‘ประตูผี’ ปกป้องด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ‘ประตูเมือง’ ปกปักด้วยผีที่เฮี้ยน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ประตูผี” ในความหมายอย่างที่เรา โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้ยินกันจนคุ้นหู หมายถึงประตูที่ใช้สำหรับนำเอาศพคนตายที่ตายในเมือง ออกไปประกอบพิธีที่นอกเมือง

เพราะตามธรรมเนียมความเชื่อโบราณนั้น จะไม่มีการเคลื่อนย้ายศพผ่านประตูเมืองอื่นใด ที่ไม่ใช่ประตูผี

และความเชื่ออย่างนี้ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้นนะครับ เพราะยังมีหลักฐานอยู่เป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่าชาวล้านนาก็มีความเชื่อทำนองนี้ด้วย

ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ เล่าเอาไว้ตรงกันว่า กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อระหว่าง พ.ศ.1898-1928 คือ พญากือนา ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักทางด้านทิศเหนือ นอกเมืองเชียงใหม่ ในช่วงปลายรัชกาล จวบจนสิ้นพระชนม์ลงที่นั่น ขุนนางในราชสำนักจึงร่วมกันยกเจ้าแสนเมืองมา ผู้เป็นโอรส ให้ครองราชสมบัติแทน

แต่ในระหว่างนั้นเอง เจ้ามหาพรหมแห่งเมืองเชียงราย ผู้เป็นน้องชายของพญากือนา ได้ยกทัพมาหวังจะชิงเมืองเชียงใหม่ โดยทำทีว่ามาขอคารวะศพพี่ชาย

แต่เหล่าขุนนางรู้ทัน จึงช่วยกันป้องกันไม่ให้เจ้ามหาพรหมยกพลเข้าเมืองเชียงใหม่ได้

เจ้ามหาพรหมจึงลงไปขอให้พระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่วแห่งกรุงศรีอยุธยาแต่งทัพขึ้นมาช่วย

ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ยังไม่ทันได้ฌาปนกิจพญากือนา ก็จะมีการศึกใหญ่มาพัวพัน จึงตกลงกันว่าจะนำศพพญากือนาเข้ามารักษาเอาไว้ในเมืองก่อน เมื่อเสร็จศึกแล้วค่อยประกอบพิธีในภายหลัง

แต่ก็มีปัญหาว่า พวกขุนนางเห็นว่าไม่ควรเอาศพเข้าทางประตูเมือง ด้วยเห็นว่าเป็นการผิดจารีต จึงได้ดำเนินการเจาะกำแพงด้านทิศเหนือ ตรงกันกับตำหนักที่พญากือนาสิ้นพระชนม์ แล้วทำสะพานข้ามคูเมือง จากนั้นจึงนำศพพญากือนาเข้าทางช่องที่เจาะผนังกำแพงเมืองนั้น

ถ้าเหตุการณ์เป็นจริงตามที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่าไว้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าธรรมเนียมการไม่นำศพคนตายเข้า-ออกทางประตูเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากจนถึงขนาดที่ว่า แม้กระทั่งผู้ตายเป็นกษัตริย์ และอยู่ในภาวะตึงเครียดจากภัยสงครามก็ไม่สามารถนับเป็นข้อยกเว้นได้เลยทีเดียว

แล้วทำไมไม่นำศพเข้าทางประตูผี?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ประตูผีนั้นเป็นประตูที่เอาไว้ใช้สำหรับนำศพคนที่ตายในเมืองออกไปทำพิธีที่นอกเมืองเท่านั้น

แต่ไม่สามารถนำศพที่ตายนอกเมืองเข้ามาเก็บเอาไว้ในเมือง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถาน กรมศิลปากร อย่าง อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้เคยอธิบายเอาไว้ในบทความที่ชื่อ “ประตูผี และหน้าที่ของพระแก้วมรกต” ตีพิมพ์ในหนังสือเรื่องพระแก้วมรกต สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2546 เอาไว้ว่า ประตูผีที่เมืองเชียงใหม่นั้น มีพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระสิงห์ หันหน้ามองลงมาที่ประตูผีทางด้านทิศใต้ของเมืองอย่างพอดิบพอดี

เหมือนเป็นการสะกดให้สิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งอื่นใดที่มีสภาวะเป็นนามธรรมไม่สามารถรุกล้ำเข้ามาในเมืองได้

พูดง่ายๆ ว่า พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญอย่าง “พระพุทธสิหิงค์” จะคอยสะกดไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในเมือง แต่ปล่อยให้ศพคนตายและสภาวะอันเป็นนามธรรมอื่นๆ ออกจากเมืองทางประตูผีได้

พูดให้กระชับกว่าเดิมอีกทีก็ได้ว่า อนุญาตให้ออกนอกเมืองทางประตูผีได้ แต่ไม่ได้อนุญาตให้ใครเข้ามานั่นแหละครับ

 

อ.พิเศษยังเปรียบเทียบตัวอย่างของ “ประตูผี” จากเมืองสำคัญต่างๆ อีกหลายเมืองว่า ต่างก็มี “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ประจำเมือง “สะกด” ไม่ให้มีอะไรเข้ามาในเมืองได้เช่นเดียวกับพระพุทธสิหิงค์ของเมืองเชียงใหม่

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่ากันว่าคือ “นางนาค” ผีบรรพชนของชาวเขมร ที่ปราสาทพิมานอากาศ ในเมืองนครธม ประเทศกัมพูชา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลตาผาแดงแห่งเมืองสุโขทัย

และแม้กระทั่งพระแก้วมรกตที่กรุงเทพฯ ต่างก็สะกดภูตผีปีศาจและสภาวะอันเป็นนามธรรมอื่นๆ ทั้งหลายไม่ให้เข้าเมือง ด้วยการเพ่งจ้องไปที่ประตูผีของเมืองเหมือนกันทั้งหมด

(ถึงแม้ว่าประตูผีของแต่ละเมืองที่กล่าวถึงในที่นี้ จะไม่ได้ตั้งอยู่ในทิศเดียวกันทั้งหมดก็ตาม แต่ดูเหมือนการที่แต่ละเมืองมีประตูผีตั้งอยู่คนละทิศนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีคติความเชื่อที่เป็นระเบียบแบบแผนว่าประตูผีจะต้องตั้งอยู่ที่ทิศทางใดของกำแพงเมืองอย่างเคร่งครัดนัก)

ดังนั้นแล้วคำถามที่ตามก็คือ แล้วทำไมพวกผีห่าซาตานหรือสภาวะอันเป็นนามธรรมทั้งหลายถึงไม่สามารถเข้ามาที่ประตูเมืองอื่นๆ ได้ ในเมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในเมืองนั้น ต่างก็จ้องหน้าไปเฉพาะที่ทางประตูผี ไม่ได้หันหน้าไปแลดูหรือเฝ้าระวังที่ประตูเมืองบานอื่นๆ ด้วยเสียหน่อย?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.พิเศษได้อธิบายว่า สำหรับประตูเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประตูผีนั้น มีวิธีป้องกันสิ่งชั่วร้ายหรือสภาวะอันเป็นนามธรรมทั้งหลาย ด้วยการลงเลขยันต์คาถาอาคมไว้ที่ช่องประตูเมือง

จึงทำให้อะไรต่างๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (แต่มักจะเชื่อกันว่าสัมผัสจนขนลุกเกรียวได้ด้วยความรู้สึก สัญชาตญาณ หรือสัมผัสพิเศษ) จึงไม่สามารถผ่านเข้าและออกประตูเมืองเหล่านี้ได้

อ.พิเศษไม่ได้ให้หลักฐานเกี่ยวกับการลงเลขยันต์คาถาที่ช่องประตูเมือง อย่างที่ท่านอ้างเอาไว้ในบทความชิ้นที่ผมอ้างถึงมาตลอดนี้

แต่ผมอยากจะชี้ชวนให้เห็นว่า มีร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับอะไรทำนองนี้ให้เห็นอยู่ด้วยเช่นกัน

 

หลักฐานมีอยู่เป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารของฝรั่ง คือบทความหนึ่งในวารสาร Siam Society ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ซึ่งปราชญ์อย่าง อ.ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (ล่วงลับ) ได้นำมาอ้างไว้ในหนังสือฉบับกะทัดรัดของท่านเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “พระหลักเมือง” (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2513) โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“เมื่อต้น ค.ศ.1634 (พ.ศ.2177 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้ซ่อมประตูใหม่ทั้งหมด ตรัสสั่งให้จับหญิง (หมายถึงหญิงท้องแก่) ฝังเสาละ 2 คน ประตูหนึ่งมี 2 เสา เพราะฉะนั้น ประตู 17 ประตู จึงต้องการหญิง 68 คน”

เคราะห์ดีขึ้นมาหน่อยที่เรื่องราวข้างต้นนั้นยังถูกบันทึกไว้ด้วยว่า ผู้หญิงทั้ง 68 คนนั้น ไม่ได้ต้องถูกบูชายัญอยู่ที่หลุมเสาทั้งหมด เพราะในบรรดาผู้หญิงที่ถูกจับมาทั้งหมดนี้เกิดมีอยู่ 5 คน ที่อยู่ๆ ก็คลอดลูกออกมา ซึ่งถือเป็นอุบาทว์ ดังนั้น จึงแก้เคล็ดด้วยการจับบูชายัญลงหลุมเสาของประตูไชยแค่เพียง 4 คน

ส่วนคนที่เหลือให้โกนหัวแล้วกรีดศีรษะ 2 แฉก แล้วกลับบ้านได้

 

น่าเสียดายที่ อ.ฉันทิชย์ไม่ได้ระบุไว้ว่า เอกสารฝรั่งชิ้นนี้ชื่อเรื่องว่าอะไร? และเขียนโดยใคร? (และผมก็ต้องยอมรับว่ายังค้นไม่เจอต้นฉบับของบทความที่เก่าแก่ระดับร้อยกว่าปีชิ้นนี้ด้วย)

แต่ไม่ว่าด้วยความที่เป็นเอกสารในวารสารวิชาการของแวดวงไทยศึกษา ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกอย่าง Siam Society แถมผู้ที่นำเอกสารชิ้นนี้มาใช้อ้างอิงก็เป็นนักปราชญ์อย่าง อ.ฉันทิชย์ จึงทำให้พอจะมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อย

และไม่ว่าในสมัยพระเจ้าปราสาททองจะมีการนำหญิงท้องแก่มาฝังอยู่ในหลุมเสาของประตูเมืองจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็พอที่จะทำให้เราปะติดปะต่อถึงร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างความ “เฮี้ยน” ของประตูเมือง ในทำนองเดียวกับที่ อ.พิเศษอ้างถึงการลงเลขยันต์คาถา

เราจึงพอจะเห็นได้ว่า ในคติโบราณของอุษาคเนย์นั้น ประตูเมืองทุกบานต่างก็ต้องมีความ “เฮี้ยน” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” มาคอยปกปักรักษาทางเข้า-ออกของเมืองเอาไว้ เพื่อไม่ให้มีสิ่งชั่วร้ายย่างกรายเข้ามาในเมืองได้นั่นเอง