ปริศนาโบราณคดี : ‘สตรีถือแส้จามรี’ นางคือใคร กษัตรีย์ เทวี หรือยักษิณี ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘สตรีถือแส้จามรี’ นางคือใคร

กษัตรีย์ เทวี หรือยักษิณี ?

 

มีประติมากรรมดินเผารุ่นเก่าสมัยหริภุญไชยตอนต้นชิ้นหนึ่งมีความน่าสนใจยิ่ง

นั่นคือโบราณวัตถุเลขทะเบียนที่ 45/18 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน

เป็นแผ่นอิฐจำหลักรูป “สตรีถือแส้จามรี” ขนาดกว้าง 16.2 เซนติเมตร สูง 36 เซนติเมตร

เนื้อวัสดุเต็มไปด้วยรอยพรุนของแกลบเมล็ดข้าวพันธุ์ป้อมๆ กลมๆ ที่นำมาผสมกับดินเหนียวขณะทำการเผาเพื่อให้เกิดการสุกโดยทั่วทั้งชิ้น หรือที่เรียกว่า “เผาไล่แกลบ” มิเช่นนั้นแล้วจะสุกเฉพาะผิวนอกแต่เนื้อในยังมีสีดำ

อันเป็นกรรมวิธีโบราณการทำดินเผาในสมัยทวารวดี

ด้วยเหตุนี้นักวิชาการหลายท่านจึงลงความเห็นเป็นฉันทามติว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่จะมีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 12-13 คือร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีได้ (ซึ่งในบรรดาโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชย มีอายุเก่าเช่นนี้เพียงแค่ไม่กี่ชิ้น)

สตรีนางนี้สวมผ้านุ่งยาวกรอมเท้า ชักชายพกต่ำคล้ายผ้าโธตีแบบอินเดีย ยืนในท่าตริภังค์ (หมายถึงเอนกายอย่างอ่อนช้อย 3 ช่วง บ่าถึงเอว สะโพกถึงเข่า และขาพักงอแบบ S curve)

สวมเครื่องประดับเรียบง่ายแค่ พาหุรัด (รัดต้นแขน) ทองกร (กำไลข้อมือ) กรองศอ (สร้อยคอ) เป็นห่วงกลม และกุณฑล (ต่างหู) แผ่นกลมใหญ่

มีจุดเด่นอยู่ที่การเน้นสะโพกผายออกกับทรวงอกที่ใหญ่เป็นพิเศษ

สะท้อนถึงความเป็นแม่ ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำนมที่พร้อมจะหล่อเลี้ยงโลก กับทรงผมที่เกล้าสามปอยด้านหน้า ส่วนตอนบนยกเป็นมวยสูง ดูคล้ายกับศิลปะจามปายุคดงเดือง

ข้อสำคัญ นางได้ถือ “แส้จามรี” ในมือข้างซ้าย (จากการมองของเราจะเห็นเป็นด้านขวา) พาดไปด้านหลัง ขนานอยู่เหนือบ่าและต้นแขนด้านขวา

แผ่นอิฐชิ้นนี้ ไม่มีใครทราบว่าแรกเริ่มนั้นอยู่บริเวณไหนในจังหวัดลำพูนมาก่อน สร้างมาโดดๆ หรือเคยใช้ประดับส่วนใดของสถาปัตยกรรมด้วยหรือไม่ อีกทั้งไม่พบอักขระจารึกว่าใครสร้าง ทำขึ้นในศาสนาพุทธ ฮินดู หรือลัทธิวิญญาณนิยม?

 

กษัตริย์โบราณกับแส้จามรี

20 ปีที่แล้ว คุณกิตติ วัฒนะมหาตม์ รุ่นน้องจากคณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทววิทยาและประติมานวิทยา ช่วงที่เขากำลังเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “จามเทวี : จอมนางหริภุญไชย” ได้เดินทางขึ้นมาเสวนากับดิฉันที่ลำพูนบ่อยครั้งมาก

โดยเขาได้ตั้งคำถามว่า

“ประติมากรรมชิ้นนี้ สามารถสื่อถึงรูปเคารพของ ‘พระนางจามเทวี’ ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญไชยได้หรือไม่ เนื่องจากการถือแส้นั้น เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกษัตริย์ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน หลักฐานเก่าสุดคือรูปฟาโรห์อียิปต์ที่มือสองข้างถือ Crook & Flail คือแส้กับเคียว (คนทั่วไปมักแปลว่า ‘ตะขอกับไม้ตีข้าว’) ซึ่ง ‘แส้จามรี’ นี้ต่อมาในสยามยังได้นำมารวมกับพัด ‘วาลวิชนี’ จนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์สืบมา”

ดิฉันตอบกว้างๆ ไปว่ารูปปั้นชิ้นนั้นสะท้อนแนวคิดแบบ Mother Goddess แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็น Portrait ของพระนางจามเทวีได้หรือไม่

หรือควรจะเป็นเทวีองค์ใดองค์หนึ่งของฮินดู เป็นนางสีดาอวตารของลักษมี เป็นนางอัปสรได้ไหม หรือเป็นแค่สาวใช้ของชนชั้นสูง?

ผ่านมานานกว่า 2 ทศวรรษ ดิฉันหยิบเรื่อง “สตรีถือแส้จามรี” ของลำพูนชิ้นนี้มาศึกษาทบทวนใหม่อีกครั้ง ฝากคุณกิตติช่วยดูคำตอบร่วมกัน

 

แส้จามรี จากกษัตริย์ถึงพระศาสดา

จริงอยู่ที่ “แส้จามรี” มีความโดดเด่นในฐานะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ใช้ประกอบอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ โดยฟาโรห์อียิปต์ได้ส่งผ่านอารยธรรมชิ้นนี้มายังโลกตะวันออกคือเมโสโปเตเมียและอินเดีย

ทว่าบรรดาประติมากรรมรูปกษัตริย์อินเดียโบราณแบบลอยตัวที่เป็น Portrait เช่น รูปพระเจ้ากนิษกะมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ กลับไม่พบว่าพระองค์ทรงถือแส้จามรีแต่อย่างใด

หรือแม้แต่ภาพสลักเล่าเรื่องความศรัทธาในพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชบนแผ่นหินที่สถูปสาญจี ก็ไม่พบว่าพระองค์ถือแส้จามรี มีแต่บุคคลอื่นที่เป็นข้าทาสบริวารคอยถือฉัตรและแส้จามรีให้

ภาพคนรับใช้หรือผู้คอยอุปัฏฐากบุคคลสำคัญในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบในรูปของพระอินทร์กับพระพรหมถือแส้จามรีประกอบสองข้างพระพุทธเจ้าที่กำลังกระทำปางแสดงธรรม บนพระพิมพ์สมัยทวารวดี

ดังนั้น ความหมายของแส้จามรีในงานพุทธศิลป์อีกแง่หนึ่ง ยังขยายจากการเป็นเครื่องประกอบสำคัญของ “กษัตริย์” ไปสู่องค์ประกอบรายล้อม “พระศาสดา” อีกด้วย

ที่กล่าวมานั้น เป็นมิติของแส้จามรีที่ใช้ประดับ “บุรุษเพศ” และ “มหาบุรุษ”

 

แส้จามรีกับเทวสตรี

งานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงที่มีรูปแส้จามรีเข้าไปเกี่ยวข้อง พบว่าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้คือ

1. แส้จามรีเป็นหนึ่งในเครื่องมงคลรายล้อมรูป “คชลักษมี”

2. เป็นสิ่งที่นางยักษีหรือยักษิณีถือ ในลักษณะประติมากรรมเดี่ยวๆ ซึ่งรูปแบบนี้เองที่มีความใกล้เคียงมากที่สุดกับแผ่นอิฐเผาสตรีถือแส้จามรีที่พบในลำพูน

ในกรณีแรก “คชลักษมี” มาจาก “คชะ” – ช้าง กับ “ลักษมี” หรือนางศรี – เทวีฮินดู ผู้เป็นชายาของพระวิษณุ (หนึ่งในเทพเจ้าสำคัญของศาสนาฮินดู) โดยนางศรีนั่งถือดอกบัวอยู่ท่ามกลางช้าง 2 เชือกที่กำลังสรงน้ำมงคลให้แก่นาง

เครื่องมงคลที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์รายล้อมนางศรีประกอบด้วยฉัตร สังข์ พัดโบก หม้อปูรณฆฏะ วัชระ และแส้จามรี

ดังนั้น แส้จามรีในนัยยะนี้ ยังหมายถึงหนึ่งในเครื่องสวัสดิมงคลของลัทธิศักติ แห่งไวษณพนิกายอีกด้วย

อนึ่ง รูปคชลักษมีพบอยู่ประปรายในงานศิลปกรรมไทยสมัยทวารวดี มักเป็นแผ่นดินเผาสำหรับบดแป้งเอาไว้เจิมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ (เรียกแผ่นจุณเจิม) เมื่อเทียบกับรูปสตรีถือแส้จามรีที่มีแค่ชิ้นเดียวแล้ว ต้องถือว่าอารยธรรมทวารวดีพบรูปคชลักษมีจำนวนมากกว่า

 

นางยักษิณีถือแส้จามรีพาดบ่า

กรณีที่สอง รูปผู้หญิงยืนเดี่ยวๆ ถือแส้จามรีพาดบนบ่าข้างใดข้างหนึ่ง ถือว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจยิ่ง เพราะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับโจทย์ที่เรากำลังวิเคราะห์กันอยู่มากที่สุด

ประติมากรรมกลุ่มนี้ พบมากในอินเดียยุคโบราณ ดังเช่นภาพประกอบที่นำมาให้ดูในที่นี้ เป็นรูปแกะสลักจากหินขัดมันลอยตัว สูงเท่าบุคคลจริง พบที่ริมแม่น้ำคงคา ตำบล Didarganj ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

ทำให้นักวิชาการเรียกประติมากรรมชิ้นนี้ว่า Didarganj Chauri คำว่า Chauri แปลว่าผู้ถือแส้จามรี

“โมนาลิซ่าแห่งอินเดีย” คือฉายาของรูปปั้นดังกล่าว เนื่องจากเป็นรูปสตรีที่มีใบหน้าอ่อนหวาน ยิ้มสวย ทั้งๆ ที่ช่วงปลายจมูกบิ่นแตกไป อีกทั้งมือข้างซ้ายก็หักหาย สิ่งสำคัญคือมือข้างขวาถือแส้จามรีพาดบนบ่า

รูปร่างของ Didarganj Chauri ถือว่าเป็นทรวดทรงเดียวกันกับสตรีถือแส้จามรีที่พบในลำพูน กล่าวคือ ทรวงอกใหญ่ สะโพกผาย เอวคอด และยืนพักขาแบบตริภังค์แต่พองาม

ความแตกต่างอยู่ที่การสวมเครื่องประดับและภูษาภรณ์ของ Didarganj Chauri ที่มีความวิจิตรอลังการมากกว่า

ระยะเวลาการสร้างของรูป Didarganj Chauri ถูกนักโบราณคดีชาวอินเดียกำหนดอายุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นงานศิลปกรรมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมาริยะระหว่าง พ.ศ.250-300 หรือราว 2,300 ปีมาแล้ว

เป็นงานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา ไม่ใช่ศาสนาฮินดู น่าสนใจว่าประติมากรรมดังกล่าวถูกเรียกว่า “ยักษี” หรือ “ยักษิณี” ซึ่งคำว่า ยักษี/ยักษิณีนี้ ไม่ได้มีความหมายเชิงลบในทำนองยักษ์ดุร้ายกินคน

ยักษิณีในนัยยะนี้ เป็นการรวมเอาความเชื่อของคนพื้นเมืองก่อนจะสมาทานพราหมณ์-พุทธ ที่เคยนับถือวิญญาณของบรรพบุรุษให้ช่วยดูแลปัดเป่าภัย ปกปักรักษาพวกตนมาก่อน

ดังนั้น สถานภาพของคำว่า “ยักษี” ในยุคราชวงศ์เมาริยะจึงมีค่าเท่ากับ ทวารบาลฝ่ายหญิงที่คอย พิทักษ์ศาสนสถาน

กล่าวโดยสรุปว่า รูปปั้นขนาดใหญ่ของ Didarganj Chauri นี้ไม่ใช่รูปเคารพในลักษณะ “เทวี” แบบนางอุมาหรือนางลักษมีของฮินดู อีกทั้งไม่ใช่รูปเหมือนบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ อาทิ ชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช และไม่ใช่เรื่องราวพุทธประวัติที่แสดงถึงพระนางสิริมหามายาทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะอีกด้วย

เป็นแค่ “ยักษิณี” หรือ “นางทวารบาล” ผู้เฝ้าวัดเท่านั้น แต่ช่างกลับประจงสร้างอย่างงามงดจนดูมีเสน่ห์ มีชีวิตจิตใจยิ่งนัก

 

น่าสนใจว่า รูปแบบยักษิณีถือแส้จามรีเช่นนี้ ยังไม่มีรายงานการค้นพบในงานประติมากรรมดินเผาทั้งขนาดจิ๋วและขนาดกลางในวัฒนธรรมทวารวดีที่ภาคกลาง ใต้ หรือแม้แต่ภาคอีสานเลย พบแค่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้นในประเทศไทย คือที่ลำพูน

ในขณะที่มีการพบประติมากรรมสตรีรูปยักษิณีอื่นๆ อย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น เมืองโบราณอู่ทอง จันเสน โคกไม้เดน ละโว้ บึงคอกช้าง ฯลฯ แต่ทั้งหมดแสดงออกด้วยผู้หญิงไม่อ่อนช้อย ทรงผมหยิกหยอย แยกเขี้ยว คล้ายพวกแทตย์ เช่น ผู้หญิงถือนกแก้ว ผู้หญิงอุ้มเด็ก ฯลฯ

ทำให้ต้องมาตั้งคำถามย้อนกลับไปอีกมากมายว่า ไฉนจึงมีการสร้างรูป “ยักษิณีถือแส้จามรี” ในวัฒนธรรมหริภุญไชยตอนต้นที่เมืองลำพูน ซึ่งมีต้นแบบแนวคิดมาจากยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ด้วยเงื่อนเวลาที่ห่างไกลกันมากถึง 1,000 ปี

ถึงบรรทัดนี้ ดิฉันได้คำตอบให้กับคุณกิตติ วัฒนะมหาตม์ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า “สตรีถือแส้จามรี” ผู้นี้คือนางทวารบาล หรือที่ชาวอินเดียเรียกว่า “ยักษี/ยักษิณี” คอยพิทักษ์ศาสนสถานอย่างแน่นอน

แม้กระนั้น ก็ยังมีคำถามที่ไร้คำตอบอีกมากมาย อาทิ ใครเป็นคนนำแนวคิดนี้เข้ามาในดินแดนหริภุญไชย ในเมื่อเราไม่พบตัวอย่างในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง วัฒนธรรมศรีวิชัยภาคใต้ รวมทั้งวัฒนธรรมมอญที่เมืองสะเทิม

นอกจากที่พบในประเทศอินเดียลุ่มน้ำคงคาและกลุ่มเมืองเก่าในแคว้นเบงกอลแล้ว เราพบรูปแบบคล้ายคลึงกันนี้อยู่บ้างในอาณาจักรจามปา ศิลปะยุคดงเดือง

อันเป็นอีกหนึ่งปมปริศนาที่อาจช่วยตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “จามปาปุระ” กับ “พระนางจามเทวี”