ปริศนาโบราณคดี : ความตายที่เลือกเองผลพวงจาก ‘คัมภีร์อนาคตวงศ์’ ปฏิสัมพันธ์อันย้อนแย้งระหว่างความรุนแรงและความศักดิ์สิทธิ์ เผาตัว ตัดคอ ขอปณิธาน!

 

ความตายที่เลือกเอง

ผลพวงจาก ‘คัมภีร์อนาคตวงศ์’

ปฏิสัมพันธ์อันย้อนแย้ง

ระหว่างความรุนแรงและความศักดิ์สิทธิ์

เผาตัว ตัดคอ ขอปณิธาน!

 

ปรากฏการณ์แห่งความเชื่อเรื่อง “ศิระสังเวย” ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ณ วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู โดยอดีตภิกษุ “พระธรรมกร” ได้สร้างกิโยตินบั่นคอตัวเองถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยความปรารถนาที่จะได้บังเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น

ได้สร้างความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ไม่เพียงเฉพาะบุคลากรในวงการสงฆ์ นักการศาสนา นักปรัชญาเท่านั้น

ทว่ายังได้ส่งแรงกระเพื่อมมาถึงแวดวงวิชาการ นักภาษาจารึก และนักโบราณคดีอีกด้วย

เห็นได้จากในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ได้มีการเปิดประเด็นเสวนาวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องที่เกิดขึ้นกันอย่างกว้างขวาง

มีทั้งฝ่ายที่พยายามจะเข้าใจใน “มหาศรัทธาอันเอกอุ” ของผู้ตาย

และมีทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ “ความตายที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ” มองว่าการกระทำแบบสุดโต่งเช่นนี้เป็นอวิชชา บ้างว่าถึงขั้นเดียรัจฉานวิชา

จากนั้นโลกออนไลน์ก็เข้าสู่กระบวนการเปิดปูม ขุดค้นเสาะหาบทความเก่าๆ ที่มีการเขียนถึงเหตุการณ์ “ฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชา” ทั่วทุกซอกหลืบบนแผ่นดินสยาม ว่าเคยมีกรณีศึกษาอะไรในทำนองนี้มาแล้วบ้างไหม เพื่อนำมาศึกษาทบทวนซ้ำ

พบว่ากรณีสะเทือนขวัญชาวสยามที่สุด เห็นจะไม่มีอะไรเกินเหตุการณ์ของ “นายเรือง-นายนก” ที่ฆ่าตัวตายถวายชีวาตม์ “ด้วยเลือดด้วยเนื้อ” ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2

เริ่มจากปี 2333 “นายเรือง” ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา ได้เอาผ้าและสำลีชุบน้ำมันพันแขนตัวเองให้เป็นเชื้อเพลิง จุดไฟเผาเรือนกายต่างเทียนประทีป หลังจากอธิษฐานจิตเสี่ยงทายดอกบัวให้ชาติหน้าได้เกิดเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าสำเร็จลง

หลังจากนั้นอีก 27 ปี “นายนก” อีกหนึ่งอุบาสกผู้ปรารถนาพุทธภูมิอย่างมุ่งมั่นก็กระทำอัตวินิบาตกรรมในทำนองเดียวกัน ณ สถานที่วัดแจ้งแห่งเดิม

ปัจจุบันมีอนุสรณ์รูปปั้นของเขาทั้งสองตั้งอยู่ที่ศาลาวัดอรุณราชวราราม

รายละเอียดทั้งหมดนี้สามารถหาอ่านรายละเอียดได้ในบทความของ “ศรัณย์ ทองปาน” ชื่อ “ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์” ในวารสาร “ดำรงวิชาการ” หรือติดตามบทความชิ้นอื่นๆ ของเขาที่วิเคราะห์เรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้ได้ในเฟซบุ๊กชื่อ “Nuinui Sran”

นอกจากนี้แล้ว ปัญญาชนโซเชียลยังได้สืบค้นงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ “สุพิชฌาย์ แสงสุขเอี่ยม” นำเสนอต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ 16 ปีก่อน

ซึ่งต่อมาเธอได้นำเฉพาะประเด็น “ศิระสังเวย” มาย่อยเขียนเป็นบทความเรื่อง “จิตรกรรมภาพพระโพธิสัตว์ในสมัยพระอนาคตพุทธเจ้า 10 พระองค์ บนแผงไม้คอสอง ศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี”

บทความดังกล่าว นำเสนอภาพบุคคลคือ “พระเจ้าสังขจักร” ตัดศีรษะตัวเองใส่พานถวายพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ด้วยความเชื่อว่าอานิสงส์นี้จักส่งผลให้ตนได้เกิดมาเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคต ถือเป็นภาพจิตรกรรมเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย (เฉพาะวัดนี้มีฉากทำนองเดียวกันสองภาพ) ที่สืบค้นพบในขณะนี้ ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความเชื่อของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งต่อคัมภีร์อนาคตวงศ์

มาถึงบรรทัดนี้ ได้มีการตั้งคำถามกันมากว่า “คัมภีร์อนาคตวงศ์” มีความเป็นมาอย่างไร ใครแต่ง ทำไมจึงมีเรื่องราวสุดโต่ง คล้าย “ลัทธิภักติ” ของศาสนาฮินดูและพุทธตันตระยาน คัมภีร์อนาคตวงศ์เข้ามาสู่สยามเมื่อไหร่

และการตัดคอตัวเองด้วยกิโยตินของอดีตพระธรรมกรนั้นได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์อนาคตวงศ์ด้วยหรือไม่?

 

ภิกษุอินเดียใต้แต่งอนาคตวงศ์

อิทธิพลจากลัทธิภักติ

ข้อมูลในเฟซบุ๊กของศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวไว้ว่า

“คัมภีร์อนาคตวงศ์ไม่ใช่สิ่งที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกดั้งเดิม แต่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลัง ผู้รจนาชื่อ “พระกัสสปะ” มีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ.1703-1773 เป็นภิกษุชาวอินเดียใต้สมัยราชวงศ์โจฬะเรืองอำนาจ”

เนื้อหาในคัมภีร์อนาคตวงศ์ มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยนายประภาส สุระเสน หากใครได้เปิดอ่านจะพบว่าค่อนข้างพิสดาร เนื่องจากกล่าวว่า จะมีการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าในอนาคตอีก 10 พระองค์

ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกตอน “พุทธวังสะ” (คัมภีร์พุทธวงศ์) ได้มีบันทึกเกี่ยวกับอนาคตพระพุทธเจ้าในภัทรกัปไว้อีกเพียงพระองค์เดียว คือพระศรีอาริยเมตไตรยเท่านั้น

ประเด็นสำคัญของการศึกษาคัมภีร์อนาคตวงศ์ไม่ได้อยู่ที่ “จำนวน” ของอนาคตพุทธเจ้า ว่าตกลงมีกี่พระองค์กันแน่ เพราะนั่นอาจเป็นแค่กุศโลบายแห่งความหวังของชาวพุทธที่ต้องการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว

ความแปร่งของอนาคตวงศ์กลับอยู่ที่ความพิสดารพันลึกของเนื้อหาที่พระกัสสปะผูกไว้นั้นต่างหาก

โดยพบว่าเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ 4 ใน 10 องค์ที่ต้องทนถากถางหนทางสร้างบารมีกว่าจะได้บรรลุเป็นอนาคตพุทธเจ้านั้น ต้อง “แลกด้วยเลือดด้วยเนื้อ” อย่างอุกฤษฏ์

สองเรื่องเป็น “ศิระสังเวย” หรือการตัดหัวตัวเองเป็นพุทธบูชา

และอีกสองเรื่องเป็น “จุดเกศาต่างประทีป” คือการอุทิศเส้นผมจุดไฟเผาจนตัวตาย

คำถามมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับบรรยากาศการนับถือพระพุทธศาสนาในอินเดียใต้ ช่วงยุคที่พระกัสสปะกำลังรจนาคัมภีร์อนาคตวงศ์นั้นเล่า?

พบว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในแถบอินเดียใต้ หาได้มีความราบรื่นสะดวกดายต่อการหยัดท้าคลื่นลมเท่าใดนัก ต้องต่อสู้ช่วงชิงศรัทธามหาชนกันอย่างหนักหน่วง ทั้งจากกลุ่มอำนาจเก่าและอำนาจใหม่

กลุ่มอำนาจเก่าที่เติบโตมาพร้อมๆ กับศาสนาพุทธคือศาสนาฮินดูกับศาสนาเชน ส่วนกลุ่มอำนาจใหม่ที่กำลังมาแรงมากคือศาสนาอิสลาม ทั้งสามศาสนานี้คือ ฮินดู เชน และอิสลาม ต่างก็มีลัทธิย่อยของนิกายต่างๆ ที่เน้นการแสดงออกในด้านการบูชาพระเป็นเจ้าอย่างสูงสุดเหมือนๆ กันหมด

“ความภักดี ความศรัทธาแบบไร้เงื่อนไข การเสียสละอวัยวะ การอุทิศชีวิตเพื่อถวายแด่พระศาสดา” ในนามของ “ลัทธิภักติ” กำลังยึดครองพื้นที่ตอนล่างคาบสมุทรเดคข่าน

เรื่องราวของเทพ “ตรีมูรติ” เราก็เห็นแล้วว่าจุดเริ่มต้นของศาสนาฮินดู มีฉากที่พระศิวะตัดเศียรที่ห้าของพระพรหม (ทำให้พระพรหมเหลือสี่หน้า) มาแล้ว หรือฉากการบูชายัญควายต่อพระนางทุรคา (พระแม่กาลี)

ทำให้เชื่อได้ว่า การรจนาคัมภีร์อนาคตวงศ์ของพระกัสสปะด้วยเนื้อหาแบบถวายชีวาตม์เป็นพุทธพลีในลักษณะ “สุดโต่ง” เช่นนี้ น่าจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานการแข่งขัน ต่อสู้ช่วงชิงมวลชนในสถานการณ์ที่พระพุทธศาสนากำลังถูกแย่งประชากรให้กลายเป็น “ผู้ภักดี” ไปนั่นเอง

ศาสนาพุทธจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง ด้วยการสร้างรูปแบบอุดมคติใหม่ เน้นพระโพธิสัตว์ที่เสียสละตนเองและเข้มงวดกับการทำร้ายตัวเองแบบเสียเลือดเสียเนื้ออย่างไร้ข้อแม้ ในระนาบที่ใกล้เคียงกับลัทธิภักติของศาสนาอื่นๆ

ต่อมาพระกัสสปะได้รับอาราธนาจากพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชที่ 1 แห่งลังกา ให้ไปเผยแผ่พระศาสนาที่นั่น ด้วยเหตุนี้คัมภีร์อนาคตวงศ์จึงเคลื่อนตัวจากอินเดียใต้ไปยังลังกาทวีป

บรรยากาศลังกาและอินเดียใต้สมัยนั้นเป็นช่วงที่ศาสนาพุทธและเชนถูกฮินดูและอิสลามคุกคามอย่างหนักหน่วง ทำให้เกิดการย้ายเมืองหลวงของลังกาจากอนุราธปุระทางตอนเหนือ เคลื่อนย้ายลงไปอยู่เมืองโปลนนารุวะบริเวณตอนกลางของเกาะลังกา

 

คัมภีร์อนาคตวงศ์จากสยามสู่ล้านนา

บนพื้นฐาน “ปัญญาสชาดก”

การรับอิทธิพลของคัมภีร์อนาคตวงศ์ในรัฐโบราณบนแผ่นดินสยาม ไม่มีใครทราบว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ หลักฐานเก่าสุดที่กล่าวถึงคัมภีร์อนาคตวงศ์ในประเทศไทย (ที่ค้นพบ ณ ตอนนี้) รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง (แม่ชีวิมุตติยา) กล่าวว่า

“ในบานแผนกของหนังสือเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ได้มีการอ้างถึงคัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่ม รวมถึงคัมภีร์อนาคตวงศ์ด้วย”

สิ่งที่น่าสนใจคือมีคัมภีร์อนาคตวงศ์สำนวนล้านนาด้วยเช่นกัน คุณชัยวุฒิ ไชยชนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระล้านนาให้ข้อมูลว่า คัมภีร์อนาคตวงศ์สำนวนล้านนานี้ฉบับเก่าสุดจารเมื่อ จ.ศ.1059 (พ.ศ.2240) ตรงกับสมัยพระเพทราชา โดยราว 30 ปีที่แล้ว ดร.บำเพ็ญ ระวิน ได้ปริวรรตจากใบลานที่เขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา แต่น่าแปลกทีเดียวที่เนื้อหาใช้คำศัพท์หลายคำเป็นภาษาแบบไทยภาคกลาง เช่น ใช้คำว่า “ป่าช้า” (แทนที่จะใช้ “ป่าเห็ว” แบบภาคเหนือ)

สะท้อนว่าต้นกำเนิดคัมภีร์อนาคตวงศ์สำนวนล้านนานั้น เป็นการรับขึ้นมาจากสยาม (คือล้านนาไม่ได้รับผ่านเมืองมอญ พม่า หรือจากลังกาโดยตรง) ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ตรงกับช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลพม่าสลับกับมีอำนาจของทางสยามมาผลัดเปลี่ยนมือในบางครั้ง โดยที่เราไม่เคยพบหลักฐานเรื่องอนาคตวงศ์ในล้านนายุคก่อนหน้านั้น

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ปราชญ์ล้านนาอธิบายถึงงานศิลปกรรมล้านนาที่แสดงภาพ “การตัดหัวบุคคลเป็นพลี” ที่ปรากฏอยู่บนหีบธรรมวัดบุญยืน เมืองน่าน ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน นั้นว่า

“ในล้านนามีนิทานชาดกนอกนิบาตชิ้นสำคัญคือ ‘เชียงใหม่ปัณณาสชาดก’ (คนทั่วไปเรียก ‘ปัญญาสชาดก’) แต่งสมัยพระเจ้าติโลกราชราว พ.ศ.2000 มีตอนหนึ่งคือ ‘สิริจุฑามณีราชชาดก’ กล่าวถึงการอุทิศร่างกายของพระโพธิสัตว์ถวายเป็นทานให้ยักษ์กิน ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของภาพจำหลักไม้บนหีบธรรมอันโด่งดัง และหนึ่งเดียวของล้านนาที่แสดงออกในลักษณะค่อนข้างหวาดเสียว

โดยเรื่องราวทำนองนี้ มักเน้น ‘ทานปรมัตถบารมี’ คือการให้ทานระดับสูงสุด แม้ต้องแลกด้วยชีวิต เพื่อการสั่งสมบุญบารมีไว้จนกว่าจะถึงภพชาติที่ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในที่นี้ หมายถึงพระสมณโคดมองค์ปัจจุบัน นิทานชาดกเป็นเรื่องเล่าย้อนอดีตว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญทศบารมีอย่างอุกฤษฏ์มาอย่างไรบ้าง โดยปัญญาสชาดกไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคัมภีร์อนาคตวงศ์ และยังไม่เคยเห็นอิทธิพลของเนื้อหาพระอนาคตพุทธเจ้า 10 พระองค์ถูกนำมาสร้างเป็นงานศิลปกรรมในล้านนาแต่อย่างใดเลย” อาจารย์เกริกกล่าว

สิ่งที่ดิฉันรู้สึกสะดุดใจมากเป็นพิเศษและยังไม่เคยได้ยินท่านใดวิเคราะห์มาก่อนคือความเห็นของคุณชัยวุฒิ ไชยชนะ ที่กล่าวว่า

“ความจริงแล้ว ผมเห็นว่าพระกัสสปะได้ซ่อนสัญลักษณ์อะไรไว้เบื้องหลังการพรรณนาเรื่องการตัดหัว ตัดคอ เผาเส้นผมถวายเป็นพุทธบูชา มากกว่าจะให้เรารับสารแบบทื่อๆ ตรงไปตรงมา แล้วต้องไปกระทำการเลียนแบบ

ในอนาคตวงศ์สองตอนที่มีฉากตัดหัว ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตัดหัวตัวเองนั้น ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาตัดแบบโชว์ความเป็นฮีโร่ แต่มีบทสนทนาเรื่องพระโพธิสัตว์ถามสามเณรว่าพระพุทธเจ้าอยู่ไหน เมื่อสามเณรตอบพระโพธิสัตว์ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ไกลแสนโยชน์ ไม่อาจมีใครไปถึง ไม่อาจย่ำไปด้วยตีน หรือคลานเข่า จุดนี้เอง ตอนผมอ่าน ผมเชื่อว่าพระโพธิสัตว์น่าจะรำพึงรำพันว่า ตีนก็ไม่ใช่ของเรา เข่าก็ไม่ใช่ของเรา อวัยวะใดๆ ก็ไม่ใช่ของเราแม้แต่ศีรษะ ดังนั้น จึงตัดหัวตัวเอง ให้ลอยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเลยหรือเปล่า เพราะไม่สามารถมีช่องทางอื่นให้เข้าถึง อันนี้เป็นการตีความของผมนะ”

นั่นคือมุมมองหนึ่งของนักอ่านคัมภีร์ล้านนา ดิฉันคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วนะคะ ที่ควรมีการทบทวนเรื่องคัมภีร์อนาคตวงศ์กันใหม่อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ว่าเราจะอ่านเรื่องนี้ให้เป็นธรรมาธิษฐาน หรือเป็นบุคลาธิษฐาน?