ปริศนาโบราณคดี : คืนศักดิ์ศรี แด่สาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

คืนศักดิ์ศรี

แด่สาขา Media Arts and Design

คณะวิจิตรศิลป์ (1)

 

นับแต่มีการติดแฮชแท็ก #ทัศนัยปราบมาร ขึ้นสู่เทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กติดต่อกันหลายวันในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กับวลียอดฮิต “ศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร และศิลปะไม่เป็นนายใคร” ซึ่งลั่นออกจากปากของศิลปินที่ประกาศว่าตัวเองมีอายุมากกว่า 5,000 ปี นาม “ทัศนัย เศรษฐเสรี” ไปแล้วนั้น

เชื่อว่า ณ วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักกับคำว่า “สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ” ที่สังกัดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกต่อไป

ชื่อสาขาเมื่อแปลจาก Media Arts and Design เป็นภาษาไทย ฟังดูค่อนข้างแปลกและแปร่งสักหน่อย เพราะมีคำว่า “สื่อ” ซ้อนกันถึงสองตัว ทั้งหน้า-หลัง

ดังนั้น ในที่นี้ ดิฉันขอใช้คำย่อเวลาที่ต้องการกล่าวถึงสาขาวิชาดังกล่าวนี้ว่า “มีเดีย” สั้นๆ ง่ายๆ เป็นอันเข้าใจกันนะคะว่าหมายถึงอะไร

ก่อนที่จะไปสู่ประเด็นการถกเถียงเรื่อง “คุณค่าของงานศิลปะ” ว่าใช้อะไรเป็นตัววัด อาจารย์ผู้สอนศิลปะมีสิทธิ์นำผลงานศิลปะของนักศึกษาไปทิ้งลงถุงขยะได้หรือไม่นั้น ดิฉันมีความจำเป็นต้องเท้าความถึงที่มาที่ไปแห่งจุดเริ่มต้นหรือการกำเนิดสาขามีเดียนี้เสียก่อน ว่าทำไมถึงต้องแยกตัวออกมาจากสาขาทัศนศิลป์

เหตุที่ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมคิดร่วมฝัน ร่วมก่อตั้งร่วมสอนในสาขานี้มาตั้งแต่หน้าแรกสุด คือเมื่อครั้งยังทำงานอยู่ที่กรมศิลปากร ก็ได้รับเชิญจาก “อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนะโม” และ “อาจารย์อุทิศ อติมานะ” ให้มาร่วมวางแผนจัดทำหลักสูตรการศึกษาสาขาวิชาใหม่นี้ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาตรี จนมาถึงยุคของ “อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี”

จึงอยากขอแชร์ความคิด บอกเล่าประสบการณ์ตรงจากการที่ได้ร่วมงานกับคณาจารย์หัวก้าวหน้า และการได้สัมผัสคลุกคลีตีโมงกับนักศึกษาทุกรุ่นที่ล้มลุกคลุกคลานกันมาในสาขาดังกล่าว ว่าพวกเราพานพบสิ่งไรกันมาบ้าง ไปถึงฝั่งฝันที่ตั้งปณิธานไว้แล้วหรือยัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่า ทำไมพวกเราจึงถูกมองว่าเป็นกบฏ?

 

หลักหกประการของมีเดีย

: ศิลปะ ออกแบบ เทคโนโลยี ภาษา ปรัชญา สังคม

เหตุผลของการแยกตัวออกมาจากสาขาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ โดยคณาจารย์กลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่า “หัวรุนแรง” ทั้งๆ ที่พวกเขาเคยสอนอยู่ในสาขาทัศนศิลป์มาก่อนอยู่ดีๆ นั้น ก็เนื่องมาจากความต้องการ “สร้างความฝันใหม่ให้กับวงการศึกษาศิลปะ ด้วยการก้าวข้ามกรอบเดิมๆ”

โดยมองว่าแนวทางการเรียนการสอนศิลปะในสายทัศนศิลป์ทั่วประเทศไทยที่มีหัวเรือใหญ่อยู่ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ซึ่งอาจารย์เกือบทุกคนที่ถูกมองว่าเป็นกบฏก็สำเร็จการศึกษามาจากสถาบันนี้ทั้งสิ้น) นั้น

เคยเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากอย่างยิ่งในยุคสมัยหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะสมแล้วเมื่อกาลเวลาเคลื่อนมาสู่อีกยุคสมัยหน้า

และในอดีต เมื่อมีการก่อตั้งคณะวิจิตรศิลป์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณาจารย์หัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ก็เคยมีความฝันว่า สาขาทัศนศิลป์ ที่คณะวิจิตรศิลป์นี่แหละ จะเป็น “โลกใบใหม่ของวงการศิลปะ” ที่ช่วยเปิดท่อน้ำที่อุดตัน ไขสัจธรรมออกไปสู่อิสรีย์ที่แท้จริง

หลายคนคงจำได้ถึงการที่คณะวิจิตรศิลป์เปิดพื้นที่ให้ “สล่าพื้นบ้าน” หรือ “ช่างฝีมือ” สาขาต่างๆ เอางานหัตถกรรมของกลุ่มตนเข้ามาแสดงด้วยกันกับศิลปกรรมร่วมสมัยในหอศิลป์ โดยไม่ได้มองว่าเป็นแค่งาน Craft หรือ Folk Art

ไม่มีการแบ่งแยกว่าเราเป็น “ศิลปิน” แต่พวกคุณเป็นแค่ “ช่าง”

ในที่สุดเมื่อกาลเวลาผ่านไปได้ 2 ทศวรรษ คณาจารย์กลุ่มหัวก้าวหน้าหรือผู้เกิดก่อนกาลก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อสาขาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์กลับย่ำรอยเท้ากลายเป็น “ศิลปากรน้อย” ไปอีกจนได้ กล่าวคือ เกิดกลุ่มมาเฟีย เล่นพรรคเล่นพวก ตีกรอบผูกขาดแนวคิด ทั้งในด้านวิชาการและด้านบริหารจัดการ

คนหนุ่มกลุ่มหนึ่งจึงขอแยกตัวออกมาจัดตั้งสาขา Media Arts and Design โดยมีหลักหกประการ (ล้อกับหลักหกประการของคณะราษฎร) ที่กำหนดไว้ให้การเรียนการสอนรอบด้านครบถ้วนในเสาหลักหกต้นดังนี้

หลักข้อที่หนึ่ง ต้องมีความรู้ความเข้าใจในคำว่า “ศิลปะ” อย่างรอบด้าน ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อประสม ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

หลักข้อที่สอง ต้องเรียนรู้ศาสตร์แห่งการ Design อย่างเจาะลึก คือสามารถนำ Art มาประยุกต์สู่งาน Design ได้ เพราะโลกสมัยใหม่เป็นโลกแห่งการตลาด จึงต้องเรียนศาสตร์แห่งการโฆษณา

หลักข้อที่สาม ต้องนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่พวกซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่นต่างๆ มารองรับการสร้างงานศิลปะ เช่น การทำเว็บเพจ การใช้โปรแกรมต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ การเข้าใจพื้นฐานของดนตรี ภาพยนตร์

หลักข้อที่สี่ มีความสามารถในการสื่อสารกับสาธารณะอย่างมีประสิทธิผล ตรงเป้า เป็นนายภาษา มีการใช้ถ้อยคำอย่างมีสุนทรีย์ในระนาบที่เป็นน้องๆ ของนักวรรณกรรม

ข้อสี่นี้เอง ที่ดิฉันถูกวางมือให้เข้ามาช่วยรับผิดชอบ เติมเต็มสภาวะของจิตวิญญาณกวีหรือนักเขียนให้แก่นักศึกษา

แต่กลับกลายเป็นด้านที่ล้มเหลวที่สุด

เนื่องจากไม่มีวิชาใดๆ รองรับให้เปิดสอนศาสตร์ดังกล่าวเลย

ผ่านมาแล้ว 1 ทศวรรษเต็ม ทุกครั้งเมื่อสาขาคิดจะเปิดวิชา “ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร” หรือชื่อประมาณ “การเขียนพื้นฐานสำหรับสื่อศิลปะ” ก็จะถูกคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมองว่า

วิชาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องจ้างอาจารย์พิเศษมาสอน ให้นักศึกษาไปเรียนรวมกับนักศึกษาเอกวิชาภาษาไทย ในชื่อวิชาที่คล้ายกันในคณะมนุษยศาสตร์ได้เลย

อุแม่เจ้า! ทั้งๆ ที่หัวใจแห่งการเรียนการสอนวิชานี้ก็เพื่อให้นักศึกษามีเดียได้ฝึกปฏิบัติจริงในการเขียนบทความด้วยภาษาร่วมสมัยจากนักเขียนจริงที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรม ที่ไม่ใช่มีแค่ทฤษฎีแต่ผ่านการเป็นคอลัมนิสต์และอาชีพนักเขียนมาแล้วทุกสังเวียน มีความพร้อมที่จะแนะนำวิธีการวางพล็อตเรื่อง การแตกประเด็น การกระชับประโยค การบีบอารมณ์ การแก้ภาษาที่เยิ่นเย้อ การใส่วลีเด็ด ท่อนฮุก การหาภาพประกอบที่สอดรับกับเนื้อหา การตั้งชื่อเรื่อง

ซึ่งทั้งหมดจะต้องเชื่อมโยงกับคำว่า “ศิลปะ” และเสาหลักอื่นๆ อีก 4 ต้นให้ได้อีกด้วย ไม่ใช่งานเขียนที่เป็นเอกเทศ

ขออภัยต่อนักศึกษาทุกคนด้วย ที่ไม่มีวิชานี้ในหลักสูตร ทำให้หลักข้อที่สี่ถูกตัดตอน ดิฉันได้แต่ช่วยนักศึกษาทางอ้อมด้วยการแทรกเคล็ดลับวิธีการเขียนและเคี่ยวกรำแก้ไขภาษาจากรายงานของนักศึกษา ผ่านการสอนวิชาอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายแทน

หลักข้อที่ห้า ต้องเข้าใจกฎแห่งปรัชญา ทั้งอภิปรัชญาของกรีกโบราณ ปรัชญาด้านเศรษฐศาสตร์ ปรัชญาด้านสังคมศาสตร์ ปรัชญาด้านสุนทรียศาสตร์ ตลอด 4 ปีที่นักศึกษาร่ำเรียนนั้น จะต้องมีวิชาปรัชญาแทรกอย่างเข้มข้น

หลักข้อที่หก ต้องไม่ทิ้งสังคม ต้องรู้ทันการเมืองการปกครอง ต้องไม่ดูดายต่อเหตุการณ์บ้านเมือง

กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นสาขาที่แม้จะอยู่ในคณะวิจิตรศิลป์ แต่เอาเข้าจริงแล้วเนื้อหาการเรียนการสอนกลับคาบเกี่ยวกับศาสตร์อื่นๆ มากมายหลายศาสตร์

แน่นอนว่าศาสตร์ของทัศนศิลป์เองก็ต้องหยั่งรากลึก แถมข้ามไปแตะสายมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ มัณฑนศิลป์ นิเทศศิลป์ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อดิจิตอล ภาพยนตร์ รวมถึงบางครั้งไปแตะสายวิศวกรรมซอฟต์แวร์อีกด้วย

 

ตกลงสอนอะไร หรือรู้อย่าง “เป็ด”

กว้าง ไกล ลึก ได้จริงไหม?

เมื่อมองอย่างผาดเผิน จากชื่อสาขา Media Arts and Design นักเรียนที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในสาขานี้ สามารถตีความหรือสร้างความเข้าใจเอาเองไปได้ต่างๆ นานาชนิดที่ว่า “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า”

เพราะชื่อสาขานั้น ไม่ได้มีภาพรวมศูนย์ให้เห็นแค่คำตอบเดียว ดังนั้น ในทุกๆ ปีมักมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาสารภาพว่า

“คิดผิดที่มาเรียน ตอนแรกนึกว่าจะเหมือนกับนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เน้นการออกแบบ ที่ไหนได้ แต่ละวิชากลับสอนปรัชญายากๆ หนักอึ้ง ซ้ำให้วิเคราะห์ถึงประเด็นการเมืองด้วย”

บางคนบอกว่า “ที่เลือกสาขานี้เพราะตัวเองเป็นเด็กติดเกม นึกว่าจะมาเรียนรู้การผลิตเกมแบบ Animation หรือประกอบหุ่นยนต์ รู้งี้ไปเรียน ‘วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี’ อีกคณะหนึ่งน่าจะเข้าท่ากว่าที่ต้องทนมาเรียนศิลปะและปรัชญาแบบนี้ในมีเดีย”

คำว่า “วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี” มีสถานะเทียบเท่ากับคณะหนึ่งใน มช. มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า College of Art Media and Technology เรียกชื่อย่อๆ กันว่า แคมต์ CAMT

ยอมรับว่ามองเผินๆ แล้วคล้ายว่าจะซ้ำซ้อนกับสาขามีเดีย อันที่จริง ปรัชญาการเรียนการสอนของทั้งสองสาขานี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง CAMT แม้จะมีคำว่า “ศิลปะ” อยู่ตัวแรกสุด แต่เน้นการเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไร้ขีดจำกัดมารองรับการผลิตสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ ทุกมิติ โดยมีศิลปะเป็นตัวแทรก

ในขณะที่ Media Arts and Design กลับใช้คำว่า “มีเดีย” อยู่หน้าสุด ทว่าหัวใจทั้งหมดในหลักหกประการที่กล่าวมาแล้วนั้น “ศิลปะ” กลายเป็นตัวเปิดที่ต้องมาก่อนตัวอื่น เหตุที่คณาจารย์ผู้สอนเกือบทั้งหมดเริ่มจากกลุ่มศิลปิน เพียงแต่เป็นศิลปะที่นำเสนอผ่านสื่อและการออกแบบมาแล้ว (ไม่ใช่ศิลปะแนวทัศนศิลป์แบบเก่า) ศาสตร์แห่งการเรียนการสอนของมีเดียจึงแตกต่างจากแคมต์

ในมุมกลับกัน นักศึกษาหลายคนก็มาสารภาพว่า

“เรียนสองปีแรกก็เริ่มรู้สึกสับสนว่าจะไปทางไหนกันแน่ จบออกไปแล้วจะต้องไปเป็นกราฟฟิกดีไซน์ ทำอาร์ตเวิร์กแค่นั้นหรือ ไม่ได้บรรลุความเป็นศิลปินเต็มตัวดอกหรือ เป็นไม่ได้แม้แต่ดีไซเนอร์ด้วยซ้ำใช่ไหม เพราะไม่สามารถออกแบบตกแต่งภายในแบบเจาะลึกเหมือนสายมัณฑนศิลป์ หรือสู้ไม่ได้แม้แต่สายออกแบบโปรดักต์ของคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เกรงว่าเรียนไปเรียนมาจะกลายเป็น ‘เป็ด’

ยิ่งปีสาม ถูกจับอัดแน่นด้วยปรัชญา สังคม การเมือง หัวสมองแทบระเบิดระเบ้อ

ครั้นเมื่อผ่านสภาวะการเคี่ยวกรำทะเลาะต่อสู้ทางความคิดกับคณาจารย์สายโหดมาอย่างเลือดโชก เมื่อจบออกไปแล้ว กลับรู้สึกว่า เราคิดถูกที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะเราคิดเป็น วางแผนได้ เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ทำได้ทุกอย่าง ทั้งงานออกแบบ งานกราฟฟิก งานทำหนังสารคดี มิกซ์เพลง เป็นศิลปิน เป็นภัณฑารักษ์ งานทุกอย่างที่ทำนั้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สูงค่าหรือราคาถูก แต่ทั้งหมดมันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างงานศิลปะ”

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีเดียเป็นสาขาเปิดใหม่ ที่มีความมุ่งมั่นอยากให้นักศึกษาที่จบสาขานี้มีความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ แห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ก้มหัวให้กับอำนาจเก่า ไม่ละทิ้งสังคม ตามทันข่าวสารที่เต็มไปด้วยการแบ่งขั้วเลือกข้าง Propaganda รู้จักวิธีรับมือตอบโต้กับสื่อสาธารณะอย่างมีศิลป์ และสร้างงานศิลปะอย่างไม่จำกัดรูปแบบ ไม่คร่ำครึยึดติดกรอบจารีต

ทำให้สาขานี้ไม่มีประเพณีการ “รับน้อง” เหมือนสาขาอื่นๆ ในคณะวิจิตรศิลป์ ไม่มีระบบโซตัส ว้าก ข่มขู่ บรรยากาศคล้ายกับคำว่า “เพื่อนใหม่” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทว่านักศึกษาสาขามีเดียกลับรู้สึกว่าตัวเองเคว้งคว้าง ไม่มีเพื่อนต่างสาขา ไม่มีเพื่อนต่างคณะ ไม่มีการสนับสนุนให้เล่นกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ ไม่มีชมรม ไม่มีการรับน้อง

นอกจากอาคารเรียนที่แยกออกมาอย่างโดดเดี่ยว คือตั้งอยู่ที่หอศิลป์ติดถนนนิมมานเหมินท์ ไม่ได้อยู่ในรั้วใหญ่ มช.แล้ว

พวกเขายังถูกตัดขาดจากสังคมโดยรวมอีกด้วย ยกเว้นนักศึกษาบางคนที่มนุษยสัมพันธ์ดีเป็นทุนเดิม หรือมีเพื่อนเรียนต่างสาขาในคณะวิจิตรศิลป์ ที่สามารถไปแฝงตัวเรียนรู้เข้าชมรมต่างๆ เป็นการส่วนตัวได้เอง

ดิฉันเคยปรารภเรื่องนี้กับคณาจารย์มีเดียหลายครั้ง ว่าพวกเราเอาความฝันอุดมการณ์ทั้งหมดทั้งมวลของตัวเองที่ต่อต้านการกดขี่ไปจับยัดใส่นักศึกษามากเกินไปหรือเปล่า

ความจริงแล้วพวกเขายังอยู่ในวัยที่ต้องการผูกสัมพันธ์กับเพื่อนต่างสาขาต่างคณะ แต่อาจารย์กลับมองว่าการร่วมกิจกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งไร้สาระ

เสียงสะท้อนจากนักศึกษาอีกกลุ่มที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนสาขามีเดียด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าขึ้นชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “คณะวิจิตรศิลป์” แล้ว ไม่ว่าสาขาไหนก็ตาม ก็คงเรียนแบบชิลๆ ทำตัวเซอร์ๆ ติสต์ๆ ไปวันๆ ขอให้เราเก่งแต่วาดภาพอย่างเดียวก็คงเอาตัวรอดได้แล้วกระมัง

คือคนกลุ่มนี้ต้องการเป็นศิลปินอิสระที่ไม่เอาโลกภายนอก ที่ไหนได้ มีเดียเป็นสาขาที่เอาเป็นเอาตายกับองค์ความรู้เชิงลึก เทคโนโลยีสมัยใหม่รอบตัว ยิ่งตอนทำวิทยานิพนธ์ หัวข้อต้องตอบโจทย์ประเด็นทางสังคมและสื่อที่นำเสนอต้องสอดคล้องกับเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นกลไกง่ายๆ หรือซับซ้อน ไม่ว่าจะใช้เทคนิคใหม่หรือเก่า

ขอเพียงอย่ามาขีดๆ เขี่ยๆ แล้วตั้งชื่องานว่า “จินตนาการไม่มีหมายเลข” หรือ “ความฝันที่ไร้ตัวตน” แบบชุ่ยๆ ไม่รับผิดชอบ

ด้วยเหตุนี้หัวข้อวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาแต่ละคนที่ดิฉันสัมผัสมา มักเข้มข้นคมคาย เน้นการทำงานเชิงวิพากษ์สังคมเป็นหลัก เช่น

“ทำไมคราฟต์เบียร์เกิดไม่ได้ในประเทศไทย” “กรณีธรรมกายถูกรังแก” “ผู้หญิงอ้วนกับสิทธิสตรีจอมปลอม” เป็นต้น

ที่ปูพื้นมาทั้งหมดนี้ น่าจะมีประโยชน์ต่อการมองภาพรวมของสาขามีเดีย ว่าทำไมนักศึกษาจึงกล้านำเสนองานวิทยานิพนธ์อย่างท้าทาย ถึงขั้นที่ว่าผู้บริหารระดับสูงของคณะต้องเต้นผาง

เชิญติดตามตอนต่อไป