On History : ‘หม้อสามขา’ ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ในลัทธิความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ และ ‘แถน’ เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

‘หม้อสามขา’ ภาชนะศักดิ์สิทธิ์

ในลัทธิความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ และ ‘แถน’

เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว

 

ในยุคสำริดของวัฒนธรรมจีน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (ซึ่งมักจะเรียกกันตามสำเนียงที่ไม่ใช่จีนกลางว่า ฮวงโห) หรือที่นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า สมัยราชวงศ์ชาง (ราว 3,600-3,000 ปีมาแล้ว) นั้น ได้เกิดการผสมผสานระหว่างลัทธิบูชาเทพเจ้าแห่งดิน ซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ (ว่ามีที่มาจากดินแดนเมโสโปเตเมีย) เข้ากับลัทธิการบูชาบรรพชนที่มีอยู่เดิมในวัฒนธรรมจีน แล้วค่อยพัฒนาความเชื่อด้วยการหลอมรวมให้ผีบรรพชนของราชวงศ์ชางที่เรียกว่า “ชางตี้” (Shangdi) กลายเป็นหนึ่งเดียวกันกับเทพเจ้า

ต่อมาในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งสถาปนาราชวงศ์โดยการเถลิงอำนาจขึ้นเหนือลุ่มแม่น้ำฮวงโห ต่อจากราชวงศ์ชางนั้น ได้เปลี่ยนคำศัพท์ที่ใช้สำหรับเรียก “ชางตี้” เป็นคำว่า “เทียน” ที่แปลว่า “ฟ้า” หรือ “สวรรค์” แทน

แถมคำว่า “เทียน” นี้ ก็ยังคงถูกใช้ในโลกภาษาจีนมาจนกระทั่งทุกวันนี้อีกด้วยนะครับ

 

แน่นอนว่า กษัตริย์ราชวงศ์โจวย่อมไม่คิดที่จะเรียกอำนาจบรรพชนของตนเอง ด้วยชื่อของราชวงศ์ชาง

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คำว่า “เทียน” ในสำเนียงจีนกลางนั้น ตรงกับคำว่า “แถน” ในภาษาไทย ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีในแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมาเนิ่นนานแล้วเลยทีเดียว และอันที่จริงแล้ว หลายครั้งเลยทีเดียวที่ “แถน” จะถูกเรียกแทนด้วยคำว่า “เทียน” หรือ “ฟ้า” กันได้เป็นปกติ

ความเชื่อเรื่องแถนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” โดยในสำเนียงจีนกลางนั้นก็มีคำพ้องเสียงกับคำว่าขวัญคือคำว่า “เฮวิ๋น” ไม่ต่างไปจากคำว่าแถน

และก็แน่นอนด้วยว่า ในจีนนั้นก็มีความเชื่อ และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับขวัญอย่าง “การทำขวัญ” ด้วยเหมือนกัน

 

ดังนั้น จึงอาจจะสังเกตได้ว่า อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในช่วงราชวงศ์โจวเป็นต้นมา มีการแลกเปลี่ยนรูปแบบความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และ “แถน” กันระหว่างวัฒนธรรมจีน และอุษาคเนย์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท (เมื่อพิจารณาว่า ทั้งขวัญและแถน เป็นการออกเสียงคำเหล่านี้ด้วยสำเนียงภาษาตระกูลไท)

แต่ที่จริงแล้ว การแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจจะมีมาก่อนหน้ายุคราชวงศ์โจวเสียอีกนะครับ

เพราะเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักโบราณคดีโลกว่า ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่จีนอ้างว่ามีราชวงศ์ชางปกครองอยู่นั้น พัฒนามาจากกลุ่มชุมชนในวัฒนธรรมยุคหินใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงต้นยุคสำริด ทางตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำหวงเหอ (ฮวงโห) ที่เรียกว่า วัฒนธรรมหลงซาน (Longshan culture, หรือที่เดิมในแวดวงโบราณคดีไทย มักเรียกด้วยสำเนียงที่ไม่ใช่จีนกลางว่า วัฒนธรรมลุงซาน) ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 5,000-3,900 ปีมาแล้ว

วัฒนธรรมหลงซานนั้นมีโบราณวัตถุประเภทเด่น (diagnostic artifact) ชนิดหนึ่งก็คือ “หม้อสามขา” ซึ่งแม้จะไม่ทราบหน้าที่การใช้งานอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า “หม้อสามขา” หรือที่เรียกกันในภาษาจีนกลางว่า “เหอ” (he) นั้น เป็นภาชนะสำหรับใช้งานในพิธีกรรม

และอะไรที่เรียกว่า “หม้อสามขา” นั้น ก็เป็นสิ่งที่ถูกนักโบราณคดีขุดพบในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศไทยด้วย แถมยังมีการค้นพบเป็นจำนวนมากพอสมควรอีกด้วยต่างหาก

หม้อสามขา ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันพบมากตั้งแต่ทิวเขาภาคตะวันตก ต่อเนื่องลงไปภาคใต้ของประเทศไทย และทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย (ภาพจาก : https://www.matichonweekly.com/column/article_238747)

บุคคลที่กรมศิลปากรยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของไทยอย่าง ศ.ชิน อยู่ดี ได้เสนอเอาไว้ว่า หม้อสามขาแบบที่พบในไทยนี้ สามารถเปรียบเทียบได้กับหม้อสามขาในวัฒนธรรมหลงซาน ที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยกัน

และแม้ข้อเสนอของ อ.ชินจะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างที่ไม่มีผลสรุปชัดเจนออกมา แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ใคร่จะมีผู้ใดสนใจศึกษาในแง่ของความหมายและหน้าที่การใช้งาน มากเท่ากับการเปรียบเทียบในเชิงรูปแบบของภาชนะ และเอาเข้าจริงแล้วก็ดูเหมือนว่า จะไม่มีใครศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างหม้อสามขาที่พบในอุษาคเนย์ กับภาชนะเหอในวัฒนธรรมหลงซานอย่างจริงจังเสียด้วยซ้ำไป

ถึงแม้ว่านักโบราณคดีกำหนดอายุหม้อสามขาเหล่านี้ อยู่ในช่วงสมัยหินใหม่ของอุษาคเนย์ ซึ่งกรมศิลปากรกำหนดอายุไว้ที่ราว 4,000 ปีมาแล้ว แต่ค่าอายุดังกล่าวยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแหล่งโบราณคดี ซึ่งอาจจะไม่ได้เก่าแก่ไปจนถึง 4,000 ปีที่แล้ว และก็เป็นไปได้ว่า อาจมาพร้อมกับการติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างราชวงศ์ชาง และผู้คนในอุษาคเนย์ยุคโน้น

โดยเฉพาะเมื่อเรามีหลักฐานของความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และ “แถน” ทั้งในวัฒนธรรมจีนสมัยราชวงศ์ชาง และอุษาคเนย์ ก็ชวนให้คิดไปได้อยู่มากว่า “หม้อสามขา” เหล่านี้ก็คือ ภาชนะที่ถูกใช้ในพิธีกรรมความเชื่อในลัทธิพิธีดึกดำบรรพ์ ที่เป็นต้นเค้าของความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” เหมือนในปัจจุบันหรือเปล่า?

 

สิ่งที่ควรจะสังเกตอีกอย่างก็คือ ในจักรวาลวิทยาของคนไท หรือไต ตามความเชื่อเรื่องขวัญนั้น ได้กล่าวถึง “เมืองฟ้า” หรือ “เมืองแถน” ซึ่งเป็นที่พำนักของแถน ไว้แยกขาดจาก “ด้ำดอย” ซึ่งเป็นเมืองผีบรรพชนของคนสามัญ ซึ่งก็ชวนให้คิดไปถึงพัฒนาการลำดับความสำคัญ “เทพเจ้าแห่งพื้นดิน” สมัยราชวงศ์ชาง-ราชวงศ์โจว ในจีน ที่เปลี่ยนจาก “ชางตี้” คือ “ผีบรรพชน” ของราชวงศ์ชาง มาเป็น “เทียน” หรือ “แถน” ที่มีความเป็นสากลกว่ามาก เพราะไม่ผูกมัดอยู่เฉพาะกับสายตระกูลหนึ่งตระกูลใด จนทำให้กษัตริย์และจักรพรรดิในราชวงศ์หลังจากนั้นทั้งหมดของจีน ต่างก็นับถือและกราบไหว้เทียน หรือฟ้า/สวรรค์ เหมือนกันมาโดยตลอด

ลักษณะอย่างนี้ก็ปรากฏให้เห็นในอุษาคเนย์เช่นกัน ดังที่ในข้อเขียนเรื่อง “The Devaraja Cult and Khmer Kingship at Angkor” (ลัทธิเทวราชและโครงข่ายกษัตริย์ขอมที่เมืองพระนคร, ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2519) นักประวัติศาสตร์ และปัญญาชนสาธารณะระดับไอคอนของไทยในปัจจุบันอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยอธิบายถึง “ลัทธิเทวราช” ของขอมโบราณ ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่มีอยู่ในวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งที่มีฉากหน้าเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เอาไว้ว่า เป็นอุดมการณ์ร่วมของชนชั้นนำและประชาชน เกี่ยวกับเรื่องความอุดมสมบูรณ์และผีบรรพชน โดยแสดงออกผ่านพิธีศพ

อ.นิธิอธิบายว่า “ผีบรรพชน” คือแหล่งที่มาของ “อำนาจแห่งชีวิต” ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงให้แก่ชุมชนและผู้คนทั้งหลายได้ และผู้ที่จะนำพาและส่งถ่ายอำนาจแห่งชีวิตนั้นออกไปสู่ชุมชน หรือผู้คนอื่นๆ ได้ก็คือ “กษัตริย์” แต่กษัตริย์เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นยังไม่ได้เป็น “เทวราช” จนกว่าจะเสียชีวิตลง

ดังนั้น พิธีศพตามความเชื่อนี้จึงต้องเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามความเชื่อของทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยแสดงออกผ่านทางการสร้าง “ปราสาท” ที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพคือ “ศิวลึงค์” (แน่นอนว่า อาจเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้าก็ได้ แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์นั้นจะเลือกนับถือลัทธินิกายใดเป็นสำคัญ) ที่กษัตริย์ผู้ล่วงลับจะกลับเข้าไปรวมเข้ากับเทพเจ้า คืออำนาจแห่งชีวิตที่ช่วยสร้างความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน หรือราชอาณาจักรนั่นเอง

 

ถึงแม้ว่าในบทความ อ.นิธิจะใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับหลักฐานจากเกาะบาหลีในประเทศอินโดนีเซียเป็นสำคัญ แต่นั่นก็เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดของข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความชิ้นดังกล่าวเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว คติการกลับเข้าไปร่วมกับเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่มีในศาสนา, ความเชื่อ และวัฒนธรรมจากอินเดีย แต่เป็นเรื่องปกติในระบบความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ซึ่งมี “แถน” (หรือ “เทียน”) เป็นตัวแทนแห่ง “อำนาจแห่งชีวิต” ตามสำนวนของ อ.นิธิ

ควรสังเกตด้วยว่า การที่ลัทธิเทวราชของพวกขอมกำหนดให้ “วิญญาณ” (ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย) เข้าไปสิงสถิตอยู่ในศิวลึงค์, เทวรูป หรือพระพุทธรูปนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เดิมในวัฒนธรรมความเชื่อของอินเดียเช่นกัน แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในศาสนาผีของอุษาคเนย์

ที่สำคัญคือ ลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ต่างไปจาก “หินตั้ง” ที่อยู่ข้างเนินบูชาเทพเจ้าแห่งผืนดิน และบรรพชนในสมัยราชวงศ์ชาง อันเป็นที่สิงสถิตของ “ชางตี้” ซึ่งกษัตริย์ชางจะเข้าไปรวมกับพลังบรรพชนนี้หลังจากเสียชีวิต ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น “เทียน” หรือ “แถน” ในสมัยราชวงศ์โจว

เอาเข้าจริงแล้ว ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และ “แถน” (หรือ “เทียน” ของจีน) นี่เองแหละครับ ที่ควรจะพัฒนามาเป็นลัทธิเทวราช โดยมี “หม้อสามขา” เป็นประจักษ์พยานของการแลกเปลี่ยนสัมพันธ์ของจีน และอุษาคเนย์เมื่อก่อน 3,000 ปีที่แล้ว จนทำให้ลัทธิความเชื่อดังกล่าวพัฒนามาเป็นลัทธิเทวราช ของอุษาคเนย์ในที่สุด