สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘พระยาแกรก’ สัญลักษณ์พุทธเถรวาท ขัดแย้งพราหมณ์และมหายาน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ตํานานเรื่องพระยาแกรกในพงศาวดารเหนือ เป็นวรรณกรรมแสดงสัญลักษณ์ความขัดแย้งระหว่างศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายานที่มีมาแต่เดิม กับพุทธเถรวาทจากลังกาที่แผ่เข้ามาใหม่

ผลคือเถรวาทจากลังกาเป็นฝ่ายชนะ

แล้วรุ่งเรืองสืบเนื่องถึงทุกวันนี้

เรื่องพระยาแกรก

พระยาโคตรตะบอง ครองราชสมบัติอยู่เมืองแห่งหนึ่งที่วัดเดิม ริมเกาะหนองโสน

“อยู่มาโหราทำฎีกาถวาย ทำนายว่าผู้มีบุญจะมาเกิดในเมืองนี้ พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสียทั่วขอบเขตทุกแห่ง

ครั้นมานานโหรากราบทูลว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว พระยาโคตรตะบองสั่งให้ป่าวร้องเอาทารกมาคลอกเสียให้สิ้น แต่ทารกผู้นั้นไฟคลอกไม่พอง ด้วยเทวดารักษาอยู่จึงมิตาย ครั้นเพลาเช้าสมณะไปบิณฑบาต พบทารกเอามาเลี้ยงไว้

ครั้นอยู่นานมา ราษฎรมาป่าวร้องกันว่าโหรทูลว่าผู้มีบุญจะมา ก็ตื่นกันเป็นโกลาหลจะไปดูผู้มีบุญ พระยาโคตรตะบองจึงตรัสแก่เสนาบดีว่าถ้าเดินมาจะสู้ ถ้าเหาะมาจะหนี ชาวเมืองชวนกันไปดูผู้มีบุญ

ทารกที่เพลิงคลอกนั้นอยู่วัดโพธิ์ผีไห้ อายุได้ 17 ปี ก็ถัดไปดูผู้มีบุญ

สมเด็จอำมรินทราแปลงตัวลงมาเป็นคนชราจูงม้ามาถึงที่ทารกผู้นั้นอยู่ จึงถามทารกว่าจะไปไหน ทารกตอบว่าจะไปดูผู้มีบุญ เจ้าของม้าจึงว่าจะถัดไปเมื่อไรจะถึง ฝากม้าไว้ด้วยเถิดจะมาเล่าให้ฟัง ทารกก็รับเอาม้าไว้ เจ้าของม้าจึงว่าถ้าอยากข้าวเอาข้าวของเราในแฟ้มกินเถิด อนุญาตให้แล้ว เจ้าของม้าก็ไป

แต่ทารกคอยนานอยู่แล้วหารู้ว่าตัวเป็นผู้มีบุญไม่ จึงเปิดแฟ้มดูเห็นของกินแล้วก็หยิบกินเข้าไป ด้วยเป็นเครื่องทิพย์ก็มีกำลังขึ้น จึงเห็นน้ำมันในขวดก็เอาทาตัวเข้า แขนขาที่ไฟคลอกงออยู่นั้นก็เหยียดออกได้หมด หายบาดแผลสิ้น จึงแลเห็นเครื่องกกุธภัณฑ์ ก็คิดในใจว่ากูนี้ผู้มีบุญหรือ เอาเครื่องกกุธภัณฑ์ใส่เข้าเผ่นขึ้นหลังม้า ม้าก็เหาะมา

พอถึงที่พระตำหนัก พระยาโคตรตะบองแลเห็นก็หวาดหวั่นไหวตกใจ จึงหยิบตะบองขว้างไปหาถูกพระองค์ไม่ ไปตกลงเมืองล้านช้าง พระยาโคตรตะบองก็หนี

พระยาแกรกครองราชสมบัติ ชะพ่อพราหมณ์ถวายพระนามชื่อพระเจ้าสินธพ อำมรินทร์ ราษฎรเป็นสุขยิ่งนัก

พระยาโคตรตะบองตามตะบองไปเมืองล้านช้าง เจ้าเมืองสัจจนาหะกลัวบุญญาธิการพระยาโคตรตะบอง จึงยกพระราชบุตรีให้เป็นอัครมเหสี

เจ้าเมืองสัจจนาหะรำพึงคิดแต่ในพระทัย ว่าที่ไหนคงจะคิดขบถต่อกูเป็นมั่นคง จะจับฆ่าเสีย มารำพึงคิดแต่ในใจว่าทำไฉนจะรู้แยบคาย จึงให้ไปหาลูกสาวมา ให้ลอบถามดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะตาย

นางก็รับคำพระราชบิดาแล้ว ก็กลับมาอ้อนวอนพระราชสามีว่าพระองค์ก็ทรงมหิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศไม่มีผู้ใดจะเสมอ ทำไมพระองค์จึงจะตาย แต่นางร่ำไรอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง

พระยาโคตรตะบองจึงบอกว่าอันตัวเรานี้มีกำลัง หามีผู้ใดจะอาจเข้ามาทำร้ายเราได้ จะฆ่าด้วยอาวุธอันใดมิได้ตาย ถ้าเอาไม้เสียบทวารหนักจึงจะตาย

นางปลอบประโลมถามได้ความดังนั้นแล้ว จึงบอกแก่พระราชบิดาๆ ได้ฟังดังนั้นดีพระทัยนัก จึงคิดแก่เสนาบดีทำการจับหลักไว้ที่พระบังคน เอาหอกขัดเข้าไว้ทำสายใย ครั้นพระยาโคตรตะบองเข้าที่พระบังคน อุจจาระตกลงไปถูกสายใยเข้า หอกก็ลั่นขึ้นมาสวนทวารเข้าไป

พระยาโคตรตะบองมานึกแต่ในใจว่าเสียรู้ด้วยสตรี จะอยู่ทำไมในเมืองนี้ จะกลับลงไปในแดนเมืองเราเถิด พระองค์ดำริดังนั้นก็หนีไป พอเข้าแดนกรุงพระนครแล้ว ก็ข้ามไปถึงที่นั้นก็สิ้นพระชนม์ลง

เสนาบดีกราบทูลพระเจ้าสินธพอำมรินทร์ว่าพระยาโคตรตะบองมาสิ้นพระชนม์ลงที่หลังวัด

ฝ่ายพระเจ้าสินธพอำมรินทร์ สั่งให้ทำการศพพระราชทานเพลิงเสีย ที่พระราชทานเพลิงนั้นสถาปนาเป็นพระธารามขึ้น ให้นามชื่อวัดศพสวรรค์จนทุกวันนี้”

เถรวาทจากลังกา

ตํานานเรื่องพระยาแกรก มีสัญลักษณ์บุคคลสำคัญ 2 กลุ่ม คือ พระยาโคตรตะบอง กับพระยาแกรก

พระยาโคตรตะบอง สัญลักษณ์ของขอม ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายานที่มีมาก่อน ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1600 มีภาพสลักขบวนแห่ของพล(เมือง)ละโว้บนปราสาทนครวัดเป็นพยาน

ตำนานเล่าว่าพระยาโคตรตะบองเป็นพระราชาครองสมบัติอยู่ “เมืองแห่งหนึ่งที่วัดเดิม ริมเกาะหนองโสน” หมายถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพ (ปัจจุบันคือบริเวณฟากตะวันออกของอยุธยา) ซึ่งเป็นเมืองมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา

วัดเดิม คือวัดอโยธยาทุกวันนี้ อยู่บริเวณฟากตะวันออกของอยุธยา

เกาะหนองโสน คือ เกาะเมืองอยุธยาที่มีบึงพระรามอยู่ตรงกลาง แต่เอกสารโบราณเรียกอีกชื่อว่าหนองโสน เพราะมีต้นโสนขึ้นหนาแน่น

พระยาแกรก เป็นสัญลักษณ์ของผู้นับถือศาสนาพุทธเถรวาทจากลังกาที่แผ่เข้ามาใหม่ แล้วปะทะขัดแย้งจนมีอำนาจเหนือพราหมณ์กับพุทธมหายานที่มีมาก่อน

ตำนานเล่าว่าพระยาแกรกเป็นคนเข็ญใจ พิกลพิการ เดินไม่ได้ ต้องนั่งถัดไปกับพื้นมีเสียงดังแกรกๆ เพราะเมื่อเป็นทารกถูกไฟคลอก แต่เป็นผู้มีบุญไม่ถึงตาย มีเทวดารักษาและมีสมณะเลี้ยงไว้

ไทย-กัมพูชา เป็น “ขอม” เดียวกัน

ตํานานเรื่องพระยาแกรกในพงศาวดารเหนือ มีเนื้อความหลักตรงกันจนเป็นเรื่องเดียวกับตำนานพระยาแกรก มีในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา

แสดงว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีอยู่ในความทรงจำของคนทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อโยธยา-ละโว้) ในไทยกับคนทางโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา ซึ่งดั้งเดิมเป็นเครือญาติใกล้ชิด หรือเป็นขอมกลุ่มเดียวกันมาก่อน

ในที่สุดพระราชาของรัฐในกัมพูชาก็เปลี่ยนไปรับศาสนาพุทธเถรวาทจากลังกาอย่างเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน หรือไล่เลี่ยกันกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา