัลใดๆ เลยก็ตาม

แต่นักกีฬาในสมัยโน้นแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว เพราะเอกสารโบราณหลายชิ้นชี้ให้ว่า นักกีฬาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับค่าจ้างจากรัฐ หรือผู้มีอุปการคุณส่วนตัวทั้งสิ้น

ดังนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว การแข่งขันกีฬาจึงเป็นงานอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คงจำเป็นที่จะต้องทำผลการแข่งขันให้ดีที่สุด และยิ่งเมื่อชนะกลับไปแล้ว ก็ย่อมได้รับผลตอบแทนจากต้นสังกัดอย่างงาม ไม่ว่าจะเป็นโชคลาภ หรือชื่อเสียง

โดยมีหลักฐานจากจารึกหลักหนึ่งในเอเธนส์ที่จารขึ้นเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 2,500 ปีที่แล้วด้วยว่า นักกีฬาที่ได้รับชัยชนะจากการแข่งขันโอลิมปิกจะได้รับสิทธิกินอาหารในศาลากลางของเมืองฟรีตลอดชีพ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกของพวกกรีกสมัยโน้น ก็ไม่ได้มีมหกรรมการแข่งขันกีฬาแค่โอลิมปิกเพียงรายการเดียว เพียงแต่โอลิมปิกนั้นเป็นรายการการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีนักกีฬามากมายมาจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนครรัฐต่างๆ ในกรีกเอง, โรม หรือแม้กระทั่งคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน)

นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันเต็มขั้นอย่างพลูตาร์ก (Plutarch) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.589-หลัง พ.ศ.662 ได้อ้างว่า ในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งก็คือราว 700 ปีก่อนช่วงชีวิตของพลูตาร์กนั้น หากแข่งขันแล้วชนะ นักกีฬาจากเอเธนส์จะได้รับเงินรางวัลจากรัฐของตนเองราว 500 ดรัชไม (drachmai, คือหน่วยเงินในสมัยนั้น) และจะได้รับราว 100 ดรัชไม ถ้าชนะในมหกรรมกีฬาอิสธ์เมียน (Ishmian) ที่เมืองโครินธ์ (Corinth)

ส่วนข้อมูลในมหากาพย์อิเลียด (Iliad) ของมหากวีโฮเมอร์ (Homer) ซึ่งเชื่อกันว่า ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว 800 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นช่วงเวลาใกล้ๆ กันกับที่เพิ่งจะเริ่มมีการแข่งขันโอลิมปิกขึ้นเป็นครั้งแรก ได้ระบุว่า วีรบุรุษอคิลลิส (Achilles) ได้จัดให้มีการมหกรรมการแข่งขันกีฬาในงานศพของปาโตรโกลส (Patroklos) เพื่อนของเขาที่ตายลงระหว่างสงครามเมืองทรอย โดยมีของรางวัลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหม้อน้ำสำริดใบใหญ่, โลหะมีค่า, วัว หรือแม้กระทั่งหญิงงามก็ด้วย

ซึ่งก็หมายความว่า รายการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ที่ไม่ใช่โอลิมปิกก็ย่อมมีรางวัลต่างๆ ด้วย

 

สําหรับโลกของกรีกยุคโน้น คำว่า “นักกีฬา” คือ “athlete” นั้น เกี่ยวข้องกับคำว่า “athlos” ที่แปลว่า “การแข่งขัน” และ “athlon” ซึ่งหมายถึง “รางวัล” ดังนั้น สำหรับชาวกรีกยุคคลาสสิคแล้ว “นักกีฬา” ก็คือ “ผู้แข่งขันเพื่อชิงรางวัล”

และเอาเข้าจริงแล้ว ในวัฒนธรรมกรีกโบราณไม่มีศัพท์ที่มีความหมายถึง “นักกีฬาสมัครเล่น” เลยด้วยซ้ำไป โอลิมปิกเพิ่งจะกลายเป็นมหกรรมกีฬาสำหรับนักกีฬาสมัครเล่นเอาเมื่อมีการรื้อฟื้นมหกรรมกีฬาโบราณนี้ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2439 เท่านั้นเอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่มีข้อมูลว่า กฎข้อหนึ่งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณนั้นก็คือ หากพบว่ามีการทุจริตติดสินบนกรรมการแล้ว จะต้องมีการเสียค่าปรับ โดยเงินที่ได้จะนำไปสะสมเป็นทุนสำหรับสร้างประติมากรรมสำริดรูปเทพเจ้าซุส ไว้หน้าสนามแข่งขันที่เมืองโอลิมเปีย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ที่สนามแข่งขันดังกล่าวก็มีรูปสำริดของซุสอยู่ที่หน้าสนามถึง 16 องค์เลยทีเดียว

 

การที่มีการแข่งขันวิ่งแข่งเป็นระยะทาง 600 ฟุต เป็นกีฬาชนิดเดียวในโอลิมปิกนั้น เป็นแค่เฉพาะ 13 ครั้งแรกเท่านั้นนะครับ และการแข่งโอลิมปิกนั้นจะจัดกัน 4 ปีครั้งมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว

ครั้งสุดท้ายที่มีการแข่งกีฬาประเภทเดียวนี้ก็คือ เมื่อ 724 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาหลังจากนั้น คือนับตั้งแต่ครั้งที่ 14 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการเพิ่มเติมกีฬาชนิดอื่นๆ เข้าไปด้วย คือการวิ่งระยะกลาง (เทียบได้กับการวิ่ง 400 เมตรในปัจจุบัน) ที่เรียกว่า “ดิยาอูลอส” (diaulos) และการวิ่งระยะไกลที่เรียกว่า “โดลิโคส” (dolochos, สันนิษฐานว่าเทียบได้กับการวิ่ง 1,500 เมตร หรือ 5,000 เมตร) เรียกได้ว่า ก็ยังมีเฉพาะการวิ่งแข่งอยู่นั่นเอง

ต้องรอจนกระทั่งโอลิมปิกครั้งที่จัดขึ้นเมื่อ 708 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว ถึงจะมีกีฬาที่ไม่ใช่การวิ่งแข่งบ้าง นั่นก็คือได้เริ่มมีการแข่งขันปัญจกรีฑา (pentathlon) ซึ่งสมัยนั้นประกอบไปด้วยการวิ่งแข่ง, กระโดดไกล, ขว้างจักร, พุ่งหลาว และมวยปล้ำ

จากนั้นจึงค่อยมีการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ ตามมา ที่สำคัญ ได้แก่ การต่อยมวย ที่เริ่มมีเมื่อ 688 ปีก่อนคริสตกาล, การแข่งควบรถศึก เริ่มเมื่อ 680 ปีก่อนคริสตกาล และการต่อสู้แบบผสมผสานระหว่างการต่อยมวยกับมวยปล้ำ ซึ่งโจมตีคู่ต่อสู้ได้ทุกอย่างยกเว้นแต่การกัด

และควักลูกตาที่เรียกว่า “ปานเกรโตน” (pankration) เมื่อ 648 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้น

 

แต่มีอะไรที่ไม่น่าจะถูกนับว่าเป็น “กีฬา” ในโอลิมปิกโบราณเหมือนกันนะครับ

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ในรัชสมัยของจักรพรรดิเนโร (Nero) แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งโรมมีอำนาจเหนือพวกกรีกนั้น จักรพรรดิเนโรได้ไปเที่ยวดินแดนประเทศกรีซปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.609 อันเป็นปีที่มีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพระองค์อยากลงแข่งขันด้วย

แต่โอลิมปิก ณ ขณะจิตนั้น มีกฎอยู่ว่าห้ามไม่ให้จักรพรรดิลงแข่งขัน พระองค์เลยขอให้เลื่อนการแข่งขันออกไป 1 ปี เพื่อจะแก้กฎดังกล่าว

แต่ไม่ใช่แค่นั้นหรอกนะครับ เมื่อแก้กฎแล้วพระองค์ผู้เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นกวีและศิลปินชั้นยอด ยังใช้อำนาจให้เพิ่มการแข่งขันร้องเพลง, อ่านบทกวี และการแสดงเข้าไปในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเมื่อ พ.ศ.610 ด้วย

โดยพระองค์ตั้งชื่อการแข่งขันเหล่านี้ว่า “เนโรเนีย” (Neronia)

แน่นอนว่า จักรพรรดิเนโรลงแข่งทุกรายการที่ว่ามานี้ และแม้จะทำอะไรไม่ได้ดีแม้แต่อย่างเดียว แต่เนโรก็ชนะการแข่งขันที่ว่านี้ทั้งหมด

 

ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็นที่รู้กันดีว่าจักรพรรดิเนโรไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องกีฬาอะไรเลยสักนิด แต่พระองค์กลับลงแข่งควบรถศึกในโอลิมปิกครั้งนั้นด้วย ในขณะที่กฎมีอยู่ว่าให้ใช้ม้าเทียมรถได้ 4 ตัว แต่เนโรกลับใช้ม้า 10 ตัวเทียมรถ

แน่นอนว่าพระองค์ได้รับชัยชนะอีกเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่รถศึกของพระองค์ล้มคว่ำ แถมยังนำรถเข้าเส้นชัยไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

แต่ทั้งหมดนี้ยังแค่เบาะๆ เพราะจักรพรรดิเนโรยังเรียกร้องให้ผู้ชนะการแข่งขันทุกรายการ ในมหกรรมโอลิมปิกครั้งนั้นมอบมงกุฎช่อมะกอก อันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะให้กับพระองค์

ซึ่งก็ทำให้ผู้เข้าแข่งขันและผู้คนที่เข้ามาร่วมเชียร์ทุกคนต่างไม่สบอารมณ์ เพราะเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นเทพเจ้าซุส ด้วยถือว่าโอลิมปิกคือมหกรรมที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงซุสนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อเนโรเสียชีวิตในอีกหนึ่งปีถัดมา จึงได้มีการประกาศริบคืนตำแหน่งแชมป์โอลิมปิกทั้งหมดที่จักรพรรดิเนโรได้ไปครอง

เรือน พ.ศ.936 จักรพรรดิธีโอโดสิอุสที่ 1 (Theodosius I) แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งดำรงพระองค์เป็นคริสเตียน ได้ประกาศยกเลิกมหกรรมโอลิมปิก ด้วยเหตุผลว่า เป็นเรื่องของเพเกิน (pagan) คือพวกนอกศาสนา เป็นอันการปิดฉากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในโลกยุคโบราณ ที่จัดต่อเนื่องยาวนานมาเกือบ 12 ศตวรรษ ก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาจัดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2439 นั่นเอง