ปริศนาโบราณคดี : คืนศักดิ์ศรี แด่สาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

คืนศักดิ์ศรี

แด่สาขา Media Arts and Design

คณะวิจิตรศิลป์ (จบ)

 

หัวอกครูกับการเติมเต็มสิ่งที่ลูกศิษย์ขาด

ฉบับก่อนได้กล่าวถึงเบื้องหลังการก่อตั้งสาขา “สื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “มีเดีย” ไปแล้วอย่างละเอียดว่าแยกออกมาจากสาขาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อย่างไร

แยกมาทั้งอาคารสถานที่ที่พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

แยกมาทั้งอุดมการณ์ ความคิด และจิตวิญญาณ

ด้วยเหตุนี้ไงคะ นักศึกษาที่ถูกกระชากงานศิลปะนิพนธ์ลากไปทิ้งลงถุงขยะในวันเกิดเหตุ จึงไม่มีใครรู้จักกับคณะผู้บริหารระดับสูงของคณะวิจิตรศิลป์ ที่ชาวมีเดียเรียกว่า “ตึกหน้า” เพราะเราเป็นสาขาที่แยกออกมาโดดเดี่ยว

ไม่เพียงแต่แยกสถานที่เรียนหรือแยกแนวความคิดเท่านั้น แต่ยังแยกมาทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน

แน่นอนว่าทางมีเดียเองเมื่อฝันอยากเปิดวิชาต่างๆ ตามอุดมคติ ก็ย่อมต้องผ่านห้วงเวลาแห่งการลองถูกลองผิดขลุกขลักทุลักทุเลมาไม่น้อย

หลายวิชาเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดกว่าจะนิ่งลงตัว

เหตุที่บางวิชาหาผู้สอนไม่ได้ดั่งใจ บางวิชาผู้สอนโอเค แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษา

และแน่นอนว่า ต้องมีบ้างอยู่แล้วในบางวิชาที่เป็นแก่นแกนสำหรับนักศึกษาศิลปะทุกสาขาต้องเรียนเป็นพื้นฐานเหมือนกันหมดทั้งโลก

อย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก และประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ที่สาขามีเดียมอบหมายให้ดิฉันแยกสอนเฉพาะนักศึกษามีเดียชั้นปี 2 ซึ่งเรียนกันเทอมละไม่เกิน 40 คน

การแยกมาสอนนี้ นอกจากจะให้ดิฉันช่วยเน้นย้ำเรื่องการใช้สื่อภาษาวรรณกรรมแล้ว (เพราะไม่มีวิชาด้านภาษาให้สอนโดยตรง) ยังต้องการให้ดิฉันพานักศึกษาลงพื้นที่บรรยายนำชมโบราณสถานชิ้นเยี่ยมทั่วล้านนาอย่างน้อย 5 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่านอีกด้วย หากเรียนรวมกับสาขาอื่นก็คงไม่สามารถมีกิจกรรมนี้ได้

แต่ในที่สุดสองวิชานี้ก็ถูกตัดงบประมาณจาก “ตึกหน้า” ไม่อนุมัติงบฯ ให้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาเรียนรู้จากแหล่งพื้นที่จริง ซึ่งปกติต้องได้งบฯ สนับสนุนวิชาละ 40,000 บาท

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 พร้อมกับข่าวดัง ที่นักศึกษามีเดียเดินขบวนประท้วงตึกหน้า ด้วยการที่พวกเขาถูกตัดงบฯ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ MAD (Media Arts and Design) จำนวนเงิน 150,000 บาท เหลือแค่ 1,500 บาท (ถ้าจำตัวเลขผิดขออภัยด้วย)

 

เห็นได้ว่าความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างตึกหน้ากับสาขามีเดียที่สั่งสมมานานกว่า 1 ทศวรรษ ในระยะแรกๆ ยังคงซ่อนตัวอยู่ในรูปของทัศนคติที่เห็นต่างกันระหว่างเหล่าคณาจารย์เท่านั้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษา

จนกระทั่งเกิดการปะทุขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อช่วงปลายปี 2562 เกือบสองปีแล้วที่มีเดียถูกตัดงบประมาณหลายต่อหลายกิจกรรมอย่างไม่เป็นธรรมจากตึกหน้า

ส่งผลให้คณาจารย์และนักศึกษามีเดียแทบจะขยับตัวทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ใดๆ ไม่ได้อีกเลย

และไปๆ มาๆ ก็ขอให้ยกเลิกการจ้างอาจารย์พิเศษวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกและศิลปะตะวันออกทิ้งไปเลย ด้วยเหตุผลว่า “เป็นวิชาแกนที่คณะจัดให้มีการสอนกับทุกสาขาอยู่แล้ว มองไม่เห็นความจำเป็นต้องแยกเรียน”

ทำให้วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกและตะวันออกที่ดิฉันเฝ้าฟูมฟักสอนให้สาขามีเดียมานานกว่า 9 รุ่นด้วยความทุ่มเท ถูกปิดฉากกลายเป็นตำนานไปเรียบร้อยแล้ว

ทุกวันนี้นักศึกษามีเดียต้องไปเรียนสองวิชานี้ร่วมกับนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์สาขาอื่นๆ มากกว่า 300 คน โดยไม่มีกิจกรรมทัศนศึกษาพาชมศิลปะล้านนาอีกต่อไป

 

ดิฉันจึงเหลือการสอนแค่วิชาเดียวในเทอมต้นคือวิชาศิลปะล้านนา (Local Media and Cultural Study) ที่ยังต้องสอนเพราะดิฉันเขียนร่างหลักสูตรวิชานี้มากับมือ มองว่านักศึกษามีเดียเชี่ยวชาญอย่างมากแล้วเรื่องเทคนิคเครื่องมือกลไกในการผลิตงานศิลปะหรือสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่พวกเขายังขาดอยู่มากต้องช่วยอุดรูรั่วให้อย่างแรงคือด้าน Content

เมื่อเทียบแล้ว นักศึกษามีเดียไม่มีโอกาสได้เจาะลึกเรื่องศิลปะล้านนา ผิดกับนักศึกษาสาขาศิลปะไทย (ซึ่งวางรากฐานไว้แน่นปั๋งโดยทีมอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ศ.เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล ศ.เกียรติคุณ ม.ล.สุริยวุฒิ ศุขสวัสดิ์ และ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยะสุรัตน์)

แต่เมื่อจบออกมาแล้ว งานที่คนจ้างให้พวกลูกศิษย์มีเดียทำมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับล้านนา ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น สารคดี โฆษณา สื่อการเรียนการสอน ฯลฯ

เข้าใจได้ไม่ยากเลย ในฐานะผู้จ้างเมื่อวาง Theme เกี่ยวกับล้านนา เขาย่อมหาบริษัทที่มีบัณฑิตจบจากวิจิตรศิลป์ ถูกต้องไหมคะ ผู้จ้างย่อมมองว่าคนที่จบวิจิตรศิลป์ต้องมีความเข้าใจในจิตวิญญาณล้านนามากกว่าเด็กอาร์ตที่จบจากศิลปากร ลาดกระบัง จุฬาฯ หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ในขณะที่นักศึกษาศิลปะสาขามีเดีย กลับไม่มีวิชาใดเลยที่จะได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกับศิลปะล้านนา เพราะหน่วยกิตทั้งหมดทั้งมวลตลอดระยะเวลาสี่ปี ต้องแบ่งสันปันส่วนทุ่มเทไปกับ “หลักหกยกสยาม” ให้รอบด้านครอบคลุมเรื่องศิลปะ ออกแบบ นวัตกรรมเทคโนโลยี (ภาษา อันนี้แป้กไว้ก่อน) ปรัชญา และสังคม

ก่อนหน้าที่จะต่อสู้ให้เปิดวิชา Local Media and Cultural Study แยกเป็นเอกเทศได้สำเร็จ ดิฉันต้องแทรกเนื้อหาศิลปะล้านนาไว้ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกและศิลปะตะวันออกอย่างอัดแน่น

 

เรื่องของดิฉันมันจบแล้ว ช่างเถอะค่ะ! แต่เรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาสาขามีเดียที่เรียกร้องความเป็นธรรมจากตึกหน้ายังไม่จบ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพวกเขายังช่วยกันลากผลงานศิลปะที่คล้ายผืนธงชาติขนาดใหญ่ไปทวงถามความรับผิดชอบจากผู้บริหารตึกหน้า

จะมีการเจรจาหาทางยุติข้อขัดแย้งกันอย่างไร โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในหน้าเฟซบุ๊ก Media Arts and Design เป็นระยะๆ

บทความนี้อยากชวนคุยเรื่อง “ชีวิตและผลงานของปู่จ๋าน ทัศนัย” มากกว่าค่ะ

 

ลูกศิษย์ศิลปินใหญ่ “อารี สุทธิพันธุ์”

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขามีเดียผู้แอ่นอกมาปกป้องลูกศิษย์ในกรณีที่นักศึกษาถูกผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์สั่งห้ามเอางานศิลปะ (ที่ถูกมองว่าล่อแหลม) ออกจัดแสดงผู้นี้เป็นใครมาจากไหน?

ดิฉันรู้จักกับ “ทัศนัย” (ขออนุญาตไม่ใส่คำนำหน้าว่า ผศ.ดร. หรืออาจารย์ เพราะอยากวางสถานะแบบพี่-น้องกัน) นานกว่า 16 ปี ช่วงนั้นดิฉันยังทำงานที่กรมศิลปากรลำพูน เขาเพิ่งเรียนจบปริญญาโท และกำลังจะเริ่มเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก

ทัศนัยมีอายุน้อยกว่าดิฉัน 4 ปี (เขาเกิดปี 2511) ดิฉันจึงเรียกตัวเองว่า “พี่” เรียกเขาว่า “น้อง” ดังนั้น หากเขาอายุ 5,000 ปี ดิฉันก็ต้องอายุ 5,004 ปี

หรืออีกนัยหนึ่ง คนทั่วไปเรียกดิฉันว่าเป็นสาว 2,000 ปี ทัศนัยก็ควรมีอายุ 1996 ปี ด้วยเช่นกันใช่ไหมคะ อันนี้ดิฉันเกริ่นนำแค่ให้ขำๆ ฮาๆ ก่อนที่จะนำไปสู่เรื่องราวซีเรียส ที่อาจจะฮาไม่ออก ขำไม่ลงอีกหลายเรื่อง

ทัศนัยจบปริญญาตรีสาขาทัศนศิลป์ (เอกประติมากรรม) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เขาเกิดและโตที่กรุงเทพฯ

ตอนเรียนชั้น ม.2 ที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร เขาแอบปิ๊งนักศึกษาหญิงคนหนึ่งซึ่งเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ช่วงที่เทียวไล้เทียวขื่อ เฝ้าตามชื่นชมสาวมหา’ลัยอยู่นั้น เขาแอบเห็น “บุรุษวัยกลางคนผู้หนึ่ง” กำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับการสร้างงานศิลปะในสตูดิโอเล็กๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

บุรุษผู้นี้กว่าเด็กชายทัศนัยจะรู้ว่า ที่แท้คือ อาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินชื่อก้องฟ้าเมืองไทย ก็ปาไปนานหลายปี

อาจารย์อารีเห็นเด็กหนุ่มมาด้อมๆ มองๆ แถวสตูดิโอของท่านอยู่นานหลายเดือน ก็นึกว่าเจ้าเด็กนี่คงสนใจอยากฝึกเรียนเขียนรูปกับท่านกระมัง (หารู้ไม่ว่ามาแอบตามเหล่หญิง)

อาจารย์อารีจึงจับทัศนัยนั่ง สอนปั้นดินให้เป็นรูปเป็นร่าง เอากระดาษ พู่กัน สอนให้วาดภาพสีน้ำ แล้วชวนไปตกปลา กับเล่าเรื่องศิลปะต่างๆ ให้ฟังอย่างสนุกสนาน

เรียกได้ว่าจับพลัดจับผลูแท้เทียว จู่ๆ ทัศนัยก็มาฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิกับอาจารย์อารี ศิลปินใหญ่ระดับโลกตั้งแต่เป็นเด็กน้อยชั้นมัธยมต้น โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเฉยเลย

“ประสบการณ์ที่ผมได้จากอาจารย์อารีประมาณ 2-3 ปีช่วงวัยเด็กนี้ยิ่งใหญ่มาก ท่านปลูกฝังแรงบันดาลใจให้ผมอยากทำงานศิลปะที่สะท้อนปัญหาสังคม ข้อสำคัญท่านก็เป็นขบถคนหนึ่งในแวดวงศิลปินไทย”

 

ศิลปะที่ไร้นิยาม ความงามที่ไร้พรมแดน

นักศึกษามีเดียที่เคยเรียนวิชาปรัชญาศิลป์กับ อ.ทัศนัยในช่วงระหว่างปี 2554-2558 ย่อมจำบรรยากาศได้ดีว่า อาจารย์ผู้นี้ไม่ชอบสอนในคลาสตอนกลางวัน แต่จะขอให้นักศึกษามาเรียนที่บ้านแกตอนกลางคืน แถมทำสปาเกตตี ขนมจีนแกงเขียวหวานเลี้ยงลูกศิษย์แบบบุฟเฟ่ต์อิ่มไม่อั้นอีกด้วย

ใครอยากจะนั่งเรียน นอนเรียน หลับบ้าง เล่นกับหมา “จั่นเจา” บ้าง ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ตามสบาย

เป็นวิธีสอนแบบนอกกรอบ แค่อยากให้นักศึกษาหนีความจำเจในห้องสี่เหลี่ยม

โดยตัวอาจารย์ยินดีควักเงินค่าอาหารเลี้ยงดูปูเสื่อให้ลูกศิษย์ได้ตื่นตาตื่นใจ

แกทำเช่นนี้มานานกว่า 4-5 ปี ในที่สุดต้องกลับมาสอนในคลาสเพราะถูกมือดีแอบรายงานตึกหน้าว่าเป็นวิธีการสอนที่ “ผิดระเบียบ”

นอกจากนี้ ทัศนัยยังมี “โลกเฉพาะ” ซุ่มสร้างงานศิลปะเพื่อเยียวยาจิตวิญญาณของตนด้วยเช่นกัน

“ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ผมกลายเป็นโรคซึมเศร้า ผิดหวังกับระบอบการปกครองของไทย เก็บตัวในบ้านไม่อยากพบปะใคร อ่านแต่หนังสือเป็นร้อยเป็นพันเล่ม พยายามสืบค้นว่าอะไรคือต้นตอที่แท้จริงของปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยถึงทางตัน เมื่อรู้แล้วตาสว่างแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ พูดออกสื่อสาธารณะไม่ได้ ผมจึงได้แต่ระบายความอัดอั้นตันใจออกมาเป็นงานศิลปะ”

งานศิลปะของทัศนัยแต่ละชิ้น Gigantic Scale สูงเกือบ 10 เมตร จัดวางเต็มผนังมหึมา จึงต้องเช่าโกดังเก็บสินค้าเป็นสตูดิโอ

 

“ช่วงที่เคว้งแต่ละวันผมเดินไปนอนตามศาลาวัด เข้าวัดโน้นออกวัดนี้อย่างเลื่อนลอย บางวัดใหญ่มากมีคนมาถวายสบง จีวรเสียจนล้นเกิน พระ-เณรใช้นุ่งห่มไม่ทัน ผมจึงขอจีวรพระมาใช้สร้างงานศิลปะบ้าง บางวัดผมเห็นพระสล่านั่งตัดตุงแปงโคม นั่งตัดกระดาษสีทำปราสาทศพ ผมขอเรียนรู้วิธีการตัดกระดาษเงินกระดาษทองจากพ่อครูสล่า ช่วงนั้นเองเกิดแนวคิดเรื่องจะนำเทคนิคที่สล่าพื้นบ้านใช้สร้างงานพิธีกรรมล้านนามาผสมผสานรองรับกับแนวความคิดสากลที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระดับโลก อยากลองดูว่าสองสิ่งนี้จะแมตช์กันได้บ้างไหม”

“ด้านเนื้อหา ผมได้ข้อสรุปว่าตัวปัญหาที่ฝังรากลึกให้กับสังคมไทยในปัจจุบันก็คือ ‘มรดกของสงครามเย็น’ เป็นเวลานานกว่า 55 ปีนับแต่อเมริกันได้สถาปนาตัวเองเป็นบิดาผู้ทรงคุณธรรมของโลก ผลักอีกฝ่ายคือค่ายสังคมนิยมที่ปฏิเสธศาสนาให้กลายเป็นปีศาจร้าย ทำให้พระนักบวชหมอครูตำรวจกลายเป็นคนดี เกิดการสั่งสอนด้านศีลธรรม ต่อต้านสื่อลามก โสเภณี เป็นแนวคิดของความพยายามที่จะยกย่องคนกลุ่มหนึ่ง (ปัจจุบันก็คือพวกสลิ่มที่คิดว่าตัวเองดี) เหยียบย่ำอีกสิ่งหนึ่ง”

“ทว่าทุกวันนี้ ‘มรดกสงครามเย็น’ มันเผยโฉมความจริงออกมาแล้วว่า คนที่พยายามสถาปนาความดีงามให้แก่โลกนั่นแหละ แท้จริงคือคนที่ชอบใช้ความรุนแรง เป็นความรุนแรงที่อ้างผ่านในนามของสงคราม ไม่ว่าการประดิษฐ์รถถัง เรือดำน้ำ ของเล่นหุ่นยนต์ที่เน้นการทำลายล้าง กลายเป็นเกมการฆ่าฟันออนไลน์ หนังบู๊แนวฮีโร่ ไปจนถึงสงครามด้านกีฬา เช่น โอลิมปิก บอลโลก”

“ทุกอย่างคือผลพวงของสงครามเย็น”

 

“ธีมสงครามเย็นนี้ใหญ่มาก ผมย่อยมันออกมาเป็นงานศิลปะหลายชิ้น ไม่ว่าสงครามเกาหลี เวียดนาม Killing Field หรือการต่อสู้ของ ‘เตียง ศิริขันธ์’ พื้นหลังของงานศิลปะผมใช้ Text มาตัดแปะเป็นตัวแทรก เช่น ข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ธนบัตร ล็อตเตอรี่ ใบปลิว แล้วพื้นผิวตอนบนที่เห็นเป็นสีสดฉูดฉาดนับร้อยนับพันสีที่ทับซ้อนนั้น ผมใช้วิธีตัดกระดาษมันปูที่พ่นสีสเปรย์รถยนต์เป็นเส้นยาวๆ ม้วนขดไปมาทับซ้อนบนเนื้องาน บางชิ้นเส้นขดหนามากกว่า 40 ชั้น ปิดทับไปเรื่อยๆ จนกว่าผมจะรู้สึกว่าภายในได้ระเบิดสิ่งต่างๆ ออกมาหมดแล้วนั่นแหละ ผลงานนั้นจึงยุติ ผมพ่นเคลียร์ใสทับ ปิดจ๊อบ”

“ในฐานะที่พี่เพ็ญเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ คงต้องช่วยผมนิยามแล้วละ ว่างานศิลปะของผมมันเป็นแนวไหน ใช้เทคนิคอะไร จริงๆ มันง่ายมาก แค่กระดาษสีและกาวแป้ง แต่กว่าหนึ่งชิ้นงานจะแล้วเสร็จผมต้องใช้เวลากับมันนานเหมือน 5,000 ปีจริงๆ นะ”

อันที่จริงทัศนัยให้สัมภาษณ์เรื่องวิธีการสร้างงานศิลปะของเขาไว้อย่างละเอียดประมาณ 45 นาที

ผู้สนใจไล่เปิดดูย้อนหลังได้ในเฟซบุ๊กไลฟ์ของดิฉัน