ปริศนาโบราณคดี : ใครคือ ‘เจ้าดวงดอกไม้’ ในบทเพลงของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ใครคือ ‘เจ้าดวงดอกไม้’

ในบทเพลงของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’?

 

หล่อนเตียวเดินออกห้วยภูผา          ข้าล่องตวยมาเข้าดงป่าไม้

ดีดซึงขับเพลงหัวอกฮ่ำไห้             ส่ง “เจ้าดวงดอกไม้ไปเป็นเมียนาย”

ขบวนล้อเกวียนเป็นเส้นเป็นสาย     บนหินดินทรายเป็นฮอยฮ่องกว้าง

จะต้องไปไกลห่างในวันนี้แล

 

โอ้แม่ญิงเอยเจ้าแก้วดวงตา           ข้าเขียมปัญญาข้ามันต่ำต้อย

บ่เทียมเจ้านางสักเท่าเกิ่งก้อย        วาสนาข้าน้อยบ่มีสีมีเงิน

สดับเสียงซึงข้าเจ้าสรรเสริญ         หื้อม่วนใจเพลินบ่ดีฮ่ำไห้

จะเป็นลมเป็นไข้ฟังคำไว้เนอ

 

แม่ญิงเฮยออกเฮือนมีผัว               เวียกการงานครัวหื้อดีอวดได้

ฮิหาเก็บฮอมถ่อมตัวนอบไว้ (ไหว้?)  ฮู้จักกินจักใช้ฮักษาเงินออน

บ่นอนก่อนผัวแจ้งมาตื่นก่อน         บ่เชื่อคำบอนปากคนนอกบ้าน

บ่สะลิดจิตส้านโบราณว่าไว้

 

เด่นดวงเดือนแจ่มจ้าเวหน            สายลมบนพัดเย็นเยือกแล้ว

หอมดอกคะยอมเจ้าดวงดอกแก้ว   เสียงไก่ขันแล้วข้าขออำลา

อยู่บุญค้ำจุนอยู่บุญฮักษา            “ลืมสีคำมา” ขี้ข้าต่ำใต้

จะยินดีฮ่ำไห้คนเดียวแล้วเนอ

 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ที่งานบุ๊กแฟร์เชียงใหม่ ณ เซ็นทรัลฮอลล์ สาขาแอร์พอร์ต ได้มีการจัดงาน “จรัลรำลึกในวาระครบรอบ 19 ปีที่จากไป”

หัวข้อเสวนาวันนั้นคือ “เพลงอดีตกรีดตำนาน” วิทยากรทั้งสามคนเป็นชาวเมืองแพร่ ประกอบด้วย คุณสายกลาง จินดาสุ “นักร้อง-นักโบราณคดี” คุณชัยวุฒิ ไชยชนะ-พัฒนากร และอาจารย์ภูเดช แสนสา-นักประวัติศาสตร์ล้านนา

หนึ่งในบทสนทนาที่น่าสนใจยิ่ง คือการที่คุณสายกลางได้ตั้งคำถามต่ออาจารย์ภูเดชว่า “ใครคือเจ้าดวงดอกไม้” มีตัวตนจริงๆ หรือไม่?

ฤๅ “จรัล มโนเพ็ชร” ผูกร้อยบทเพลงแนวบาลาดตามที่ตนถนัดขึ้น นำเสนอฉากสมมุติของความรักร้าวรันทดที่ไม่สมหวัง ล้อกับเพลง “มะเมียะ” ซึ่งฝ่ายหญิงต่ำต้อยกว่าชาย

ทว่าในเพลงเจ้าดวงดอกไม้ ฝ่ายชายหมายปองหญิงสูงศักดิ์ บางทีจรัลอาจไม่ได้อิงประวัติศาสตร์เหตุการณ์จริงของใครเลยก็เป็นได้

ภูเดช แสนสา นักวิชาการรุ่นใหม่แถวหน้าของแวดวงล้านนาศึกษา กำลังเรียบเรียงเรื่องราวของ “เจ้าหลวงลำปาง” อยู่พอดี ได้ตอบคำถามประเด็นนี้ว่า

ฟังเพลงเจ้าดวงดอกไม้แล้ว พบว่า “มีกลิ่นอาย” บางอย่างที่ไปสอดคล้องกับ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงสองเหตุการณ์” ในหน้าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความรักของเจ้าหลวงลำปาง 2 องค์ จึงขอนำมาเทียบเคียงให้ผู้ฟังพอเห็นภาพ

และลองจินตนาการ ปะติดปะต่อเอาเองว่า เรื่องที่เขาจักเล่าต่อไปนี้พอจะมีเค้าโครงหรือกลิ่นอายของความเป็น “เจ้าดวงดอกไม้” กับ “นายสีคำมา” (ซึ่งทั้งคู่เป็นนามสมมุติ) ได้บ้างหรือไม่

 

เจ้านางศรีสุวรรณเกี๋ยงคำ

กับองครักษ์หมื่นพันตอง

เหตุการณ์แรกที่อาจารย์ภูเดชนำเสนอนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2364 พงศาวดารหลายฉบับได้ระบุถึงการส่งธิดาของเจ้าฟ้าเชียงตุง (เจ้ากระหม่อมเชียงตุง) ให้มาเป็น “อัครชายา” ของเจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)

เจ้าหลวงองค์นี้คือพระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ ส่วนเจ้านางเชียงตุงที่ถูกส่งมาชื่อ “ศรีสุวรรณเกี๋ยงคำ” (บางเล่มใช้แค่ “สุวรรณเกี๋ยงคำ”)

เอกสารเกือบทุกเล่มไม่ระบุชัดว่านางเป็นธิดาของเจ้าฟ้า (หรือเจ้ากระหม่อม) เชียงตุงองค์ใด อนึ่ง คำว่า “เจ้ากระหม่อม” นี้เป็นคำเรียกกลางๆ คล้ายกับคำว่า “เจ้าเหนือหัว” “เจ้าแผ่นดิน” หรือ “เจ้ามหาชีวิต” หาใช่นามเฉพาะไม่

พิจารณาจากพุทธศักราช 2364 เป็นช่วงที่เจ้าฟ้ามหาขนาน (ดวงแสง) กำลังปกครองเมืองเชียงตุงอยู่พอดี อาจารย์ภูเดชจึงเชื่อว่าเจ้านางศรีสุวรรณเกี๋ยงคำ น่าจะเป็นธิดาของเจ้าฟ้ามหาขนาน

อย่างไรก็ดี อาจารย์มงคล ถูกนึก นักประวัติศาสตร์ลำปาง กล่าวไว้ในหนังสือ “ไทยวน คนเมือง แห่งลุ่มแม่น้ำวัง” ถึงเหตุการณ์พิธีอภิเษกสมรส “แบบพิสดาร” ระหว่างเจ้าหลวงหอคำดวงทิพย์กับเจ้านางสุวรรณเกี๋ยงคำ ธิดาเจ้ากระหม่อมเชียงตุงซึ่งมีขึ้นในปี 2366 นั้น (ศักราชเหลื่อมกันกับที่อาจารย์ภูเดชค้นคว้า 2 ปี) ว่ามีเงื่อนงำข้อสงสัยอย่างน้อย 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เจ้ากระหม่อมเชียงตุง ผู้เป็นพระบิดาของเจ้านางฯ นี้ควรเป็นใครกันแน่?

อาจารย์มงคลเห็นว่า เจ้ากระหม่อมองค์นี้ควรเป็น “เจ้าฟ้าเมืองสาม” ผู้เป็นพระบิดาและปกครองนครเชียงตุงมาก่อนโอรสทั้งสองคือ เจ้าฟ้ากองไตย และเจ้าฟ้ามหาขนาน ดังนั้น เจ้านางสุวรรณเกี๋ยงคำจึงมีศักดิ์เป็นน้องสาวของเจ้ามหาขนานมากกว่า ไม่ใช่ราชธิดา

กับอีกประเด็นหนึ่ง ปี 2366 เจ้าหลวงหอคำดวงทิพย์มีอายุถึง 75 ชันษาแล้ว (ของอาจารย์ภูเดชระบุปี 2364 เจ้าหลวงดวงทิพย์อายุ 73 ชันษา) เป็นไปได้ละหรือที่เพิ่งจะมีการอภิเษกสมรสกับธิดาเชียงตุงในวัยชราเช่นนี้? ศักราชที่ระบุอาจคลาดเคลื่อน ช้าไปจากเหตุการณ์จริงประมาณ 2 ทศวรรษก็เป็นได้

เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการชำระความถูกต้องของศักราชและวงศ์วานว่านเครือเชื้อเจ้าฟ้าเชียงตุงนี้ ขอละไว้เป็นโจทย์ให้นักประวัติศาสตร์ทำการสืบค้นหาหลักฐานกันต่อไป

ย้อนกลับมาสู่บทเพลงท่อนที่ว่า “ขบวนล้อเกวียนเป็นเส้นเป็นสาย” อาจารย์ภูเดชมองว่า ขบวนที่มาส่งเจ้านางศรีสุวรรณเกี๋ยงคำนั้นต้องเป็นขบวนที่อ่าโอ่มโหฬารยิ่ง ชนิดที่ว่าจากหัวแถวถึงหางแถวต้องชะเง้อมองกันจนสุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว

เมื่อขบวนผ่านพ้นไปในแต่ละจุด ยังคงทิ้งร่องรอยของช้างม้าเกวียนฟุ้งตลบทั่วปฐพีที่ย่ำไป ยาว ลึกและกว้าง ดังบทเพลงที่พรรณนาว่า “บนหินดินทรายเป็นฮอยฮ่องกว้าง”

ให้ผู้อ่านนึกถึงภาพของละครเรื่อง “รากนครา” ตอนส่งเจ้าหญิงมิ่งหล้าไปเมืองมัณฑ์

สิ่งที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษคือ ขบวนเสด็จของเจ้านางศรีสุวรรณเกี๋ยงคำนี้มีองครักษ์ผู้หนึ่งติดตามมาด้วย ทำหน้าที่คอยเฝ้าถวายอารักขา ชายผู้นี้ชื่อ “หมื่นพันตอง”

อาจารย์ภูเดชมิได้ยืนยันว่าคนทั้งสองมีใจปฏิพัทธ์ต่อกันและกันหรือไม่อย่างไร เพียงแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีตัวละครจริงในประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้เด่นๆ อยู่สองตัวละครหลักคือ 1.เจ้านางศรีสุวรรณเกี๋ยงคำ ธิดาเจ้าฟ้าเชียงตุง 2.องครักษ์หมื่นพันตอง

ทันทีที่ขบวนส่งเจ้าสาวจากเชียงตุงมาถึงนครลำปาง ณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง องครักษ์หมื่นพันตองก็จำต้องหยุดติดตามเจ้านางเพียงแค่นั้น ไม่อาจตามไปส่งถึงอีกฟากฝั่งได้

ด้วยพระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ได้ส่งเสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ให้ไปรับเจ้านางฯ จากฝั่งตะวันตกข้ามน้ำแม่วังมายังฝั่งตะวันออก จากนั้นให้นำเจ้านางฯ ไปถวายแด่เจ้าหอคำดวงทิพย์ ณ คุ้มหลวงลำปาง

องครักษ์หมื่นพันตองยังคงประวิงเวลาที่จะไม่กลับไปเชียงตุง

สมัยอยู่เชียงตุง หมื่นพันตองเคยบวชเรียนและฝึกคาถาอาคมอย่างแก่กล้า จนกลายเป็น “คนข่าม” สามารถสะกดเมฆหมอกให้มัวมนบดบังตะวันได้ จึงมีอีกชื่อว่า “หนานหมอกมุงเมือง” เจ้าหอคำดวงทิพย์เห็นว่าหมื่นพันตองเป็นคนมีฝีมือจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพเอกชื่อ “แสนโกฏิเมฆ”

เมื่อหมื่นพันตองสิ้นชีพไป ได้มีการอัญเชิญดวงวิญญาณไปสถิตที่ “หออะม็อก” (ป้อมปราการหอรบสำหรับวางปืนใหญ่) กลายเป็นหนึ่งในอารักษ์องค์สำคัญของนครลำปางชื่อ “เจ้าพ่อหมอกมุงเมือง” ต้นสกุล “ไชยนิลพันธุ์”

อาจารย์ภูเดชตั้งข้อสังเกตว่า ธิดาของเจ้าฟ้ามหาขนานอีกองค์คือเจ้านางบัวเที่ยง เป็นบรรพบุรุษสายตรงของ “จรัล มโนเพ็ชร” อาจเป็นไปได้ว่า ทายาทของเจ้านางบัวเที่ยงได้เล่าเหตุการณ์การส่งตัวของเจ้านางศรีสุวรรณเกี๋ยงคำมานครลำปางสืบต่อกันมา จนถึงรุ่นของจรัล มโนเพ็ชร

 

ฤๅจะเป็นเจ้าแม่สุขแห่งบ้านปงสนุก

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่อาจารย์ภูเดชนำเสนอว่า มีฉากอลังการของขบวนช้างหลายเชือกที่เดินทางไปรับ-ส่งตัวเจ้าสาวมาถวายให้แด่เจ้าหลวงนครลำปางอีกองค์หนึ่งจริง ก็คือ

เหตุการณ์ในสมัยเจ้านรนันท์ไชยชวลิต (บ้างเขียน “เจ้านรนันต์ชัยชวลิตวรวุธ”) ชาวลำปางเรียกย่อๆ ว่า “เจ้าหลวงนอ” เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 10 (บางตำราว่าองค์ที่ 9) ยุคของท่านได้มีการส่งเจ้านายระดับสูงพร้อมเสนาอำมาตย์ไปเจรจาสู่ขอสตรีนางหนึ่งที่ “บ้านปงสนุก” ชื่อ “เจ้านางสุข” (เป็นสตรีที่มีเชื้อสายเจ้าด้วยเช่นกัน) ต่อมาสถาปนาเป็น “เจ้าแม่สุข” หรือ “แม่เจ้าสุข”

เจ้านายผู้ใหญ่ที่เจ้าหลวงนอส่งไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอเจ้านางสุขมาเป็นชายานั้น ได้มอบทองคำ เงิน แก้วแหวนอัญมณีให้แก่บิดา-มารดาของฝ่ายหญิงเป็นของหมั้น จากนั้นรับว่าที่เจ้าสาวมายัง “หอมุก” เป็นหอชั่วคราวตั้งอยู่ด้านหน้าหอคำหลวง เพื่อนำเจ้านางสุขไปผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย

จากนั้นมีพระผู้ใหญ่ทำพิธีประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ปัดเป่าเสนียดจัญไร เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงนำเจ้านางสุขไปถวายตัวให้เจ้าหลวงนอที่หอคำหลวง

ขบวนช้างอันอลังการครั้งนี้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวบ้านปงสนุก เกิดขึ้นจริงระหว่างช่วงที่เจ้าหลวงนอขึ้นนั่งเมือง พ.ศ.2430-2440 แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึง “ชายผู้ต่ำศักดิ์” กว่า ในลักษณะอาลัยอาวรณ์ว่ามีบุคคลนี้ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่

 

จากน้อยไจยา ถึงเจ้าดารารัศมี

คุณสายกลาง จินดาสุ และคุณชัยวุฒิ ไชยชนะ ตั้งข้อสังเกตว่า เพลง “เจ้าดวงดอกไม้” มีการแทรกสุภาษิตสอนหญิง มีลีลากลิ่นอายที่ละม้ายกับเพลง “น้อยไจยา” ซึ่งรจนาโดยกวีเอกของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี นาม “ท้าวสุนทรพจนกิจ”

เช่น “อย่านอนก่อนผัว แจ้งมาตื่นนอน อย่าเชื่อคำบอนปากคนนอกบ้าน อย่าสะลิด (ดัดจริตหรือกระแดะ) จิตส้านโบราณว่าไว้” รวมทั้งให้รู้จักเก็บเงิน อย่าสุรุ่ยสุร่ายฟุ้งเฟ้อ

ทำให้มีการตั้งคำถามว่า เพลงเจ้าดวงดอกไม้ อาจมีส่วนได้รับอิทธิพลเรื่อง “ฮีต” (จารีต) คำสอนจากเพลงน้อยไจยามาบ้างก็เป็นได้ เพียงแต่ยุคสมัยของจรัลเลี่ยงที่จะไม่ใช้คำศัพท์โบร่ำโบราณที่ฟังยากเหมือนยุค 100 ปีที่แล้วของท้าวสุนทรพจนกิจ

เมื่อถามญาติสนิทมิตรสหายวงในว่า จรัล มโนเพ็ชร เคยให้สัมภาษณ์หรือบันทึกที่มาเบื้องหลังบทเพลงนี้ไว้ที่ไหนบ้างหรือไม่ว่าใครคือ “เจ้าดวงดอกไม้” ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวว่า “เสียดายที่ลืมถาม”

ก่อนจบการเสวนา คุณสายกลาง จินดาสุ ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า

“เป็นไปได้หรือไม่ที่ ‘เจ้าดวงดอกไม้’ สตรีผู้สูงศักดิ์นางนี้ แท้จริงแล้วอาจหมายถึงพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่ชาวล้านนาต้องสูญเสียเจ้าหญิงเชียงใหม่ให้แก่ราชสำนักสยามไป โดยซ่อนนัยยะความโศกเศร้าครวญคร่ำละห้อยหา ผ่านชายหนุ่มชื่อสีคำมา”

บางทีบทเพลงนี้อาจไม่ใช่เป็นแค่ความรักระหว่างคนหนุ่ม-สาว ทว่าแฝงสัญลักษณ์ที่คนพื้นเมืองเชียงใหม่ต้องการสื่อสารให้โลกรู้ถึงหัวอกของรัฐประเทศราช ที่ต่อมาถูกลดสถานะลงเป็นมณฑล โดยที่ไม่อาจแสดงออกถึงความเจ็บช้ำน้ำใจได้อย่างตรงไปตรงมา