ปริศนาโบราณคดี : ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (3) : ปฐมบทแห่งสงครามระหว่าง ‘สิงห์เหนือ-เสือใต้’ ผู้มีนามเดียวกันว่า ‘พระเป็นเจ้าแห่งสามโลก’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (3)

: ปฐมบทแห่งสงครามระหว่าง ‘สิงห์เหนือ-เสือใต้’

ผู้มีนามเดียวกันว่า ‘พระเป็นเจ้าแห่งสามโลก’

 

การเปิดฉากรบครั้งแรกระหว่างกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กับพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา หรือที่ในวรรณคดี “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ใช้คำว่า “แคว้นยวน” หรือ “แคว้นลาว” แทนนี้ เริ่มขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยเหตุผลใด ใครเริ่มรุกก่อน และรวมแล้วสู้รบกันทั้งหมดกี่ครั้งแน่?

กลุ่มคำถามแรกคือ How When Why Who-Whom นั้นพอจะมีคำตอบที่ชัดเจน แต่กรณีของ How many หรือจำนวนทั้งหมดกี่ครั้งนั้น ยอมรับว่านับยากมาก ขึ้นอยู่กับว่านักประวัติศาสตร์คนไหนจะให้เกณฑ์การนับอย่างไร นับยิบนับย่อย หรือขมวดนับศึกเล็กๆ ให้รวมเป็นส่วนหนึ่งของศึกใหญ่?

ถ้าเช่นนั้นขอไล่เรียง “สงครามระหว่างพระเป็นเจ้าแห่งสามโลก” ตามศักราชที่เกิดการปะทะขึ้นตามเหตุการณ์จริงไปเลยกันดีกว่า

ภาพวาดในจินตนาการว่า “พระเจ้าติโลกราช” ควรมีบุคลิกลักษณะเช่นไร

 

ปฐมบทแห่งการเปิดฉากรบกับชาวยวน-ชาวลาว

อะไรเป็นชนวนศึกทำให้ “สิงห์เหนือ” (ล้านนา) กับ “เสือใต้” (อยุธยา) ต้องตะบี้ตะบันหั่นห้ำกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

แน่นอนว่า ลึกๆ แล้วสิ่งที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกก็คือเรื่อง “ศึกสายเลือด” ในความจริงนั้น ทั้งสองมหาราชผู้มีพระนามแปลว่า “พระเป็นเจ้าแห่งสามโลก” คือทั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กับพระเจ้าติโลกราช ต่างก็มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงจากกรุงสุโขทัย เหมือนๆ กัน

จึงต่างมีความชอบธรรม สามารถอ้างสิทธิ์ที่จะครอบครองกรุงสุโขทัย ในช่วงที่อาณาจักรกำลังอ่อนล้าโรยแรงนั้นได้ ในน้ำหนักที่ทัดเทียมกัน

อนึ่ง อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร และนักวิชาการอีกหลายท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อแรกเสวยราชย์ของ “ท้าวลก” (ที่แปลว่าลูกชายลำดับที่ 6) กลายมาเป็น “ท้าวพิลก” หรือ “พระญาติลกราชา” นั้น ยังไม่ได้แผลง “ลก” เป็น “โลก” แต่อย่างใด

อาจมาเปลี่ยนเป็น “ติโลก” ซึ่งมีความหมายว่า “ตรีโลก/ไตรโลก” ที่แปลว่า สามโลก ในตอนที่ทราบพระนามของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาแล้วก็เป็นได้ จึงยกระดับพระนามของพระองค์ให้มีสถานะเท่าเทียมกัน

เอกสารฝ่ายอยุธยาใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” กล่าวถึงปฐมบทแห่งสงครามว่าเกิดขึ้นในปีชวด จ.ศ. 818 (พ.ศ.1999) เริ่มจากการที่พระยุทธิษฐิร (ล้านนานิยมเขียนเป็น “พระญายุธิษเฐียร”) เจ้าเมืองเชลียง เป็นไส้ศึก เอาใจออกห่างไปเข้ากับเชียงใหม่ ปรากฏในโคลงยวนพ่ายบทที่ 66

 

แถลงปางปราโมทย์เชื้อ        เชอญสงฆ

สํสโมสรสบ                             เทศไท้

แถลงปางเมื่อลาวลง                   ชยนาท นั้นฤๅ

พระยุทธิษฐิรได้                        ย่างยาว

 

ถอดความได้ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีความปลาบปลื้มที่ได้นิมนต์พระสงฆ์ทั่วแว่นแคว้นมาชุมนุม เมื่อครั้งกษัตริย์ลาว (หมายถึงพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา) ยกทัพลงมาถึงชัยนาท (คำว่าชัยนาทในเอกสารโบราณขณะนั้น หมายถึงเมืองสองแควหรือพิษณุโลก) พระยุทธิษฐิร ได้เอาใจออกหากไปขึ้นกับพระเจ้าติโลกราช

ในเอกสารกลุ่ม คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวไว้เพียงสั้นๆ ถึงจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยาว่า

“ศักราช 813 มะแมศก (พ.ศ.1994) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพคืน”

หมายความว่า พระเจ้าติโลกราช (ในเอกสารฝ่ายอยุธยาเรียกพระเจ้าติโลกราชว่า “มหาราช”) ยกกองทัพลงมาตีได้เมืองกำแพงเพชรก่อน แล้วจึงรุกคืบมาตีเมืองสุโขทัยต่อ ด้วยการส่งทัพหน้าลงมากวาดครัวถึงเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) แต่ตีสุโขทัยไม่ได้ จึงยกทัพกลับเชียงใหม่

ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 กล่าวว่า

“การสงครามที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำกับเชียงใหม่นั้น ผิดกับการสงครามในรัชกาลก่อนๆ นับตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (หมายถึงพระเจ้าอู่ทอง) มา แต่ก่อนเป็นแต่ยกไปรบเมืองอื่นอย่างเดียว

แต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เกิดพระเจ้าติโลกราช คือท้าวลก เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอานุภาพมากขึ้นในเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่ ‘กำเริบลงมาเบียดเบียน’ อาณาเขตกรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทำสงครามป้องกันพระราชอาณาเขตไม่ให้เสียไปแก่เชียงใหม่ จึงเป็นการสงครามที่ลำบากกว่าในรัชกาลก่อนๆ”

เอกสารเล่มเดียวกันนี้ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการสงครามระหว่างสองอาณาจักรนี้ เกิดรบกันขึ้นครั้งแรกเมื่อปีชวด จ.ศ.818 (พ.ศ.1999) อันเป็นปีศักราชที่ตรงกันกับเหตุการณ์ในโคลงยวนพ่าย คือถือเอาจุดเปลี่ยนในการที่พระญายุธิษเฐียร เจ้าเมืองเชลียงเอาใจออกห่างไปเข้ากับเชียงใหม่

ศักราชนี้ห่างจากกลุ่มเอกสาร 3 เล่มคือ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ อยู่ 5 ปี ที่ระบุว่าจุดเริ่มต้นสงครามล้านนา-อยุธยา เริ่มในปี พ.ศ.1994

 

ปฐมบทแห่งการเปิดฉากรบกับเมืองใต้

ทว่า เอกสารฝ่ายล้านนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุถึงชนวนแห่งสงคราม “ล้านนา-อยุธยา” ว่ามีเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งก่อขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว โดยบันทึกหตุการณ์ย้อนกลับไปไกลถึง “ต้นเหตุแห่งการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน” ที่แท้จริง

ว่าเกิดขึ้นเพราะ “หมื่นเซริงสามไกรหาน” ผู้เป็นเจ้าเมืองเทิง (เอกสารใช้เมือง “เชริง/เซริง”) ผู้นี้เองที่ให้คนนำหนังสือไปชักให้ “พระญาปรัมมราชา” หรือพระบรมราชาที่ 2 กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเชียงใหม่ ใน พ.ศ.1985 หรือปีแรกแห่งการครองราชย์ของพระเจ้าติโลกราชนั่นเทียว

เรื่องของเรื่อง เนื่องมาจากตอนที่ “ท้าวลก” (ต่อมาคือ “พระญาพิลก” “พระญาติลกราชา” “พระญาติโลกราชา” และ “พระเจ้าติโลกราช” ในที่สุด) กำลังกระทำการยึดอำนาจจากพระราชบิดา พระญาสามฝั่งแกน อยู่นั้น

ปรากฏว่ามีศัตรูตัวฉกาจอยู่หนึ่งคนที่คอยขัดขวาง นั่นคือ “ท้าวช้อย” อนุชาต่างมารดาของท้าวลก ท้าวช้อยเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 10 ของพระญาสามฝั่งแกน

ท้าวช้อยครองอยู่ที่เมืองฝาง มีความคิดที่จะช่วยปลดปล่อยและทวงบัลลังก์คืนให้แก่พระราชบิดา จึงเกิดการสู้รบกัน ฝ่ายของท้าวลกมอบหมายให้ “หมื่นลก” (ต่อมาคือ “หมื่นโลกสามล้าน” และ “หมื่นโลกนคร” เจ้าเมืองนครเขลางค์) ทำการกำจัดเสี้ยนหนามคือท้าวช้อยให้ราบคาบเสียก่อน

ในที่สุดท้าวช้อยหนีจากเมืองฝางไปขอพึ่ง “หมื่นเชริงสามไกรหาน” ที่เมืองเทิง (ปัจจุบันคืออำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) กระทั่งท้าวช้อยถูกหมื่นลกฆ่าตายที่นั่น

สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าเมืองเทิงเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการเหยียบจมูกเสือถึงถิ่น หยามหน้าหยามศักดิ์ศรี หมื่นเชริงฯ จึงแก้เผ็ดด้วยการส่งสาส์นไปเชิญ “พระญาใต้” ให้ขึ้นมายึดเมืองเหนือ

แต่เหตุการณ์นี้ หมื่นลกแอบล่วงรู้แผนลับเข้าเสียก่อน จึงจับเจ้าเมืองเทิงตัดหัวเสียบประจาน ลอยไปกับแพต้นกล้วย หมายจะให้ไหลล่องลงไปเย้ยให้ถึงทัพของพระญาบรมราชา ซึ่งยกขึ้นมาจากกรุงศรีอยุธยา ตั้งประชิดพรมแดนอาณาจักรล้านนา (เอกสารไม่ได้ระบุว่าอยู่แถวไหน สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งทัพแถวทางตอนใต้ของเมืองแพร่รอยต่อศรีสัชนาลัย)

เรื่องราวไม่ได้จบลงเพียงแค่การตัดหัวเจ้าเมืองเทิงลอยน้ำส่งไปยั่วเย้ยฝ่ายอยุธยา เป็นเชิงข่มขวัญว่ารู้ทัน แล้วจากนั้นฝ่ายอยุธยาก็คงยอมสงบศึก ยกทัพกลับไปแต่โดยดี เพียงเท่านั้น

ทว่า สงครามระหว่างเมืองเหนือกับเมืองใต้ กลับกระพือโหมเชื้อเพลิงหนักยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมี “ชาวเชียงของสามคน” ขอพระบรมราชานุญาตจากพระญาติโลกราชว่าจัก “อาสาเข้าผ่าทัพพระญาใต้หื้อฟุ้ง”

โดยในตอนพลบค่ำ ทั้งสามปลอมตัวเป็นคนเลี้ยงช้างหาบหญ้าเข้าไปในกองทัพอยุธยา เมื่อได้จังหวะก็ตัดเชือกมัดช้างทั้งหลายให้แตกตื่นทั้งกองทัพ

ฝ่ายล้านนา หมื่นลกเมื่อได้ยินเสียงอึกทึกนั้น ก็รู้ทันทีว่าเป็นสัญญาณให้ระดมพลเข้าโจมตี กองทัพอยุธยาไม่ทันระวังตัวก็แตกหนีไปจนถึง “ท่าขั้นได” (อยู่ที่ไหน ในเมืองอะไร?) และตั้งทัพอยู่ในนั้น

ทัพเชียงใหม่และเมืองบริวารทั้งหลายตามตีทัพอยุธยาจนถึงเชิง “ดอยป่าก่อ” (ไม่ทราบว่าอยู่ ณ ตำบล อำเภอ จังหวัดไหนในปัจจุบัน?) ในครั้งนั้น ช้างศึกอยุธยาพลาดตกดอยตายถึง 18 เชือก

เจ้าเมืองสองแคว (บางครั้งเรียกชัยนาท หมายถึงพิษณุโลกในปัจจุบัน) ทูลเตือนให้พระญาบรมราชารีบยกทัพหนี ส่วนเจ้าเมืองสองแควเข้ารบ สามารถจับเอาตัว “หมื่นมอกลอง” นายทัพผู้หนึ่งจากเมืองพะเยาได้ ทำการตัดหัวแม่ทัพนายนี้ใส่พานถวายแด่กษัตริย์อยุธยา

เมื่อทัพอยุธยากลับไปแล้ว หมื่นลกสามล้านทูลต่อพระญาติโลกราชว่า “หานอ้าย” หมายถึง ผู้กล้าหาญชื่ออ้าย 1 ใน 3 ชาวเชียงของ นั้นมีความสามารถและมีปัญญาเฉียบแหลมมาก สมควรจะเลี้ยงไว้ในราชการ พระญาติโลกราชจึงแต่งตั้งให้เป็น “หมื่นทรา” แต่ชาวบ้านมักเรียกแบบลำลองว่า “หมื่นอ้ายหางช้าง” คือได้ดิบได้ดีเพราะช้างนั่นเอง

บรรดาศักดิ์ “หมื่นทรา” นี้ สันนิษฐานว่าให้กินเมืองแถบบริเวณบ้านแม่ขนาด (อ่าน ขะ-นาด) ปัจจุบันอยู่ในตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน คอยควบคุมด่านข้าศึกที่จะขึ้นมาประชิดบริเวณปากน้ำแม่ทา หรือแม่ทรา อันเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลำพูน-เชียงใหม่

โบราณสถานที่เมืองทรา บ้านแม่ขนาด อำเภอแม่ทา ลำพูน

 

เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของคนเชียงใหม่ยุคพระเจ้าติโลกราช ถึงกับมีการบันทึกไว้อย่างละเอียดในสงครามระหว่าง “เมืองเหนือ” กับ “เมืองใต้” ประหนึ่งถือว่า นี่คือระฆังยกแรกที่ฝ่ายเชียงใหม่มองว่าตนได้รับชัยชนะ

กล่าวคือ มองว่าฝ่ายอยุธยาได้ยกทัพขึ้นมารุกรานพวกตนก่อน ตามคำเชิญของเจ้าเมืองเทิงผู้เป็นไส้ศึก แต่อยุธยาไม่สามารถเข้าตีเมืองเชียงใหม่ หรือแม้แต่จะยึดเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของล้านนาไปได้

มิหนำซ้ำ ฝ่ายล้านนายังบุกทะลวงลงไปตีค่ายของฝ่ายอยุธยาแบบแหย่รังแตนจนถึงบริเวณ “ท่าขั้นได-ดอยป่าก่อ” จนถอยทัพกลับไปอีกด้วย แม้ฝ่ายล้านนาต้องสังเวยแม่ทัพเมืองพะเยาไป 1 เศียร แต่ก็ถือว่าคุ้มแล้วเมื่อแลกกับหัวคนทรยศแห่งเมืองเทิงไปอีกหนึ่งรายด้วยเช่นเดียวกัน

ในมุมมองของอยุธยา ก็มีสิทธิ์มองว่า ฝ่ายตนยังไม่ได้แพ้เช่นเดียวกัน ล้านนาเองต่างหากที่ต้องสังเวยหัวบุคคลสำคัญถึงสองนาย ฝ่ายอยุธยาถือว่าไม่ได้สูญเสียอะไรมาก แค่ช้าง 18 เชือกเท่านั้น

คิดเสียว่าเป็นการถือโอกาสขึ้นมาชิมลางดูลาดเลาภูมิประเทศ ประเมินศักยภาพดูความแข็งแกร่งกับวิธีการรบของกองทัพเมืองเหนือ เพื่อเตรียมแก้มือในศึกครั้งต่อไป คือมีแต่บวกกับบวก

หากกล่าวแบบเป็นกลางในสายตาของดิฉันนั้น ยกแรกนี่ถือว่าเสมอกันไป ไม่มีใครแพ้ใครชนะ

นี่คือปฐมบทแห่งชนวนสงคราม ซึ่งไม่ปรากฏในเรื่อง “ยวนพ่ายโคลงดั้น” แต่อย่างใด

สัปดาห์หน้า ได้เวลาตีแผ่ชีวิต “ยุธิษเฐียร” แบบเจาะลึกเสียที ว่าตกลงแล้วเขาเป็นกบฏจริงหรือไม่?