‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม? เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม? เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (จบ)

 

เจ้าดารารัศมีไปพบมะเมียะ
บวชชีที่มะละแหม่งจริงไหม

ข้อถกเถียงประเด็นที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “มะเมียะ” ก็คือ การที่นางต้องหนีไปบวชชีตลอดชีวิตนั้นจริงหรือไม่? หลังจากที่มะเมียะบากหน้ากลับมาทวงสัญญาที่เชียงใหม่อีกครั้ง แต่แล้วกลับทราบข่าวว่าเจ้าน้อยศุขเกษมกำลังเข้าพิธีสมรสกับเจ้าหญิงบัวชุม

มะเมียะต้องแบกความอดสูกลับคืนสู่มาตุคามอีกครั้ง หากเป็นเรื่องจริงเชื่อว่านางคงมองหน้าคนในตลาดกลางเมืองมะละแหม่งไม่ติดแน่ๆ จึงตัดสินใจถือเพศพรหมจรรย์ที่วัดไจ้ตะหลั่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนยอดดอย ที่ซึ่งหนุ่ม-สาวคู่รักหลายคู่ รวมทั้งครั้งหนึ่งเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะเคยจูงมือกันไปสาบานว่าจะถือรักเป็นสรณะตราบชั่วฟ้าดินดับ

ประเด็นนี้มีผู้อยากรู้ความเป็นไปว่า ในเมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมอายุสั้นเพียง 33 ปี แล้วมะเมียะที่ไปบวชเป็นชีนั้น จะต้องทนทุกข์ระทมกับสังขารที่เหลืออยู่ต่อมาอีกกี่ปี

กระทั่งมีผู้ตามรอยมะเมียะหลายรายได้ไปเก็บข้อมูลที่วัดบนยอดดอยแห่งนั้น แต่ไม่มีใครได้พบแม่ชีแล้ว เนื่องจากท่านเสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ.2505 เมื่ออายุ 75 ปี แม่ชีรูปนั้นชื่อ “ปาระมี” หรือ “ด่อนางเหลี่ยน” แถมยังมวนบุหรี่ขี้โยเก่งเหมือนอาชีพเดิมของมะเมียะที่ขายบุหรี่อีกด้วย

ทำให้เกิดคำถามว่า นางใช่คนเดียวกันกับมะเมียะนามสมมุติที่คนไทยรู้จักหรือไม่

มีเอกสารที่กล่าวถึงเจ้านางฝ่ายเหนือท่านหนึ่งซึ่งพี่ชายของท่านเป็นเพื่อนรักกับเจ้าน้อยศุขเกษม เคยเดินทางไปเมืองมะละแหม่งเพื่อพบแม่ชีมะเมียะ

เจ้านางท่านนั้นคือ “เจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่” ข้าหลวงของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าทิพวันมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าดารารัศมี เนื่องจากมารดาของเจ้าทิพวันคือแม่เจ้าพิมพา เป็นน้องสาวแท้ๆ ของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ พระบิดาของพระราชชายาฯ

ต่อมาเจ้าทิพวันสมรสกับพระองค์เจ้าบวรเดช ช่วงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส

บทความเรื่อง “เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่)” ของพิเชษฐ ตันติน  ามชัย ระบุว่า พ.ศ.2452 (ร.ศ.128) ช่วงที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จนิวัติเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวครั้งแรก เจ้าทิพวันติดตามมาด้วย ระหว่างนั้นเจ้าทิพวันและพระองค์เจ้าบวรเดชได้ทูลเชิญพระราชชายาฯ ให้เสด็จประพาสตามลำน้ำสาละวินไปจนถึงเมืองมะละแหม่งด้วยกัน

ทำไมต้อง “สาละวิน”? ดิฉันสันนิษฐานว่า เหตุเพราะบิดาของเจ้าทิพวันชื่อเจ้าเทพดำรงรักษาเขต เป็นผู้รักษาเมืองชายแดนแถบลุ่มน้ำสาละวินนั่นเอง ทำให้เจ้าทิพวันมีความคุ้นเคยและผูกพันกับเส้นทางชายแดนล้านนา-พม่า

หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ระบุว่า ปี พ.ศ.2458 พระองค์เจ้าบวรเดชกับเจ้าทิพวันได้นำเจ้าดารารัศมีเสด็จประพาสโดยเรือกลไฟตามลุ่มน้ำสาละวินไปจนถึงเมืองมะละแหม่งหลายคืน

เกี่ยวกับศักราชการเดินทางไปลุ่มน้ำสาละวินของเจ้าดารารัศมีและเจ้าทิพวันนั้น ยังมีความสับสนอยู่ว่าเป็นช่วงไหนกันแน่ 2452 หรือ 2458?

หากเป็นปี 2452 พระราชชายาฯ ประทับอยู่เชียงใหม่ 6 เดือน 8 วัน เท่าที่ตรวจสอบจากจดหมายเหตุบันทึกประจำวันทุกฉบับ พบว่าแทบไม่มีวันไหนที่พระราชชายาฯ ทรงว่างจากราชกิจเลย ยกเว้นระหว่างวันที่ 4-13 กรกฎาคม เขียนว่า “ไม่มีบันทึก” ส่วนวันที่ 14 กรกฎาคม เขียนว่าทรงประชวรเป็นไข้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ประชวรเพราะเพิ่งเสด็จกลับจากสาละวิน?

ข้อมูลของคุณพิเชษฐระบุว่า “เจ้าทิพวันยังได้แวะกราบเยี่ยมเยือนแม่ชีด้วย”

 

นอกจากนี้แล้วยังมีเจ้านายที่ไปเยี่ยมแม่ชีมะเมียะครั้งสุดท้ายอีกท่านคือ เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่ บุตรชายของเจ้าน้อยเทพวงศ์ (เจ้าป๊อก) ณ เชียงใหม่ เจ้าน้อยเทพวงศ์เป็นเพื่อนสนิทของเจ้าน้อยศุขเกษม และยังเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าทิพวันอีกด้วย

พิเชษฐได้สัมภาษณ์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จาก “คุณยายกาบแก้ว ณ เชียงใหม่” ผู้เป็นภริยาของเจ้าน้อยสมบูรณ์ คุณยายกาบแก้วเล่าว่า

“เจ้าบูรณ์ไปเมืองมะละแหม่งจริง เพราะเขารู้จักกันตั้งแต่พ่อเฒ่า” (พ่อเฒ่าหมายถึงเจ้าน้อยเทพวงศ์) ส่วนประโยค “เขารู้จักกัน” หมายถึงเคยรู้จักกับแม่ชีมะเมียะ

“เจ้าบูรณ์ได้พบแม่ชีชาวพม่า แม่ชียังได้ถามสารทุกข์สุกดิบ และฝากความระลึกมายังเจ้าทิพวันและพระองค์เจ้าบวรเดชด้วย”

ข้อมูลจากเจ้าสมบูรณ์และคุณยายกาบแก้ว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เจ้าทิพวันกับพระองค์เจ้าบวรเดชเคยเดินทางไปพบแม่ชีมะเมียะที่เมืองมะละแหม่งจริง เพียงแต่ยังมีข้อขัดแย้งว่าไปปี 2452 หรือ 2458?

น่าแปลกที่คำฝากความระลึกถึงของแม่ชีมะเมียะ ไม่มีไปยังพระราชชายา เจ้าดารารัศมี อีกทั้งเราไม่พบหลักฐานว่าเจ้าดารารัศมีได้เสด็จเข้าไปจนถึงมะละแหม่งด้วยหรือไม่ หรือไปแค่เขตแม่แจ่ม แม่สะเรียง และริมน้ำสาละวินฝั่งล้านนาเท่านั้น

เพราะหากไปถึงมะละแหม่งจริงก็ย่อมหมายความว่า พระราชชายาฯ ต้องทรงพบกับแม่ชีมะเมียะด้วยเช่นกัน สมมุติว่าเกิดได้พบกันจริง ทั้งสองจะมองหน้ากันติดละหรือ ในเมื่อพระราชชายาฯ เป็นประธานจัดพิธีสมรสให้เจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้าหญิงบัวชุม?

 

กู่อัฐิทรงพม่า
ในสุสานหลวงวัดสวนดอก

ประเด็นสุดท้ายที่สร้างข้อถกเถียงกันอย่างมากก็คือ ในสุสานหลวงวัดสวนดอก เชียงใหม่ มีกู่อยู่หลังหนึ่งรูปทรงแปลกกว่ากู่หลังอื่น คือดูคล้ายศิลปะพม่า

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ตั้งคำถามเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือกู่ที่เก็บกระดูกของแม่ชีมะเมียะหลังจากละสังขารเมื่อปี 2505 โดยอาจมีใครบางคนที่รู้เรื่องราวความรักระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะเป็นผู้นำอัฐิของเธอเข้ามาเชียงใหม่ระหว่างปี 2506-2516

เนื่องจากกู่หลังนี้ตั้งอยู่เคียงข้างกู่ของเจ้าน้อยศุขเกษม (สังเกตว่ากู่ของเจ้าน้อยนี้มักมีผู้นำดอกกุหลาบมาวางตามซุ้มอยู่เสมอ ประหนึ่งว่าท่านเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก)

เมื่อ 2 ปีก่อน อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ได้ทำการศึกษากู่หลังดังกล่าวอย่างละเอียดแล้วพบว่า เป็นการยากทีเดียวที่จะนำกระดูกของคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือมาร่วมบรรจุไว้ในบริเวณสุสานหลวง

โดยอาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ให้ข้อมูลว่า กู่ปริศนาหลังนี้แท้จริงแล้วเป็นกู่ของเจ้าแม่ทิพสม (ธิดาของเจ้าราชบุตร หรือเจ้าหนานธนัญไชย โอรสในเจ้าหลวงพุทธวงศ์) หาใช่กู่ของมะเมียะไม่

ประเด็นนี้จึงเป็นอันตกไป ดังนั้น ต้องช่วยกันกระจายข่าวให้มัคคุเทศก์ทราบในวงกว้างเวลาบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟัง ข้อมูลจะได้ไม่คลาดเคลื่อน

 

หรือประวัติศาสตร์
ถูกทำให้กลายเป็นตำนาน

เมื่อพินิจพิเคราะห์หลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมด 4 ตอน พอเพียงที่จะได้ข้อสรุปร่วมกันว่า “มะเมียะ” เป็นเรื่องที่มีเค้าโครงความจริงอยู่มาก แม้ว่าจะมีปมเงื่อนงำหลายอย่างที่ดูกำกวม บางประเด็นยังไม่มีข้อยุติ และบางประเด็นก็ดราม่าเกินจริงอยู่สักหน่อย

อย่างไรก็ดี แม้ยังมีผู้ที่นำเสนอว่ามะเมียะไม่ใช่เรื่องจริง เช่น อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรที่จะต้องไปถกเถียงเอาชนะคะคานกับอาจารย์ ในเมื่ออาจารย์สมฤทธิ์อุตส่าห์ดั้นด้นไปถึงเมืองมะละแหม่ง พยายามแกะรอย ถอดรหัสเรื่องราวของมะเมียะอย่างละเอียดยิบ

ปรากฏว่าหลักฐานทุกด้านที่เกี่ยวกับมะเมียะนั้นไม่ได้ให้ความกระจ่างหรือช่วยตอบโจทย์ใดๆ แก่อาจารย์สมฤทธิ์เลย

ดิฉันมีข้อแย้งอาจารย์สมฤทธิ์เพียงข้อเดียว คือเรื่องการ “ปลอมตัวเป็นป้อชายหนีตามมา” ของมะเมียะนั้น อาจารย์มองว่าการปลอมตัวเป็นชายก็ควรที่จะตัดผมสั้น ครั้นเวลาผ่านไปเพียงสามสี่เดือน มะเมียะต้องถูกส่งตัวกลับพม่า แล้วจู่ๆ ทำไมจึงมีภาพ “สยายผมลงเช็ดบาทบาทา” ผมงอกยาวขึ้นมาได้ในบัดดล ดูย้อนแย้งหรือไม่

ดิฉันขออธิบายว่า ผู้ชายชาวมอญ-ม่าน ในอดีตเมื่อ 100-200 ปีที่แล้วล้วนปล่อยผมยาวแล้วโพกหัวกันทุกคน ไม่ได้ตัดผมสั้นแบบผู้ชายล้านนา

ดังนั้น ตอนมะเมียะพรางตัวเป็นชาย อาจไม่จำเป็นต้องตัดผมสั้น แค่หาผ้ามาโพกหัวก็สามารถปกปิดเส้นผมยาวสยายนั้นได้แล้ว

 

สําหรับคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง (2463-2540) ผู้เปิดประเด็นเรื่องมะเมียะคนแรกนั้น โดยสถานะแล้ว ท่านเป็นนักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ และนักการเมืองท้องถิ่น หน้าตาคมแบบแขก สูงสมาร์ต คุยสนุก หากท่านเกิดในยุคนี้ต้องเรียกว่าเป็นเซเลบแถวหน้าคนหนึ่งของไฮโซเชียงใหม่เลยก็ว่าได้

คุณปราณีมิใช่คนแปลกหน้าของสังคมเจ้านายฝ่ายเหนือแต่อย่างใด เขาสนิทชิดเชื้อกับทายาทราชสกุล ณ เชียงใหม่ หลายท่าน

ผู้ให้ข้อมูลหลักนำไปใช้เรียบเรียงหนังสือเพ็ชร์ลานนาแก่คุณปราณีเมื่อปี 2507 คือเจ้าถวิล ณ เชียงใหม่ ขณะนั้นมีอายุ 90 ปี นอกจากนี้ คุณปราณียังได้สัมภาษณ์บุคคลสำคัญอย่างเจ้าบัวชุม เจ้าทิพวัน เจ้าบัวระวัน เจ้าสิงห์ทนนท์ ฯลฯ และบุคคลนับร้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รอบรู้คนสำคัญที่คุณปราณีได้กล่าวยกย่องว่ามีคุณูปการต่อเขาอย่างสูงในการช่วยตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องก็คือ “หลวงศรีวรานุรักษ์” (ศรี บุญเฉลียว) ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่

คนผู้นี้เคยมีบทบาทยกมือกลางสภายุคนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม 2481 หลวงศรีวรานุรักษ์เสนอว่าขอให้โรงพยาบาลศิริราช รับรักษาวัณโรคให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เนื่องจากเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากในสังคม ทว่ากระทู้นี้ถูกตีตกไปอย่างไม่ไยดี

ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าคุณปราณีน่าจะได้ข้อมูลอะไรต่อมิอะไรในเชิง “gossip” หรือที่ภาษาล้านนาเรียก “เรื่องเล่าขวัญ” ทั้งบวกทั้งลบ ไม่เพียงแต่เรื่องราวของเจ้านาย แต่รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองมากพอสมควร

แต่ขณะที่ร้อยเรียง “เรื่องเร้นที่ไม่ถึงกับลับ” เป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” นั้น ความที่ท่านไม่ได้เป็นนักวิชาการเต็มรูปแบบ วิธีการนำเสนอจึงอาจเติมสีสันบีบคั้นอารมณ์เน้นโศกนาฏกรรมจนดูเกินจริงไปบ้าง

อยากให้มองถึง “สาระ” หรือ “แก่น” ที่คุณปราณีพยายามสื่อออกมานั้น ท่านน่าจะต้องการนำเสนอเรื่องราวที่ถูก “ปกปิด” ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะมากกว่า

ปัญหามีอยู่ว่า หรือแท้จริงแล้ว เรื่องมะเมียะคือเรื่องจริง แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่เจ้านายฝ่ายเหนือบางท่านไม่อยากจดจำเท่าใดนัก ความจริงจึงต้องถูกทำให้ลืม นานวันเข้าก็เลยกลายเป็น “ตำนาน”