ธงทอง จันทรางศุ | อลหม่านเรื่อง “คลอง”

ธงทอง จันทรางศุ

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าคลองที่ไหลผ่านสะพานพิภพลีลา ไปตามแนวหลังกระทรวงกลาโหม ลอดใต้สะพานช้างโรงสี ผ่านหน้ากระทรวงมหาดไทย วัดราชบพิธฯ และไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ข้างโรงเรียนราชินี มีชื่อว่า “คลองหลอด”

แต่เมื่อไปเห็นป้ายที่ทางราชการติดชื่อบอกว่าคลองดังกล่าวชื่อ “คลองคูเมืองเดิม”

คราวนี้ข้อมูลเลยยุ่งเหมือนยุงตีกันสิครับ

และเพื่อให้เรื่องอลหม่านมากยิ่งขึ้น ผมอยากจะเติมข้อมูลว่า คลองที่ว่านี้ ยังมีชื่อเรียกอีกสองอย่าง คือเรียกว่า “คลองโรงไหม” และ “คลองตลาด” ด้วย

อย่าเพิ่งโมโหโกรธาครับ ใจเย็นๆ แล้วเดี๋ยวผมจะเล่าอะไรให้ฟัง

เรื่องนี้ต้องย้อนหลังไปสักหน่อย ไม่ต้องไปถึงสมัยอยุธยาหรอกครับ เดี๋ยวจะกู่ไม่กลับ เอาเพียงแค่สมัยกรุงธนบุรีนี้เป็นพอ

ระยะเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ระหว่างพุทธศักราช 2310 จนถึงพุทธศักราช 2325 ผังเมืองของกรุงธนบุรีนั้นแบ่งออกเป็นสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงกลาง ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังและวัดอรุณราชวราราม น่าจะมีความครึกครื้นคึกคักมากกว่าฝั่งตะวันออก กล่าวเฉพาะทางฝั่งตะวันออก มีคูเมืองที่เป็นคลองขุดขึ้นตามแนวที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ซึ่งผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นอาณาเขตของเมือง

นี่เองเป็นสาเหตุให้คลองนี้มีป้ายชื่อบอกว่าเป็นคลองคูเมืองเดิมอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

หมายความว่าเป็นคูเมืองเดิมของกรุงธนบุรีครับ ไม่ใช่ของกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นพอถึงปี 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงพระราชดำริว่าเมืองอกแตกคือเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง เช่นกรุงธนบุรีนั้นยากแก่การป้องกันระวังรักษา ด้วยได้ทรงมีประสบการณ์มาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นไปรับทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลกคราวศึกอะแซหวุ่นกี้ ผู้รักษาเมืองต้องพะวักพะวงเป็นอย่างยิ่ง ห่วงซ้าย-ขวา หน้า-หลังไปหมด

เมื่อทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น จึงกำหนดให้เมืองใหม่ที่ทรงสถาปนาขึ้นมีพื้นที่แต่เฉพาะทางฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

แน่นอนว่าภายในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองคูเมืองเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยธนบุรีนั้นไม่ใหญ่โตกว้างขวางเพียงพอที่จะรับความจำเป็นของการสร้างเมืองใหม่ จึงทรงพระกรุณาให้ขุดคลองคูเมืองโอบรอบขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เริ่มแยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงป้อมพระสุเมรุ ผ่านมาทางวัดบวรนิเวศวิหาร ป้อมมหากาฬ วัดราชนัดดาราม วัดเทพธิดาราม

แล้วไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่งตรงใกล้กันกับวัดบพิตรพิมุขฯ

คลองที่ขุดใหม่นี้ เรียกรวมว่าคลองรอบกรุง แต่บางช่วงบางตอนและบางคนก็เรียกว่าคลองบางลำภูหรือคลองโอ่งอ่างด้วย

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า คลองบางลำภู นิยมหมายถึงคลองที่ว่านี้ตั้งแต่ป้อมพระสุเมรุ ผ่านมาในย่านบางลำภู ผ่านวัดบวรนิเวศฯ พอไกลออกไปสักหน่อยคนก็เลิกเรียกว่าคลองบางลำภูแล้ว ส่วนมากนิยมเปลี่ยนไปเรียกว่าคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่างแทน

ฉันใดก็ฉันนั้นครับ คลองคูเมืองเดิมที่มีชื่ออีกสองชื่อ คือคลองโรงไหม และคลองตลาด ก็เป็นเหตุผลทำนองเดียวกัน กล่าวคือ คลองมีความยาวมากพอสมควร เมื่อคลองผ่านเข้าไปในย่านใดที่มีสถานที่สำคัญหรือเป็นแหล่งประชุมชน คลองเดียวกันนั้นเองก็อาจมีชื่อเรียกใหม่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากชื่อที่เป็นชื่อราชการ สุดแต่ความนิยมคุ้นเคยของชาวบ้านร้านตลาด

คลองคูเมืองเดิมส่วนที่นิยมเรียกว่าคลองโรงไหม ได้แก่ คลองส่วนต้นที่เวลานี้ถูกเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าสร้างทับจนมองไม่เห็นร่องรอยชัดเจนเสียแล้ว บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหอศิลป์เจ้าฟ้า ที่อยู่ตรงกันข้ามกับโรงละครแห่งชาติ เมื่อครั้งต้นกรุงเคยเป็นที่ตั้งของโรงไหมของหลวง เพื่อทอผ้าไหมสำหรับใช้ในราชการ

ฝีปากชาวบ้านย่อมคุ้นเคยชื่อที่ตั้งขึ้นเองว่าคลองโรงไหม ยิ่งกว่าชื่อคลองคูเมืองเดิม ซึ่งแสนจะเป็นภาษาราชการ

ทุกวันนี้ในละแวกดังกล่าวยังมีตรอกโรงไหมเป็นพยานหลักฐานหลงเหลืออยู่เลยนะครับ ขอเชิญไปด้อมๆ มองๆ ดูได้

พอไปถึงปลายทางตรงที่จะออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้กันกับโรงเรียนราชินี คลองเดียวกันนี้ก็มีชื่อว่าคลองตลาดเสียอีก นั่นหมายความว่า ตลาดที่อยู่ตรงปากคลองแห่งนั้นเห็นจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาแต่ไหนแต่ไร เพื่อให้คุ้นปาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงมีฉันทามติเรียกคลองตรงนั้นเสียว่าคลองตลาดให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป

ฉันจะเรียกของฉันอย่างนี้ ใครจะทำไม

พอเข้าใจตรงกันแล้วนะครับว่าคลองคูเมืองเดิมกับคลองโรงไหมและคลองตลาดนั้นเป็นคลองเดียวกัน

แล้วความเข้าใจผิดที่บางคนนึกว่าคลองดังกล่าวชื่อ “คลองหลอด” โผล่มาจากที่ไหน

เรื่องคือว่ามันมีคลองหลอดอยู่จริงๆ ครับ คำว่า “คลองหลอด” นี้ โบราณท่านใช้เรียกชื่อคลองขนาดเล็กที่เป็นคลองลัดเชื่อมต่อระหว่างคลองขนาดใหญ่กว่าสองคลองเพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา

เป็นคลองขุดที่เป็นเส้นตรง ลักษณะเหมือนหลอดเชื่อมคลองที่อยู่ต้นทางปลายทางเข้าด้วยกัน

ลองจินตนาการดูครับ ว่าถ้าหากระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง ไม่มีคลองหลอดเป็นคลองลัดเชื่อมคลองทั้งสองเข้าหากันแล้ว ถ้าใครจะพายเรือจากกระทรวงมหาดไทยไปกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยร้านประตูผี หรือไปกินอาหารมิชลินร้านเจ๊ไฝ ก็ต้องอุตสาหะพายเรือจากกระทรวงมหาดไทยออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงสะพานพระปิ่นเกล้า เลี้ยวขวาพายทวนน้ำขึ้นไปจนถึงป้อมพระสุเมรุ แล้วเลี้ยวขวาพายเรือเข้าคลองรอบกรุงจนถึงย่านประตูผี จึงขึ้นจากเรือไปกินก๋วยเตี๋ยวได้

ไม่ตายก็คางเหลืองครับ

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีคลองเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุงเข้าหากัน เป็นคลองขนาดเล็กที่เรียกว่าคลองหลอดสองสาย

ทุกวันนี้มีชื่อปรากฏเรียกว่า คลองหลอดวัดราชนัดดาคลองหนึ่ง และคลองหลอดวัดราชบพิธคลองหนึ่ง

ที่เรียกอย่างนี้เพราะคลองหลอดทั้งสองคลองไหลผ่านบริเวณใกล้กันกับวัดทั้งสองวัดที่ออกนามมาแล้ว

แต่ผมก็เข้าใจเอาเองอีกว่า ชื่อทั้งสองนี้เพิ่งมาคิดเรียกกันในชั้นหลัง เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อครั้งแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้นยังไม่มีวัดราชนัดดาและวัดราชบพิธ ซึ่งมาสร้างขึ้นในรัชกาลที่สามและรัชกาลที่ห้าตามลำดับ

ถ้าขยันค้นเอกสารอีกสักหน่อย คงพอสืบค้นได้ว่าเมื่อครั้งแรกสร้างกรุงนั้นคลองหลอดทั้งสองนี้มีชื่อเฉพาะเจาะจงว่าอย่างไร การบ้านข้อนี้แบ่งไว้ให้คนอื่นเขาทำบ้างดีกว่าเนอะ

ตกลงเข้าใจกระจ่างแจ้งแล้วนะครับ คราวนี้ก็จะไม่มีเสียล่ะ ที่จะเรียก “คลองคูเมืองเดิม” ผิดพลาดว่า “คลองหลอด” อีกต่อไป

ถ้าใครเรียกผิดอีก จะหยิกให้เนื้อเขียวเชียว

ไม่เชื่อก็ลองดู