On History : แนวคิดเทวราช ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

แนวคิดเทวราช

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

 

ในตำราเล่มคลาสสิคที่ชื่อ The Golden Bough (อาจแปลเป็นไทยอย่างตรงตัวได้ว่า คาคบทองคำ) ของนักมานุษยวิทยาชาวสกอตแลนด์อย่างเซอร์เจมส์ เฟรเซอร์ (Sir James Frazer, พ.ศ.2397-2484) ได้พูดถึงพัฒนาการของมนุษยชาติ 3 ลำดับขั้น

เฟรเซอร์เสนอว่า แรกเริ่มนั้นมนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติด้วยการใช้ความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา, การทำนายทายทัก, การเซ่นสรวงบูชา, เต้นรำขับร้อง รวมไปถึงพิธีกรรม และการบูชายัญต่างๆ เพื่อความอุดมสมบูรณ์

ขั้นตอนต่อมาจึงพัฒนาเป็นศาสนา มีนักบวช และเทพเจ้า ทำให้มีการสวดมนต์อ้อนวอน สร้างพิธีกรรมสารพัดเพื่อให้เทพเจ้าพอใจ

ซึ่งเฟรเซอร์ได้เน้นย้ำว่า ตรงนี้แหละที่ผลักดันให้เกิดความคิดที่ทำให้กษัตริย์มีสถานะเทียบเท่ากับเทพเจ้า และตอกย้ำสถานะความเป็น “เทวราช” ของกษัตริย์จนแน่นหนา

จนมาถึงพัฒนาการขั้นสุดท้าย ที่มนุษย์มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ทำให้สามารถอธิบายอะไรต่อมิอะไรด้วยหลักของเหตุและผลอย่างกว้างขวางในที่สุด

แน่นอนว่าแนวคิดของเฟรเซอร์นั้นย่อมเก่าเอามากๆ (ถ้านับเฉพาะตำราเล่มนี้ ก็ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2433 ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เล่มที่สองต่อขยายจากเล่มแรกในอีกสิบปีต่อมาคือ พ.ศ.2443 ตรงกับแผ่นดินรัชกาลที่ 5 โน่นเลย)

โดยเฉพาะมองย้อนกลับไปจากเรือน พ.ศ.ปัจจุบันนี้ จนทำให้ใครหลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขาไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว เราก็ยังอาจที่จะใช้แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางความเชื่อของเฟรเซอร์ได้อยู่ โดยเฉพาะความเชื่อแบบศาสนาดั้งเดิมคือศาสนาผี มาเป็นศาสนาสากล ที่เฟรเซอร์ได้ค้นคว้า, รวบรวม และเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อต่างๆ รอบโลกเอาไว้ให้เพียบแปล้ ชนิดที่แม้จะเขียนตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่นักวิชาการในปัจจุบันก็ยังต้องไปหาข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ใช้อยู่

และสารพัดตัวอย่างเกี่ยวกับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์รอบโลกนั้น สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เฟรเซอร์ได้พูดถึงการ “บูชายัญ” เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และการเพาะปลูกเอาไว้หลายตอน

แต่โดยสรุปแล้ว ในตัวอย่างทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็มีแนวคิดเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เลือดเนื้อคือชีวิตของมนุษย์นั้น มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เลือดของแม่ให้กำเนิดลูก ดังจะเห็นได้จากการคลอดลูก

จนผลักดันให้ชาวนาดั้งเดิม (ไม่ว่าจะเพาะปลูกอะไรก็แล้วแต่) เชื่อว่าต้นข้าวจะงอกงามสมบูรณ์ได้ก็ด้วยเลือด

จึงผลักดันให้เกิดการบูชายัญด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งก็หมายรวมถึงบูชายัญมนุษย์ด้วย

และเรื่องราวอย่างนี้ก็มีให้เห็นอยู่ให้เพียบในอุษาคเนย์ ซึ่งก็รวมถึงในไทยด้วย ไม่อย่างนั้นผมจะเกริ่นมาเสียยาวทำไมกันล่ะครับ

 

แน่นอนว่า ในทุกวันนี้เราไม่เหลือหลักฐานทางตรงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการบูชายัญในการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมอยู่ไม่น้อย

ปราชญ์อย่างพระยาอนุมานราชธน (ต้องเตือนไว้ด้วยว่า เจ้าคุณอนุมานฯ เองก็อ่านงานคลาสสิคเล่มดังกล่าวของเฟรเซอร์ที่ผมพูดถึงข้างต้น ดังนั้น ท่านเจ้าคุณเองก็ย่อมได้รับอิทธิพลความคิดของเฟรเซอร์ด้วย) เคยเขียนถึงความเชื่อโบราณเกี่ยวกับ “ขวัญ” ของ “ข้าว” ไว้ในบทความเรื่อง “พระแม่โพสพ” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรของกรมศิลปากร ฉบับประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ.2492 ภายใต้นามปากกา เสฐียรโกเศศ เอาไว้ในทำนองที่ว่า

เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวออกจากรวงแรก ตอนนั้น “ขวัญข้าว” จะหนีไปสิงอยู่ในรวงที่สองซึ่งยังไม่ถูกเกี่ยว แต่เมื่อรวงข้าวที่สองถูกเกี่ยวอีก ขวัญข้าวก็จะหนีไปสิงอยู่ในรวงที่สาม เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็หนีไปจนมุมอยู่ในรวงข้าวสุดท้าย

แต่ก็แน่นอนว่าชาวนาย่อมเกี่ยวข้าวไปจนหมดซึ่งก็รวมไปถึงข้าวรวงสุดท้ายด้วย ทำให้ขวัญข้าวหนีไปอยู่กับรวงข้าวตก เลยรอดจากการถูกเกี่ยวขาด

ชาวนาจึงพร้อมใจกันยกย่องรวงข้าวตกเป็น “แม่ข้าว”

 

การเกี่ยวข้าวของชาวนา เท่ากับชาวนาฆ่าแม่ข้าว หรือทำให้แม่ข้าวตาย เพื่อเอาเลือดกับเนื้อแม่ข้าวคลุกเป็นเนื้อดินท้องนา เป็นอาหารต้นข้าว เมื่อเพาะปลูกปีต่อไปต้นข้าวจะได้เจริญงอกงามอย่างอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงเอี้ยงดูจากเลือดและเนื้อของแม่ข้าว ขณะเดียวกันขวัญของแม่ข้าวจะสิงสู่อยู่ในต้นข้าวที่ปลูกใหม่ จนกระทั่งถึงฤดูเก็บเกี่ยว แม่ข้าวก็จะถูกทำให้ตายเหมือนปีก่อนๆ จึงต้องมีพิธีทุกปี

ตรงนี้แหละครับที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราจึงมีพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ “ข้าว” อยู่ให้เต็มไปหมด

แถมในบางพิธียังมีร่องรอยที่ชวนให้นึกไปถึงพิธีบูชายัญมนุษย์ โดยเฉพาะพิธี “เผาข้าว” ของศาสนาผีพื้นเมือง ที่ถูกจับบวชให้เป็นพระราชพิธีธานยเทาะห์ของฝ่ายพราหมณ์ในภายหลัง

พระราชพิธีธานยเทาะห์ที่ว่านี้ เป็นพระราชพิธีประจำเดือน 3 เป็นการเผาข้าว นัยว่าเพื่อส่งแม่ข้าวไปสู่สวรรค์เพื่อรวมเข้ากับพระแม่โพสพ หลักฐานมีอยู่ในทวาทศมาศโคลงดั้น ที่น่าจะแต่งราว พ.ศ.2000 ตรงกับแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ (แต่ในหนังสือโบราณฉบับนี้เรียกพระแม่โพสพว่าพระไพศพ และเป็นเทวดา ไม่ใช่พระแม่)

ใครอยากรู้รายละเอียดก็ลองไปหาอ่านกันดูเอาเอง

 

แต่ก่อนหน้าที่พิธีเผาข้าวจะถูกจับบวชพราหมณ์นั้น ในศาสนาผียังควรที่จะไม่มีการเผา เพราะการเผาศพมนุษย์เป็นอิทธิพลที่ชนชาวอุษาคเนย์รับมาจากอินเดีย ไม่มีในศาสนาผีดั้งเดิม แต่มีการจัดการส่งแม่ข้าวขึ้นไปรวมกับความศักดิ์สิทธิ์เดิมคือแถน ซึ่งก็มีร่องรอยของการบูชายัญ

ดังปรากฏร่องรอยในพงศาวดารละแวกของกัมพูชา

โดยสรุปความได้ว่า ในพระราชพิธีธานยเทาะห์เดือนสาม ให้เจ้าพนักงานเอาข้าวไปกองไว้ในพระราชวัง 5 กอง แล้วเอาฟางข้าวผูกเป็นรูปหุ่น 4 คน ปักไว้กับกองข้าว

จากนั้นในตอนจบของพิธีระบุว่า “เจ้าพนักงานพราหมณ์ปุโรหิตกระทำพลีกรรมบวงสรวงบูชากองข้าว แล้วก็เผาข้าวกองนั้นเสีย”

แน่นอนว่าเมื่อเผากองข้าว ก็ย่อมเผารูปหุ่น 4 คน ซึ่งควรจะเป็นร่องรอยของอะไรบางอย่างที่มีมาตั้งแต่ในศาสนาผีด้วย

 

และถึงแม้ว่าในพิธีที่เกี่ยวข้องกับข้าว ที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีมากกว่าอย่าง “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” นั้น อาจจะไม่มีร่องรอยของการบูชายัญ อย่างที่เห็นพิธีเผาข้าว แต่กลับแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาใหญ่ ที่ส่งเสริมความคิดเรื่องเทวราช แบบที่เฟรเซอร์ว่าเอาไว้

แรกนาขวัญไม่ใช่พิธีพราหมณ์นะครับ เพราะแค่คำว่า “ขวัญ” ก็ไม่มีอยู่ในสารบบความเชื่อของพวกพราหมณ์แล้ว แต่เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงว่านาตาแฮก

คำว่า “แฮก” มีความหมายตรงกับคำว่า “แรก” หมายถึงการไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่บางทีเรียกผีนาหรือพระภูมินา ช่วยดลบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์ เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้

พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิมในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานเป็นภาพเขียนสีบนเพิงผา ที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี และผาหมอนน้อย ติดกันกับผาแต้ม โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นพยาน

 

ส่วนที่เรียกว่า “จรดพระนังคัล” นั้น น่าจะมาจากพิธี “วัปปมงคล” ที่มีผู้แปลคำนี้เป็นไทยแต่ยุคโบราณ แล้วเอาพิธีแรกนาขวัญเข้าไปใช้เทียบเคียง ด้วยอาจเห็นว่าเป็นพิธีการเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูกคล้ายๆ กัน

คำว่า “วัปปะ” เป็นกริยาธาตุ แปลว่า “หว่าน” ตรงกับคำว่า “วาปยะ” ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า “พึงหว่าน (เมล็ดพันธุ์)” หรือ “พึงเพาะปลูก” พิธีวัปปมงคลที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบขึ้นนั้นจึงเป็นพิธีที่คล้ายๆ กับแรกนาขวัญ เพราะเป็นพิธีที่เชื่อว่าจะให้การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ใช่แรกนาขวัญ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องขวัญ แถมวิธีการประกอบพิธีที่ว่าในอินเดีย ยังแตกต่างออกไปจากพิธีแรกนาขวัญอีกด้วย

พิธีวัปปมงคล เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคพระเวท (คือช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับพุทธกาล หรือเก่าแก่กว่าเล็กน้อย) ที่กษัตริย์จะทรงเป็นผู้ไถนาบนผืนนาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธี โดยจะใช้ผาลไถนา (คือพระนังคัล) ที่ทำขึ้นมาจากทอง หรือเงิน จรดลงไปที่ผืนนาด้วยตนเอง ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ในสมัยหลังจะใช้คำว่า “จรดพระนังคัล” คู่กับคำว่า “แรกนาขวัญ” เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างพิธีกรรมจากอินเดียเข้ากับพิธีพื้นเมืองในศาสนาผี

และแม้ว่าสมัยหลัง (ซึ่งก็รวมมาถึงปัจจุบันนี้) ผู้ทำการจรดพระนังคัล จะเป็นผู้แทนพระองค์ ไม่ใช่ตัวกษัตริย์เอง แต่ก็เป็นพิธีที่สัมพันธ์กับความเป็นเทวราช ผู้กำหนดและแจกโปรยความอุดมสมบูรณ์ให้กับประชาชนผ่านเมล็ดข้าวพระราชทาน

ดังนั้น ถ้าจะว่าคิดตามโมเดลของเฟรเซอร์แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเลย ที่พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว ที่ถูกโฆษณาโดยรัฐมากที่สุด