On History : ‘กุต’ หินศักดิ์สิทธิ์ ที่หลอมรวมพลังชีวิตของคนตาย เข้ากับพลังงานบรรพชน ตามความเชื่อของชาวจาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
กุต 2 แผ่นที่ปราสาทโพราเม่ (ภาพจาก : เฟซบุ๊กแฟนเพจ Champa Studies - Nghiên cứu Champaa)

 

 

‘กุต’ หินศักดิ์สิทธิ์

ที่หลอมรวมพลังชีวิตของคนตาย

เข้ากับพลังงานบรรพชน

ตามความเชื่อของชาวจาม

 

ในวัฒนธรรมของพวก “จาม” ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองนิงถ่วน (Ninh Thuận) ทางตอนใต้ประเทศเวียดนามปัจจุบันนั้น มีพิธีกรรมสำคัญอยู่พิธีหนึ่งเรียกว่า “กุต” (Kut)

และถ้าจะต้องให้ผมจำกัดความอย่างง่ายๆ แล้ว “พิธีกุต” ก็คือส่วนหนึ่ง “พิธีการทำศพ” ที่เรียกกันว่าประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary burial) แต่ไม่ได้หมายถึงพิธีกรรมของผู้ตายที่เป็นปัจเจกบุคคลนะครับ เพราะใช้เรียกพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายในตระกูลทุกคน ที่ได้ผ่านการจัดการกับศพคือเผาไปแล้ว จนมีฐานะเป็น “ผีบรรพชน” ร่วมกันทั้งหมดเลยต่างหาก

ความหมายเชิงสัญลักษณ์ในพิธีทำศพที่ยืดยาวนับเป็นปีๆ ของพวกจาม กว่าจะดำเนินถึงการประกอบพิธีกุตที่ว่านี่ ช่างซับซ้อนและเต็มไปด้วยระบบระเบียบต่างๆ เป็นอย่างมาก

ชาวจามเชื่อว่า มนุษย์เราเมื่อ “เกิด” ขึ้นมานั้น ก็คือได้ “ตาย” ไปจากท้องของแม่ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่มนุษย์ได้ตายลง เขาก็แค่กลับเข้าไปเกิดอยู่ในท้องแม่อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น ในการฝังศพครั้งแรกพวกจามจะตั้งปะรำพิธีในงานศพ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง (ดังนั้น จะเรียก “ปะรำ” ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะปะรำที่พวกจามสร้างในงานศพมีหลังคาโค้งเหมือนกระดองเต่า หรือท้องของแม่ ไม่ได้เป็นหลังคาเรียบเหมือนปะรำพิธีบ้านเรา) “ศพ” ของผู้ตายก็คือ “เด็ก” ที่อยู่ในท้องของแม่

ส่วนเสาเอกปะรำพิธีจะมี “ลึงค์” (จามเรียกว่า “ลิงคัม”) ที่ทำจากไม้ ตั้งเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของอวัยวะเพศชาย และเชื่อว่าเป็นการสร้างร่างกายในโลกใหม่ให้กับผู้ตาย

และก็เป็นเพราะความเชื่ออย่างนี้เอง ที่ทำให้พวกเขาต้องคอยเซ่นไหว้ผู้ตายด้วยข้าว, เกลือ แล้วก็น้ำ เพราะถือว่า ผู้ตายนั้นยังมีชีวิตอยู่

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความตายของบรรพชนนั้น นอกจากที่จะเป็นการเริ่มต้นรอนแรมทางครั้งใหม่ ในเชิงปัจเจกบุคคลแล้ว จึงยังเป็นการนำความสมบูรณ์พูนสุขมาให้กับลูกหลานอีกด้วย

 

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า งานศพของพวกจามยังไม่ได้จบง่ายๆ เท่านี้

เพราะหลังจากที่ฝังไปครบปีแล้ว ก็จะมีการนำศพขึ้นมาเผา

แต่ก่อนหน้าที่จะมีการเผา 2 วัน จะต้องมีการนำเอา “หิน” ที่มีลักษณะกลมเกลี้ยงจากแม่น้ำลำธาร หรืออาจจะจากครัว (ในภาษาจามเรียกหินพวกนี้ว่า ‘patou ging’ ซึ่งแปลว่า หินก้อนเส้า หรือชายที่มีหนวดเคราก็ได้) จำนวน 9 ก้อน มาวางเรียงตั้งสูงขึ้นไปบนฟ้าในที่แจ้งในลักษณะของ “ก้อนหิน 3 เส้า” ที่รองรับเตา หรือภาชนะในครัว

โดยมีการอ้างว่า หินแต่ละก้อนเป็นสัญลักษณ์ของเดือนแต่ละเดือน หิน 9 ก้อนหมายถึง 9 เดือนที่ผู้ตายอยู่ในท้องของแม่

จากนั้นวันที่ 3 จึงค่อยทำลายหินสามเส้าที่ก่อมาจากหิน 9 ก้อนนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการคลอด แล้วจึงขุดเอาศพผู้ตายขึ้นมาเผาได้

และพิธีเมื่อหลังจากที่มีการเผาศพแล้วถึงจะค่อยเกี่ยวข้องกับอะไรที่เรียกว่า พิธีกุต

จากนั้นชาวจามจะเก็บกระดูกหน้าผากของผู้ตายที่เหลือจากการเผา นำมากะเทาะออกเป็น 9 ชิ้น แล้วเก็บรวมกันไว้ในกล่องที่ใช้เฉพาะในพิธีกุต ซึ่งเรียกด้วยภาษาจามว่า “klaong” โดยเชื่อกันว่าการเก็บกระดูกเอาไว้ในกล่องที่ว่านี้ จะช่วยให้ผู้ตายได้เข้าไปอยู่ร่วมกับบรรพชนของพวกเขาในโลกนิรันดร์ ดังภาษิตจามที่ว่า

“ในขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่จะทำเงินให้คนแปลกหน้า แต่เมื่อเขาหรือเธอได้ตายไปแล้ว ก็นำกระดูกของตนเองกลับคืนสู่มารดา”

 

กล่องที่ว่านี้อาจจะทำจากทอง เงิน ทองแดง หรือเป็นเครื่องเซรามิกก็ได้ แล้วแต่ฐานะของครอบครัวผู้ตาย โดยครอบครัวของฝ่ายภรรยาจะเป็นฝ่ายนำกล่องที่ว่านี้ ไปเก็บไว้กับครอบครัวของฝ่ายสามี จนครอบครัวนั้นสามารถรวบรวมกล่องได้มากพอสมควรแล้ว จึงนำไปประกอบพิธีกุต ซึ่งโดยปกติมักอยู่ที่ราว 15-30 กล่อง ซึ่งก็มักกินระยะเวลานานราว 5-10 ปี

แต่ตัวอย่างหลายกรณีในปัจจุบันนั้นก็แสดงให้เห็นว่า หลายตระกูลไม่ได้มีการทำพิธีกุตกันมาหลายสิบปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม พวกจามยังมีความเชื่อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกตระกูลต้องมีสุสานที่ใช้ประกอบพิธีกุต และใช้สำหรับเป็น ที่จะนำร่างทิพย์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากพิธีศพไปรวมเข้ากับบรรพชน ในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ที่พวกจามเรียกว่า “muk akei” ไม่อย่างนั้นแล้วจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างรุนแรงว่า ไม่มีบรรพชนคุ้มหัว

ในพิธีที่สุสานกุต ครอบครัวจะนำเอากล่องเหล่านี้วางเรียงตามลำดับอาวุโสในตระกูล และแยกออกเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งของผู้ที่ตายดี ไม่มีอวัยวะขาดหาย และไม่ได้แต่งงานกับคนนอกวงศ์ที่นับเป็นจามพวกเดียวกัน

ส่วนอีกฝั่งสำหรับคนตายร้าย โดยเฉพาะที่มีอวัยวะขาดหาย จนกระทั่งเมื่อเสร็จพิธีกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระอิศวร (จามเรียก Sapalai) พระนารายณ์ (จามเรียก Sapajang) และผีบรรพชนทั้งหลาย (Muk kei) แล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีศักดิ์สูงที่สุดในชุมชน จะเป็นผู้ประกอบพิธีในตอนเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวจามกลุ่มใหญ่ที่เมืองนิงถ่วง เชื่อว่าเป็นเวลาที่พระอิศวรลงมาจุติ

พิธีจะใช้เวลา 3 วัน 3 คืน ในช่วงเวลานี้ผู้คนในครอบครัวห้ามเข้าร่วมในพิธี ส่วนในพิธีจะมี “หิน” 6 ก้อน ก้อนแรกเป็นตัวแทนของ “Po Dhi” ซึ่งชาวจามถือว่าเป็นผู้คอยควบคุมดูแลกุต

อีกสองก้อนสำหรับชายหญิงที่ตายดีวางเรียงไว้ในแถวเดียวกัน

และอีกสองก้อนสำหรับชายหญิงที่ตายไม่ดี วางเรียงกันเป็นแถวอยู่ที่อีกด้าน ส่วนก้อนสุดท้ายมีไว้สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษากุต

ท่ามกลางพิธีการต่างๆ ที่ดำเนินไปตลอด 3 วัน 3 คืน จนในท้ายที่สุด ผู้ตายทั้งหลายจะไปรวมเข้ากับบรรพชนของพวกเขาในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ โดยผ่าน “ก้อนหิน” พวกนี้นั่นแหละครับ

 

อันที่จริงแล้ว พวกจามก็เรียก “หิน” เหล่านี้ว่า “กุต” ด้วยเช่นกันนะครับ โดยจะใช้เป็นทำนองหินป้ายหลุมฝังศพ ดังที่ปรากฏอยู่ในสุสานกุตนั่นเอง เพียงแต่ว่า “กุต” หรือ “หิน” แต่ละก้อนนั้นไม่ได้หมายถึงผู้ตายคนไหนเป็นการพิเศษ

ส่วนการที่ในพิธีนั้นจะมีการอัญเชิญพระอิศวร และพระนารายณ์เข้ามาร่วมเป็นพยานในพิธีนั้นก็ดูไม่น่าแปลกอะไรนัก เพราะพวกจามที่ยังประกอบ “พิธีกุต” ที่ว่านี้อยู่นั้น ส่วนมากเป็นจามแบบที่เรียกว่า “บาลาโมน จาม” (Bàlamôn Chăm) หรือ “บาจาม” ก็เรียก ซึ่งหมายถึงจามที่ยังนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่

อันที่จริงแล้ว ถึงแม้ในไทยเรามักจะคุ้นชินกับการที่พวก “จาม” นับถือศาสนา “อิสลาม” มากกว่า แต่ในเวียดนามนั้นประชากรชาวจามส่วนใหญ่นั้นยังนับถือพราหมณ์-ฮินดู ตามอย่างบรรพชนของพวกเขาในยุคที่วัฒนธรรมจามปาเรืองอำนาจนะครับ ชาวจามที่แพร่กระจายเข้าไปในกัมพูชา และไทยต่างหากที่เข้ารีตเป็นมุสลิมเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่ถ้าจะบอกว่า ชาวจามนั้นเป็นพราหมณ์-ฮินดู เหมือนอย่างในอินเดียนั้น ก็คงจะไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะพิธีอย่างพิธีกุตที่ว่านี้ พ่อพราหมณ์ที่อินเดียคงไม่รู้จักแน่

ดังนั้น จึงเข้าทำนองเดียวกันกับการนับถือ “ผี-พราหมณ์-พุทธ” ในบ้านเรา

ผีบรรพชนของชาวจามเขาจึงเข้ามาร่วมพิธีกุต โดยมีศักดิ์ฐานะเสมอกับมหาเทพของฮินดูอย่างพระอิศวร และพระนารายณ์ได้อย่างไม่เคอะเขิน

แถมลักษณะอย่างนี้ก็เป็นมาตั้งแต่พวกจามยังมีบ้านมีเมืองเป็นของตนเอง อยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามมาตั้งแต่ช่วงร่วมสมัยกับยุคพระเจ้าปราสาททอง-สมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อราว พ.ศ.2200 แล้วอีกด้วย

ดังปรากฏมีปราสาทหลังหนึ่งซึ่งก็ตั้งอยู่ในเมืองนิงถ่วงนี่แหละคือ ปราสาทโพราเม่ (Po Ramé) ซึ่งเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่กลับมีการสถาปนากุตถึง 2 แผ่น เอาไว้ในปราสาทแห่งนี้มันเสียอย่างนั้น

ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยชาวจามในเมืองนิงถ่วง เพื่อระลึกถึงกษัตริย์ที่ชื่อว่า “โพราเม่” ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ.2194 ดังนั้น พระองค์ก็คงกลับไปรวมเข้ากับผีบรรพชนด้วยกุตที่ปราสาทแห่งนี้ ผ่าน “พิธีกุต” ซึ่งเป็นร่องรอยเก่าแก่ของศาสนาผีในอุษาคเนย์ ที่มีวัฒนธรรมการนับถือหิน (Megalith culture) ก่อนจะถูกจับบวชให้กลายเป็นพิธีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภายหลัง