ปริศนาโบราณคดี : ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (4) : ‘พระญายุทธิษฐิระ’ เลือดขัตติยะผู้พลัดถิ่น ชนวนแห่งสงครามล้านนา-อยุธยา?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (4)

: ‘พระญายุทธิษฐิระ’ เลือดขัตติยะผู้พลัดถิ่น

ชนวนแห่งสงครามล้านนา-อยุธยา?

 

 

แค้นฝังหุ่นของพระบรมไตรโลกนาถ

ที่มีต่อ “พระญายุทธิษเฐียร”

สงครามอันยืดเยื้อยาวนานถึง 18 ปี ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านนา ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “ความแค้น” ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรู้สึกว่าอยู่ดีๆ ฝ่ายพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ก็ยกทัพจากเมืองเหนือมาลูบคม “เมืองกันชนแถบสุโขทัย-เชลียง” ถึงลุ่มน้ำยม แต่อย่างใดไม่

มูลเหตุที่แท้จริง อันเป็น “ตะกอนใจขุ่นข้น” นั้นเกิดจาก “ความแค้นฝังหุ่น” ที่พระองค์ทรงมีต่อ “พระยุทธิษเฐียร” (ล้านนานิยมเขียน “พระญายุ(ท)ธิษฐิระ”) ญาติผู้น้องที่มีเชื้อสายฝ่ายสุโขทัยเหมือนกันต่างหาก ที่บังอาจกระทำการแปรพักตร์ เอาใจออกห่าง (เอกสารโบราณมักใช้คำว่า “ออกหาก”)

โคลงดั้นหลายบทในวรรณคดียวนพ่าย ที่บันทึกถึง “ต้นเหตุของสงคราม” ประกาศชัดถึงความเจ็บช้ำน้ำใจอาฆาตแค้นที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีต่อ “ญาติผู้ทรยศ” คนนี้ อาทิ ในบทที่ 84

ใจร้ายไป่โอบอ้อม           พลไพ ริศแฮ

มาอยู่ในเมืองอร                    อวจกล้า

ครั้นขุ่นข่าวขจรไตร                ภพนารถ

เสด็จดำกลช้างม้า                  ทยบถรรรฯ

คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน จัดทำคำอธิบายไว้อย่างละเอียดเมื่อปี 2544 ดังนี้

“ยุทธิษเฐียร ผู้มีใจชั่วร้ายไปเผื่อแผ่กับพวกศัตรูให้เข้ามาอยู่ในเมืองเชลียงได้ก่อนแล้ว บังอาจอวดกล้า ครั้นเมื่อฝ่ายลาว (ล้านนา) รู้ข่าวว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรดแต่งกองทัพช้างม้ายกมาอย่างรวดเร็ว”

ตามด้วยบทที่ 90-91 ยิ่งสะท้อนถึง “ความแค้นแน่นอก” ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีต่อพระยุทธิษเฐียรอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

ทีนั้นธิเบศวรเรื้อง            รณรงค์ เลิศแฮ

อยู่รังวัลพลแสน                     ส่ำแกล้ว

พระญาณสํเด็จทรง                 ทายาท

ใครซื่อคตเลงแล้ว                   ท่ววทวยรฯ

จึ่งตั้งข้าเรื้องราช             วังเมือง แลนา

แทนยุทธิษฐิรคืน                    ครอบหล้า

ครั้นเสด็จจึ่งจอมเลือง               โลเกษ

กล่นเกลื่อนพลช้างม้า               คล่าวไคลฯ

บทที่ 90 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้รุ่งเรืองเป็นเลิศในการรณรงค์สงคราม ได้พระราชทานรางวัลแก่บรรดาทแกล้วทหารทั้งปวง พระองค์ทรงหยั่งรู้อย่างถ่องแท้ว่าใครซื่อ และใครคด ทั่วทุกประการ

บทที่ 91 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแต่งตั้งให้ขุนนางผู้หนึ่งชื่อ “ราชวังเมือง” เป็นเจ้าเมืองแทนยุทธิษเฐียรคนคด ครั้นเสร็จแล้วพระองค์ผู้รุ่งเรืองและเป็นใหญ่ในโลก ทรงเคลื่อนกองทัพช้างม้าหลั่งไหลกลับไป

เห็นได้ว่า การบันทึกสงครามประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญระหว่างอยุธยากับล้านนาในโคลงยวนพ่ายนี้ ผู้ประพันธ์มุ่งเน้นที่จะตอกย้ำถึง “ความคิดคดทรยศ” หรือการเป็นผู้ “ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน” ของ “ยุทธิษเฐียร” เป็นประการสำคัญ

ทำให้ต้องย้อนมาตั้งคำถามว่า “ยุทธิษเฐียร” คือใครกัน?

ซากโบราณสถานวัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค เดิมชื่อวัดพระญาร่วง สร้างโดยพระญายุทธิษเฐียร

 

หากพี่รักษาสัญญาลูกผู้ชาย

มีหรือที่น้องจักแปรพักตร์หนี

ยุทธิษเฐียร หรือยุธิษฐิระ ไฉนนามนี้จึงชวนให้ประหวัดถึงตัวละครเอก ผู้เป็นพี่ชายคนโตในตระกูลปาณฑพอยู่ตลอดเวลา ฤๅสะท้อนว่าคนสุโขทัยเมื่อราว 600 ปีก่อนนั้น สนใจในวรรณคดีเรื่องมหาภารตยุทธอย่างยิ่งยวด

ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของ “พระญายุทธิษเฐียร” มีอยู่หลายท่าน หลักๆ คือ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร, สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชื่อดัง และเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี นักวิชาการรุ่นใหม่ ด้านล้านนาศึกษา

หนังสือ “ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา” อาจารย์พิเศษกล่าวว่า

“พระยุธิษฐิระนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องทางฝ่ายมารดาของพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวคือ บิดาของพระยุธิษฐิระกับมารดาของพระบรมไตรโลกนาถเป็นพี่น้องกัน และทั้งสองเป็นเชื้อสายเจ้าปกครองแคว้นสุโขทัย

เมื่อพระบรมไตรโลกนาถได้ครองกรุงศรีอยุธยานั้น พระยุธิษฐิระได้ครองเมืองพิษณุโลก

ต่อมาทั้งคู่ผิดใจกัน พระยุธิษฐิระจึงอพยพพาครอบครัวไปเข้ากับเจ้าเมืองเชียงใหม่ และชวนมาทำศึกกับพระบรมไตรโลกนาถ ในการทำสงครามครั้งนั้น ได้ทำความดีความชอบอันมาก พระเจ้าเชียงใหม่ได้ตั้งพระยุธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองพะเยา”

ประเด็นสาแหรกวงศาคณาญาติระหว่างพระญายุธิษฐิระกับพระบรมไตรโลกนาถนั้น เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี อธิบายไว้ในหนังสือ “ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ : ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย” สรุปไว้ว่า

พระญายุธิษฐิระมีนามเดิมว่า “ราม” ต่อท้ายด้วย สะท้อนถึงมีสายสัมพันธ์ชั้นเหลนของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชบิดาของพระญายุธิษฐิระคือ “สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 4 บรมปาล” (ออกญาธรรมราชา) กษัตริย์สุโขทัยองค์สุดท้าย ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาแท้ๆ ของพระราชมารดาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

หมายความว่าพระญายุธิษฐิระเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระญายุธิษฐิระมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ ทว่าในด้านอายุแล้ว ประสูติหลังพระบรมไตรโลกนาถ จึงยกให้พระบรมไตรโลกนาถเป็นเสมือนพระเชษฐา

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการหนังสือ “ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมเมืองพะเยา” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ก่อนที่พระบรมไตรโลกนาถจะเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และเคยทรงสัญญาว่าถ้าได้เป็นกษัตริย์จะตั้งให้พระญายุทธิษฐิระเป็นอุปราช แต่เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้ตั้งเป็น ‘พระญาสองแคว’ ครองอยู่เมืองพิษณุโลกเท่านั้น

ทั้งนี้ อาจจะทรงเห็นว่ากษัตริย์เมืองสุโขทัยสมัยหลังๆ ก็ประทับอยู่ที่เมืองนี้ และพระองค์เองเมื่อทรงเป็นอุปราชก็เคยประทับอยู่ที่เมืองนี้ด้วย แต่พระญายุทธิษฐิระไม่พอใจ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับพระบรมไตรโลกนาถอย่างรุนแรง

ราว พ.ศ.1994 พระญายุทธิษฐิระลอบส่งสาส์นไปทูลพระเจ้าติโลกราชขอขึ้นกับเชียงใหม่ ทั้งยังนัดหมายให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพมาตีเมืองปากยม สุโขทัย และชากังราวได้สำเร็จ เมื่อยกทัพกลับ พระญายุทธิษฐิระจึงอพยพครอบครัวเมืองพิษณุโลกไปเข้าด้วยพระเจ้าติโลกราช และช่วยราชการสงครามทำประโยชน์ให้ฝ่ายล้านนา

พระเจ้าติโลกราชจึงให้พระญายุทธิษฐิระไปครองเมืองภูคา (แถวสันกำแพง) ต่อมาได้ครองเมืองพะเยาเพื่อควบคุมเมืองแพร่กับเมืองน่านด้วย อันเป็นเขตแดนประชิดแคว้นสุโขทัยทางแม่น้ำยมและน่าน

เฉลิมวุฒิมองว่า การเอาใจออกห่างของพระญายุทธิษฐิระนั้นเกิดจาก “ความน้อยเนื้อต่ำใจ” ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ครองราชย์ในสถานะ สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย สืบต่อจากพระราชบิดา อีกโสดหนึ่งด้วย ทั้งๆ ที่ทรงเป็นถึงพระราชโอรสของกษัตริย์สุโขทัย โดยศักดิ์และโดยสิทธิ์ทรงมีสถานะไม่ได้แตกต่างไปจากพระบรมไตรโลกนาถแต่อย่างใดเลย

ทว่า พระบรมไตรโลกนาถกลับรวบหัวรวบหาง รวมสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาอย่างไม่ไยดี

ซากโบราณสถานวัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค เดิมชื่อวัดพระญาร่วง สร้างโดยพระญายุทธิษเฐียร

 

แค่น้อยใจหรือนัยยะทางการเมือง?

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ นักวิชาการด้านล้านนาหลายท่านเริ่มตั้งข้อสงสัยถึง “มูลเหตุที่แท้จริง” ของการที่พระญายุทธิษฐิระยกไพร่พลไปอยู่ในแว่นแคว้นล้านนานั้น ว่าควรอธิบายด้วยนัยยะใดกันแน่ ระหว่าง

นัยยะแรก พระญายุทธิษฐิระน้อยใจพระบรมไตรโลกนาถจริง แต่ครั้นมาอยู่ฝ่ายพระเจ้าติโลกราชแล้ว ก็ยังไม่พอใจในสถานะที่เป็นแค่ “เจ้าเมืองพะเยา” มีบรรดาศักดิ์ชั้น “เจ้าสี่หมื่น” เท่านั้นเอง

และแม้พระเจ้าติโลกราชจะสถาปนาพระญายุทธิษฐิระให้เป็นถึง “พระเจ้าลูก” หรือ “ลูกพระเป็นเจ้า” มีตำแหน่งดุจพระโอรสบุญธรรมแล้วก็ตาม แต่พระญายุทธิษฐิระก็ยังเห็นว่าสถานะเช่นนี้ต่ำต้อยเกินไป เมื่อเทียบกับการเป็นถึงพระราชโอรสกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยมาก่อน ภายหลังจึงมีเรื่องผิดใจกับพระเจ้าติโลกราชนานัปการ

นัยยะที่สอง บางท่านมองไปถึงว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พระญายุทธิษเฐียร วางแผนซ้อนแผนถึงสองชั้นไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว คือแสร้งแตกคอกับพระบรมไตรโลกนาถ สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่พระเจ้าติโลกราช แท้จริงแล้วกระทำตนประหนึ่ง “วัสสการพราหมณ์” คือตั้งใจเข้ามาบ่อนทำลายความมั่นคงราชบัลลังก์ของพระเจ้าติโลกราชให้สั่นคลอน เท่ากับเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กรุงศรีอยุธยา?

เนื่องจากพระญายุทธิษเฐียรไม่ได้มาคนเดียว หากยังได้มีการถวาย “แม่ท้าวหอมุก” สตรีรูปงามจากสุโขทัยให้เป็นพระสนมเอกของพระเจ้าติโลกราชอีกด้วย และนางผู้นี้เองที่คอยใส่ไคล้ “ท้าวบุญเรือง” พระราชโอรสองค์เดียวของพระเจ้าติโลกราชอยู่เนืองนิตย์ จนพระเจ้าติโลกราชหวาดระแวงว่าพระราชโอรสจะแย่งชิงราชบัลลังก์ จนถึงกับสั่งประหารราชบุตร

ไม่ว่าจะมองในนัยยะไหนก็ตาม พบว่าในท้ายที่สุดแล้ว พระญายุทธิษเฐียรก็ต้องพบกับความผิดหวังทั้งขึ้นทั้งล่อง

ทางแรกแม้ท้าวบุญเรืองจะถูกฆ่าไปแล้ว แต่พระเจ้าติโลกราชกลับมิได้มอบราชบัลลังก์ให้แก่พระองค์ (ผู้ซึ่งอุตส่าห์ทรยศฝ่ายอยุธยา) ในฐานะพระราชบุตรบุญธรรม แต่โดยดีเลย

และอีกทางหนึ่ง ข้างฝ่ายอยุธยาเองก็ยัง “ตราหน้า” เสียบประจานว่าพระญายุทธิษเฐียร คือคนใจคด ชั่วช้าสามานย์คบไม่ได้ ถึงกับบันทึกไว้ตราบฟ้าดินด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหลายบทใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” นั่นเทียว

สมควรเชื่อได้ล่ะหรือ หากจะมองว่า พระญายุทธิษเฐียรแสร้งสร้างสถานการณ์อย่างสมจริง เพื่อจะได้ไปอยู่กับฝ่ายล้านนาแบบเนียนๆ ด้วยมุ่งหมายจะ “ล้วงคองูเห่า” เอาความลับของฝ่ายล้านนาส่งให้ฝ่ายอยุธยา

การเอาตัวเข้าแลกของพระญายุทธิษเฐียรคุ้มค่าหรือไม่? สุ่มเสี่ยงมากเกินไปไหม เพราะต่อให้ฝ่ายล้านนาเกิดเพลี่ยงพล้ำ สายตาทุกคู่ที่จับจ้องมายังพระองค์ด้วยความระแวงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จักยิ่งปักใจเชื่อว่าพระญายุทธิษเฐียรเข้ามาสู่ล้านนาในฐานะ “จารบุรุษ” หรือ “ไส้ศึก”

มีหรือที่พระองค์จะอยู่รอดปลอดภัยหากล้านนาแพ้อยุธยา?

ซากโบราณสถานวัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค เดิมชื่อวัดพระญาร่วง สร้างโดยพระญายุทธิษเฐียร

 

ข้าคือเชื้อสายของ “พระญาร่วง”

“พระญายุทธิษเฐียร” ตกอยู่ในที่นั่งลำบากบนทางสามแพร่งที่ปราศจากความสุข แน่นอนว่าทางแรกนั้น ไม่สามารถหวนกลับไปคืนดีกับฝ่ายอยุธยาได้อีกเลย เพราะรู้ดีว่าไม่มีวันได้รับการสถาปนาให้เป็นกษัตริย์สุโขทัย ด้วยตำแหน่งนั้นถูกยุบ

ทางที่สอง ก็ไม่สามารถนั่งบัลลังก์ครองอาณาจักรล้านนานได้อีก เหตุที่มิใช่เลือดเนื้อเชื้อไขชาวยวน

ทางแพร่งสุดท้าย พระญายุทธิษเฐียรจำต้องยืนหยัดอย่างทระนงในความเป็นราชาพลัดถิ่น ทำได้แค่เพียงประกาศก้องถึงความเป็น “พระญาร่วง” หมายถึงผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์สุโขทัยราชวงศ์พระร่วง ในศิลาจารึกหลักต่างๆ อาทิ “จารึกวัดพระญาร่วง” พบที่วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค จังหวัดพะเยา

หลวงพ่อนาก สร้างโดยพระญายุทธิษเฐียร มีคำจารึกที่ฐาน

นอกจากนี้ ยังมีจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ซึ่งมาเรียกกันภายหลังว่า “หลวงพ่อนาก” รัชกาลที่ 7 ได้รับถวายจากชาวเมืองพะเยา นำมาประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า จารึกนี้เขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต อาจารย์เทิม มีเต็ม ถอดคำอ่านได้ดังนี้

“มหาศักราช 1398 (พุทธศักราช 2019) พระราชาผู้เป็นใหญ่ ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้ายุธิษฐิรราม’ เป็นพระราชาผู้ครองเมือง ‘อภินว’ ทรงประสูติในวงศ์ของนักรบผู้กล้าหาญเป็นเยี่ยม ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรม แตกฉานพระไตรปิฎก ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทององค์นี้ มีน้ำหนักประมาณสิบสี่พัน (14,000) เพื่อดำรงพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้”

ข้อความในจารึกที่ฐานหลวงพ่อนากนี้สื่อถึง “เลือดขัตติยะ” ของพระญายุทธิษเฐียรอย่างชัดเจน นับแต่การประกาศว่าพระองค์เป็น “พระราชา” หรือการมีสร้อยคำว่า “ราม” ต่อท้ายชื่อยุธิษฐิระ

หลวงพ่อนาก สร้างโดยพระญายุทธิษเฐียร มีคำจารึกที่ฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมือง “อภินว” ที่พระองค์ทรงครองนั้น คือเมืองอะไร ตั้งอยู่ที่ไหน ในเมื่อเมืองพะเยามีอีกชื่อว่า “ภูกามยาว” คำว่า “อภินว” ย่อมต้องการสื่อถึงนครพิงค์เชียงใหม่ ราชธานีของล้านนา ใช่หรือไม่

อยากทราบเหลือเกินว่า พระพุทธรูปองค์นี้ พระเจ้าติโลกราชกับพระบรมไตรโลกราถจะมีโอกาสได้ทอดพระเนตรเห็นคำจารึกที่ฐานบ้างไหม?