ผี พราหมณ์ พุทธ : ว่าด้วยเรื่อง ‘สายยัชโญปวีต’ หรือ ‘สายธุรำมงคลพราหมณ์’ (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ว่าด้วยเรื่อง ‘สายยัชโญปวีต’

หรือ ‘สายธุรำมงคลพราหมณ์’ (จบ)

 

ตามความเชื่อของฮินดูนั้น ถือว่าสายยัชโญปวีตมีเทวดาสถิตอยู่ ในหนังสือนิตยกรรมปธติปูชาประกาศ กล่าวถึงวิธีการสวมสายยัชโญปวีตหรือสายธุรำว่าต้องอัญเชิญเทวดามาสถิตในสายสูตร (เก้าสายฝั่นเป็นสามเส้น มัดสามปม) ดังนี้

สายแรกมีพระโองการหรืออักษรโอมอันเป็นพยางค์ศักดิ์สิทธิ์, สายที่สองมีพระอัคนี, สายที่สามมีนาค (สรปะ), สายที่สี่มีพระโสม, สายที่ห้ามีเทพบิดร, สายที่หกมีพระประชาบดี, สายที่เจ็ดมีพระอนิละ (พระวายุในสมัยโบราณซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มวสุเทพ)

สายที่แปดมีพระสูรยะ, สายที่เก้ามีวิศวเทพทั้งหลาย, ส่วนในปมด้ายทั้งสามมีพระตรีมูรติ อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระรุทระเทพสถิตอยู่

จะเห็นได้ว่าเขาเกณฑ์ให้เทพสำคัญๆ ใหญ่ๆ มารวมกันที่ยัชโญปวีต เพื่อขับเน้นความสำคัญของสายสิญจน์ชนิดนี้ให้มากขึ้นนั่นแหละครับ

 

บางตำราก็ว่า สายยัชโญปวีตทั้งสามเส้นแทนคุณลักษณะทั้งสามของจักรวาล คือสัตวะ ได้แก่ ความดีความจริงและการดำรงอยู่, รชัส ความเคลื่อนไหวหรือความร้อนและการก่อกำเนิด และตมัส คือการแตกดับทำลายหรือความมืด

สายทั้งเก้ายังแทนคุณธรรมเก้าประการที่ “ทวิชา” ต้องยึดถือ เช่น ความไม่เบียดเบียน (อหิงสา), ความข่มใจ (ทมะ), การยึดความจริง (สัตยะ) ฯลฯ

ท่านว่า แม้แต่ความยาวของสายยัชโญปวีตก็มีความหมายในตัวเอง โดยกำหนดให้เส้นหนึ่งยาวประมาณเก้าสิบหกองคุลี เลขเก้าสิบหกมีนัยสำคัญ คือรวมเอาดิถี วัน พระเวทสี่ และอะไรอื่นๆ ที่เป็นมงคลรวมกันไว้

เมื่อสวมครั้งแรกต้องเข้าพิธีที่เรียกว่าอุปนยนสัมสการดังที่เล่าไว้แล้ว ส่วนการเปลี่ยนสายในโอกาสอื่นๆ ก็มีลำดับขั้นตอน เช่น การเชิญเทวดาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นมาสถิตในยัชโญปวีต เสกด้วยมนต์คายตรีสิบสองคาบ การทำสูรยอุปัสถานหรือการบูชาและรับพลังจากดวงอาทิตย์ มีมนต์สำหรับสวมและมนต์ในการลอยสายเส้นเดิม

เมื่อรับอุปนยนสัมสการและสวมสายยัชโญปวีตแล้วจะต้องทำ “นิตยกรรม” หรือกิจอันพึงทำประจำวัน หลักๆ คือการอาบน้ำสนานกาย ภาวนาคายตรีมนต์ การทำ “สันธยวันทนัม” คือชำระมลทินโทษและภาวนาในช่วงเปลี่ยนผ่านของวัน วันละสามครั้ง ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังต้องทำพิธี “ตรปณะ” หรือกรวดน้ำอุทิศให้เทวดา ฤษี และบรรพชน ต้องทำ “ปัญจมหายัชญะ” คือการบูชายัญ (โดยชื่อ) อันได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระเวทและศาสตร์ต่างๆ บวงสรวงบูชาเทพ ตลอดจนทำกุศลแก่มนุษย์และสัตว์

นี่แหละครับที่เป็น “ธุระ” ของการสวมสายธุรำ ท่านว่าหากทำได้ จิตก็จะบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้น จนบรรลุเป้าหมายทางจิตวิญญาณของตนเองได้

 

ส่วนข้อถกเถียงเกี่ยวกับสายธุรำหรือยัชโญปวีต เรื่องแรกคือมีนักวิชาการฝรั่งบางท่านเห็นว่า การขับเน้นความสำคัญของพิธีอุปนยนะถูกนำเข้าไป “เติม” ในตัวบทเก่าๆ เช่น Hermann Oldenberg ซึ่งเป็นนักภารตวิทยาเห็นว่าตัวบทเกี่ยวกับพิธีอุปนยนสัมสการในคัมภีร์ศตปถพราหมณะ ซึ่งเก่าแก่มาก น่าจะเป็นการเติมเข้าไปภายหลัง

แม้แต่ในคัมภีร์มนูสมฤติมีรายละเอียดของเรื่องยัชโญปวีตและพิธีอุปนยนะ (รวมถึงเรื่องระบบวรรณะ) ไว้มาก แต่ Patrick Olivelle ก็ตั้งข้อสงสัยถึงความเก่าแก่จริงๆ ของตัวบท ทำนองเดียวกับตัวบทของ “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” อื่นๆ ในยุคอาณานิคมและยุคเรียกร้องเอกราช

กระนั้นข้อถกเถียงข้างต้นเป็นเพียงข้อถกเถียงเล็กๆ ในทางวิชาการ แต่ประเด็นถกเถียงที่ใหญ่และแพร่หลายกว่าคือ ในปัจจุบันนี้ “ใคร” สามารถที่จะเข้าพิธีอุปนยนสัมสการหรือสวมสายยัชโญปวีตได้

เพราะดังที่กล่าวไว้แล้วว่า แต่เดิมมีเพียงผู้ชายในสามวรรณะแรกเท่านั้นที่มีสิทธิสวม (จึงมีคนในอนุทวีปอินเดียเท่านั้นอยู่ภายใต้ระบบนี้)

แต่ศูทรซึ่งเป็นวรรณะที่สี่มีสิทธิไหมในฐานะศาสนิกคนหนึ่งที่อยากเรียนรู้คำสอน รวมทั้งผู้หญิงและชาวต่างชาติที่ประสงค์จะนับถือศาสนาฮินดูด้วย

 

ข้อถกเถียงเรื่องศูทรมีสิทธิที่จะสวมสายสูตรอันศักดิ์สิทธิ์นี้หรือไม่ ดูเหมือนจะเป็นข้อถกเถียงที่มีมานานกว่าเรื่องผู้หญิงและชาวต่างชาติ ซึ่งเกิดมาพร้อมๆ แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมที่มาพร้อมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมทั้งการเผยแพร่ศาสนาฮินดูไปยังโลกตะวันตกตั้งแต่ช่วงก่อนทศวรรษที่หกสิบ

นักการศาสนาฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าวรรณะไม่ใช่เรื่องของการเกิดแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นระบบที่จำแนกคนผ่านคุณลักษณะหรือคุณธรรมของบุคคลด้วย

ดังนั้น แม้แต่พราหมณ์ก็ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นสามพวกคือ พวกเป็นโดยการเกิด เรียกว่าชาติพราหมณ์ พวกนี้หากไม่ได้รับการศึกษาอย่างพราหมณ์ หรือมีคุณธรรมของพราหมณ์แล้ว ก็นับว่าไม่ได้เป็นพราหมณ์บริบูรณ์ พวกที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ เช่น คนเกิดในบางนักษัตรก็มีคุณสมบัติของพราหมณ์ตามนักษัตรนั้นๆ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องการทำนายทายทักมากกว่า

พวกสุดท้ายเรียกว่ากรรมพราหมณ์ หรือพราหมณ์โดยความประพฤติ แม้ว่าจะเกิดในวรรณะไหนหรือเป็นใครก็ตาม หากมีความประพฤติและคุณธรรมอย่างพราหมณ์ก็ควรนับว่าเป็นพราหมณ์

ยิ่งในภายหลัง แนวคิดภักติของฝ่ายไวษณพนิกายเข้มข้นขึ้น บางพวกจึงตีความว่า ใครก็ตามที่มีความภักดีต่อพระเจ้า ย่อมสำคัญกว่าวรรณะหรือเครื่องแบบที่เขาสวม

ความสำคัญของการสวมยัชโญปวีตจึงลดลงในศาสนิกบางกลุ่ม

 

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่หกสิบ พระคุณเจ้าอภัย จรณวินทะ ภักติเวทานตะ สวามี (Abhay Charanaravinda Bhaktivedanta Swami) หรือที่เรียกว่า เอ ซี ภักติเวทานตะสวามี นักบวชฝ่ายไวษณวะนิกายได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เริ่มสั่งสอนศาสนาฮินดูแก่ “บุปผาชน” พร้อมกับอนุญาตให้มีพิธีอุปนยนสัมสการสำหรับชาวตะวันตกรวมทั้งการบวชเป็นสันยาสีด้วย

ภักติเวทานตะสวามียังได้ก่อตั้งสมาคมกฤษณะจิตสำนึกนานาชาติ (ISKCON) หรือที่เรามักเรียกอย่างลำลองว่ากลุ่มหะเรกฤษณะ การที่กลุ่มนี้มีสมาชิกจากหลายเชื้อชาติ ทำให้พิธีอุปนยนสัมสการแพร่หลายไปทั่วโลกโดยไม่จำกัดแค่ชาวตะวันตกอีกต่อไป

ที่จริงก่อนหน้าภักติเวทานตะสวามี ท่านสวามีวิเวกานันท์และท่านปรมหังสะ โยคานันท์ได้นำศาสนาฮินดูไปถึงโลกใหม่คืออเมริกาแล้ว เพียงแต่ในช่วงแรกมีผู้สนใจไม่มากและมักเน้นการออกบวชเป็นสันยาสีเสียมากกว่า

ในประเทศอินเดียข้อโต้แย้งเหล่านี้ก็ยังไม่สิ้นสุด ชาวฮินดูอินเดียบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดชาวต่างชาติจึงสามารถเข้าพิธีอุปนยนะได้ แต่คนอินเดียเองซึ่งอยู่ในวรรณะศูทรกลับไม่มีสิทธิ

ทุกวันนี้จึงมีองค์กรหลายองค์กรในอินเดีย ทำพิธีอุปนยนะแก่คนในทุกวรรณะ รวมถึงแก่สตรีด้วย เช่น องค์กร The Art of Living ของศรี ศรี ระวิ ศังกร หรืออาศรมบางอาศรมในเมืองหริทวาร

โลกกำลังเปลี่ยนไป ผู้นำทางศาสนาฮินดูหลายท่านคิดว่าศาสนาฮินดูต้องไม่จำกัดแก่ชาวอินเดียเท่านั้น และต้องยอมรับคุณค่าสมัยใหม่เข้ามาในศาสนา แต่จะจัดการการรับเข้าศาสนาอย่างไร หากไม่ทำแค่พิธี “ทีกษา” หรือการรับศีล เมื่อต้องให้อุปนยนะแก่คนทั่วไปแล้ว จะให้การอบรมสั่งสอนหรือจัดลำดับความสำคัญทางสังคมอย่างไรต่อ

 

ที่ผมอยากจะเล่าอีกอย่างคือ ในบางนิกายหากออกบวชเป็นสันยาสีแล้ว เขาให้เอาสายยัชโญปวีตลอยน้ำทิ้งไปครับ เขาถือว่าพระหรือสาธุเป็นผู้พ้นไปจากวรรณะแล้ว (ปรวรรณะ) ไม่ต้องมาข้องเกี่ยวกับเรื่องสมมุติทางโลกอีก จึงไม่ต้องสวมสายธุรำอีกต่อไป

ส่วนในประเทศไทย หากจะมีการให้อุปนยนสัมสการแก่ผู้ที่สนใจ ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี ทว่าเราจะจัดการอบรมสั่งสอนแก่ผู้ที่ได้รับอุปนยนนั้นอย่างไร ให้เข้าถึงทั้ง “ภาระ” ที่ต้องทำ ความรู้ และเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา เพื่อให้การรับอุปนยนสัมสการไม่เป็นเพียง “สถานะ” ที่เอาไปอวดอ้างรับงานทำพิธีได้เท่านั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งควรตระหนักที่สุด

ดังนั้น ขอจบบทความนี้ด้วยบางข้อความที่มาจากคัมภีร์สกันทะปุราณะว่า

“คนเรา (ทุกคน) ล้วนเกิดเป็นศูทร แต่เพราะสัมสการจึงกลายเป็นทวิชา” (ชนฺมนา ชายเต ศูทฺระ, สํสฺการาตฺ ทฺวิช อุจฺยเต)

ซึ่งตีความได้ว่า คนเราโดยธรรมชาตินั้นเหมือนกันหมด แต่เพราะการอบรมศึกษาต่างหาก

ที่ทำให้เราสูงส่งได้