สังฆราชาและการปกครองสงฆ์ในพม่า

เต่าง์ กวิน สะยาด่อ ตาตะนาบายองค์สุดท้ายของพม่า

เรื่องของศาสนาและการปกครองสังฆมณฑลเป็นฉากหลักในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราแทบทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ภายในประเทศไทยเอง ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการแต่งตั้งพระสังฆราช และการห้ำหั่นระหว่าง 2 นิกายหลักในพุทธศาสนาแบบเถรวาทของบ้านเรา ผู้เขียนมักได้รับคำถามอยู่เนืองๆ ว่าในพม่าเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นหรือไม่ และการปกครองสงฆ์ในพม่าเป็นไปในรูปแบบใด เพราะสถาบันสงฆ์พม่า “ดู” จะเข้มแข็งจนเป็นแรงขับเคลื่อนการเมืองพม่ามาช้านาน อีกทั้งพระสงฆ์ในพม่ายังมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากพระไทย เหตุใดพระพม่าจึงไม่รู้สึกใดๆ เมื่อเห็นพระอุ้มเด็กผู้หญิง? เหตุใดพระพม่าจึงออกนอกวัดไปจิบน้ำชาดูฟุตบอลในยามวิกาลได้? เหตุใดพระพม่าจึงไม่โกนคิ้ว? หรือทำไมท่านจึงโอบกอดโยมแม่ได้? คำถามเหล่านี้เป็นตัวอย่างของความสงสัยของพุทธบริษัทไทยที่มีต่อสถาบันสงฆ์และพระสงฆ์ในพม่า

ผู้เขียนขอตอบคำถามเหล่านี้ด้วยคำตอบที่อาจฟังดูกำปั้นทุบดินไปหน่อยว่า แม้พม่าจะเป็นเมืองพุทธเถรวาท แต่ศาสนาพุทธแบบพม่าแตกต่างจากพุทธแบบไทยๆ และในอุษาคเนย์เองก็ไม่มีประเทศพุทธใดเลยที่พระสงฆ์มีหลักปฏิบัติคล้ายกัน แม้แต่การนับพุทธศักราชที่ 1 ก็ยังแตกต่างกัน และที่สำคัญคือบริบททางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันด้วย ศาสนาพุทธในพม่าประกอบด้วย 2 นิกายใหญ่ ได้แก่ ชเวจิน ก่าย (Shwegyin gaing) และ สุธรรมะ ก่าย (Thudhamma gaing) พระสงฆ์ในพม่าส่วนใหญ่เป็นพระในนิกายชเวจิน ที่เหลืออีกเกือบ 10% เป็นพระในนิกายสุธรรมะที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากกว่า ในสมัยราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า สถาบันสงฆ์อยู่ภายใต้การปกครองของ “ตาตะนาบาย” (thathanabaing) หรือพระสังฆราช พร้อมคณะเถระผู้ใหญ่จากนิกายต่างๆ อีก 8-12 รูป ที่เรียกว่า “สะด่อ” (sadaw) คล้ายกับมหาเถรสมาคมในไทย แต่มิได้มีโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อนเหมือนมหาเถรสมาคมในไทยปัจจุบัน ตาตะนาบายและพระเถระผู้ใหญ่ในสะด่อได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง กษัตริย์พระองค์สำคัญในราชวงศ์อลองพญา ตำแหน่งตาตะนาบายว่างลงถึงกว่า 10 ปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะราชสำนักไม่สามารถตกลงได้ว่าจะเชิญพระเถระผู้ใหญ่รูปใดขึ้นเป็นตาตะนาบาย ฝ่ายพระเจ้ามินดงมีพระราชดำริให้พระเถระจากนิกายชเวจินเป็นพระสังฆราช ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งต้องการให้พระผู้ใหญ่จากนิกายสุธรรมะขึ้นดำรงตำแหน่งพระสังฆราชต่อ เหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังสมเด็จพระสังฆราชกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์ พระองค์มิทรงแต่งตั้งพระเถระรูปใดเป็นพระสังฆราชอีกจนกระทั่งสิ้นรัชกาล

เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาและความขัดแย้งในหมู่สงฆ์

ตั้งแต่อดีตกาล พม่ามีพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นที่ยอมรับและคณะสงฆ์พร้อมใจกันยกให้เป็นผู้นำสงฆ์ แต่ผู้นำฝ่ายสงฆ์และสถาบันสงฆ์ที่เป็นระเบียบแบบแผนเพิ่งจะมีการฟื้นฟูกันในรัชสมัยพระเจ้าปะดุง หรือโบด่อพญา (ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 1) จนเมื่ออังกฤษผนวกพม่าตอนบน ตาตะนาบายยังคงมีอยู่ต่อไป โดยอังกฤษเข้าไปแทรกแซงกิจการสงฆ์ในพม่าน้อยมาก และปล่อยให้ตาตะนาบายแต่ละพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งได้จวบจนสิ้นพระชนม์ ตาตะนาบายองค์สุดท้ายในพม่าคือ “เต่าง์ กวิน สะยาด่อ” พระองค์ทรงรับตำแหน่งตาตะนาบายในปี 1903 และสิ้นพระชนม์ในปี 1938 หลังจากนั้นก็ไม่มีการแต่งตั้งตาตะนาบายอีกเลย

ตาตะนาบายหรือพระสังฆราชของพม่ามักเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีพื้นฐานทางครอบครัวเป็นคนธรรมดา มิได้เป็นหน่อเนื้อเชื้อพระวงศ์ พระนามที่ใช้เรียกสังฆราชแต่ละพระองค์ก็มักมาจากชื่อหมู่บ้านหรือเมืองที่สังฆราชองค์นั้นๆ ประสูติ การแบ่งภิกษุธรรมดาออกจากพระเถระผู้ใหญ่ หรือการเลื่อนขั้นของพระสงฆ์พม่าจึงมาจากความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นสำคัญ พระเถระผู้ใหญ่ในพม่าปัจจุบันมักมี “บารมี” บางประการที่ทำให้พุทธมามกะเลื่อมใส เช่น เป็นพระนักเทศน์ หรืออาจเป็นพระผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นพิเศษ

ตาตะนาบายไม่จำเป็นต้องเป็นพระที่มีอาวุโสสูงสุด แต่จำต้องเป็นพระเถระผู้ใหญ่จากวัดหลวงที่สำคัญๆ ในเมืองหลวง บ่อยครั้งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตาตะนาบายจากเจ้าอาวาสของวัดที่พระองค์เคยทรงผนวช ตำแหน่งพระสังฆราชในพม่าขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์ ในทางทฤษฎีจึงไม่ใช่ตำแหน่งถาวร หากแต่อิงแอบกับพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างใกล้ชิด พระราชอำนาจของกษัตริย์กับอำนาจของตาตะนาบายเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะกษัตริย์ก็ต้องการให้ตาตะนาบายดูแลความสงบในหมู่สงฆ์ ในมัณฑะเลย์ หลังอังกฤษผนวกพม่าตอนบนและเนรเทศพระเจ้าธีบอออกไปแล้ว มีบันทึกว่าประชากรพระสงฆ์เฉพาะในมัณฑะเลย์เพียงเมืองเดียวมีมากถึง 13,227 รูป หรือประมาณ 8% ของประชากรทั้งหมดในเมือง การควบคุมประชากรสงฆ์ให้อยู่ในร่องในรอยจึงเป็นกุศโลบายของทั้งกษัตริย์พม่าและรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ

ตาตะนาบายทรงเป็นผู้นำคณะสงฆ์ก็จริงอยู่ แต่นอกเหนือจากหน้าที่ควบคุมสถาบันสงฆ์แบบกว้างๆ แล้ว อำนาจของตาตะนาบายในแง่มุมอื่นๆ มีค่อนข้างจำกัด มหาเถรสมาคมของพม่าในเวลานั้นมีหน้าที่หลักคือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสงฆ์ด้วยกัน หรือระหว่างฆราวาสกับสงฆ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับธรณีสงฆ์ นอกจากนี้ ตาตะนาบายยังเป็นผู้ควบคุมการสอบ “ปะถะมะเบียน” หรือการสอบพระปริยัติธรรม ควบคุมหลักสูตรการศึกษาในวัดทั่วราชอาณาจักร และยังสามารถแต่งตั้ง “สะยาด่อ” หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้ด้วย

เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ตำแหน่งตาตะนาบายจึงสิ้นสุดลงไป จะเห็นว่าตลอดยุคราชวงศ์อลองพญา กิจการสงฆ์ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ปกครอง และในขณะเดียวกัน ตาตะนาบายก็ดูแลสอดส่องกิจการสงฆ์แทนกษัตริย์ ซึ่งลดพระราชภาระไปได้มาก ดังนั้นเมื่อสถาบันกษัตริย์ในพม่าสิ้นสุดลงในปลายปี 1885 (พ.ศ.2428) สถาบันสงฆ์แม้นไม่ได้ล้มตามไปด้วย แต่ก็อยู่ในภาวะสุญญากาศ และแม้อังกฤษจะปล่อยให้ตาตะนาบายองค์สุดท้ายปกครองสงฆ์ต่อไป

แต่ทั้งตาตะนาบายและสถาบันสงฆ์ขาดที่ยึดเหนี่ยว หรืออาจเรียกว่าขาด “สปอนเซอร์” หลัก เมื่อตาตะนาบายองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ ในทางทฤษฎีจึงไม่มีผู้นำสูงสุดสอดส่องดูแลวินัยของสงฆ์อีกเลย แต่ในทางปฏิบัติ พม่ายังมีสะยาด่อ หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง สะยาด่อเป็นที่เคารพรักของชาวพม่า โดยเฉพาะสะยาด่อที่เป็นพระนักเทศน์และพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก การปกครองสงฆ์แบบหลวมๆ ผ่านวัดและเครือข่ายขององค์กรพระสงฆ์นี่เองที่ยังทำให้สถาบันสงฆ์ในพม่าเข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน และชาวพม่าเองก็เคารพสะยาด่อของพวกเขาอย่างมาก

ชาวพม่าพร้อมที่จะเดินทางเพื่อไปฟังสะยาด่อที่พวกเขาเคารพศรัทธากันอย่างมืดฟ้ามัวดิน ความศักดิ์สิทธิ์ของสะยาด่อในพม่าปัจจุบันมิได้เกิดจากการปลุกเสกวัตถุมงคล แต่เป็นความศรัทธาเลื่อมใสจากความรู้ทางธรรมและการแสดงออกถึง “บุญ” ที่แต่ละรูปได้สั่งสมมา