ปริศนาโบราณคดี : ไฉนบริเวณด้านหน้า ‘เวียงแก้วเชียงใหม่’ จึงมี ‘ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก’? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ไฉนบริเวณด้านหน้า ‘เวียงแก้วเชียงใหม่’

จึงมี ‘ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก’? (1)

 

เชื่อว่าช่วงนี้หลายท่านคงติดตามข่าวความคืบหน้า เรื่องการขุดค้นทางโบราณคดีที่ (ครั้งหนึ่งเราเคยเรียกกันว่า) “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” หรือบริเวณทัณฑสถานหญิงเก่า กลางเวียงเชียงใหม่ โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กันมามากพอสมควรแล้ว

โอกาสหน้าดิฉันจะค่อยมาวิเคราะห์เจาะลึกอรรถาธิบายให้ทราบว่า เราได้พบข้อมูลใหม่อะไรบ้าง

หลักฐานใต้ชั้นดินตอบโจทย์ว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นคุ้มเจ้าของพระญามังรายที่สร้างเมื่อปี 1839 จริงหรือไม่

และหากไม่ใช่ คุ้มของพระญามังรายควรตั้งอยู่ที่ไหน

รวมทั้งประเด็นที่ว่า ทำไมทุกวันนี้นักวิชาการจึงรณรงค์ให้เรียกบริเวณนั้นว่า “เวียงแก้ว” ก็พอ ไม่ต้องใส่ “ข่วงหลวง” นำหน้าอีกต่อไป

สรุปแล้ว “ข่วงหลวง” ตั้งอยู่ตรงไหนกันเล่า?

และทำไมเอกสารโบราณจึงไม่พบหลักฐานการเรียกที่ประทับของกษัตริย์ว่า “คุ้มหลวง” พบแต่ “คุ้มน้อย” แล้วใครเป็นผู้มาเรียกว่า “คุ้มหลวง”

ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงเรื่องแผนบริหารจัดการพื้นที่หลังเสร็จสิ้นโครงการขุดตรวจ ขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดี ว่าชาวเชียงใหม่จะเอายังไงต่อ จะเดินหน้าสร้างสวนสาธารณะ (กึ่งอุทยานทางประวัติศาสตร์) ตามที่เคยมีการประกวดออกแบบมาก่อนแล้วเมื่อหลายปีก่อนพบหลักฐานทางโบราณคดีหรือไม่ หรือจะโยนอำนาจตัดสินใจใหม่นี้ไปสู่การฟังเสียงประชาชนอีกครั้ง

สารพัดสารเพประเด็นข้อสงสัยทั้งหมดทั้งมวล ขอเก็บเอาไว้อธิบายในโอกาสหน้าอีกไม่นาน บทความครั้งนี้ดิฉันขอนำเสนอประเด็นเรื่องปริศนา “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทัณฑสถานหญิงก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องที่คาใจดิฉันมาช้านานเหลือเกินแล้ว

 

ไยเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

จึงมาทำหน้าที่แทน “เจตคุปต์”

เข้าใจว่าในบรรดาเรือนจำทั้งหมดทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย คงมีที่เชียงใหม่แห่งเดียวเท่านั้นกระมังที่เรียก “ศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์” ว่า “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”?

คือปกติบริเวณเรือนจำมักมีการตั้งศาลเจ้าพ่อ “เจตคุปต์” (บ้างเรียก จิตรคุปต์/เจตคุก) ไว้คอยดูแลไม่ให้นักโทษหนี เหตุที่ “เจตคุปต์” นี้ในปกรณัมฮินดูระบุว่าเป็นเทวดาชั้นรองคอยรับใช้พระยม มีหน้าที่บันทึกการกระทำดี-ชั่วของมนุษย์ และเฝ้ารักษาทะเบียนกรรมดี-กรรมชั่วของคนตาย

เจตคุปต์จึงเป็นเทพที่มีลักษณะดุดัน น่าเกรงขาม คอยควบคุมแยกแยะคนดี-คนชั่ว ไม่เพียงแต่ตามทัณฑสถานต่างๆ เท่านั้นที่มีการสร้างหอเจตคุปต์ แม้แต่ในศาลหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ระบุชัดว่า

นอกจากองค์พระหลักเมืองแล้ว ยังมีเทพารักษ์บริวารอีก 5 องค์ที่สถิตแวดล้อมในศาลเดียวกัน กอปรด้วย เจ้าพ่อหอกลอง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี

หนังสือ “เทพเจ้าและสิ่งน่ารู้” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า

“สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นใหญ่ในทางธรรมเหมือนพระยม เนื่องด้วยพระยมเป็นตุลาการของผู้ตาย บรรดาคนที่ตายไปแล้วต้องไปเฉพาะพระพักตร์ของพระยม เพื่อฟังข้อความที่พระจิตรคุปตะเทพบุตรได้จารึกไว้ในเรื่องกุศลและอกุศลกรรม ผู้ที่ได้ทำบุญพระยมก็ส่งไปยังสวรรค์ ผู้ที่ได้ทำบาปก็ไล่ไปลงนรกเพื่อลงทัณฑกรรมต่อไป”

จะเห็นได้ว่า การเคารพเจ้าพ่อเจตคุปต์ของกรุงรัตนโกสินทร์ รับคติมาจากกรุงศรีอยุธยา อยุธยารับมาจากเขมรโบราณ (ในจารึกอักษรขอมโบราณเรียก จิตรคุปต์) ดิฉันเคยฟังเพื่อนชาวกัมพูชาเล่าเรื่องเทพจิตรคุปต์ว่า

“นักโทษคนไหนที่ใกล้จะพ้นโทษ มักมีนิมิตเห็นชายร่างใหญ่ผิวดำเดินนำเขาพาก้าวข้ามกำแพงออกไป จากนั้นอีกไม่กี่วัน ก็มีข่าวว่านักโทษผู้นั้นได้รับการปลดปล่อยจริงๆ ดังนั้น นักโทษที่ออกจากคุกต้องไปสักการะศาลจิตรคุปต์”

แล้วทำไมที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งสร้างทับเวียงแก้ว จึงมีศาลหรือหอที่ทำหน้าที่เฝ้านักโทษไม่ต่างไปจากความเชื่อเรื่องศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์ของที่อื่นๆ แต่ที่นี่กลับเรียกกันว่า “ศาล (หอ) เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”?

 

เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

ฉายาของ “วิญญาณนักรบ”

ชื่อของ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” หาใช่นามเฉพาะไม่ หากเป็นตำแหน่ง ฉายา หรือสมัญญา ของบุคคลที่เป็นนักรบแกร่งกล้ากลางสมรภูมิ เมื่อตายไปก็อัญเชิญดวงวิญญาณที่เข้มแข็งเด็ดขาดนั้นให้มาเป็นผู้พิทักษ์ปกปักสถานที่ ที่ต้องการควบคุมความเข้มงวดเป็นพิเศษ

เจ้าพ่อข้อมือเหล็กจึงมีบทบาทเป็น “วิญญาณนักรบ” ซึ่งแตกต่างไปจากความเชื่อเรื่อง “เจ้าหลวงคำแดง” ผู้เป็นอารักษ์เมือง

ปัจจุบันนี้มีศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กตั้งอยู่กระจายหลายแห่ง และต่างก็มีตำนานเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ละแหล่งมีเรื่องเล่าของนักรบคนละคนกัน ทว่าเก่งกล้าสามารถ สู้ยิบตาถวายชีวาตม์ เสียชีวิตคาสนามรบเหมือนๆ กัน จึงต่างก็ได้รับฉายาว่า “ข้อมือเหล็ก” ดุจเดียวกัน

ขอยกตัวอย่างศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่บริเวณที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ค่ายประตูผา รอยต่ออำเภอแม่เมาะ-งาว จังหวัดลำปาง

เจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่นี่มีฉายาอีกนามว่า “เจ้าพ่อประตูผา” (เรียกตามชื่อสถานที่ที่เป็นซอกเขาหินปูนสูงชันเหมือนช่องประตู) ป้ายคำบรรยายระบุว่า เจ้าพ่อข้อมือเหล็กท่านนี้เป็นชาวบ้านต้า (ปัจจุบันคือบ้านหวด อำเภองาว)

ไม่มีใครทราบนามจริง เป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา ฝากตัวศึกษาวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันกับเจ้าอธิการวัดนายาง (เขตอำเภอแม่ทะในปัจจุบัน) สามารถใช้แขนแทนโล่ จนชาวบ้านเรียกว่า “หนานข้อมือเหล็ก”

ต่อมาได้เป็นทหารเอกของ “ท้าวลิ้นก่าน” ผู้ครองนครลำปาง (ระหว่าง พ.ศ.2251-2275) ช่วงนั้นเมืองต่างๆ ในล้านนาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า ท้าวลิ้นก่านถูก “ท้าวมหายศ” ผู้ครองนครลำพูน ยกกองทัพมาตีลำปาง (ทั้งลำพูน-ลำปางต่างก็ตกอยู่ภายใต้พม่าเหมือนกัน)

ท้าวลิ้นก่านมีกำลังน้อยต่อสู้ไม่ไหว ได้พญาข้อมือเหล็กมาช่วยรบต้านกองทัพของท้าวมหายศ พญาข้อมือเหล็กสู้สุดแรงจนตัวตายแต่ไม่ยอมล้ม ฝืนใจยืนเอนกายพิงหน้าผาในขณะที่มือสองข้างยังกำดาบที่หัก

ฝ่ายทหารของท้าวมหายศเมื่อเห็นดังนี้ ก็คิดว่าเป็นกลอุบาย เกิดความกลัว จึงพากันหนี ทำให้ฝ่ายลำปางได้ชัยชนะ

หลังจากนั้น จึงมีการตั้งศาลเพียงตาขึ้นบริเวณประตูผา และยกให้เป็น “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” อัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาสิงสถิต เพราะชาวลำปางมองว่าทั้งที่ตัวท่านตายไปแล้ว แต่ความใจเด็ดก็ยังช่วยปกป้องคนเป็นได้

ขอยกตัวอย่างเจ้าพ่อข้อมือเหล็กอีกองค์ที่อำเภอฝาง เชียงใหม่ ประวัติของท่านนี้มีหลายสำนวน แต่พอจะสรุปใจความได้ว่า ท่านมีชื่อเดิมว่า เหล็ก บ้างเรียก เพชร (และยังมีชื่อ “บุเหลง” อีกนามด้วย) บ้างว่าเป็นชาวพิษณุโลกแต่มาโตที่พิจิตร บ้างว่าถิ่นเดิมอยู่ที่บ้านลานดอกไม้ (มีทั้งระบุว่าบ้านลานดอกไม้อยู่เมืองตาก บางสำนวนว่าอยู่ในกำแพงเพชร)

นายเหล็กมีรูปร่างสูงใหญ่ ใช้ดาบคู่ สวมปลอกเหล็กไว้กันดาบตั้งแต่ข้อมือถึงข้อศอก จึงเรียกพญาข้อมือเหล็ก มีทักษะในการรำดาบอย่างว่องไวจนผู้ชมสามารถเห็นเงาของปลายดาบเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่รอบตัวเขา ในขณะที่รำดาบนั้นมักตัดหัวคนให้ขาดได้โดยไม่ทันรู้ตัว

สมัยพระเจ้าตากกอบกู้อิสรภาพจากพม่า นายเหล็กสมัครเป็นทหารเอกของเจ้าพระฝาง (อันที่จริง “ฝาง” ในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นหมายถึงเมืองสวางคบุรี ไม่ใช่อำเภอฝาง เชียงใหม่) ช่วยเจ้าพระฝางรบกับพม่าจนสิ้นชีวิต

 

ศาลมาพร้อมชื่อ

ชื่อมาก่อนศาล

หรือศาลมาก่อนชื่อ

เห็นได้ว่าประวัติความเป็นมาของเจ้าพ่อข้อมือเหล็กแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ทว่าเนื้อเรื่องหลักๆ หนีไม่พ้นการเป็นทหารเอกที่มีความสามารถในการฟันดาบ พลีชีพต้านศัตรูจนตัวตาย

ทุกๆ สถานที่ที่มีการตั้งศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก มักมีร่างทรง ม้าขี่รวมตัวกันมาประกอบพิธีกรรมเฉลิมฉลองร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเป็นประจำทุกปี

เว้นแต่ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว นอกจากจะไม่มีเรื่องเล่าถึงประวัติความเป็นมาว่าเป็นทหารรับใครแล้ว ยังไม่มีพิธีกรรมม้าขี่หรือร่างทรงอีกด้วย

อาจเป็นเพราะศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่นี่ถูกนำมาใช้ในสถานะพิเศษ คือทำหน้าที่เป็น “ศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์” คอยควบคุมนักโทษนั่นเอง จึงเป็นการยากที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาประกอบพิธีม้าขี่ ร่างทรง

คำถามมีอยู่ว่า ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่คุกนี้ สร้างเมื่อไหร่ สร้างพร้อมกับคุกสมัยรัชกาลที่ 5 หรือไม่ ฤๅเป็นการนำสิ่งก่อสร้างที่มีแต่เดิมมาเปลี่ยนชื่อโดยให้ทำหน้าที่ใหม่

หากข้อสันนิษฐานประการหลังถูกต้อง คืออาคารนั้นมีมาก่อนนานแล้วตั้งแต่พื้นที่ยังมีสถานะเป็นเวียงแก้ว เพิ่งมาเปลี่ยนบทบาทให้ทำหน้าที่คุมนักโทษในภายหลัง

สิ่งที่ชวนให้สงสัยต่อก็คือ ตอนเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ ทำไมจึงไม่เรียกชื่อว่าศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์ให้เหมือนกับที่อื่นๆ เสียด้วยเล่า แต่กลับเรียก “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” อันเป็นชื่อวิญญาณนักรบพื้นเมือง ซึ่งแม้จะมีความดุ เด็ดขาด อาจหาญ แต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่แยกบัญชีคนดีคนชั่วโดยตรง ผิดกับหน้าที่ของเจ้าพ่อเจตคุปต์

น่าคิดว่า ตำนานเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่เล่ามาทั้งที่ประตูผาและอำเภอฝาง ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีทั้งสิ้น

ฉบับหน้าจะเฉลยว่า หลักฐานที่เก่าสุดของคำว่า “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” หรือ “พญาแขนเหล็ก” นั้น สามารถย้อนอดีตไปไกลถึงสมัยต้นล้านนา หรือหริภุญไชยได้หรือไม่

อีกทั้งรูปทรงสถาปัตยกรรมของศาลแห่งนี้ ทำไมจึงดูคล้ายกับมณฑปโขงพระเจ้าที่ควรใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญมากกว่า

ไม่ได้มีเค้าสักนิดเลยว่า จุดเริ่มต้นในการก่อสร้างมณฑปโขงแห่งนี้ สร้างเพื่อให้เจ้าพ่อข้อมือเหล็กสิงสถิตแต่อย่างใด