ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ความสำคัญของทับหลัง
จากปราสาทหนองหงส์
และปราสาทเขาโล้น
ที่เพิ่งกลับคืนสู่ประเทศไทย
ประเทศไทยเพิ่งจะได้รับคืนทับหลัง 2 ชิ้นที่ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศไปอย่างผิดกฎหมาย แล้วถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา อยู่เป็นเวลานาน
ก่อนที่ทางกลุ่มของคุณทนงศักดิ์ หาญวงศ์, คุณดำรงค์ ลีนานุรักษ์ และกลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสอบถามความเป็นธรรมเกี่ยวกับการโจรกรรมโบราณวัตถุออกนอกประเทศไทยจะไปพบเข้าแล้วช่วยผลักดันและประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งทางฝั่งไทยและต่างประเทศจนได้รับทับหลังทั้งสองชิ้นกลับมาในที่สุด
ที่เรียกว่า “ทับหลัง” เพราะเป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมของปราสาทแบบขอม โดยเป็นหินวาง “ทับ” อยู่บน “หลัง” (คือ ส่วนบน) ของกรอบประตู ช่างไทยโบราณจึงเรียกเจ้าหินชิ้นนี้กันว่าทับหลังนั่นแหละครับ
แต่อันที่จริงแล้ว เจ้าทับหลังแบบที่เราคุ้นๆ ตากันนั้นก็ไม่ใช่ “ทับหลังจริง” ซึ่งทำหน้าที่รับและโอนถ่ายน้ำหนักของโครงสร้างสถาปัตยกรรมส่วนบนลงมา
ทับหลังแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นตากันนั้นเป็น “ทับหลังหลอก” หรือ “ทับหลังประดับ” ที่ใช้วางประดับอยู่ทางด้านหน้าของทับหลังจริงอีกทอดหนึ่ง จึงมักจะมีการสลักลวดลายต่างๆ เพื่อความสวยงาม
และหลายครั้งก็ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ ผ่านทางเรื่องเล่าปรัมปราคติในศาสนา
ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักโบราณคดีจึงมักจะใช้ “ทับหลัง” เป็นเครื่องมือในการกำหนดอายุปราสาท โดยเฉพาะปราสาทที่ไม่มีจารึกบอกความเป็นมา
เพราะถึงแม้ว่าปราสาทหลังนั้นจะไม่สลักลวดลายใดๆ ไว้ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมส่วนอื่นเลยก็ตาม แต่ก็มักจะสลักลวดลายโน่นนี่ไว้บนทับหลังอยู่บ่อยครั้งกว่าส่วนประกอบอื่นๆ
จนทำให้มีการนำลวดลายบนทับหลังมาจัดเป็นลำดับวิวัฒนาการลวดลายบนทับหลัง เพื่อใช้ในการกำหนดอายุปราสาทนั่นเอง
และก็เป็นเพราะการที่มักจะมีการประดับประดาลวดลายต่างๆ ไว้บนทับหลังกันนี้เช่นกันที่ทำให้ “ทับหลัง” มักจะเป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกลักขโมยออกจากปราสาทขอมอยู่บ่อยครั้งที่สุด เพราะนอกจากจะมีคุณค่าในเชิงความงามแล้ว ยังมีคุณค่าในเชิงความหมายทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอีกด้วย
ส่วนเจ้าทับหลังทั้งสองชิ้นที่ได้กลับคืนมายังประเทศไทยในครั้งนี้ ชิ้นหนึ่งเป็นทับหลังรูปพระยมทรงกระบือ (บางท่านว่าเป็นรูปพระอิศวรทรงโคนนทิ) จากปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์
ส่วนอีกชิ้นมาจากปราสาทเขาโล้น สลักเป็นรูปบุคคลประทับนั่งอยู่เหนือหน้ากาล หรือที่เรียกอีกอย่างว่าเกียรติมุข
และถึงแม้ว่าจะมีแหล่งที่มาจากคนละปราสาท แต่ทับหลังสองชิ้นนี้ก็ถูกกำหนดอายุไว้อยู่ในช่วงสมัยเดียวกัน คือถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ.1560-1630 โดยพิจารณาจากวิวัฒนาการของลวดลายบนทับหลัง อย่างที่ผมเล่าให้ฟังเอาไว้ข้างต้นนั่นแหละครับ
โดยเฉพาะที่ปราสาทเขาโล้นนั้น มีจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1559 ซึ่งถือได้ว่าสอดรับกันอย่างเหมาะเจาะกับอายุสมัยของลวดลายบนทับหลังชิ้นนี้เลยทีเดียว (เอาน่า ห่างกับค่าอายุมาตรฐานที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะเขาทำวิวัฒนาการของลวดลายเอาไว้แค่ปีเดียว ของมันหยวนๆ กันได้)
แต่ความสำคัญของทับหลังทั้งสองชิ้นนี้ไม่ได้อยู่แค่ที่ลวดลายหรืออายุสมัยของมันมากเท่ากับการที่พวกมันสามารถใช้กำหนดอายุปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้นว่าสร้างขึ้นในช่วงใกล้เคียงกันได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
เพราะปราสาททั้งสองหลังนี้สร้างอยู่บนจุดที่เป็น “แลนด์มาร์ก” หรือจุดหมายตาสำคัญที่บริเวณ “ช่องเขา” ของทิวเขาพนมดงรัก อันเป็นเส้นทางคมนาคมขึ้น-ลงระหว่างที่ราบสูงโคราช กับที่ราบลุ่มโตนเลสาบเขมร
ปราสาทหนองหงส์ตั้งอยู่ที่บริเวณขอบที่ราบสูงต้นทางผ่าน “ช่องตะโก” อันเป็นช่องเขาสำคัญในทิวเขาพนมดงรัก ส่วนปราสาทเขาโล้นเป็นต้นทางที่ราบลุ่ม รับทางลงจากที่ราบสูงผ่านช่องตะโก
พูดง่ายๆ ว่า ปราสาททั้งสองหลังนี้ เป็นจุดหมายตาสำคัญที่อยู่คนละฟากข้างของช่องเขาสำคัญอย่าง “ช่องตะโก” นั่นเอง
ทางตอนเหนือของปราสาทหนองหงส์ขึ้นไปไม่ไกลนัก เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์สำคัญของวัฒนธรรมขอมโบราณอย่างเขาพนมรุ้ง และต่อเนื่องขึ้นไปอีกนิดก็เป็นเมืองพิมาย พื้นที่บริเวณนี้เชื่อกันว่าอยู่ในอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์มหิธร แห่งเมืองมหิธรปุระ ที่ต่อมาจะไปเถลิงอำนาจในเมืองพระนคร แล้วสร้างนครวัด นครธม ในช่วงหลัง พ.ศ.1650 เป็นต้นไป
ส่วนทางใต้ของปราสาทเขาโล้นมีปราสาทสด๊กก็อกธม ปราสาทสำคัญในลัทธิเทวราชา ที่กษัตริย์ขอมโบราณให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก จนมีการสร้างปราสาทใหญ่โตหลายแห่งเพื่อใช้ในลัทธิความเชื่อดังกล่าว (ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของนครธม) เพราะเป็นปราสาทของตระกูลพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีในลัทธิเทวราชาโดยเฉพาะ
ปราสาทแห่งนี้ได้มีการบูรณะต่อเติมเป็นปราสาทใหญ่โตเมื่อ พ.ศ.1595 คาบเกี่ยวกันกับช่วงเวลาที่สร้างปราสาทเขาโล้นและปราสาทหนองหงส์ เมื่อพิจารณาจากทั้งจารึกและลวดลายที่ปรากฏอยู่บนทับหลัง
ทับหลังทั้งสองชิ้นนี้จึงเป็นพยานสำคัญของการรุ่งเรืองขึ้นของราชวงศ์มหิธร ที่ขยายอิทธิพลลงไปในที่ราบลุ่มโตนเลสาปเขมร ที่มี “อังกอร์” หรือเมืองพระนครใน จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เป็นเมืองสำคัญที่สุด
สำหรับผมแล้วนี่คือความสำคัญของทับหลังทั้งสองชิ้น ที่กลุ่มสำนึก 300 องค์ซึ่งนำโดยคุณทนงศักดิ์ หาญวงศ์ และคุณดำรงค์ ลีนานุรักษ์ ต่อสู้และผลักดันจนได้กลับคืนสู่ประเทศไทย