On History : เคารพธงชาติมาจากไหน? / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

เคารพธงชาติมาจากไหน?

 

อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่หรอกนะครับ ที่จะมีข่าวว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีได้สั่งให้นักเรียนทุกคนเคารพธงชาติหน้าจอโทรทัศน์ แล้วถ่ายรูปส่งให้ครูเป็นหลักฐานในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์กันอยู่อย่างนี้ ในเมื่อบรรดา “ผู้ใหญ่” ในยุคนี้ต่างก็กังวลว่า “เยาวชน” จะไม่รักชาติที่พวกเขารักและหวงแหนกันเหลือเกินอยู่แล้ว

และ “การเคารพธงชาติ” ตามโรงเรียนต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่มมีในประเทศไทยนั้น ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ปลุกใจให้เยาวชนรักชาตินั่นแหละ

กำเนิดของการเคารพธงชาติในโรงเรียนมีที่มาจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2478 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ถ้าจะปลุกใจให้รักชาติอย่างได้ผลก็ต้องเริ่มจาก “ยุวชน” ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการในปัจจุบัน) ไปดำเนินการ

จากนั้น 4 พฤศจิกายนปีเดียวกัน หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในขณะนั้นได้ส่งบันทึกโครงการที่จะทำเรื่องการปลุกใจให้ราษฎรรักชาติมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในบันทึกดังกล่าวเสนอให้อบรมทั้งเด็กและประชาชนทั่วไปไปพร้อมกัน โดยในส่วนของการอบรมเด็ก ได้ระบุเป็นการเฉพาะเจาะจงเลยด้วยว่า

“ทุกโรงเรียนทั้งโรงเรียนประชาบาลและรัฐบาลควรจะมีเสาธงชักธงชาติในเวลาเปิดการสอน”

และก็แน่นอนด้วยว่า เมื่อจะปลุกใจให้เยาวชนรักชาติด้วยการเคารพธงชาติแล้ว “ชาติ” ในความหมายที่อำนาจของรัฐสยามประเทศไทยต้องการให้เคารพนั้นก็คือชาติตามความหมายที่อยู่บนผืนธงไตรรงค์

ซึ่งก็คือ ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ นั่นเอง

 

การเคารพธงชาติตามโรงเรียนนั้น เอาแบบอย่างมาจากรูปแบบที่ถือกำเนิดมาจากในค่ายทหารอย่างชัดเจนนะครับ เพราะพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (และนายกรัฐมนตรีในภายหน้า) ได้ออกคำชี้แจงทหารเรื่อง “การเคารพธงชาติ” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมปีเดียวกันไว้ก่อนแล้วว่า ให้ทหาร (ไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแบบหรือไม่ก็ตาม) หยุดเพื่อเคารพธงชาติเมื่อมีการชักธงขึ้น-ลง ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่แห่งใดก็ตาม

คำชี้แจงนี้ยังระบุให้บุคคลที่อยู่ในค่ายทหารทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า-แม่ขาย ลูก-เมียทหารทั้งปวง) ทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย และแน่นอนว่าใครต่อใครก็ตามที่ถูกเชิญไปในค่ายทหารก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกันนี้แหละ

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมระหว่างเคารพธงชาติ นักเรียนทุกคนจะต้องถูกเกณฑ์มาตั้งแถวยืนตรง แล้วร้องเพลงชาติ ไม่ต่างอะไรกับการฝึกระเบียบวินัยของทหาร

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่า จอมพล ป.สมัยยังเป็นเพียงพันเอกท่านจะคิดวิธีเคารพธงชาติแบบนี้ขึ้นมาเอง เพราะธรรมเนียมการยืนตรงเคารพธงชาติไม่ได้เกิดที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก แต่มีมาก่อนในธรรมเนียมของพวกฝรั่ง ส่วนที่มาของการยืนเคารพธงชาติและเพลงชาตินั้นก็มีประวัติที่ค่อนข้างจะพิลึกพิลั่นเลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า มันเกิดมาจากการธรรมเนียมปฏิบัติในเพลง “เมสสิยาห์” (Messiah) ของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ที่ได้โอนสัญชาติมาเป็นอังกฤษอย่างจอร์จ ฟรีดริก แฮนเดล (George Frideric Handel, พ.ศ.2228-2302)

ในเพลงดังกล่าว จะมีธรรมเนียมการลุกขึ้นยืนกันในท่อนที่ร้องว่า “ฮัลเลลูยาห์” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดเพราะพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษ (George II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2270-2303) เพราะในคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2286 เมื่อเพลงบรรเลงถึงท่อนนี้แล้วพระองค์ก็ลุกขึ้นยืน จนทำให้คนอื่นๆ ต้องยืนขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า พระเจ้าจอร์จที่ไม่ได้ยอดมากองค์นี้ ลุกขึ้นยืนระหว่างที่บรรเลงเพลงเมสสิยาห์ทำไม?

 

คําอธิบายโดยสารพัดใครต่อใคร ที่ไม่ใช่ตัวพระองค์เอง ในแนวที่เป็นวิชาการมักจะสันนิษฐานไปในทำนองเดียวกันว่า เนื้อเพลงท่อนนั้นมีคำว่า King of Kings, and Lord of Lords ซึ่งเป็นความในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่

การยืนขึ้นของพระเจ้าจอร์จที่ 2 จึงเป็นการยอมรับในสถานะ “Lord of Lords” ของพระองค์ เทียบเคียงกับสถานะ “King of Kings” ของพระคริสต์ จนพาให้ใครต่อใครคนอื่นในฮอลล์ต้องพากันลุกขึ้นยืนไปด้วย เพราะพระองค์ดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นั่นเอง

แต่คำอธิบายทำนองนี้ก็นำไปสู่วิวาทะที่ว่า ถ้าการลุกขึ้นยืนของพระเจ้าจอร์จที่ 2 มีความหมายไปในทิศทางนั้นจริงๆ แล้วทำไมคนอื่นในฮอลล์จึงต้องลุกขึ้นยืนไปพร้อมๆ กันด้วย ในเมื่อพวกเขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาวะการยอมรับความเป็นลอร์ดหรือกษัตริย์ที่ว่านี้เลย?

อย่างไรก็ตาม การสันนิษฐานที่ว่า ก็ยังคงเป็นเพียงการเดาอยู่ดีนั่นแหละ เพราะที่จริงก็ไม่มีใครรู้ว่าพระเจ้าจอร์จที่ 2 ลุกขึ้นยืนทำไมแน่?

นอกจากคำอธิบายในทำนองข้างต้นแล้ว จึงมีทั้งคำอธิบายในทำนองที่อิงกับความรู้สึกอย่างเช่น พระองค์ปลาบปลื้มกับเสียงเพลงมากเสียจนต้องลุกขึ้นยืน

หรือคำอธิบายในเชิงเสียดสีว่า ที่จริงแล้วคงไม่มีอะไรหรอก เพราะเมื่อฟังดนตรีบรรเลงไปนานเข้า พระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็คงจะทรงพระเมื่อย จนต้องลุกขึ้นยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเท่านั้นเอง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพระหว่างบรรเลงเพลงคำนับนั้น ก็ได้กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในอังกฤษโดยได้ทำให้มีการลุกขึ้นยืนระหว่างบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีควบตำแหน่งเพลงชาติอังกฤษอย่างเพลง God Save the Queen (หรือ God Save the King ขึ้นอยู่กับประมุขตอนนั้นจะเป็น King หรือ Queen) ไปในที่สุด

ถึงแม้ว่าจะมีประวัติความเป็นมาที่ออกจะประหลาดก็ตาม แต่การที่ทุกคนต้องลุกขึ้นยืนตัวตรงตามพระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็แสดงให้เห็นถึงสภาวะที่ต้องยอมจำนนต่ออำนาจบางอย่างนั่นแหละนะครับ การยืนตรงเคารพธงชาติซึ่งเป็นพัฒนาการต่อมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ต่างไปจากกัน เช่นเดียวกับอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของการเคารพธงชาติ ซึ่งก็คือ “เพลงชาติ”

 

คําว่า “เพลงชาติ” ในภาษาไทยแปลมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “national anthem” โดยคำว่า “national” แปลตรงตัวว่า “ชาติ” ไม่ได้พิสดารอะไร แต่คำว่า “anthem” หมายถึง “เพลงสวด” ซึ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศาสนานิกายแองกลิกันในประเทศอังกฤษ

“anthem” เป็นเพลงสวดง่ายๆ ไม่มีการร้องประสานเสียง ใช้ร้องในโบสถ์แองกลิกันทั้งตอนเช้าและเย็น มีรากศัพท์มาจากคำว่า “antiphona” หรือ “antifn” ในภาษากรีกโบราณและอังกฤษโบราณตามลำดับ

ทั้งคำว่า “antiphona” และ “antifn” มีความหมายเดียวกับคำว่า “antiphon” คือ “เพลงโต้ตอบ” หรือที่นักวิชาการชอบเรียกให้ฟังยากขึ้นว่า “เพลงปฏิภาค”

แน่นอนว่า เมื่อสมัยที่ยังร้องกันอยู่เฉพาะในโบสถ์ “anthem” กำลังพยายามสื่อสารกับพระเป็นเจ้า หรืออยากจะให้พระเจ้าโต้ตอบกลับมาบ้าง (ไม่ว่าพระเจ้าจะตอบกลับมาหรือไม่ก็ตาม) แต่เมื่อเพลงสวดเฉพาะกลุ่มเหล่านี้กลายเป็น “national anthem” หรือ “เพลงชาติ” แล้ว การขับขาน anthem ในนามของรัฐชาติ ซ้ำยังเป็นรัฐชาติแบบสมัยใหม่อย่างในปัจจุบันนั้น เรากำลังสื่อสารหรือโต้ตอบอยู่กับใคร?

เพราะอะไรก็ตามที่เรียกว่า “ชาติ” ไม่สามารถโต้ตอบกลับมาแน่

 

โดยไม่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติม ผมอยากจะเดาเอาเองว่า เพลงชาติกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่อังกฤษของพระเจ้าจอร์จที่ 2 คนดีคนเดิม ซึ่งก็คือเพลง God Save the Queen

God Save the Queen หรือ God Save the King เป็นเพลงที่ไม่มีประวัติการประพันธ์แน่ชัด แต่มีหลักฐานว่าปรากฏขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2232 แล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวพระเจ้าเจมส์ที่ 2 (James II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2228-2232) ถูกถอดออกจากตำแหน่ง จึงได้มีการใช้เพลงเพลงนี้เป็นเพลงปลุกใจของกลุ่มอำนาจเก่าที่สนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ให้กลับมาชิงบัลลังก์อย่างลับๆ

แน่นอนที่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าพระองค์ทำไม่สำเร็จ เพราะชาวอังกฤษไม่ต้องการกษัตริย์ที่นับถือโรมันคาทอลิกอีกต่อไป แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้แนวคิดเรื่องการรวมตัวต่อสู้กันเพื่อ “ชาติ” เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2288 เพลง God Save the King ถูกนำออกมาแสดงอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกในโรงละครแห่งหนึ่ง แต่คราวนี้เพลงที่ว่าถูกนำมาใช้ปลุกใจให้สู้เพื่อพระเจ้าจอร์จที่ 2 (ใช่ครับใช่ พระเจ้าจอร์จคนเดียวกับที่ลุกขึ้นยืน จนกลายเป็นธรรมเนียมการยืนตรงเคารพธงชาติภายหลัง) และช่วยกันขับไล่กลุ่มอำนาจเก่า (พวกเดียวกับพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ซึ่งขณะนั้นเสียชีวิตไปแล้ว) ที่คิดจะมาชิงบัลลังก์ออกไป

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ถึงความประสมปนเปกันอยู่ระหว่างความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่กับชาติในอุดมคติแบบเก่าที่หมายถึงทรัพยากรของผู้ปกครองคือกษัตริย์ ที่ยังคงเหลือร่องรอยอยู่ในอะไรที่เรียกว่า “เพลงชาติ” ถ้า “anthem” คือเพลงโต้ตอบ สิ่งที่ “national anthem” กำลังสื่อสารอยู่ด้วยในอุดมคติของรัฐชาติสมัยเก่าก็อาจจะเป็น “กษัตริย์” ในนามของ “พระเจ้า”

ก็อย่างที่ผมบอกเอาไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรกของข้อเขียนชิ้นนี้นั่นแหละครับว่า ไม่น่าแปลกใจเลยสักนิด ที่ฝ่ายเดียวกับอำนาจของประเทศนี้จะสั่งให้เด็กนักเรียนเคารพธงชาติหน้าจอทีวี