ปริศนาโบราณคดี l ‘คชาสนะ’ พระพุทธรูปบน ‘ช้างสามเศียร’: เทศนาโปรดพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์ หรือเพื่อปราบมาร?

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย) พระพุทธรูปปางสมาธิของสยาม (กลาง)ภาพพญามารพยายามทุกวิถีทางแต่ก็ไม่อาจทำอันตรายพระโพธิสัตว์ได้ จาก https://dhammaweekly.wordpress.com (ขวา) พระพุทธรูปปางมารวิชัยของพม่า

 

‘คชาสนะ’ พระพุทธรูปบน ‘ช้างสามเศียร’

: เทศนาโปรดพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์

หรือเพื่อปราบมาร?

 

คําว่า “คชาสนะ” มาจาก “คช + อาสนะ” คช-ช้าง, อาสนะ-ที่นั่ง “คชาสนะ” จึงหมายถึงที่นั่งบนหลังช้าง

การทำพระพุทธรูปประทับนั่งบนช้างสามเศียรพบไม่มากนักในแผ่นดินสยาม ข้อสำคัญไม่พบในศิลปะรุ่นเก่าอย่างยุคทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง สุโขทัยเลย พบแค่สมัยอยุธยาตอนปลายมาแล้วถึงต้นรัตนโกสินทร์เท่านั้น

ในขณะที่ฐานรูปช้างสามเศียร/ช้างสามเชือก/หรือเกินกว่าสามตัว พบค่อนข้างมากในศิลปกรรมพม่า นับแต่สมัยพุกามราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมา โดยเฉพาะในช่วงที่ศิลปะอังวะ มัณฑะเลย์ เรืองอำนาจราว 400-500 ปีที่แล้ว

ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ในงานศิลปกรรมของชาวไทใหญ่ ไทขึนในรัฐฉาน โดยมากเป็นพระไม้ลงรักปิดทอง

ข้อแตกต่างระหว่าง “คชาสนะ” ในพม่ากับไทยก็คือ ในพม่าพระพุทธรูปแสดงออกด้วยปางมารวิชัยทั้งหมด ส่วนของไทยซึ่งพบไม่มากนัก ล้วนแล้วแต่ทำเป็นปางสมาธิ

โดยปกติทั้งปางสมาธิและปางมารวิชัยที่ทำสืบต่อกันมานานเนิ่นในงานพุทธศิลป์อินเดียนั้นก็ล้วนแล้วแต่กำหนดให้สร้างบนฐานดอกบัวที่เรียกว่า “ปัทมาสนะ” (ปัทมะ + อาสนะ) ทั้งสิ้น

ดังนั้น การสร้างพระพุทธรูปประทับนั่งบนช้างสามเศียรหรือช้างสามเชือกเช่นนี้ มีแนวคิดที่ผู้สร้างตั้งใจจะตอกย้ำถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะพิเศษด้วยหรือไม่

 

เทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

คุณเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตีความพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนช้างสามเศียรสององค์

องค์หนึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา และอีกองค์อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ โดยเขียนเป็นบทความในจุลสาร “พิพิธภัณฑ์สาร” ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2550) ว่าช่างต้องการแสดงถึงเหตุการณ์ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดา ด้วยการแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์แทนคุณมารดา

การนำรูปช้างสามเศียร ซึ่งในทางประติมานวิทยารับรู้กันว่าหมายถึงช้างเอราวัณนั้น (ปกติแล้วช้างเอราวัณมี 33 เศียร แต่พอนำมาสร้างเป็นประติมากรรม ลดทอนลงใช้แค่ 3 เศียรพอ) เป็นพาหนะของ “พระอินทร์” หรือ “ท้าวสักกะ” เจ้าผู้ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การกำหนดให้พระพุทธองค์ประทับบนช้างเอราวัณ เป็นการสื่อความหมายว่า ขณะนี้พระพุทธเจ้ากำลังอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ช้างเอราวัณนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของพระอินทร์แล้ว อีกนัยหนึ่งยังทำหน้าที่ช่วยหนุนยอดเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย

การตีความดังกล่าวนี้ก็มีน้ำหนักน่ารับฟัง เหตุที่พระพุทธรูปสมัยอยุธยาทั้งสององค์นี้กระทำปางสมาธิ สามารถสื่อถึงการแสดงธรรมหรือการปฏิบัติธรรมได้ แม้มิได้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นจีบนิ้วเป็นวงแบบปางแสดงธรรมโดยตรงก็ตาม (อนึ่ง ไม่พบความนิยมการสร้างพระพุทธรูปปางแสดงธรรมในสมัยอยุธยา ผิดกับสมัยทวารวดี)

ส่วนกรณีของพระพุทธรูปในพม่าหลายร้อยหลายพันองค์ที่สร้างด้วยปางมารวิชัย ประทับนั่งบนช้างสามเศียรนั้น จะหมายถึงพระพุทธเจ้าโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ด้วยหรือไม่

 

ฤๅจะเป็นเหตุการณ์มารผจญ

ช้างคีรีเมขล์ก็มีสามเศียร?

ครั้นเมื่ออ่านบทความเกี่ยวกับพุทธศิลป์พม่าปาง “คชาสนะ” (Gajasana) จากเอกสารภาษาอังกฤษหลายชิ้น กลับไม่พบว่ามีการตีความให้ช้างสามเศียรเชื่อมโยงไปถึงช้างเอราวัณของท้าวสักกะ ในลักษณะว่าปางดังกล่าวควรเป็นสัญลักษณ์ของการโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แต่อย่างใด

พบแต่การเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ต้องผจญกับมารช่วงใกล้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาโพธิญาณ โดยมีช้างดุดันเชือกหนึ่งชื่อ “คีรีเมขล์” ซึ่งมีสามเศียร เป็นพาหนะของพญาวัสวดีมาร ส่งมารังควานขัดขวางการตรัสรู้ธรรมของพระสิทธัตถะ

อนึ่งชื่อช้าง “คีรีเมขล์” นี้มีสองเวอร์ชั่น คือฮินดูกับพุทธ

ของฮินดูนั้นเขียนขึ้นก่อน อธิบายว่ากลุ่มเทพสูงสุดในบรรดา “ตรีมูรติ” กอปรด้วยพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ได้ประทานช้างเอราวัณ (ไอยราวัต) มี 33 เศียรให้แก่ท้าวสักกะ พร้อมกับประทานช้างคีรีเมขล์มี 3 เศียรให้กับท้าวสักกะด้วยเช่นกัน

ต่อมาชื่อของช้างคีรีเมขล์ได้มาปรากฏใน “ปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รจนาเรื่องนี้ระหว่าง พ.ศ.2387-2388 ในตอนที่ชื่อว่า “มารวิชัยปริวรรต ปริเฉทที่ 9” โดยเรียกช้างฝ่ายมารว่า “เทพยหัตถี คิริเมขลมหาคชสาร” หรือ “คิรีเมขลคชินทร” ช้างนี้มีงางามดุจ “งวงไอยรา”

ซึ่งก่อนหน้านั้น คัมภีร์พระไตรปิฎกเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์มารผจญ จะระบุแค่ว่า “ช้าง” ที่มารบกวนพระสิทธัตถะขณะบำเพ็ญบารมี เป็นการแปลงกายมาจาก “เสนามาร” หาใช่ช้างจริงๆ ไม่ และยังไม่ระบุชื่อเฉพาะของช้าง “คีรีเมขล์” มาก่อน ดังปรากฏในเอกสารหลายเล่ม ได้แก่

1. ปธานสูตร พระบาลีสุตตันตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิบาต มหาวรรค เล่มนี้เรียกชื่อเสนามารที่แปลงมาเป็นช้างว่า “นาฬาคิรี” ไม่ใช่ “คีรีเมขล์” (ซึ่งปกติแล้ว ช้างนาฬาคิรีอยู่ในพุทธประวัติอีกตอน เป็นช้างที่เทวทัตส่งมาไล่แทงพระพุทธเจ้า)

2. คัมภีร์ลลิตวิสตระ พุทธวรรณกรรมภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 5-6 อัธยายที่ 21 ชื่อมารธรรษณปริวรรต (แปลโดยศาสตราจารย์แสง มนวิทูร กรมศิลปากรจัดพิมพ์ปี 2518) เล่มนี้พรรณนาว่า เสนามารมีสี่เหล่าล้วนดูดุร้าย บ้างมีลิ้นยาวเหมือนงวงช้าง

3. คัมภีร์มหากาพย์พุทธจริตของอัศวโฆษ แต่งเป็นภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 7 กล่าวไว้ในตอน “มารวิชย” วรรคที่ 13 (ดร.สำเนียง เลื่อมใส คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แปลปี 2547) ในนี้ไม่ได้ระบุถึงชื่อเฉพาะของช้างเช่นกัน กล่าวแค่ว่าเสนามารที่จำแลงมานั้นมีใบหน้าและใบหูเหมือนช้าง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า การรับรู้ของชาวสยามเกี่ยวกับพญาช้างหัวหน้ากองทัพมารที่ชื่อว่า “ช้างคีรีเมขล์” นั้น เพิ่งมีขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลายเชื่อมต่อมายังสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง ด้วยเหตุนี้กระมัง งานพุทธศิลป์สยามยุคก่อนอยุธยาจึงไม่พบการทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานช้างสามเศียร

สิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อเนื่องมีอีก 2 ข้อ

ข้อแรก ปฐมสมโพธิกถา รับอิทธิพลแนวคิดเรื่อง “ช้างคีรีเมขล์” มาจากวัฒนธรรมมอญ-พม่า ใช่หรือไม่

เนื่องจากงานพุทธศิลป์ของพม่ามีการทำรูป “คชาสนะ” รุ่นเก่าสุดมาแล้วตั้งแต่สมัยพุกาม ส่งต่อมายังกรุงอังวะ มัณฑะเลย์ และรัฐฉาน (แต่น่าแปลกที่รูปแบบคชาสนะกลับไม่ส่งอิทธิพลให้กับวัฒนธรรมล้านนาเลย ทั้งที่ใกล้ชิดกันมากกว่าอยุธยา)

ข้อที่สอง สรุปแล้วการยอมรับว่าช้างคีรีเมขล์มีสามเศียรของฝ่ายพุทธ (ในพม่า) นั้น เป็นการรับคติ “ช้างคีรีเมขล์” สามเศียรตามคัมภีร์ฮินดูที่กล่าวมาก่อนแล้วใช่หรือไม่ เพียงแต่ของฮินดูกำหนดให้ช้างคีรีเมขล์ทำหน้าที่เป็นพาหนะอีกตัวให้แก่ท้าวสักกะ (นอกเหนือไปจากพาหนะหลักคือช้างเอราวัณ)

แต่ในฉากพุทธประวัติตอนมารผจญ ชาวพม่านำเอา “คีรีเมขล์” มาร่วมเหตุการณ์ด้วย แถมเป็นตัวหลัก และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงชนะมารอย่างราบคาบ มีฉากตอนท้าวสักกะยืนร่วมสักการะแซ่ซ้องสรรเสริญด้วย

กล่าวโดยสรุป นักประวัติศาสตร์ศิลป์พม่ากระแสหลัก เชื่อว่าการทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับบน “คชาสนะ” สามเศียรเช่นนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการชนะมารผจญ การปราบช้างคีรีเมขล์สามเศียรผู้โหดร้ายให้เชื่อง แล้วนำช้างนั้นมาร่วมค้ำยันบัลลังก์ให้แก่พระพุทธศาสนา

แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวพม่ากระแสรองมองว่า ประติมานวิทยาดังกล่าวควรได้รับคำอธิบายอย่างละเอียดมากกว่านี้ เพราะปกติลำพังแค่การทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานปัทมาสนะ (ดอกบัว) ก็สะท้อนถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่และหมดจดของพระพุทธองค์อยู่แล้ว

ดังนั้น จึงน่าจะมีวาระซ่อนเร้นบางอย่างอยู่เบื้องหลังการนำช้างสามเศียรมารองรับฐานนั่นอีกเป็นแน่แท้

 

ช้าง พิชิตชัยชนะแห่งจักรพรรดิราช

นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลป์พม่ายุคหลังๆ เริ่มเห็นพ้องตรงกันว่า ความจงใจนำช้างสามเศียรที่เป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของช้างคีรีเมขล์ที่ยอมสยบต่อพระพุทธองค์มารองรับพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั้น

แท้จริงแล้ว มีการแฝงนัยยะแห่ง “ชัยชนะของความเป็นจักรพรรดิราช” ซ่อนอยู่ในงานพุทธศิลป์นั้นอย่างแยบยล

โดย “ช้าง” หรืออาจเน้นว่าเป็น “ช้างเผือก” นี้ เป็นสัญลักษณ์แห่ง “ชัยชนะ” ทั้งทางโลกและทางธรรมของจักรพรรดิอย่างแท้จริง

นับแต่ตอนกำเนิดพระสิทธัตถะ พระพุทธมารดา พระนางสิริมหามายาก็ทรงสุบินนิมิตเห็นช้างเผือกเข้ามายังครรโภทรของพระนาง โหราจารย์ถอดรหัสฝันนั้นว่า จะได้พระโอรสผู้เป็นจักรพรรดิทั้งทางโลกและทางธรรม

สมัยพุกาม มหาราชผู้เป็นปฐมกษัตริย์นาม “พระเจ้าอนิรุทธ” (อโนรธา) ได้ยกกองทัพช้างเผือก 3 เชือกไปขอพระไตรปิฎกจากพระเจ้ากรุงสะเทิม (สุธัมมวดี) รัฐมอญอันยิ่งใหญ่ เหตุการณ์นี้ประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ว่า ส่งผลให้พระเจ้าอนิรุทธมหาราชฮึกเหิมถึงขั้นสถาปนาตนขึ้นประดุจพระจักรพรรดิราช

และพบว่าคตินิยมการทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานคชาสนะได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในอาณาจักรพุกามสมัยพระเจ้าอนิรุทธมหาราชนี่เอง (เนื่องจากไม่พบในอินเดีย ลังกา ขอม จามปา) จากนั้นจึงได้กลายเป็นธรรมเนียมว่า หากพระมหากษัตริย์ของพม่าส่งกองทัพเดินทางไปขอ “ช้างเผือก” จากรัฐใดก็ตามในดินแดนอุษาคเนย์ที่กำลังเรืองอำนาจ เช่น กรุงศรีอยุธยา (เพราะช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของการพิชิต)

ก็ย่อมมีการสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนช้างสามเศียร ในลักษณะ “ชิมลาง” หรือ “ตัดไม้ข่มนาม” เอาฤกษ์เอาชัย เพื่อหวังผลให้ได้รับชัยชนะกลับมาด้วย ใช่หรือไม่?

ฝ่ายสยามเราอาจรู้ทัน จึงทำคชาสนะบนช้างสามเศียรเช่นกัน แต่เลี่ยงไปทำปางสมาธิแทน ประหนึ่งว่าไม่สนเรื่องถูกมองว่าเป็นกองทัพมารที่ต้องมาพิชิต แต่ขณะนี้กำลังบำเพ็ญธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่