นครวัดจำลอง ‘พระเกียรติยศ’ ในลัทธิล่าอาณานิคม สมัยรัชกาลที่ 4

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข้อความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) อ้างว่า ครั้งหนึ่งในช่วงระหว่างเรือน พ.ศ.2402-2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้ไปรื้อเอานครวัด ปราสาทตาพรหม หรือปราสาทหินขนาดย่อมๆ ในกัมพูชา มาไว้ที่กรุงเทพฯ (วัดปทุมวัน) และเพชรบุรี (วัดเขามหาสวรรค์ บนเขาวัง) เพื่อเป็นเกียรติยศ

แน่นอนครับว่า เมกะโปรเจ็กต์นี้ไม่มีผู้สามารถสนองพระราชดำริจนสำเร็จลุล่วง เพราะทั้งปราสาทนครวัดและปราสาทตาพรหมต่างมีขนาดมหึมาเสียจนไม่สามารถใช้คำว่า “ย่อม” จนใครใคร่คิดจะรื้อขนไปไหนมาไหนก็จะทำกันได้ง่ายๆ

และก็เป็นที่แน่นอนอีกด้วยว่า รัชกาลที่ 4 เองก็ทรงไม่โปรด “ปราสาทหินขนาดย่อม” หลังอื่นเท่ากับปราสาทนครวัดและปราสาทตาพรหม ที่ตรัสชื่อถึงเป็นการเฉพาะ

ใครต่อใครที่รับสนองพระบรมราชโองการไปกระทำความ “mission impossible” ในครั้งนั้น จึงไม่ได้มีกะจิตกะใจจะไปรื้อปราสาทหลังอื่นมาถวาย ด้วยคงจะทราบแน่แก่ใจกันดีอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร?

นครวัด, ปราสาทตาพรหม หรือปราสาทหินขนาดย่อมหลังอื่นๆ จึงไม่มีโอกาสกระทำการโรดโชว์ที่บางกอกและอุทยานประวัติศาสตร์เขาวังให้คนไทยทุกวันนี้สามารถไปเที่ยวชมกันได้ โดยไม่ต้องมีพาสปอร์ต

 

แต่เรื่องก็ไม่ได้จบอยู่แค่นั้นนะครับ เพราะเมื่อเรือน พ.ศ.2409-2410 รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “นครวัดจำลอง” (ซึ่งก็จำลองเสียจน “ย่อม” ยิ่งกว่าปราสาทหินขนาดย่อมหลังอื่นเป็นอย่างมาก) เอาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต ซึ่งก็ยังคงไปเยี่ยมชมกันได้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

แน่นอนว่า อยู่เฉยๆ รัชกาลที่ 4 คงจะไม่ทรงอยากได้ปราสาทเหล่านี้มาจัดแสดงไว้ที่ราชอาณาจักรสยามของพระองค์เพื่อเป็น “เกียรติยศ” โดยไม่มีสาเหตุ

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ทำไมรัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระราชดำริให้ไปรื้อปราสาททั้งสองหลังที่ว่านี้?

 

นักค้นคว้าอย่างคุณไกรฤกษ์ นานา เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2397 สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) กษัตริย์แห่งกัมพูชา ได้ทรงแอบส่งพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งไปยังพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งยึดครองประเทศเวียดนามได้แล้วในขณะนั้น

สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีทรงส่ง “พระราชหัตถเลขาลับ” ดังกล่าวผ่านทางสายลับฝรั่งเศสในสิงคโปร์ เพื่อขอให้ฝรั่งเศสเป็นธุระให้ สำหรับการทวงคืนดินแดนที่กัมพูชาเคยเสียไปให้กับเวียดนามในช่วงก่อนหน้านั้น

ที่สำคัญก็คือ เนื้อความในตอนต้นของจดหมายมีเจตนา “ทอดสะพาน” ขอฝักใฝ่ต่อฝรั่งเศสอย่างชัดเจน ดังความที่ว่า

“บัดนี้ตูพอพระทัยรักใคร่มหาราชพระบรมนาโปเลออนคำรบ 3 เป็นเจ้านครฝรั่งเศส ก็อยากใคร่ชี้บอกใจรักซื่อตรงกับเธอ ด้วยตูเปนเจ้าเมืองเขมร ก็มีใจยินดี อยากจะผูกไมตรีกับเจ้าเมืองฝรั่งเศส จะได้มีประโยชน์ไมตรียืดยาวต่อไป นครก็จะได้กว้างขวางมีประโยชน์แก่ราษฎรเปนอันมาก เขมรกับฝรั่งเศสก็จะได้เปนไมตรีรักใคร่กัน”

ประเด็นสำคัญก็คือ ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะยึดเมืองเว้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของเวียดนามในขณะนั้น กรุงกัมพูชาถูกเรียกอย่างดูแคลนว่าเป็น ‘ไพร่สองฝั่งฟ้า’ เพราะต้องถวายเครื่องราชบรรณาการแก่ทั้งสยามที่กรุงเทพฯ และเมืองเว้ของเวียดนาม

พระราชหัตถเลขาลับของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี จึงมีนัยยะแฝงทางการเมืองอยู่ด้วยว่า หากฝรั่งเศสยอมตกลง ก็จะไม่ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการต่อสยามอีกต่อไป เพราะแน่นอนว่าคำ “ไมตรียืดยาว” ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ไม่ใช่มิตรไมตรีที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย แต่กัมพูชาจะตกเป็นรัฐในอารักขา (ชื่อแบบไม่ชวนแสลงใจของคำว่าอาณานิคม) ของฝรั่งเศส

ดังนั้น หากสยามยังหวังเครื่องราชบรรณาการ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่สยามมีต่อกัมพูชาอยู่ ก็จะเรียกเก็บที่กัมพูชาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะถ้ายังอยากได้ก็ต้องไปคุยกันกับฝรั่งเศสเอาเอง

 

จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ความก็ได้ทราบไปถึงพระเนตรพระกรรณ ของรัชกาลที่ 4 ซึ่งคุณไกรฤกษ์ได้เสนอว่า พระราชดำริที่ให้ไปรื้อปราสาทนครวัดมาไว้ที่กรุงเทพฯ ก็คือวิธีการตอบโต้ของพระองค์นั่นแหละครับ

ข้อสังเกตของคุณไกรฤกษ์ถือว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะเมื่อครั้งที่สยามจะไปรื้อปราสาทนครวัดนั้น ได้กระทำกันเป็นการเอิกเกริก เพราะได้ส่งกำลังคนไปถึง 1,000 นายเลยทีเดียว

แน่นอนว่า mission impossible ในครั้งนั้นถูกจับตาโดยพวกฝรั่งเศสอย่างสนใจ และได้ถูกรายงานต่อข้าหลวงใหญ่ในโคชินไชน่า (ไซ่ง่อน หรือเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน) อย่างแทบจะทันที

เอาเข้าจริงแล้ว หากในครั้งนั้นมีผู้สนองพระราชดำริไปรื้อเอานครวัดมาตั้งไว้ที่กรุงเทพฯ ได้สำเร็จ สยามเองก็คงจะไม่ต่างอะไรกับการที่พวก “ผู้ดี” อังกฤษไปเอาชิ้นส่วนจำนวนมากวิหารแพนธีออน (Pantheon) ที่อโครโปลิส ในกรีซ ไปจัดแสดงที่บริติช มิวเซียม (British Museum)

หรือการที่ชาวเยอรมันไปเลาะเอาประตูเมืองบาบิโลน ที่เรียกกันว่าอิชทาร์ เกต (Ishtar Gate) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 575 ปีก่อนพระคริสต์ ทั้งหลัง ที่เมืองแบกแดด ประเทศอิรักมาจัดแสดงไว้ที่เพอร์กามอน มิวเซียม (Pergaman Museum) ซึ่งอันที่จริงแล้วแม้แต่ชื่อ “เพอร์กามอน” เองก็ตั้งตามชื่อ “แท่นบูชาเพอร์กามอน” ที่ไปยกทั้งแท่นจากเมืองเพอร์มามาเน่ ในประเทศตุรกี มาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยเหมือนกัน

“เกียรติยศ” ที่พระราชพงศาวดารระบุถึง จึงเป็นเกียรติยศเดียวกันกับที่พวกชาติเจ้าอาณานิคมในยุโรปยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของชาติตัวเอง ด้วยการพิชิตอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต

 

นครวัดที่กรุงเทพฯ ก็คงจะมีฐานะเป็นเพียง “ของแปลก” ในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง สำหรับประดับพระเกียรติยศของสยาม ในฐานะชาติเจ้าอาณานิคมภายในภูมิภาคมากกว่าจะใช้ทำอย่างอื่น เหมือนอย่างแนวคิดในการจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของสยามคือ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ซึ่งใช้เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ

เพราะคำว่า “ประพาส” แปลว่า “เที่ยวเล่น” ส่วน “พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “ของแปลก” จึงรวมความได้ว่าเป็น “สถานที่สำหรับรวบรวมของแปลกไว้ให้เที่ยวชม”

และพระที่นั่งสำหรับเที่ยวดูของแปลก ซึ่งก็มักจะถือกันว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของสยามนี้ก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคเดียวกันกับที่มีการสั่งให้ไปรื้อนครวัดเอามาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่ทำไม่สำเร็จจนต้องจำลองเป็นนครวัดจิ๋วมาเก็บไว้ที่วัดพระแก้วฯ นั่นแหละครับ