“ตัวตนนักศึกษา 6ตุลา” ถูกทำให้เลือนหายบนหน้าหนึ่งนสพ.

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เป็นศูนย์รวมความสนใจและทิศทางกระแสสังคม ณ ขณะนั้น อีกทั้งมีบทบาทในการตีกรอบความสนใจของผู้อ่านว่า “อะไรสำคัญ ควรค่าแก่การให้ความสนใจ (และอะไรไม่สำคัญพอและไม่ควรค่าแก่การใส่ใจ) บนเนื้อที่จำกัดของกระดาษหน้าหนึ่ง จึงมีเพียงบางประเด็นเท่านั้นที่ถูกคัดเลือก-หยิบใส่ 

บทความนี้จะชวนผู้อ่านร่วมกันสำรวจหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แปดหัวจากกว่าสิบหัว1ที่ตีพิมพ์ในช่วงเหตุการณ์ “6 ตุลา” เพื่อพลิกหาตัวตนและเรื่องราวบางส่วนของขบวนการนักศึกษาที่ตกหล่นหรือถูกทำให้หายไป 

 

เจตนาติดป้าย “หมิ่นเจ้า” ให้การแสดงละครแขวนคอ

บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งแปดหัว ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 “หมิ่นเจ้า” หรือ “หมิ่นพรบรมเดชานุภาพฯ” ถูกใช้อธิบายการแสดงละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ คำนี้ไม่ได้ปรากฏในหน้าสื่อตามสภาพจริงนัก

ตามบันทึกลำดับเหตุการณ์ของ โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” การแสดงละครแขวนคอเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 4 ตุลาคม และในวันต่อมา (5 ต.ค. 2519) มีเพียงหัวเดียวจากแปดหัวหนังสือพิมพ์ นั่นคือ บางกอกโพสต์ ที่รายงานการแสดงละคร โดยมีภาพถ่ายการแสดงจริงพร้อมบรรยายว่าเป็นการแสดง “จำลอง” (mock) กรณีพนักงานการไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอในจังหวัดนครปฐม คำว่า “หมิ่นเจ้า” ยังไม่ถูกใช้ในรายงานข่าว (ดูภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ด้านล่าง)

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 [ที่มา: https://doct6.com]
ภาพขยายส่วนที่รายงานการแสดงละครแขวนคอของนสพ.บางกอกโพสต์                                           ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 [ที่มา: https://doct6.com]
เมื่อมีการรายงานข่าวถึงการแสดงละครแขวนคอออกไป ช่วงสายของวันที่ 5 ตุลาคม นางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ สมาชิกชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการและนายพล นำภาพรายงานข่าวของ นสพ.บางกอกโพสต์ เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม อ้างว่าการแสดงละครแขวนคอเป็น “การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร” จากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งหนังสือพิมพ์มักอ้างอิงในรายงาน เผยแพร่รายงานพิเศษตอกย้ำคำกล่าวอ้างดังกล่าว “เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อีกเจ็ดหัวเริ่มรายงานการแสดงละครแขวนคอเป็นครั้งแรก และเลือกใช้คำว่า “หมิ่นเจ้า” แปะป้ายให้ขบวนการนักศึกษา

ภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ชาวไทย, ดาวสยาม, เดลินิวส์, ไทยรัฐ, เสียงปวงชน, สยามรัฐ, เดลิไทม์ และบางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 [ที่มา: https://doct6.com]

น่าตั้งข้อสังเกตว่าการแสดงละครแขวนคอ (4 ต.ค. 2519) เพิ่งถูกรายงานออกไปอย่างแพร่หลายเกือบสองวัน (6 ต.ค. 2519) หลังการแจ้งความในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยฝ่ายขวาและการผลิตซ้ำโดยสถานีวิทยุยานเกราะ

การแปะป้าย “หมิ่นเจ้า” บนหน้าหนึ่ง ไม่ใช่เพียงการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา (หรือ straight news) หากแต่ถูกเสริมเติมแต่งด้วยการกล่าวถึงอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายขวาและสังคมไทย  เช่น “แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯเหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ” ของขวาสุดโต่งอย่าง นสพ. ดาวสยาม, “กลียุคใกล้แล้ว” ของ นสพ. เดลินิวส์ และ “นายกออกทีวี.ชี้กระเทือนใจมาก” ของนสพ. ไทยรัฐ ซึ่งนับว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนข้างกลางในสมัยนั้น เป็นต้น

การนำเสนอตัวตนของขบวนการนักศึกษาบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม เช่นนี้ ได้จัดวางขบวนการนักศึกษาเป็นคู่ขัดแย้งกับสังคมไทย ไม่ใช่กับรัฐบาลหรือเพียงแค่พระถนอมอีกต่อไป

แทบไม่มีรายงานข่าว “การแถลงตอบโต้” ของนศ.

การประโคมข่าว “การแสดงละครหมิ่นเจ้า” เบียดบังข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งหลุดออกจากหน้าหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 21.30 น. ตัวแทนขบวนการนักศึกษาพร้อมนักแสดงละครแขวนคอตั้งโต๊ะแถลงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีใจความตอบโต้การรายงานข่าวของ นสพ. ดาวสยาม และสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งเชื่อมโยงการแสดงละครกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

หากผู้อ่านได้ลองเลื่อนขึ้นไปดูภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งแปดหัว จะพบว่าภาพลักษณะตัวตนของฝ่ายนักศึกษาถูกครอบคลุมด้วย “หมิ่นเจ้า” ไปหมดแล้ว นอกจากนสพ. บางกอกโพสต์ ก็ไม่มีหัวอื่นที่สละพื้นที่หน้าหนึ่งให้ฝ่ายนักศึกษาได้อธิบายการกระทำและตัวตนของพวกเขาอย่างมีความหมายเลย

การแสดงดังกล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นความทารุณโหดร้ายอันเนื่องมาจากการฆ่าแขวนคอที่นครปฐม โดยมีการแต่งหน้าให้เหมือนสภาพศพ และการที่เลือกเอาบุคคลทั้งสองก็เพราะเป็นนักแสดงในมหาวิทยาลัย อีกทั้งตัวเล็กมีน้ำหนักเบา ไม่ทำให้กิ่งไม้หักง่าย การแสดงแขวนคอใช้วิธีผูกผ้าขาวม้ารัดรอบอกและผูกเชือกด้านหลังห้อยกับกิ่งไม้ จึงต้องใส่เสื้อทหารซึ่งมีตัวใหญ่เพื่อบังร่องรอยผ้าขาวม้าให้ดูสมจริง

                                                 ประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ ศนท. แถลงข่าวตอบโต้กรณี                                                        ละครแขวนคอถูกกล่าวหาว่าหมิ่นเจ้า ในวันที่ 5 ต.ค. 2519, 21.30 น. ที่มา: โครงการ “บันทึก 6 ตุลา”

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” แสดงความเห็นต่อการรายงานข่าวดังกล่าวว่า การแถลงข่าวตอบโต้ของฝ่ายนักศึกษาไม่เป็นผลอะไรเลยต่อการสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแสดงละครแขวนคอ ธนาพลยกเหตุผลหนึ่ง ก็คือกระแสความเชื่อที่ว่าขบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์และคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามต่อสถาบันหลักของชาติไทยก่อตัวตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ภาพการแสดงแขวนคอและการประโคมข่าว “หมิ่นเจ้า” ของสถานีวิทยุอย่่างต่อเนื่องในช่วงการชุมนุมสอดประสานเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับสังคมที่จะตัดสินตัวตนของขบวนการนักศึกษา2

“จุดยืนทางอุดมการณ์” และ “ความไม่รุนแรง” ถูกทำให้ไม่ปรากฏชัด

เสียงของขบวนการนักศึกษาไม่ใช่เพิ่งหายไปจากหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เมื่อมีกรณีการแสดงแขวนคอถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่ไม่เคยได้รับการนำเสนออย่างชัดเจนตั้งแต่การรวมตัวครั้งใหญ่ของประชาชนและนักศึกษาในวันที่ 29 กันยายน และวันที่ 4 ถึง 5 ตุลาคม ณ ท้องสนามหลวง และในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตามลำดับ) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่พระถนอมออกนอกประเทศและจับผู้ฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าสองคนและผู้ก่อเหตุทำร้ายประชาชนที่ปิดโปสเตอร์ขับไล่พระถนอม

สามวันของการชุมนุมใหญ่ก่อนการสังหารประชาชนโดยฝ่ายขวา คำปราศรัยของฝ่ายนักศึกษาไม่ถูกรายงานบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ (เท่าที่ผู้เขียนค้นพบ) พาดหัวข่าวกลับเต็มไปด้วยการสร้างความหวาดระแวงว่าจะเกิดความรุนแรงจากการชุมนุมและกิริยาเคลื่อนไหว (action) ของฝ่ายนักศึกษา โดยปราศจากเนื้อหาสาระของคำปราศรัยหรือจุดยืนทางอุดมการณ์ความคิดที่รองรับการลุกฮือของประชาชนนี้

จากการสำรวจหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์สามหัว ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2519 ที่ผู้เขียนค้นพบ ได้แก่ ดาวสยาม เดลิไทม์ และสยามรัฐ (ดูภาพด้านล่าง) การชุมนุมใหญ่ของฝ่ายนักศึกษาที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน ถูกนำเสนอในลักษณะสร้างความหวาดระแวงให้สาธารณะและฝ่ายรัฐ เช่น นสพ. ดาวสยามใช้คำว่า “ปลุกระดม” อธิบายการรวมกลุ่มเรียกร้องและการระดมผู้สนับสนุน และนสพ. เดลิไทม์ พาดหัวตัวโต “ตร.นับร้อยตรึงสนามหลวงหวั่นเหตุร้าย” เป็นต้น แม้การชุมนุมนัดนี้ (29 ก.ย. 2519) เป็นการรวมกลุ่มครั้งแรกและครั้งใหญ่นับตั้งแต่เณรถนอมเดินทางถึงประเทศไทย แต่ข้อเรียกร้องและอุดมการณ์ของฝ่ายนักศึกษาไม่ถูกทำให้ปรากฏชัดบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั้งสามหัว

ภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ดาวสยาม, เดลิไทม์ และสยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2519 [ที่มา: https://doct6.com]

ต่อมาการชุมนุมอีกครั้งสำคัญของฝ่ายนักศึกษาในวันที่ 4 ตุลาคมถูกนำเสนอบนหน้าหนึ่งในลักษณะที่ยังคงตอกย้ำ “ความวุ่นวาย/ความรุนแรง” หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เจ็ดหัว (ไม่นับรวม นสพ. บางกอกโพสต์3) เน้นรายงานการเข้ายึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของฝ่ายนักศึกษา เช่น นสพ. ไทยรัฐ พาดหัว “นศ.นับหมื่นยึด ‘ลานโพธิ์’…”  และนสพ. เสียงปวงชน ขยายระดับความเข้มข้นของการชุมนุมว่า “…ปลุกระดมใหญ่ยึดมธ.เป็นแหล่งชุมนุม” เป็นต้น และแม้การชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ไม่พบการรายงานกิจกรรมของผู้ชุมนุมอื่นนอกจากกรณี “การแสดงละครหมิ่นเจ้า” ในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เลย

ภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ชาวไทย, ดาวสยาม, เดลินิวส์, ไทยรัฐ, เสียงปวงชน, สยามรัฐ และเดลิไทม์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 [ที่มา: https://doct6.com]

นอกจากคำปราศรัยและจุดยืนทางอุดมการณ์ของนักศึกษาที่ไม่(ถูกทำให้)ปรากฏบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว อีกแง่มุมสำคัญเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่หายไปคือ “การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ”

รศ. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” เล่าว่า ในยุคนั้นแนวคิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศทั่วโลกเชื่อใน “อำนาจมาจากปากกระบอกปืน” การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยกำลังพล และเมื่อขบวนการของนักศึกษาถูกฝ่ายรัฐตีตราว่าเป็น “พวกคอมมิวนิสต์” ประเด็นเรื่องการต่อสู้ด้วยสันติวิธี หรือการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ จึงไม่ถูกชูขึ้นในสังคม รวมถึงหน้าสื่อด้วย4

การไม่ปรากฏของลักษณะกิจกรรมการชุมนุมของฝ่ายนักศึกษาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2519 เป็นต้นมา ส่งเสริมให้การรายงาน “ความวุ่นวาย/ความรุนแรง” ในฐานะคุณลักษณะของการชุมนุม กลบลืบเลือนการดำเนินกิจกรรม เช่น การปราศรัยและการแสดงละครแขวนคอ หรือกิจกรรมอื่นในรายงานข่าว อันจะช่วยแสดงตัวตนของฝ่ายนักศึกษาขึ้นมา ในขณะเดียวกัน การไม่ปรากฏข้อเท็จจริงส่วนนี้ปิดกั้นไม่ให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการตัดสินตัวตนของฝ่ายนักศึกษาด้วย

การหายไปของ “ตัวตนของนศ.” ปิดกั้นการตัดสินของสังคม

การนำเสนอข่าวขบวนการนักศึกษาบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ในช่วงก่อนการสังหารหมู่ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เชื้อเชิญสังคมให้มองนักศึกษาเป็นภัยร้ายแรงต่อ(สถาบันหลักของ)สังคมไทย หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เลือกนำเสนอการชุมนุมของฝ่ายนักศึกษาในลักษณะที่ว่าการชุมนุมอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือรุนแรง จนกระทั่งการเลือกที่จะใช้มุมมองของฝ่ายขวาในการแปะป้าย “หมิ่นเจ้า” ให้กับการแสดงละครแขวนคอ

เหล่านี้คือสิ่งที่ปรากฏชัดบนหน้าหนึ่ง แต่สิ่งที่หายไปจากหน้าหนึ่งก็มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจและกรอบมุมมองของสังคมต่อขบวนการนักศึกษาไม่แพ้กัน คำปราศรัยซึ่งจะสะท้อนจุดยืนทางอุดมการณ์ของฝ่ายนักศึกษา และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมนุมซึ่งจะช่วยชี้ให้เห็นถึงเจตนาว่าจะก่อความวุ่นวายหรือรุงแรงหรือไม่นั้น หายไปจากหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกือบทุกหัว การหายไปของเรื่องราวเหล่านี้จึงมีส่วนลบเลือนตัวตนที่แท้จริงของขบวนการนักศึกษาและกีดกั้นอำนาจการตัดสินของสังคมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวันที่ฝ่ายขวาปฏิบัติการสังหารหมู่

 


เชิงอรรถ

1 หนังสือพิมพ์ในเวลานั้นแบ่งตามอุดมการณ์การเมืองได้เป็นสองกลุ่ม “กลาง ๆ” และ “ขวา” ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ตาม ยังมีหนังสือพิมพ์ที่มีอุดมการณ์ “ซ้าย” อย่างน้อยหนึ่งฉบับ นั่นคือ     “อธิปัตย์” ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษา

2 ธนาพล อิ๋วสกุล ให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์เมื่อ 4 ตุลาคม 2563

3 นสพ. บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 รายงานการจัดกิจกรรมของฝ่ายนักศึกษาอย่างละเอียดและเหตุการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เช่น การสนับสนุนของนักศึกษาในต่างจังหวัด การรวมกลุ่มต่อต้านการชุมนุมของฝ่ายนักศึกษาในบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น

4 รศ. พวงทอง ภวัครพันธุ์ ให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์เมื่อ 5 ตุลาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลและแรงบันดาลใจจาก