On History : มัมมี่นกแก้วจากป่าแอมะซอน ในทะเลทรายอาตากามา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
มัมมี่นกแก้ว จากทะเลทรายอาตากามา (ภาพจาก : www.cnn.com)

 

มัมมี่นกแก้วจากป่าแอมะซอน

ในทะเลทรายอาตากามา

 

โชเซ่ เอ็ม. คาปริเลส (José M. Capriles) รองศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนน์ สเตต (Penn State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า มีการค้นพบ “มัมมี่” ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “นกแก้ว” (parrot) และ “นกมาคอว์” (macow) ที่ทะเลทรายอาตากามา (Atacama desert)

(กล่าวโดยสรุป นกมาคอว์เป็นนกกลุ่มหนึ่งในตระกูลนกแก้ว มีทั้งสิ้น 18 สายพันธุ์ และพบเฉพาะในเขตโลกใหม่อย่างทวีปอเมริกาเท่านั้น ในขณะที่นกแก้วนั้น พบได้โดยทั่วไปทั้งในเขตโลกเก่าและโลกใหม่)

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการที่มีการจับนกสวยงามพวกนี้มาทำเป็นมัมมี่ก็คือ การที่มัมมี่พวกนี้ถูกพบในบริเวณทะเลทรายที่ได้ชื่อว่าแห้งแล้งที่สุดในโลกอย่างอาตากามา เพราะแน่นอนว่า นกพวกนี้ไม่ได้เป็นสัตว์พื้นถิ่นในทะเลทรายเสียหน่อย (แน่ละ ขนสวยๆ ของพวกมันจะมีประโยชน์อะไรในการเอาชีวิตรอดตามธรรมชาติในทะเลทราย?)

ดังนั้น เจ้านกพวกนี้จึงถูกอิมพอร์ตมาจากที่อื่น และทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนน์ สเตต ที่คาปริเลสเป็นผู้ทำวิจัยร่วมอยู่นั้น ก็ยังไม่แน่ใจนักเลยว่าเจ้านกพวกนี้ถูกผู้คนที่ทะเลทรายแห่งนั้นอิมพอร์ตเข้ามาเพื่ออะไรแน่?

มัมมี่นกแก้ว จากทะเลทรายอาตากามา (ภาพจาก : www.cnn.com)

ทะเลทรายอาตากามาวางตัวอยู่บนที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาแอนดีส (Andes Mountain) กับทิวเขาชิลี (Chilean Coast Range) ในทวีปอเมริกาใต้ มีอาณาเขตปกคลุมวางตัวไปตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเปรู แล้วก็ทอดยาวไปจนถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี เป็นระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตรเลยทีเดียว

และแม้ว่าจะเป็นสถานที่ทุรกันดาร แต่ก็มีทรัพยากรที่สำคัญคือ เกลือ และทองแดง

ดังนั้น ต่อให้แห้งแล้งเพียงไหน ก็ยังมีมนุษย์ที่บากบั่นเข้าไปครอบครองแหล่งทรัพยากรอยู่ในนั้น ซึ่งก็มีทั้งผู้คนที่อยู่อาศัยเป็นเผ่าขนาดย่อมๆ และรวมทั้งยังมีพวกผู้คนในวัฒนธรรมอินคานั่นเลยทีเดียว

ดังนั้น ก็คงจะเป็นผู้คนเหล่านี้นั่นแหละ ที่นำเจ้านกสวยงามพวกนี้เข้ามา ซึ่งกว่าจะนำมาได้ก็คงจะยากลำบากอยู่มากทีเดียว

เพราะทะเลทรายอาตากามาวางตัวอยู่ห่างจากบ้านเกิดของเจ้านกพวกนี้อย่างป่าแอมะซอน (Amazon) ถึง 2,459 กิโลเมตร แถมเส้นทางที่ใช้ขนส่งนกเหล่านี้นั้นยังเป็นเทือกเขาแอนดีส ที่สูงชันจนชวนให้เสียวไส้

ในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่สะดวก อย่าเพิ่งคิดฝันถึงเครื่องบินเลยเถอะครับ แค่เส้นทางที่ใช้สัญจรจะเรียกว่า “ถนน” ในความหมายของพวกเราในปัจจุบันยังทำใจยากเลยทีเดียว

แน่นอนว่าผมยังไม่ได้พูดถึงความหนาวเหน็บและซับซ้อนของเส้นทางสัญจรในเทือกเขาที่สูงระดับน้องๆ ของหลังคาโลกแห่งนี้เลยเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้น การลำเลียงนำเจ้าพวกนกแก้ว และนกมาคอว์เหล่านี้มายังทะเลทรายอาตากามานั้น ต้องเดินทางผ่านสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่งถึง 3 แบบ

ป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่ลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างแอมะซอน

เทือกเขาแอนดีสที่สูงชัน ซับซ้อน และหนาวเหน็บ

ก่อนที่จะเข้าสู่จุดหมายปลายทางคือทะเลทรายอาตากามาที่ได้ชื่อว่าแห้งแล้งที่สุดในโลก

หลังจากศึกษา DNA และคาร์บอนกัมมันตรังสีของมัมมี่นกเหล่านี้ทำให้คาปริเลสและคณะผู้ร่วมวิจัยของเขาสามารถจำแนกซากมัมมี่ของนกพวกนี้ออกได้เป็น 6 สปีชีส์ โดยพวกมันน่าจะเคยมีชีวิตอยู่เมื่อระหว่าง ค.ศ.1110-1450

และนั่นก็บอกกับเราอ้อมๆ ด้วยว่า พวกเขาใช้สัตว์ท้องถิ่นบนเทือกเขาแอนดีสอย่างตัว “ลามา” (lama) ในการขนส่งเจ้านกเหล่านี้ เพราะการคมนาคมขนส่งด้วย “ม้า” เพิ่งจะถูกพัฒนาขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้เมื่อหลังจากที่ชาวสเปนมาถึงทวีปอเมริกาในภายหลัง

มัมมี่นกแก้วเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการขนส่งลำเลียงพวกมันออกจากผืนป่าแอมะซอนในระดับที่เรียกได้ว่าสุดแสนจะลำบากยากเข็ญ ดังนั้น ทั้งคุณค่าและมูลค่าของพวกมันก็อยู่สูงในระดับที่เรียกว่าคุ้มค่าแก่การเสี่ยงชีวิตเลยทีเดียว

 

แน่นอนว่าการนำเอานกแก้วเหล่านี้มาทำเป็นมัมมี่ ย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพวกมันในวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ทะเลทรายอาตากามา ในแง่ของความเชื่อและพิธีกรรม ซึ่งทางทีมวิจัยของคาปริเลสได้สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่พวกมันมีความสามารถในการพูดเลียนเสียงมนุษย์ได้

เพราะว่าในบรรดามัมมี่เหล่านี้มีอยู่หลายตัวเลยทีเดียวที่ถูกจับอ้าปากและจับให้ลิ้นของพวกมันแลบออกมา

แต่นั่นก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด เพราะบางตัวก็ถูกจับอยู่ในท่าทางกำลังสยายปีก เหมือนกำลังจะโผบิน

แต่นั่นก็คงไม่สำคัญหรอกนะครับ เพราะจากการศึกษาของคาปริเลสและทีมวิจัยแล้ว เจ้านกพวกนี้ไม่ได้ถูกอิมพอร์ตเข้ามาในทะเลทรายอาตากามา เพื่อถูกนำมาทำเป็นมัมมี่เท่านั้น

พวกมันถูกนำเข้ามาในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ และน่าจะถูกเลี้ยงไว้ในฐานะของสัตว์เลี้ยง เพราะมีหลักฐานว่ามีการเก็บรักษา “ขน” ของพวกมันไว้ในฐานะของมีค่า

ซึ่งคาปริเลสเปรียบเทียบว่า ถูกเก็บรักษาไว้ดีไม่ต่างกับ “ทองคำ”

การเก็บรักษาชิ้นส่วนหรืออวัยวะของสัตว์ในฐานะของมีค่าแบบนี้ ก็คงไม่ต่างกับงาช้าง ขนนกยูง หนังราชสีห์ ฯลฯ อะไรในดินแดนโลกเก่าอย่างเอเชีย ยุโรป หรือแอฟริกา ที่ในยุคโบราณนับเป็นของมีค่ามาก และบางอย่างถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉพาะ เช่น หนังราชสีห์ ที่ในอินเดียถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำหรับใช้ในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการเฉพาะ

และความหมายเชิงสัญลักษณ์ทำนองนี้ก็คงคือทั้งมูลค่าและคุณค่า ในทำนองเดียวกันกับที่เจ้านกแก้วและนกมาคอว์เหล่านี้ คุ้มค่าแก่การบุกป่าฝ่าทั้งป่าดงดิบกับเทือกเขาสูงชัน เพื่อไปนำมันมาในดินแดนทะเลทรายอาตากามา แต่ยังจำเป็นต้องรอการศึกษาหาความหมายเป็นการจำเพาะเจาะจงต่อไปนั่นเอง