ผี พราหมณ์ พุทธ : เดินทะลุฟ้า / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

เดินทะลุฟ้า

 

นักเดินภาวนาอย่างอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ กล่าวว่า การเดินช่วยให้เราพินิจพิเคราะห์ตนเองในขณะที่เรากำลังเดิน ซึ่งผิดกับวิธีเดินทางแบบอื่น เพราะการเดินช่วยให้เรากลับมาอยู่กับกายใจของเราโดยธรรมชาติ

นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสได้สัมผัสกับเพื่อนมนุษย์ที่เราพบเจอระหว่างทางด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น

เราคงได้เห็นว่าอาจารย์เดินด้วยเท้าไปไกลแค่ไหน ทั้งในโลกกายภาพหรือโลกทางจิตภาพ ไม่ว่าเราจะรู้สึกหรือคิดอย่างไรต่ออาจารย์

ในภาษาไทย เราใช้คำว่า “เดินทาง” ในความหมายถึงการไปจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือจะหมายถึงการท่องไปก็ได้

น่าสนใจว่าแม้เราจะมียวดยานพาหนะใช้กันแล้ว คำว่า “เดิน” ซึ่งเป็นกิริยาอาการของ “ตีน” โดยเฉพาะ ก็ยังใช้อยู่ในคำว่าเดินทาง แม้ว่าเราอาจขับรถหรือนั่งเครื่องบินไป

คงเพราะการเดินด้วยตีนเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดของการเดินทางแห่งมวลมนุษย์ และประทับรอยฝังจำตลอดมา

 

ในมิติของความรู้

ขงจื่อนักปรัชญาเอกของจีนนั้น เห็นการเดินทางเป็นการออกไปศึกษาหาความรู้

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ขงจื่อมิได้เดินทางในความหมายของการท่องไปในโลกของความรู้ความคิดเท่านั้น

ทว่ายังเดินทางจริงไปยังแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อชวนผู้คนมาสนทนาหรือชวนมาท่องไปในโลกของความรู้ด้วยกัน

จวงจื่อจอมปราชญ์ไปไกลกว่านั้น เขากล่าวว่า หากเราจะเดินทางเพียงป่าใกล้บ้าน เอาอาหารไปมื้อเดียวก็พอ

แต่หากจะต้องเดินทางนับร้อยนับพันลี้ก็ต้องเตรียมตัวเป็นเดือนๆ

หมายความว่า การเดินทางไปสู่อิสรภาพแห่งมนุษย์ที่แท้ ไปสู่ “ความเป็นเช่นนั้น” ของเต๋าอันไพศาล

เพียงแค่การสั่งสมความรู้ กฎเกณฑ์ ศีลธรรมอย่างเช่นที่ท่านขงจื่อทำ คงไม่เพียงพอต่อการลุถึงเป้าหมายอันสูงส่งกว่าการสร้างสังคมที่มีมนุษยธรรม

ทว่าเราต้องตระเตรียมพื้นที่ของจินตนาการของการปลดปล่อยและอารมณ์ขันเพื่อจะเดินทางไปได้ไกลกว่านั้น

 

พระพุทธะก็นับว่าเป็นนักเดินทางด้วยเท้าคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง

ในสมัยพุทธกาล ยวดยานพาหนะก็มีอยู่ แต่ทว่าพระองค์และหมู่สาวกต่างเลือกที่จะใช้การเดินเท้าจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง

การเดินช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและหมู่สงฆ์ การถามไถ่ด้วยความสงสัยก็เกิดขึ้น และช่วยเปิดไปสู่ประตูใหม่ๆ ของความเป็นไปได้

ลูกคุณแม่สารีกลายมาเป็นพระสารีบุตรอัครสาวก ก็เพราะพระอัสสชิเดินผ่านมาและทั้งคู่ได้สนทนากันสั้นๆ

ผู้คนมากมายได้กลายเป็นอริยบุคคล เพราะ “การเดินท่องไปเพื่อประโยชน์และความสุข” ของพระพุทธะและเหล่าสาวก

ในอินเดีย การเดินเป็นวิถีที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชและศาสนิกทุกศาสนา

เราเรียกวิธีการนี้ว่า “ปทยาตรา”

การเดินปลดปล่อยนักบวชจากพันธะของชีวิตฆราวาส แทนที่จะวางตัวเองไว้ในบ้านเรือนที่มีหลักแหล่ง กลับเดินไปสู่ความไม่แน่นอนและความไม่สุขสบาย

ที่จริงในทุกศาสนาก็ล้วนใช้การเดินเพื่อเข้าสู่สภาวะแห่งการภาวนา การใช้โทษบาป การแสวงหาความจริง การพินิจตรึกตรอง ฯลฯ มีเส้นทางแสวงบุญมากมายที่มนุษย์จะต้องเดินด้วยศรัทธาทีละก้าวๆ

จนกว่าจะลุถึงเป้าหมายทั้งทางกายและใจ

 

ผมมีความประทับใจว่า พุทธศาสนายุคต้น ในสมัยที่ยังไม่มีการบูชาพระพุทธรูปนั้น เขาบูชา “พระพุทธบาท” กัน กราบไหว้และเคารพดุจรูปพระศาสดา

ความล้ำลึกแห่งการเคารพพุทธภาวะที่สำแดงด้วยรอยเท้าหรือสัญลักษณ์อื่นๆ โดยปราศจากตัวพุทธะเองช่างน่าอัศจรรย์

เพราะชวนให้เรามองเห็นความเป็นพุทธะที่มิใช่ตัวมิใช่ตน แต่เป็นร่องรอยเท้าที่พระพุทธะทิ้งเอาไว้

แม้จะทิ้งไว้จริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะที่ใดที่มโนคติแบบพุทธศาสนาไปถึงย่อมมีรอยพระบาทปรากฏอยู่

รอยพระบาทนั้นย้ำเตือนเราว่า มีใครหลายคนเคยเดินทางบนหนทางแห่งการสละตน หนทางความรักในเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ แม้ไกลแสนไกลคนผู้นี้ก็ยังมาถึงและทิ้งร่องรอยเอาไว้ รอยเท้านี้จึงเชื้อชวนให้เราเดินทางไปด้วยกันในเส้นทางของความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์

มหาตมะคานธี เป็นอีกหนึ่งนักเดินที่แสนทรหด เขาประสานเอาการเดินจาริกในวัฒนธรรมฮินดูมาใช้ในการเรียกร้องทางการเมือง ผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนเดินไปยังทะเล ทำเกลือเพื่อต่อต้านกฎหมายของเจ้าอาณานิคม

แม้การลุถึงทะเลจะเป็นจุดหมาย แต่ในระหว่างทางก็ได้ปลุกกระแสสำนึกและความสนใจแก่ผู้คนไปด้วย และตัวท่านมหาตมะเองก็คงเห็นเป็นรูปแบบหนึ่งของการฝึกฝนตนทางศาสนา

ในบ้านเราเองก็มีการเดินที่ประสานมิติทางศาสนากับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง เช่น ธรรมยาตราของหลวงพ่อคำเขียน ซึ่งท่านพระไพศาลก็ได้สืบต่อมา

 

ที่ผมเล่าถึง “การเดิน” มายืดยาวในทางศาสนาและจิตวิญญาณนั้น ด้วยมีการเดินทางเพื่อเรียกร้องทางการเมืองที่ใช้นามว่า “เดินทะลุฟ้า” นำโดยไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อไผ่ ดาวดิน

เดินทะลุฟ้า เดินทางมาจากโคราชถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร ใช้เวลา 17 วัน สิ้นสุดในวันที่ 7 มีนาคม มีข้อเรียกร้องหลักๆ คือ ปล่อยเพื่อนเรา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยกเลิกมาตรา 112

แม้มีผู้ร่วมทางไม่มาก แต่ตลอดการเดินทางก็มีผู้ให้กำลังใจ ถามไถ่ ซึ่งนั่นเป็นโอกาสที่นักเดินทางเหล่านี้จะได้สร้างความเข้าใจต่อข้อเรียกร้องมากขึ้น

ที่ผมสนใจก็เพราะเหตุใดไผ่จึงเลือกใช้วิธีการนี้ ท่ามกลางกระแสที่บางกลุ่มเรียกร้องให้ยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นขึ้น รุนแรงและแข็งกร้าวขึ้น

ผมคิดเอาเองว่า ไผ่คงคุ้นเคยกับตัววิธีการ เพราะเขาเคยเข้าร่วมเดินธรรมยาตรากับพระไพศาล (และก็โดนจับขณะเดินธรรมยาตรา) และคงเห็นว่าเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับผู้คนที่หลากหลาย

เป็นการยืนยัน “สันติวิธี” ที่ไผ่พูดมาตลอดอย่างเป็นรูปธรรม

สันติวิธีไม่ได้แปลว่าต้องสงบเย็นอย่างเดียว แน่นอนว่าสันติวิธีย่อมก่อกวนใจต่อผู้มีอำนาจ แต่ไม่ทำร้ายชีวิตและสิทธิของผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็อาจชี้ชวนหรือก่อกวนให้สังคมหันมาสนใจหรือตั้งคำถามได้ด้วย

เดินไปไหน เดินทำไม ทำไมต้องทะลุฟ้า แล้วเราจะเดินไหม หรือเราจะคิดยังไง ฯลฯ

นอกจากนี้ ผมว่ามันมีมิติทางจิตวิญญาณไม่ต่างกับเดินจาริกทางศาสนา เผลอๆ จะมีความเข้มข้นในหลายระดับกว่า แค่เพียงนึกว่าตนเองต้องมาเดินท่ามกลางแดดร้อนแผดเผาบนถนนเส้นหลัก นอนกลางดินกินกลางทรายเพื่อเรียกร้องอะไรที่ไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะตน นี่ก็จิตวิญญาณสูงส่งแล้วครับ

ขณะที่ต้องรักษาความสงบและสมดุลของกายใจเพื่อจะเดินไปให้ถึงเป้าหมาย ก็ต้องระลึกถึงข้อเรียกร้องและส่งเสียงให้ข้อเรียกร้องดังไปถึงคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

 

การเดินทะลุฟ้าครั้งนี้ จึงมีคนหลากอาชีพหลายวัยเข้าร่วม และมีพระภิกษุสองรูปร่วมเดินทางไปด้วย ผมชอบภาพนี้มาก เพราะนี่คือสิ่งที่พระตั้งแต่สมัยพุทธกาลทำ คือท่องไปเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่น

การจาริกเช่นนี้จะไม่ใช่ประโยชน์และความสุขของผู้อื่นได้อย่างไร เพราะข้อเรียกร้องดังกล่าว หากสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้คนอีกมาก

และยังได้สละความยึดมั่นในตัวตนที่จะแสวงหาเฉพาะความสงบสุขส่วนตัว มาสู่การทำเพื่อสังคมผ่านการจาริกในป่าปูนกับคนทุกข์คนยากอีกมาก

ที่สำคัญ แม้วิธีการเช่นนี้จะไม่หวือหวา แต่ผมพบว่ามันเป็นหนทางในการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ถ้าเข้าใจก็ได้มอบกำลังใจแก่กันในเวลาสิ้นหวังเช่นนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็อาจเข้ามาถามไถ่พูดคุยกันได้ อย่างที่ทราย เจริญปุระ หนึ่งในผู้ดำเนินการ ให้สัมภาษณ์ว่า

การเดินเช่นนี้เป็นการ “ขยาย” การรับรู้มากกว่ายกระดับ

 

ผมจึงอยากจะแสดงความคารวะต่อไผ่ และทุกคนที่ร่วมการเดินทะลุฟ้าตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน

แม้ตอนนี้ไผ่จะถูกกักขังอิสรภาพไปแล้ว แต่เยาวรุ่นคนนี้มีหัวใจยิ่งใหญ่ขนาดไหน ทำด้วยทองเนื้อแท้หรืออย่างไร ผมสงสัยเหลือเกิน ตัวเองโดนจับยังส่งยิ้มให้กำลังใจคนข้างหลัง ยังฝากฝังการงานเพื่อนคนอื่นให้ทำกันต่อ

ยังพยายามย้ำเตือนและท้าทายเราด้วยประโยคว่า ตอนคนน้อยเราก็สู้ ตอนคนเยอะเราก็สู้

ตราบใดที่เราเป็นคนอยู่

เราจะสู้