หลังรอยเท้า “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” วัดพุทไธสวรรย์ : อยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ เวียงเหล็ก : ที่ประทับพระเจ้าอู่ทอง

มีนัดกับ ขรรค์ชัย “ช้าง” บุนปาน และ สุจิตต์ “เบิ้ม” วงษ์เทศ

ทํารายการใหม่แกะกล่องในเครือมติชน

“ขรรค์ชัย บุนปาน – สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว”

ตอนแรกมีชื่อว่า “เวียงเหล็ก ของพระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก ยุคก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา ชุมชนเก่าแก่ของชาวสยามที่ร่วมสร้างพระนครศรีอยุธยา”

ดินแดนหลายภาษา

คนหลากเผ่าหลายพันธุ์

“เริ่มต้นอธิบายอย่างนี้ดีไหม” สุจิตต์ให้เปิดรายการด้วยประเด็นต่อไปนี้

1. บอกบริเวณที่กำลังยืนอยู่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดพุทไธสวรรย์ ยุคปลายอยุธยาเป็นย่านจอดเรือขายของ มีการผลิต เรียกย่านสำพะนี ชื่อนี้ ไม้ เมืองเดิม ใช้เปิดเรื่องขุนศึก ไอ้เสมา ตีเหล็ก

2. ยุคดึกดำบรรพ์ อยุธยาเป็นทะเล หมื่นปีมาแล้ว โคลนตะกอนจากทางเหนือทับถมจนเป็นดอนแผ่นดิน ยุคทวารวดีน่าจะเป็นป่าชายเลน มีชุมชน มีชายฝั่งทะเลอยู่บางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านออกสู่อ่าวไทย

3. หลัง พ.ศ.1600 เริ่มมีบ้านเมืองบนเส้นทางคมนาคมออกอ่าวไทย เป็นบ้านเมืองสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สยามอยู่ฟากตะวันตก และละโว้อยู่ฟากตะวันออก ขณะนั้นยังไม่มีสุโขทัย

ทั้งหมดเพื่อจะสื่อว่า “คนไทยอยู่ที่นี่” เต็มไปด้วยผู้คนหลากเผ่า หลายพันธุ์ หลายภาษา

และนี่เองคือสิ่งที่ร่วมกันสร้างกรุงศรีอยุธยา และชาติไทย

ดังนั้น คำที่ว่า “ไทยแท้” หรือ “คนไทยเป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์” ดูจะเป็นความรู้ความความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมหันต์

เพราะ “สยาม” ไม่ใช่ชื่อชนชาติ หรือชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นชื่อดินแดน มาจากคำดั้งเดิมว่า ซัม ซำ หรือ สาม คือบริเวณที่มีน้ำซึมน้ำซับขึ้นมาให้ได้ทำการเพาะปลูกเป็นแผ่นดินทอง

ขณะที่ “ไทย” เป็นคำใหม่ เพิ่งเกิด และมีนัยคล้ายจะมองเห็นชาติพันธุ์อื่นๆ “ไม่ไทย”

ประเทศไทยจึงรวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย ลาว มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทใหญ่ ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลัวะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ฯลฯ ฯลฯ

อีกเพียบ!

สยาม-ละโว้

ร่วมสถาปนากรุงศรีอยุธยา

สุจิตต์เริ่มเล่าขณะพาเดินชมจุดต่างๆ ว่า คนไทยไม่เคยอพยพมาจากเทือกเขาอันไหน หากแต่อยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์แห่งนี้ ก่อนสถาปนาอยุธยาในปี พ.ศ.1893 แถบนี้มีผู้คนอาศัยอยู่แล้ว

ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดพนัญเชิงเป็นศูนย์กลาง เป็นที่อยู่ของกลุ่มคนที่เรียกว่ากลุ่มละโว้ สืบเนื่องมาจากรัฐละโว้ เมืองลพบุรี อยู่ในวัฒนธรรมขอม เป็นเครือญาติกับเขมรที่เมืองพระนคร นครวัด-นครธม

ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดพุทไธสวรรย์เป็นศูนย์กลาง เป็นที่อยู่ของกลุ่มชนที่เรียกว่ากลุ่มสยาม ซึ่งมีศูนย์กลางความรุ่งเรืองในยุคนั้นอยู่ที่รัฐสุพรรณภูมิ หรือบริเวณ จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบัน

ทั้ง 2 กลุ่ม มีคนหลากเผ่าหลายพันธุ์ปะปน ไม่อาจระบุแน่ชัดได้ว่าเป็นชาติพันธุ์ไหน

แต่ที่แน่ๆ คือ กลุ่มสยามกับกลุ่มละโว้เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพื่อผลประโยชน์ทั้งด้านการเมืองและการค้ากับจีน

มีเอกสารจีนเรียกกลุ่มสยามว่า เสียน (หรือ เสียม) และเรียกกลุ่มละโว้ว่า หลอฮก (หรือ หลอหู)

เมื่อร่วมกันสถาปนารัฐอยุธยา จีนเรียกรวมว่า เสียนหลอฮก

ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับคนทั้ง 2 กลุ่มที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือภาพสลักนูนต่ำที่ระเบียงปราสาทนครวัด ราว พ.ศ.1650 ในขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา

ขบวนเสียมกุก (เสียมก๊ก) ที่ตามหลังขบวนของละโว้

อยุธยาเมืองน้ำ

คลาคล่ำแม่น้ำลำคลอง

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เริ่มด้วยอธิบายความสำคัญของบริเวณจุดที่เรายืนอยู่ คือริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดพุทไธสวรรย์

พูดถึงเรื่องภูมิศาสตร์ เกาะเมืองอยุธยาที่เกิดจากการไหลมารวมกันของแม่น้ำหลายสาย

ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีไหลมาบรรจบเป็นป้อมปราการให้อยุธยาทางด้านเหนือ แม่น้ำป่าสักโอบล้อมอ้อมเกาะทางด้านตะวันออก ก่อนรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลโอบล้อมเกาะมาจากทางตะวันตก

รวมกันแล้วกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลลงทางใต้ ผ่าน จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ออกสู่ทะเลที่ จ.สมุทรปราการ

เหล่านี้คือแม่น้ำสายสำคัญ

สำหรับในเกาะเมือง ด้วยสภาพที่ราบลุ่ม จึงต้องมีการขุดคลองถี่ยิบ ประโยชน์หนึ่งเพื่อระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และอีกหนึ่งคือชักน้ำมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง

คลองท่อ คลองฉะไกร คลองลำคูปากสระ คลองประตูข้าวเปลือก คลองมะขามเรียง คลองแกลบ คลองฝาง คลองประตูเทพหมี ฯลฯ

เหล่านี้เป็นเพียงชื่อคลองจำนวนหนึ่งจากจำนวนนับร้อยๆ ชื่อตามที่มีหลักฐานปรากฏ

ที่สำคัญอีกหนึ่งคือบึงในเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งทำหน้าที่เสมือน “แก้มลิง” คอยเก็บกักน้ำ ปัจจุบันนี้ เหลือเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ บึงพระราม บึงในสวนสมเด็จ (บึงวัดวิหารแกลบ) และบึงคุ้มขุนแผน

สุจิตต์ชี้ชวนให้ดูเส้นทางไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อไปรวมกับแม่น้ำป่าสัก บริเวณปากน้ำวนบางกระจะ หน้าวัดพนัญเชิง แล้วไหลลงทิศใต้ แบ่งสองฟากแม่น้ำเป็นตะวันตกกับตะวันออก

ทั้ง 2 ฝั่งน้ำนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของผู้คนที่จะไปร่วมกันสร้างกรุงศรีอยุธยา

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ ไม่เคยมีผู้คน ไม่เคยมีภูมิศาสตร์ ไม่เคยมีเรื่องการทำมาหากิน ขี้ ปี้ นอน

กรุงศรีอยุธยาราวกับเกิดปุ๊บปั๊บแบบไร้มนุษย์ ทำราวกับผุดขึ้นมาจากพื้นพิภพแบบปัจจุบันทันด่วน หรือร่วงไถลลงมาจากฟ้า ปานนั้น

นับปี พ.ศ.1893 เริ่มสถาปนาโดยไม่สนความเป็นมาก่อนหน้านี้เลย

“เวียงเหล็ก” ที่ประทับ “พระเจ้าอู่ทอง”

ก่อนไปสร้างกรุงศรีฯ

จุดต่อมาที่เรายืนอยู่ซึ่งมีชื่อว่า “เวียงเหล็ก”

เป็นที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง ก่อนที่วังหลวงในเกาะเมืองจะสร้างเสร็จ

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ กางแผนที่แล้วบอกสังเกตตำแหน่งที่ตั้งของวังหลวง ซึ่งมีวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมงคลบพิตร เป็นศูนย์กลาง ว่าอยู่ในแนวแกนเดียวกับวัดพุทไธสวรรย์พอดิบพอดี

นี่เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์

เวียงเหล็ก เป็นตำหนักเดิม โดยหลังจากสถาปนากรุงศรีอยุธยาเรียบร้อย ย้ายไปอยู่ในเกาะเมืองแล้ว บริเวณนี้จึงได้รับการสถาปนาเป็นวัดพุทไธสวรรย์ เนื่องจากเป็นพื้นที่บรรพชนของพระเจ้าอู่ทอง

ไม่ได้ถูกทิ้งร้าง ยังคงครองความสำคัญ ในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนเรื่อยมา

ดังเช่น การเฉลิมฉลองขอขมาผีบรรพชนเมื่อครั้งเดือน 12 ในพระราชพิธี “จองเปรียง” นั่นเอง

สุจิตต์อธิบายไว้ว่า กฎมณเทียรบาลกำหนดว่าพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมส่งน้ำ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงเรือพระที่นั่ง แล้วล่องไปทำพิธีส่งน้ำ (หมายถึง ขอให้น้ำลด เพื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวในนาที่น้ำท่วม) พร้อมด้วย พระอัครมเหสี แม่หยัวเมือง ลูกเธอหลานเธอ ฯลฯ

“ครั้นถึงวัดพุทไธสวรรย์ เสด็จขึ้นทอดพระเนตรการละเล่น มีจุดดอกไม้ไฟ มีเล่นหนังใหญ่ (เรื่องรามเกียรติ์)”

“คืนเดียวกันนี้มีเล่นหนังใหญ่ในวังหลวงด้วย แสดงถึงความสำคัญของเวียงเหล็กเสมอด้วยวังหลวงของราชอาณาจักร”

สุจิตต์จบเรื่องประวัติศาสตร์สังคม จากนั้นเชิญ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ให้ช่วยอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ

รุ่งโรจน์เพิ่งมีผลงานตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มกับสำนักพิมพ์มติชน ชื่อ “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก”

หนังสือร้อนแรงเผยข้อมูลใหม่ กลายเป็นข่าวเกรียวกราวทางหน้าหนังสือพิมพ์ โลกออนไลน์ ขนาดถึงขั้นต้องจัดงานเสวนาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น

ตำนาน/ความทรงจำ

แห่งวัดพุทไธสวรรย์

วัดพุทไธสวรรย์ มีปรากฏหลักฐานเก่าสุด อยู่ในพงศาวดารจักรพรรดิพงษ์ ว่า สถาปนาขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

รุ่งโรจน์อธิบายต่อว่า แต่แม้พงศาวดารจะกล่าวว่าสถาปนาในอยุธยาตอนต้น หากแต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานโบราณสถานตำแหน่งใดว่าเก่าถึงสมัยนั้น นั่นเป็นเพราะส่วนใหญ่สร้างขึ้น/สร้างทับในสมัยหลัง

“อย่างสองฝั่งทางเข้าด้านหน้า เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย คล้ายกับที่วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามในกรุงเทพฯ ต่างก็แต่ที่นี่กลม แต่ที่วัดโพธิ์เป็นเหลี่ยมย่อมุมรับกับฐาน

“ผังวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นมีแบบแผน คือ วิหารหลวงอยู่ด้านหน้า ต่อด้วยพระปรางค์ประธานของวัด ส่วนด้านหลังเป็นพระอุโบสถ” รุ่งโรจน์กล่าว

เดินเข้ามาจนถึงจุดที่เป็นที่ตั้งของปรางค์ประธาน ขรรค์ชัยทอดน่องประคองไม้เท้า มีสุจิตต์กางร่มเดินคู่กันมา

อาจารย์หนุ่มจาก ม.รามคำแหง เล่าว่า ปราค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์องค์นี้ กล่าวกันว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ถ้าดูจากสถาปัตยกรรมตอนนี้ เทียบลวดบัว ซุ้มหน้าบันที่ซ้อนถี่กัน 3 ชั้น ชี้ให้เห็นว่าสร้างขึ้นใหม่ เทียบได้สมัยพระเจ้าปราสาททอง ช่วงอยุธยาตอนกลาง

และที่ปรางค์ประธานนี้เอง มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่

ป้ายกำกับบอกชื่อ “พระเจ้าอู่ทอง”

ตั้งอยู่ทางซุ้มด้านเหนือของมุกพระปรางค์ เป็นพระพุทธรูปที่พระยาโบราณราชธรนินทร์ เคยเล่าถวายกรมพระยาดำรงฯ ว่า เมื่อกรมหลวงราชพลภักดิ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นมาซ่อมเพนียดคล้องช้าง ได้ยินชาวบ้านร่ำลือว่าพระเจ้าอู่ทององค์นี้ดุ

สุดท้าย กรมหลวงราชพลภักดิ์จึงจำเป็นต้องแปลงจากเทวรูป เป็นพระพุทธรูป

นี่คือนิทาน คือเรื่องที่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน

สุจิตต์ช่วยเสริมว่า เรื่องแบบนี้เป็นความทรงจำ จะจริงเท็จประการใดแล้วแต่ ที่แน่นอนคือช่วยยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่สำคัญ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่จดจำ เล่ากันต่อมา

“ยืนยันว่าวัดพุทไธสวรรย์แห่งนี้ก็ไม่ได้ “เล็กๆ” อย่างที่นักวิชาการกรมศิลปากรว่า” สุจิตต์กล่าว

พระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก

และข้อคิดจาก “สุจิตต์”

อีกตำนานที่หยิบยกขึ้นมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่ทอง

เกี่ยวกับที่ไปชื่อ “เวียงเหล็ก” ว่า มาจากการที่ “พระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก”

เรื่องนี้อยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่า เล่าไว้ว่า คนที่จะเป็นกษัตริย์ครองแผ่นดินแถวนี้ได้ 1.ต้องแผลงศรไปแล้วศรสามารถที่จะกลับมาได้เอง และ 2.ต้องกินเหล็กได้

พระเจ้าอู่ทองใช้วิธีการยืนต้นน้ำแล้วแผลงศรไป ศรไหลตามน้ำกลับมาโดยไม่ต้องไปเก็บ ส่วนการกินเหล็ก ก็ตะไบแท่งเหล็กแล้วคลุกข้าวกิน

เป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ คือเรื่องเล่าตำนานที่สร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองดินแดน

ได้ชื่อ “เวียงเหล็ก” สื่อถึงความแข็งแกร่ง เป็นกำแพงเหล็กที่อริราชศัตรูตีไม่แตก

ภายหลังเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาเสร็จแล้ว จึงได้สถาปนา “เวียงเหล็ก” แห่งนี้เป็น “วัดพุทไธสวรรย์” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ฝนตกหลังจากที่รายการจบ ไม่ใช่เบาๆ แต่มาหนักชนิดที่คืนนี้อาจได้ยินเสียงกบ เขียด ร้องระงม

ตอนปิดท้าย สุจิตต์ฝากถึงกรมศิลปากรว่า

1. อยากให้มีการเปิดประตูด้านหน้าที่แท้จริงให้ประชาชนได้เข้ามาชมวัด

2. ช่วยกันศึกษาเรื่องบริเวณวัดพุทไธสวรรย์ รวมถึงย่านเมืองปทาคูจามซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาว “สยาม” ให้มากขึ้น

เพื่อที่ให้เห็นความเชื่อมโยง เห็นผู้คนที่อยู่อาศัยสืบเนื่องมาแล้วก่อนมีราชอาณาจักรอยุธยา

เพื่อที่ “เวียงเหล็ก” ที่ประทับ “พระเจ้าอู่ทอง” ก่อนไปสร้างกรุงจะได้ไม่ “เล็กๆ” หากแต่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร

ดังที่เรายืดอกภูมิใจในอยุธยามรดกโลก นั่นเอง