On History : พระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปที่ถูกบูชาด้วยการลำผีฟ้าในศาสนาผี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

พระเจ้าองค์ตื้อ

พระพุทธรูปที่ถูกบูชาด้วยการลำผีฟ้า

ในศาสนาผี

 

วัดศิลาอาสน์ ที่บ้านนาไก่เซา ต.นาเสียว อ.เมืองชัยภูมิ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่ง ที่ชาวชัยภูมิเรียกกันว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ”

คำว่า “ตื้อ” เป็นมาตราวัดแบบโบราณของลาว หมายถึงจำนวนหลายล้าน บ้างก็ว่าพันล้าน ไม่ตายตัว พูดง่ายๆ ว่ามากมายมหาศาล บางครั้งก็หมายถึงการมีน้ำหนักมาก พระเจ้าองค์ตื้อ จึงหมายถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั่นเอง

นักประวัติศาสตร์ศิลปะกำหนดอายุของพระพุทธรูปองค์นี้ สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างแบบทวารวดีภาคอีสาน แถมยังเป็นอีสานท้องถิ่นอีกต่างหากนะครับ เรียกได้ว่าไม่ใช่ฝีมือช่างหลวงแน่ แต่องค์พระพุทธรูปเองก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของอิทธิพลศิลปะขอมโบราณ ซึ่งยังถือว่าเป็นรุ่นคลาสสิคเข้ามาผสม

จึงทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะเขากำหนดอายุพระเจ้าองค์ตื้อกันไว้ที่ราว พ.ศ.1700-1900 เลยทีเดียว

แต่นอกเหนือจากพระเจ้าองค์ตื้อแล้ว ภายในวัดศิลาอาสน์ก็ยังมีพระพุทธรูปอีก 7 องค์ที่แกะสลักเอาไว้ไม่ห่างกับพระเจ้าองค์ตื้อ และทั้งหมดก็มีฝีมือช่างเป็นไปในทำนองเดียวกัน จึงเชื่อกันว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้นเอง

แต่ที่ผมเอาเรื่องพระเจ้าองค์ตื้อมาเล่าให้ฟังนั้น ไม่ใช่เพื่อจะอธิบายเรื่องศัพท์ชื่อเรียกพระพุทธรูปในภาษาลาว หรือการกำหนดอายุพระพุทธรูปกลุ่มนี้ด้วยรูปแบบศิลปะหรอกนะครับ ที่จริงแล้วผมอยากจะชวนให้เห็นถึงร่องรอยการเปลี่ยนผ่านจากศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ ที่นับถือหินใหญ่ มาเป็นพุทธศาสนาจากพระพุทธรูปกลุ่มนี้ต่างหาก

พระเจ้าองค์ตื้อ

พื้นที่บริเวณที่กลุ่มพระพุทธรูปที่นำโดยพระเจ้าองค์ตื้อประดิษฐานอยู่นั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภูพระ”

ที่เรียกว่า “ภูพระ” เป็นเพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเนินเขาลูกเตี้ยๆ และเมื่อมีการสลักพระพุทธรูปอยู่ที่นั้น แถมยังเป็นพระพุทธรูปที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้ว ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า ภูพระ ง่ายๆ เท่านี้

แต่เจ้าเนินเขาลูกที่ว่านี้เป็นเนินหินนะครับ

พื้นที่บริเวณโดยรอบของพระพุทธรูปกลุ่มนี้เป็นลานหินตลอดทั้งอาณาบริเวณ และอันที่จริงแล้ว แม้แต่ตัวพระเจ้าองค์ตื้อและพระพุทธรูปกลุ่มนี้ทั้งหมดเอง ก็สลักลงบนก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่มีรูปทรงแปลกตา

ดังนั้น ก่อนที่จะมีการสลักพระเจ้าองค์ตื้อและพระพุทธรูปกลุ่มนี้ทั้งหมดเมื่อก่อน พ.ศ.1900 นั้น ก็คงจะมีการนับถือหินใหญ่รูปทรงแปลกตา จนให้รู้สึกเฮี้ยน (คำเรียกอย่างลำลองของคำว่า ศักดิ์สิทธิ์) มาก่อนในศาสนาผีนั่นแหละ ไม่อย่างนั้นแล้วผู้คนในยุคโน้นเขาจะดั้นด้นขึ้นมาสลักพระเจ้าองค์ตื้อและพระพุทธรูปองค์อื่นเอาไว้บนเนินเขาอย่างนี้ไปทำไม

 

อย่าเพิ่งเถียงผมนะครับ เพราะที่นี้ยังพบร่องรอยของการนับถือผีเหลืออยู่อีกให้เพียบ โดยเฉพาะการที่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาผีฟ้า ผีแถน ที่เรียกว่า “ลำผีฟ้า” เป็นประเพณีบูชาพระเจ้าองค์ตื้อเป็นประจำทุกปี

“ลำ” คำนี้เป็นคำเดียวกับคำว่า ลำ ในหมอลำ นั่นแหละ ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมักจะพูดถึงประเพณีบูชาพระเจ้าองค์ตื้อประจำปีว่า “รำผีฟ้า” ซึ่งเป็นความหมายและข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว เพราะพิธีบูชาพระเจ้าองค์ตื้อแต่ดั้งเดิม เป็นการ “ขับลำ” ไม่ใช่ “ฟ้อนรำ”

โดยปกติแล้วการลำผีฟ้า เป็นการลำรักษาอาการเจ็บป่วย (ลำปัว) หรือทำนายโชคชะตาราศรี โดยจะแบ่งองค์ประกอบออกเป็น 4 ส่วน คือ หมอลำผีฟ้า (หมอจ้ำ หรือกก), หมอแคน (หมอม้า), ผู้ป่วย และเครื่องคาย กระบวนการลำจะเริ่มโดยที่ครูบา (หมอลำผีฟ้า) กล่าวคำไหว้ครู และเสี่ยงทายว่าจะหายจากโรคหรือไม่ โดยนำขมิ้นฝานลงในน้ำ 7 ฝาน ถ้าขมิ้นทั้ง 7 ฝานอยู่รวมกันแสดงว่าผู้ป่วยจะหายโดยง่าย ถ้าขมิ้นไม่รวมกันแสดงว่าผู้ป่วยจะหายค่อนข้างยาก

ต่อจากนั้นครูบาเก่าของผู้ลำผีฟ้าจะเข้าสิง เพื่อบอกกล่าวถึงสาเหตุของการป่วย ถ้าหากผู้ป่วยมีครูบาเก่ามาเข้าสิง ก็จะทำพิธีลำส่ง เป็นการส่งสิ่งของเครื่องบริขารให้ครูบาเก่าที่ตายไปแล้ว เสร็จแล้วจึงขึ้นขันลำปัว (รักษา) ซึ่งจะเป็นการขับกลอนลำคู่กับการฟ้อนรำของชาวคณะลำผีฟ้า ที่เรียกว่า “แม่เมือง”

ในช่วงที่มีการขับลำ และฟ้อนรำผีฟ้านั้น ถ้าผู้ป่วยลุกไหวก็จะมาร่วมฟ้อนรำด้วย แต่ถ้าลุกไม่ไหวก็จะนอนดูเฉยๆ ช่วงของการรำนั้นไม่มีเวลากำหนด แล้วแต่ว่าผู้ป่วยต้องการรำ หรือดูต่อหรือเปล่า? เมื่อผู้ป่วยต้องการให้เลิกแล้ว ชาวคณะแม่เมืองก็จะเลิกรำ โดยไปกราบเครื่องคาย 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี ครูบาจะนำเครื่องคายไปเก็บไว้บนหิ้ง จากนั้นคณะผู้ร่วมงานก็จะไปกินดื่มอาหารที่เจ้าบ้านจัดไว้ให้ร่วมกัน

แต่การลำผีฟ้าที่ภูพระนั้นไม่ใช่การลำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยนะครับ เพราะก็แน่นอนว่า พระเจ้าองค์ตื้อนั้นไม่ได้ป่วยจนต้องให้ผีฟ้าที่ไหนมารักษาให้แน่ แต่เป็นการลำเพื่อเลี้ยงผี หรือเลี้ยงข่วงผีฟ้าต่างหาก

พระพุทธรูป 7 องค์ที่สร้างขึ้นในยุคใกล้เคียงกับพระเจ้าองค์ตื้อ แกะสลักอยู่บนหินธรรมชาติ ขนาดใหญ่ รูปทรงแปลกตา

โดยปกติเมื่อมีการลำปัวเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว ยังมีการลำเพื่อไล่ผีอีกด้วย ในกรณีของการลำปัว ผู้ป่วยจะกลายมาเป็นบริวารของคณะผีฟ้าซึ่งก็คือ “แม่เมือง” หรือชาวคณะที่มาร่วมฟ้อนรำนั่นแหละ แต่ในกรณีที่ลำเพื่อไล่ผี ผู้ป่วยจะกลายมาเป็น “ลูกเมือง” ที่มาช่วยทำหน้าที่ในการลำปัวครั้งต่อๆ ไป

การลำข่วงผีฟ้าเพื่อเลี้ยงผี อาจจะจัดที่บ้านของแม่เมือง หรือลูกเมืองก็ได้ โดยจะมีการเชิญแขกและญาติมิตรของคณะลำผีฟ้าไปด้วย โดยเฉพาะบริวารและกลุ่มลูกเมืองทั้งหลายต้องไปร่วมงานที่จัดขึ้นทุกในช่วงระหว่างเดือน 3 ถึงเดือน 6 แล้วแต่ท้องที่ ส่วนมากมักจะจัดงานยาว 2 วัน 1 คืน คืนแรกเรียกว่า คืนลงมาลัยหมื่นมาลัยแสน มีการฟ้อนรำขับร้องและการละเล่น วันที่สองเรียกว่า วันหงายพาข้าว เป็นวันที่กลุ่มคณะผีฟ้านำข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงผีตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

โดยน่าสังเกตว่า ใน จ.ชัยภูมิ นั้น คณะลำผีฟ้าต่างๆ นั้นมักจะถือเอาบริเวณภูพระเป็นพื้นที่จัดงานเลี้ยงข่วงผีฟ้า ระหว่างวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือนห้า โดยถือเป็นงานกราบไหว้ครูบาอาจารย์ของคณะลำผีฟ้า ซึ่ง “ครูบาอาจารย์” ที่คณะลำผีฟ้ามาเลี้ยงก็คือ “พระเจ้าองค์ตื้อ” นั่นแหละ

 

แน่นอนว่า ถึงแม้ว่าคณะลำผีฟ้าจะเรียก “พระเจ้าองค์ตื้อ” ว่าเป็น “ครูบาอาจารย์” แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นครูที่ว่านั้น ไม่ได้มีที่มาเริ่มแรกจากการเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์หรอกนะครับ เป็นความเฮี้ยนของ “หินใหญ่” ที่ถูกจับบวชเข้ามาอยู่ในปริมณฑลของพุทธศาสนาด้วยการสลักรูปพระเจ้าองค์ตื้อและพระพุทธรูปองค์อื่นทับลงไปบนเนื้อหินนั่นต่างหาก

และก็เป็นเพราะความเฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์เดียวกันนั้นเอง ที่กลายเป็นผี (หรือจะเรียกว่าเทวดาก็ไม่ผิด) ที่ดูแลรักษาพระเจ้าองค์ตื้อ รวมถึงพระพุทธรูปองค์อื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การปฏิบัติต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์จึงไม่เหมือนกัน เช่น การลำผีฟ้าถวายพระเจ้าองค์ตื้อ หรือการถวายอาหารเหนือเพื่อแก้บนกับพระแก้วมรกต

เพราะ “ความเฮี้ยน” ของหินใหญ่ในศาสนาผีนั้นยังซ้อนทับอยู่กับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของพระพุทธรูป ในศาสนาพุทธอย่างแยกกันไม่ค่อยจะขาด

เอาเข้าจริงแล้ว การกราบพระกับกราบผี จึงเป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละครับ