ปริศนาโบราณคดี : ‘หลวงพ่อเพชร’ หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย) โขงพระพุทธรูปแบบล้านนาวัดดอนสัก สถานที่เดิมที่เคยประดิษฐานหลวงพ่อเพ็ชร์ อุตรดิตถ์" เครดิตภาพจากเว็บ "ลับแลที่รัก (ขวา) หลวงพ่อเพชรองค์พี่ วัดพระธาตุศรีจอมทอง จำลองกลับคืนมาจากเมืองกำแพงเพชร

 

‘หลวงพ่อเพชร’

หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (2)

 

หลังจากที่เรื่องราวของหลวงพ่อเพชร 2 องค์ (อุตรดิตถ์และพิจิตร) ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในตอนแรกแล้วนั้น

มีผู้อ่านหลายท่านให้ความสนใจ ส่งข้อมูลมาแลกเปลี่ยนความเห็นกับดิฉันเป็นจำนวนมาก

ทำให้ฉบับนี้จำเป็นต้องย้อนกลับไปทบทวนเรื่องประวัติความเป็นมา การกำหนดอายุ ฝีมือช่าง ของหลวงพ่อเพชรกันอย่างจริงจังอีกครั้ง

 

เมืองลับแลกับวัฒนธรรมล้านนา

ตอนที่แล้วดิฉันได้กล่าวว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” ของอุตรดิตถ์นั้น ตามประวัติระบุว่าไม่มีการโยกย้ายมาจากล้านนาแต่อย่างใด นักวิชาการจึงสรุปว่า ถ้าเช่นนั้นหลวงพ่อเพ็ชร์ก็คงสร้างขึ้นในอุตรดิตถ์นี่เอง จัดเป็นพุทธศิลป์แบบ “ล้านนาสิงห์ 1” ที่ใช้ช่างฝีมือชาวสุโขทัยสร้าง เนื่องจากจุดเกิดเหตุนั้นอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเขตวัฒนธรรมสุโขทัยไม่ใช่เขตอิทธิพลล้านนา

ประเด็นนี้ได้มีผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอุตรดิตถ์ส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ สรุปใจความได้ว่า

หลวงพ่อเพ็ชร์ตามที่หนังสือเขียนว่าพระภิกษุด้วงพบครั้งแรกในจอมปลวกแถวป่าสะแกหรือไผ่ล้อมนั้น เป็นแค่คำให้การของท่านตอนถูก ‘เจ้าเมืองคง’ นิมนต์ตัวมาไต่สวนหาข้อเท็จจริง หลังจากที่มีชาวบ้านร้องเรียนว่าท่าน “ลักลอบขุดพระ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลวงพ่อด้วงงมพระพุทธรูปได้จากลำน้ำพร่อง ซึ่งไหลมาจากเมืองลับแล ดังนั้น พระปฏิมาหลวงพ่อเพ็ชร์ แท้ก็คือพระสิงห์ 1 ล้านนาที่สร้างขึ้นในเมืองลับแลนั่นเอง

เมืองลับแลในอดีตเป็นเขตวัฒนธรรมล้านนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชหรือก่อนหน้านั้นแล้ว โดยที่เมืองลับแลมีวัดแห่งหนึ่งชื่อ ‘วัดดอนสัก’ ปัจจุบันมีมณฑปโขงพระเจ้างดงามมากเหมือนทางล้านนา พระประธานหายไป ปัจจุบันต้องสร้างพระแบบสิงห์ 1 องค์ใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน

ตอนนี้แวดวงปราชญ์ท้องถิ่นในอุตรดิตถ์เชื่อกันว่า โขงพระเจ้าวัดดอนสัก น่าจะเคยรองรับพระพุทธปฏิมาองค์งาม (หลวงพ่อเพ็ชร์) มาก่อน

ฉบับนี้ดิฉันได้นำภาพประกอบของโขงพระเจ้าวัดดอนสักมาให้ชมกัน ซึ่งหาดูได้ยากเพราะวัดเปิดให้ชมวิหารปีละ 2 ครั้งเท่านั้น

ปัญหามีอยู่ว่า หากหลวงพ่อเพ็ชร์สร้างขึ้นในเมืองลับแลจริง นักวิชาการจะฟันธงใหม่ว่าเป็นพระล้านนาสิงห์ 1 ไปเลยไหม หรือยังยืนยันว่าเป็นศิลปะสุโขทัยที่สร้างเลียนแบบล้านนาอยู่?

ประเด็นนี้จะหวนกลับมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง หลังจากที่ดิฉันได้กล่าวถึงนิยามและความหมายของคำว่า “พระล้านนาสิงห์ 1” แล้ว

 

หลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตร

ต้องเก่ากว่าสมัยพระนเรศวร

กรณีของหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรซึ่งอัญเชิญมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทองก็เช่นกัน เต็มไปด้วยความคลุมเครือด้านประวัติการสร้าง

หนังสือตำนานเมืองจอมทองระบุอายุไว้ว่าเก่าถึงช่วง พ.ศ.1660-1800 ตรงกับสมัยหริภุญไชยเลยทีเดียว

ครั้นเมื่อพิจารณาจากเนื้อโลหะและพุทธศิลป์แล้ว พบว่าไม่ได้เก่าถึงยุคนั้น

ดิฉันจึงยึดตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะระดับนานาชาติ ท่านศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่กำหนดอายุไว้ว่าน่าจะสร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22

นั่นก็จะตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ส่วนกษัตริย์ที่ปกครองล้านนาเป็นชาวพม่ามีชื่อว่าพระเจ้ามังทรา (นรธาเมงสอ โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง)

หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องนี้ไปแล้วก็มีผู้ทักท้วงว่า หลวงพ่อเพชรน่าจะสร้างก่อนหน้านั้น เพราะอย่างน้อยวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทองก็มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้ว (ครองราชย์ 2038-2068) เมื่อมีวิหารก็ควรสร้างพระประธานขึ้นพร้อมกัน หรือดีไม่ดีพระประธานอาจมาก่อนก็ได้ด้วยซ้ำ เพราะย้ายมาจากที่อื่น

ทำให้ดิฉันต้องทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับ “หลวงพ่อเพชร” ในตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองอย่างละเอียดอีกครั้ง

คราวนี้พอจะพบ “จิ๊กซอว์บางตัว” แบบอ้อมๆ คือไม่ได้กล่าวถึงประวัติของหลวงพ่อเพชรโดยตรงเสียทีเดียว

นั่นคือข้อความในหน้าที่ 22 จากหนังสือ “ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ไม่ระบุปีที่พิมพ์ และไม่ระบุชื่อผู้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูล เข้าใจว่าเป็นการคัดลอกต่อๆ กันมาจากการปริวรรตคัมภีร์ใบลานของวัด

ข้อความนี้กล่าวถึงการที่เทวดาส่ง “ตาปะขาว” มาบอก “พระธมฺมปญฺโญเถระ” เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองสมัยนั้น ในนิมิตฝันให้ทราบว่าวัดแห่งนี้มีพระบรมสารีริกธาตุ สถิตอยู่ในถ้ำใต้พื้นดอยจอมทอง พระธมฺมปญฺโญเถระจึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุได้เสด็จออกมา

“ครั้นอธิษฐานแล้วล่วงมาถึงปีจุลศักราช 863 (ควรจะตรงกับ พ.ศ.2044 ตามสูตรการคำนวณนั้นปกติให้เอา 1181 ไปบวก จ.ศ. จะเท่ากับอายุของ พ.ศ. แต่ในหนังสือเล่มนี้เขียนว่าตรงกับ พ.ศ.2042 จึงขอหมายเหตุไว้) เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ (เดือน 6 เหนือ) เวลากลางคืนพระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำอันตั้งอยู่ในคูหาพื้นจอมทอง แสดงปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์ต่างๆ ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

และในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีพระโมลีถอดได้หล่อด้วยทองสำริด

รุ่งขึ้นเช้าเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ คนทั้งหลายได้มาบูชาข้าวพระพุทธรูปเห็นประตูปราสาทเปิดไว้ จึงไปบอกแก่พระธมฺมปญฺโญเถระ ท่านไปตรวจดูในวิหารเห็นพระโมลีพระพุทธรูปถูกถอดออกจากพระเศียรวางไว้บนพระเพลา เห็นห่อผ้าทิพย์เล็กๆ วางอยู่ในรูพระโมลีธาตุแห่งพระพุทธรูปองค์นั้น จึงเอาไม้คีบออกมาแล้วแก้ห่อออกดู ก็เห็นพระบรมธาตุนั้นบรรจุในโกศงา…”

คำว่า “พระพุทธรูปในวิหาร” ที่ปรากฏในเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระธาตุเสด็จนี้ ควรตั้งคำถามต่อไปว่า หมายถึงหลวงพ่อเพชรองค์ที่ปัจจุบันย้ายไปอยู่จังหวัดพิจิตรหรือไม่

หากใช่ แสดงว่าหลวงพ่อเพชรต้องสร้างมาก่อน พ.ศ.2044

ครั้นเมื่ออ่านย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างวัดพระธาตุศรีจอมทองอีกหน้าหนึ่ง พบว่าก่อนจะมาเป็นวัดหลวงที่ได้รับการอุปถัมภ์โดยกษัตริย์ล้านนา วัดนี้สร้างโดยชาวบ้านสองผัวเมียชื่อนายสร้อยกับนางเม็ง ตั้งแต่ พ.ศ.1995 และได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากพระภิกษุรูปต่างๆ เรื่อยมา

กระทั่งถึงสมัยของพระธมฺมปญฺโญเถระ ระบุว่า พ.ศ.2022 (ก่อนพระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ 22 ปี) เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้

“ได้ชวนชาวบ้านพากันไปรื้อเอาวิหารกับทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่หล่อ (ก่อ-ปั้น) ด้วยปูนจากวัดย่าแต้ม (เชิงอรรถอธิบายเพิ่มว่า บางฉบับเขียนวัดท่าแย้ม) ซึ่งอยู่ข้างแม่น้ำกาละ (เชิงอรรถว่าหมายถึงน้ำแม่กลาง) มาไว้ในวัดศรีจอมทองใน พ.ศ.2022”

คำว่า “พระพุทธรูปองค์ใหญ่หล่อ” พร้อมวงเล็บ “ก่อ-ปั้น” นี้ น่าจะหมายความว่า ยุคแรกสร้างพระพุทธรูปใช้วัสดุปูนปั้น แล้วต่อมาหล่อสำริดครอบ

ดิฉันเคยลงพื้นที่สำรวจวัดร้างหลายแห่งแถว “เมืองกลาง” ในเขตอำเภอจอมทอง ใกล้กับวัดพระพุทธบาทหัวเสือ เคยเป็นที่ตั้งของวัดย่าแต้มหรือวัดท่าแย้ม แต่ปัจจุบันน้ำแม่กลางเปลี่ยนเส้นทางเดินไปแล้ว พบว่าบริเวณนั้นมีร่องรอยหลักฐานอารยธรรมที่เก่าแก่ถึงยุคหริภุญไชยมากพอสมควร

เหตุนี้นี่เอง ที่ทำให้ปราชญ์ชาวบ้านจอมทองบางท่านเชื่อว่าองค์พระปฏิมาด้านในของหลวงพ่อเพชรน่าจะเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18

 

หลวงพ่อเพชรองค์พี่

แห่งเมืองกำแพงเพชร

ดิฉันลงพื้นที่วัดพระธาตุศรีจอมทองล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ได้พบ “หลวงพ่อเพชรจำลององค์พี่” (คือองค์ในภาพประกอบ) ทางวัดเล่าว่า เพิ่งทราบข้อมูลใหม่ได้ไม่กี่ปีมานี้เอง ว่าแม่ทัพอยุธยาครั้งอดีต นอกจากจะนำหลวงพ่อเพชรองค์หนึ่งไปไว้ที่พิจิตรแล้ว ยังมีการย้ายหลวงพ่อเพชรอีกองค์หนึ่งจากวัดพระธาตุศรีจอมทองไปไว้ที่กำแพงเพชรอีกด้วย

กล่าวคือ นำ “หลวงพ่อเพชร” ไปพร้อมกันถึงสององค์ องค์หนึ่งใหญ่กว่าเล็กน้อยจึงเรียกองค์พี่ ปัจจุบันประดิษฐานที่กำแพงเพชร อีกองค์เป็นที่รู้จักกันดีอยู่ที่พิจิตร แต่องค์เล็กกว่าจึงเรียกองค์น้อง

หลายท่านอาจสงสัยว่า หลวงพ่อเพชรองค์พี่นี้มาจากไหนอีกเล่า ทำไมไม่ค่อยเคยได้ยินกันมาก่อน และรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธปฏิมาองค์นั่งขัดสมาธิเพชรที่กำแพงเพชรย้ายมาจากจอมทอง?

เรื่องนี้ปรากฏหลักฐานอยู่ในประวัติของหลวงพ่อเพชรวัดบางเมืองกำแพงเพชรว่า ช่วงที่พระยาพิจิตรขอให้แม่ทัพอยุธยาที่จะไปตีจอมทอง ช่วยเอาพระพุทธปฏิมาจากเมืองเหนือมาฝากให้ด้วย ปรากฏว่าแม่ทัพนายนั้นได้ชะลอพระพุทธปฏิมาจากจอมทองลงมาถึง 2 องค์ นำมาไว้ที่วัดตอหม้อ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) เมืองกำแพงเพชร

แล้วแจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรขึ้นมารับเอง 1 องค์ การขนย้ายพระพุทธรูปขนาดใหญ่จากลำน้ำปิงสู่ลำน้ำน่านในอดีตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาจเป็นเหตุให้พระยาพิจิตรจึงเลือกเอาองค์เล็กไป (หน้าตักองค์เล็กกว้าง 2 ศอกเศษ ส่วนองค์พี่กว้างกว่าอีกเล็กน้อย) ดังนั้น หลวงพ่อเพชรองค์พี่จึงประดิษฐานอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรตราบแต่นั้นมา

ประวัติหน้านี้ไม่ปรากฏในตำนานหลวงพ่อเพชรของเมืองพิจิตร ซึ่งระบุแค่ว่า พระยาพิจิตรขึ้นมาอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากกำแพงเพชรไปไว้พิจิตรด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้บอกว่าแม่ทัพนายนั้นได้นำหลวงพ่อเพชรมาไว้ที่กำแพงเพชรถึงสององค์

ที่น่าสนใจคือ ประวัติเรื่องหลวงพ่อเพชรของเมืองกำแพงเพชรนี้ มีการระบุยุคสมัยของเหตุการณ์และชื่อแม่ทัพอีกด้วย นั่นคือตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (2034-2072) โอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนแม่ทัพที่ถูกส่งขึ้นมาปราบจอมทองนั้นคือ “ขุนแผน”

พระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง (มรณภาพไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว) ได้สั่งให้ศิษยานุศิษย์ไปทำการจำลองหลวงพ่อเพชรองค์พี่จากกำแพงเพชรเท่าขนาดจริง ทำพิธีแห่อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561

ปริศนาจึงมีอยู่ว่า ในเมื่อวัดพระธาตุศรีจอมทองมี “หลวงพ่อเพชร” องค์ใหญ่ที่สวยงามยิ่งถึง 2 องค์ ควรจะเป็นองค์ไหนเล่า ที่เคยมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศโมลี?

และองค์ไหนเล่า คือองค์ที่ย้ายมาจากวัดย่าแต้ม แล้วถูกซ่อมบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2022 โดยพระธมฺมปญฺโญเถระ โดยองค์ด้านในอาจเป็นศิลปะยุคหริภุญไชย

การที่อาจารย์พิริยะกำหนดอายุให้หลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรมีอายุรุ่นหลังมาก เนื่องจากพุทธลักษณะดูเป็นศิลปะล้านนาตอนปลายอย่างมากแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าเคยมีการบูรณะหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรครั้งใหญ่ ทำให้รูปแบบศิลปะเปลี่ยนไป จนดูไม่เก่าเท่าที่ควรจะเป็น

ปริศนาทั้งหมดนี้ ดิฉันคิดว่าท้าทายและน่าสนใจมาก

เนื่องจากเท่าที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรนั้น เรามักพูดกันสั้นๆ เพียงแค่ว่าได้มาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง แต่ยังไม่เคยมีการสืบค้นกันให้ถึงที่สุดว่า จะใช่องค์เดียวกันกับที่ถูกระบุไว้ในตำนานว่า ครั้งหนึ่งเคยรองรับพระธาตุเสด็จในเกศโมลีหรือไม่

นอกจากนี้แล้วยังพบว่า ที่จอมทองยังเคยมีหลวงพ่อเพชรถึงสององค์อีกด้วย