On History : กระสุนยาง ประวัติศาสตร์การกลบเกลื่อนความรุนแรง ในนามของการรักษาความสงบ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

กระสุนยาง

ประวัติศาสตร์การกลบเกลื่อนความรุนแรง

ในนามของการรักษาความสงบ

 

กระสุนยาง ถูกประดิษฐ์ขึ้นภายใต้คำอธิบายที่ให้ภาพสวยหรูว่าเป็น “อาวุธที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต” (nonlethal pacification) มาตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการนำมาใช้ควบคุมฝูงชนแล้วนะครับ

โดยแต่เดิมกระสุนยางนั้นถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการเป็นลูกกระสุนสำหรับฝึกหัดยิงปืน และใช้ในการควบคุมสัตว์

ส่วนการประท้วงที่มีการนำกระสุนยางมาใช้เป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นโดยคำสั่งของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อเข้าปราบปรามการชุมนุมอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชาตินิยมหัวรุนแรงที่ไอร์แลนด์เหนือ เมื่อเรือน พ.ศ.2513

แต่ไม่ว่าจะพยายามสร้างภาพให้ดูไม่รุนแรงอย่างไรก็ไม่สามารถปิดบังความจริงที่ว่า การใช้กระสุนยางภายใต้ข้ออ้างของความสงบในครั้งนั้นก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตอยู่ดี

และผู้เสียชีวิตคนแรกของการใช้กระสุนยางเพื่อควบคุมฝูงชนในครั้งนั้น ยังเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 11 ขวบอีกด้วย

 

เด็กน้อยผู้ตกเป็นเหยื่อของกระสุนยางในครั้งนั้นมีชื่อว่าฟรานซิส รอว์นทรี (Francis Rawntree) ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมประท้วงอะไรกับใครเขาหรอกนะครับ เขาแค่กำลังเดินกลับบ้าน และก็ถูกลูกหลงจากหนึ่งในบรรดาห่ากระสุนยางเข้าเท่านั้นเอง

มีรายงานว่า นอกจากเจ้าหนูรอว์นทรีผู้โชคร้ายแล้ว การใช้กระสุนยางเพื่อควบคุมฝูงชนที่ไอร์แลนด์เหนือในครั้งนั้นยังคร่าไปอีก 2 ชีวิต และนี่ยังไม่นับรวมบรรดาผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้ทางการของสหราชอาณาจักรต้องกลับมาทบทวนว่า ยังควรใช้กระสุนยางในการควบคุมฝูงชนอีกหรือไม่?

และวิธีแก้ปัญหาที่พวกเขาเลือกใช้ก็คือ การเปลี่ยนจากการใช้ “กระสุนยาง” มาเป็น “กระสุนพลาสติก” แทน

 

เมื่อแรกที่รัฐบาลของสหราชอาณาจักรเลือกที่จะใช้กระสุนยางเพื่อเข้าควบคุมฝูงชนนั้น พวกเขาได้ประเมินเอาไว้ว่า ถ้าหากไม่ยิงสูงกว่าระดับเอวของมนุษย์ขึ้นมานั้นก็จะไม่ทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต

แต่สภาพความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ในระหว่างการควบคุมฝูงชนนั้น พวกเขามักจะต้องสาดกระสุนใส่ผู้คนในระยะประชิด

และการที่ต้องยิงลูกกระสุนในระดับที่ต่ำกว่าเอวเช่นนี้ ก็มักจะทำให้กระสุนยางแฉลบกับพื้นจนไม่สามารถควบคุมวิถีกระสุนได้ ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งการเซ่นสังเวยชีวิตของผู้คนไป 3 ศพอย่างที่ผมได้บอกไปแล้วนั่นแหละ

พวกเขาจึงได้พัฒนา “กระสุนพลาสติก” ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับกระสุนยางคือ เป็นอาวุธที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่พัฒนาให้สามารถยิงใส่เป้าหมายได้โดยตรง และมีความเสี่ยงที่กระสุนจะแฉลบกับพื้นหรือวัตถุอื่นๆ น้อยกว่ากระสุนยางขึ้นมา

แต่พวกเขากลับลืมคิดไปเสียสนิทเลยว่า (อย่างน้อยพวกเขาก็อ้างอย่างนั้น) การที่กระสุนยังคงมีลักษณะเป็นรูปทรงคล้ายกระบอง (baton) นั้นก็สามารถคร่าชีวิตของผู้คนไปได้อยู่เช่นเดิม กระสุนพลาสติกที่ว่านี้ จึงมีอันตรายไม่ต่างอะไรกับกระสุนยางอยู่นั่นเอง

 

พยานยืนยันในเรื่องนี้เห็นได้จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากทั้งกระสุนพลาสติก และกระสุนยางในการควบคุมฝูงชนในไอร์แลนด์เหนือ จากกรณีขบวนการชาตินิยมหัวรุนแรง ที่ยังคงมีอยู่อย่างสืบเนื่องในช่วงสมัยดังกล่าว ระหว่าง พ.ศ.2518-2532 ที่มีมากถึง 17 ชีวิต

และหลายศพในนั้นก็ยังเป็นเพียงเยาวชน ที่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเพียงผู้เคราะห์ร้ายเข้ามาโดนลูกหลงเช่นเดียวกับหนูน้อยรอว์นทรีอีกด้วย

แน่นอนว่านี่ยังไม่นับรวมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกเป็นจำนวนมหาศาล จากจำนวนของทั้งกระสุนยางและกระสุนพลาสติก ที่มีการคำนวณกันว่า ถูกใช้ไประหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมากกว่า 120,000 นัดเลยทีเดียว

 

แต่อันที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ของความพยายามที่จะ “กลบเกลื่อนความรุนแรง” จากการใช้ “กระสุนปืน” ในนามของการรักษาความสงบนั้นไม่ได้เพิ่งจะมาเริ่มเกิดขึ้นเอาเมื่อครั้งที่เริ่มมีการเข้าปราบปรามการชุมนุมอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชาตินิยมหัวรุนแรงที่ไอร์แลนด์เหนือหรอกนะครับ

โดยถ้านับเฉพาะในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรนั้น อย่างน้อยก็มีมาเกือบสองร้อยปีแล้วโน่นเลย

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตำรวจของสหราชอาณาจักรได้ประดิษฐ์ “กระสุนไม้” ขึ้น โดยที่มีไอเดียคล้ายๆ กระสุนยาง และกระสุนพลาสติกในปัจจุบัน

คือเป็นอาวุธที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต โดยเจ้ากระสุนไม้เหล่านี้ถูกออกแบบมาใช้ยิงแฉลบจากพื้นเพื่อโดนที่อวัยวะส่วนล่างของเป้าหมาย

ไม่มีรายงานว่าเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติจริงแล้ว เคยมีใครเสียชีวิตจากกระสุนไม้ที่ว่านี้ เช่นเดียวกับกระสุนยางและกระสุนพลาสติกหรือเปล่า?

แต่ถ้ามีก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยสักนิด ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีในสมัยโน้นก็ไม่น่าจะควบคุมวิถีกระสุนได้ดีกว่าในช่วงที่มีการควบคุมฝูงชนในยุคนี้

 

สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็คือ บรรดากระสุนปืนทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่ใช่ “อาวุธ” เพียงชนิดเดียวที่ถูกนำมาใช้ในการกลบเกลื่อนความรุนแรงในนามของการรักษาความสงบ

“แก๊สน้ำตา” ที่เราเห็นว่าถูกใช้กันบ่อยๆ ในการควบคุมฝูงชนนั้น อันที่จริงแล้วมีรากฐานมาจากกลยุทธ์ในการสงครามในสนามเพลาะ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมันก็อันตรายเสียจนถูก “แบน” คือห้ามใช้ในการสงครามระหว่างประเทศในช่วงนั้น แต่เจ้าแก๊สน้ำตาที่ว่านี่กลับถูกตำรวจนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชนและการจลาจลต่างๆ ในช่วงเวลาเดียวกันมันเสียอย่างนั้น

ถึงแม้จะมีคำอ้างว่า แก๊สน้ำตาที่ใช้ในการสลายการชุมนุมทุกวันนี้จะไม่มีสารพิษเจือปน แต่ก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ว่า ฤทธิ์ของมันก็ทำให้น้ำหูน้ำตาไหล ไอ อาเจียน รวมถึงชวนให้สลบเหมือดเอาง่ายๆ

ขึ้นชื่อว่า “อาวุธ” แล้ว คงจะไม่มีอาวุธอะไรที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตหรอกนะครับ สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดก็คือการนำอาวุธเหล่านี้มาใช้โดยอ้างการรักษาความสงบกับผู้คนในประเทศของตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนเหล่านั้นก็คือเยาวชน คือลูกหลานในชาติ ของคนที่สาดห่ากระสุนเหล่านี้เข้าใส่พวกเขานั่นเอง