ผี พราหมณ์ พุทธ : เทพกับการเมือง : พระรามที่เปลี่ยนไป / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

เทพกับการเมือง

: พระรามที่เปลี่ยนไป

 

รามายณะ เป็นเทวตำนานฮินดูที่แพร่หลายที่สุด ไม่เพียงแต่ในอินเดีย แต่กว้างไกลออกไปนอกอินเดียด้วย

เหตุเพราะว่า เรื่องราวของพระรามไม่เพียงแต่เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ตามคติโบราณ (ทำนองเดียวกับนิทานขอฝน)

แต่เพราะได้นำเสนออุดมคติของการปกครองและศีลธรรม ตั้งแต่ระดับปัจเจก ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับรัฐ

พูดง่ายๆ ว่าเป็นนิทานสถาปนาศีลธรรมของรัฐนั่นเอง

ผมคิดว่า ด้วยเหตุนี้ บ้านไหนเมืองไหนที่ก่อร่างสร้างตัวจากระดับเผ่าจนเป็นนครรัฐ หากรับศาสนาจากอินเดียก็ย่อมต้องการนิทานธรรมสำหรับสถาปนาศีลธรรมของรัฐหรือผู้ปกครองรัฐด้วย เพราะสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น และยังต้องสัมพันธ์กับนครรัฐอื่นๆ

รามายณะจึงได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะเนื้อหาเป็นเรื่องนี้โดยตรง

นอกจากนี้ รามายณะยังช่วยเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง (ซึ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วจากผี) ว่าผู้ปกครองนั้นเป็นพระรามาวตาร หรือรามาธิบดี มาปกครองบ้านเมืองโดยธรรม

 

ในอินเดียเอง การเกิดขึ้นของรามายณะ ได้สร้างมโนคติหลายอย่างทางศาสนา นอกเหนือจากการสถาปนาศีลธรรมข้างต้น เช่น แนวคิดเรื่องพระเจ้าองค์เดียวที่มีทั้งพระเดชานุภาพและมหาเมตตาธิคุณ โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ได้เข้ามาใกล้ชิดมวลมนุษย์ด้วยการอวตาร

ดังนั้น พระรามจึงได้ค่อยๆ กลายเป็นพระเจ้าสูงสุดที่มีภาพลักษณ์เปี่ยมล้นด้วยความกรุณา พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกคนในยามทุกข์ยากดังเช่นที่เล่าไว้ในตำนาน จนเกิดเป็นลัทธินิกายที่นับถือพระรามเป็นพิเศษ และส่งอิทธิพลไปยังแนวคิดภักติของฮินดู

ใครที่พระรามโปรดย่อมรอดพ้นจากทุกข์ในชีวิตนี้และในการเวียนว่ายตายเกิด ขนาดทศกัณฐ์เองก็ยังได้รับความหลุดพ้น เพราะตายด้วยน้ำมือพระราม

แม้แต่คำว่า “ราม” ยังกลายเป็นคำที่มีความหมายถึง “พระเจ้า” ดังที่ชาวฮินดูมักอุทานกัน หรือยามที่มหาตมะ คานธีสิ้นใจ ก็ได้เปล่งคำนี้ออกมาเป็นคำสุดท้ายของชีวิต

เชื่อกันในหมู่ผู้ภักติว่า “รามนาม” หรือนามแห่งพระรามนี้ มีพลานุภาพยิ่งใหญ่ อาจพาเราข้ามห้วงสาครแห่งวัฏสงสารได้ จึงถูกเรียกว่า “ตารกมนต์” แปลว่า มนต์ที่ช่วยให้ข้ามพ้นนั่นเอง

ในวิถีศาสนิกชาวบ้าน พระรามเป็น “ทยาลุ” พระเจ้าผู้มีพระทัยกรุณา หรือ “นิรพลเกพล” กำลังของผู้ไร้กำลัง “อนาถนาถ” ที่พึ่งของคนไร้ที่พึ่ง เป็นที่รักของสาวก เป็นพี่ชายแสนดีของน้อง เป็นบุตรที่ดีของบิดา-มารดา แม้ว่าอาจไม่ได้เป็นสามีที่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยก็รักเดียวใจเดียว และเป็นนายที่ดีของบ่าวคือหนุมาน

 

การสักการบูชาพระรามนับแต่อดีต รูปเคารพของพระรามตามเทวสถานต่างๆ จึงมักปรากฏคู่กับ “บริวาร” คือครอบครัวของพระองค์ มีพระนางสีดาเคียงข้าง แวดล้อมด้วยน้องๆ คือพระลักษมณ์ หนุมาน พระพรต และสัตรุด (สัตรุฆน์) โดยมีหนุมานประนมก้มกราบอยู่ด้วย

ในภาษาฮินดีเรียกรูปเคารพกลุ่มนี้ว่ารามดัรบาร์ (Ram Darbar) คำว่าดัรบาร์มาจากภาษาอูรดู ที่หมายถึงสภา หรือการออกขุนนาง รูปเคารพนี้จึงหมายถึงการที่พระรามออกขุนนางให้เฝ้า

พระรามอาจประทับยืนหรือนั่งบนบัลลังก์เคียงคู่พระนางสีดา แม้จะมีอาวุธแต่ก็มิได้หยิบมาใช้ เพียงวางหรือสะพายอยู่ด้านข้าง พระหัตถ์ของพระรามอาจอยู่ในท่าประทานความไม่กลัว (อภยมุทรา) หรือประทานพร สายตาอ่อนโยนมองมายังสาวกด้วยความเมตตา

นี่คือพระรามในสายตาศาสนิก ซึ่งมองเห็นพระรามเป็นเทวกษัตริย์ผู้เป็นกันเอง เป็นเพื่อนและเป็นสมาชิกของครอบครัวที่พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือกับพรให้เสมอ

 

ทว่าในสายตาของผู้ปกครองและนักการเมืองนั้น พระรามต่างออกไป

พระองค์เป็นตัวแบบของผู้ปกครองรัฐที่เข้มแข็ง เป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ ทรงไว้ซึ่งอาวุธมหานุภาพ พระองค์ฟาดฟันศัตรูอย่างเต็มกำลัง สังหารศัตรูชั่วร้ายให้หมดสิ้น

อาณาจักรและการปกครองของพระรามคือยุคทอง เรียกกันว่า “รามราชยะ” ดินแดนที่มีผู้ปกครองอันเที่ยงธรรม ไร้ซึ่งความทุกข์และความยากจน ศีลธรรมได้รับการปฏิบัติโดยถ้วนหน้า และแน่นอนว่าย่อมเป็นศีลธรรมแบบฮินดู

รามราชยะมักถูกโปรโมตในทางการเมืองฝั่งฮินดูชาตินิยมสมัยใหม่ คล้ายเป็นแนวทางอุดมคติของฮินดูเองที่ไม่ต้องนำเข้าจากฝรั่งหรือของใคร เป็นความใฝ่ฝันที่จะทำให้อินเดียสู่ยุคทองดั่งสมัยที่พระรามปกครอง

ด้วยมโนคติดังกล่าว รวมทั้งการนำพระรามเข้ามาเกี่ยวข้องการเมืองสมัยใหม่ รูปลักษณ์ของพระรามจึงพลอยเปลี่ยนไปด้วย

 

ในปี ค.ศ.1990 อัทวานี (L. K. Advani) นักการเมืองจากพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ซึ่งขานรับการเรียกร้องให้สร้างเทวสถานของพระรามบนพื้นที่มัสยิดบาบรีที่เมืองอโยธยา อันเชื่อว่าสร้างทับที่ประสูติพระราม ได้ดำเนินการรณรงค์ใหญ่ “รามรถยาตรา” ขบวนรถของพระรามพร้อมผู้ติดตาม จากวิหารโสมนาถในเมืองปุรี สู่เมืองอโยธยา

การรณรงค์ครั้งนั้นได้ก่อความตื่นตัวทั่วทั้งอินเดีย อัทวานีเดินทางไปพร้อมกับการปราศรัย ณ จุดพักต่างๆ ในระยะทางกว่าสามร้อยกิโลเมตร เนื้อหามีส่วนยุยงให้เกิดความรุนแรงโดยอาศัยความเชื่อทางศาสนา

ในที่สุดอัทวานีและคนร่วมขบวนการนับแสนคนโดนจับกุม ทว่าผู้ติดตามจำนวนเรือนหมื่นสามารถเดินทางจนถึงเมืองอโยธยาและพยายามเข้าทำลายมัสยิดบาบรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งในเมืองอโยธยาและจากการจลาจลทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก

ขบวนการดังกล่าวได้สร้างรูปลักษณ์ของพระรามขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการรณรงค์นี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่รามดัรบาร์ที่เคียงคู่สีดาและแวดล้อมด้วยพี่น้อง แต่เป็นพระรามผู้ยืนอย่างโดดเดี่ยว ท่วงท่าองอาจแบบนักรบ ยกธนูขึ้นเล็งไปข้างหน้า พร้อมจะยิงใส่ศัตรู สายตาแข็งกร้าวไม่เหลียวมองสาวกแต่อย่างใด

พระรามเช่นนี้ดูจะเหมาะกว่าสำหรับนักการเมืองสายชาตินิยมและฮินดูนิยม (ฮินดูตวะ) เหมาะแก่การรณรงค์ที่เข้มข้นรุนแรง ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม พร้อมที่จะไปยึดเอาสถานที่มีปัญหาจากคนมุสลิมกลับมาเป็นของชาวฮินดู

 

นับแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น รูปลักษณ์ของพระรามเช่นนี้ก็แพร่หลายไปในอินเดีย ซึ่งมีการใช้งานในเชิงสนับสนุนขบวนการหรือพรรคการเมืองชาตินิยมและศาสนนิยมมาโดยตลอด พระรามผู้อบอุ่นเปี่ยมกรุณากลับถูกขับเน้นด้านความเป็นนักรบผู้กล้าแทน

แม้แต่คำทักทายดั้งเดิม “ชัย สียาราม” “ขอพระรามและสีดาจงมีชัย” ถูกเปลี่ยนเป็น “ชัย ศรีราม” “ขอพระรามจงมีชัย” แทน ยิ่งขับให้ความสำคัญของพระรามองค์เดียวในภาพลักษณ์นี้มีมากขึ้นไปอีก

แม้พระรามจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบชาตินิยมและศาสนนิยมไปแล้ว ทว่าก็มีผู้พยายามนำพระรามกลับมาสู่ความสงบสันติและเปี่ยมกรุณาเช่นที่เคยเป็น

โมรารี บาปู (Morari Bapu) นักบุญยุคใหม่ผู้เป็น “กถากร” ผู้เล่ารามายณะแก่ผองชน ทั้งยังเป็นนักปฏิรูปสังคมและผู้ส่งเสริมสันติภาพ ได้สร้างอาศรมของท่านขึ้นในเมืองภาวนคร รัฐคุชราต

ในอาศรมนี้ท่านได้ประดิษฐานเทวรูปพระรามในแบบที่ต่างออกไปจากฝ่ายฮินดูนิยม

พระรามในเทวสถานประธานของอาศรม เป็นรามดัรบาร์เช่นเดียวกับแบบโบราณ ประทับนั่งแวดล้อมด้วยบริวาร มีพระนางสีดาเคียงข้าง มีน้องๆ และหนุมานแสดงความเคารพ

ทว่าสิ่งที่แปลกออกไปคือ เทวรูปทั้งหมดแต่งกายด้วยเสื้อผ้าง่ายๆ สบายๆ ปราศจากเครื่องประดับรุงรัง ทว่ายังมีมงกุฎประดับศีรษะอยู่พอให้รู้ว่าเป็นกษัตริย์หรือเทพ

ที่แปลกยิ่งกว่านั้นคือ เทวรูปทั้งหมดถูกปลดอาวุธออกไปจนหมด ไม่มีศรศิลป์ใดๆ พระรามและสีดาได้แต่แสดงอภยมุทราหรือท่ามือที่แสดงการปกป้อง (บ้างก็ว่าให้พร) เท่านั้น

และแม้แต่หนุมานเองก็ไม่มีคทาประจำตัวตั้งอยู่

โมรารี บาปู เห็นว่านี่คือแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าในโลกอนาคต พระเจ้าผู้แสดงให้เห็นถึงอุดมคติแห่งความรัก ความอดทนอดกลั้นและสันติ ซึ่งควรเป็นสิ่งสำคัญในคำสอนทางศาสนาฮินดูและเป็นหัวใจของสังคมมนุษย์

แม้รูปลักษณ์ดังกล่าวจะยังไม่แพร่หลาย แต่ด้วยอิทธิพลและชื่อเสียงของโมรารี บาปู จึงน่าจะทำให้เกิดการฉุกคิดขึ้นมาในวงกว้าง

ดังนั้น ในคราวหน้าผมจะขอโอกาสเล่าถึงโมรารี บาปู ซึ่งผมได้เคยมีโอกาสพบท่าน เพราะท่านเคยมาเยือนเมืองไทย

ว่านักบุญท่านนี้มีอะไรที่น่าสนใจ

โปรดติดตาม