อ่าน “วิษณุ” บันทึกช่วงเหตุการณ์ ’13ตุลา 59′ : “การเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9”

หมายเหตุ : เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” โดย วิษณุ เครืองาม

หลัง พ.ศ.2549 พระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่สู้แข็งแรงนัก จนต้องเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นระยะๆ

เมื่อพระอาการบรรเทาลงก็แปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหินบ้าง

บางครั้งเมื่อทรงพระสำราญก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานที่หรือกิจการต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาไว้ให้ซึ่งเป็นเรื่องชุ่มชื่นพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง

แต่ที่สำคัญคือยังความปลื้มปีติมาสู่พสกนิกรสุดจะพรรณนา

เช่น คราวเสด็จสถานพักฟื้นตากอากาศบางปู

หรือคราวเสด็จทอดพระเนตรโครงการชั่งหัวมันที่เพชรบุรี

เสด็จทางชลมารคทอดพระเนตรโครงการต่างๆ ที่เกาะเกร็ด

เสด็จที่ท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช

 

เมื่อรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2557 ไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าจะเป็นการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีเต็มคณะเป็นชุดสุดท้ายในรัชกาล

ขณะนั้นคณะรัฐมนตรีมีความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสอื่นๆ อีก

การเข้าเฝ้าฯ ในวันนั้นมีขึ้นที่ห้องประชุม ตึกเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

หลังจากนั้นแม้นายกรัฐมนตรีจะนำรัฐมนตรีที่ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่บางคนเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ก็เป็นเพียงรายคนบางคน ไม่เต็มคณะเช่นครั้งก่อนโน้น

พระอาการประชวรเป็นที่ทราบแก่ประชาชนตลอดมาตามประกาศหรือแถลงการณ์สำนักพระราชวังฉบับต่างๆ ว่าเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2557

คราใดที่มีประกาศแถลงถึงพระอาการซึ่งบางครั้งก็เข้าใจยากว่าหมายถึงอะไร ประชาชนจะรอฟังข่าวพระอาการด้วยความปริวิตก

สิ่งที่จะพอทำได้เพราะไม่รู้จะทำอื่นใดมากไปกว่านี้คือ การทำความดีเพื่อแผ่นดิน รักษาความสงบสันติ มิให้ไม่ทรงพระสำราญเมื่อทอดพระเนตรข่าวบ้านเมือง

การสวดมนต์ภาวนาถวายพระพรชัยมงคลตามวัดวาอาราม บ้านช่องและโรงพยาบาลศิริราช บทสวดมนต์โพชฌงค์ปริตรนั้นหลายคนสวดจนจำได้ขึ้นใจในคราวนั้น

และติดตามด้วยการพร้อมใจกันแต่งกายสีเหลืองอันเป็นสีวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพ ไปถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช

บางคนทำอย่างนี้ทุกวันหรือทุกสัปดาห์

 

2-3 วันก่อนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 ข่าวพระอาการเริ่มหนาหูขึ้น ประชาชนต่างรอฟังแถลงการณ์สำนักพระราชวังด้วยใจจดจ่อ

และพากันไปอออยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชหนาแน่นกว่าทุกวันที่ผ่านมา

หลายคนใบหน้าเศร้าหมอง ต่างกอดพระบรมฉายาลักษณ์ไว้แนบอก

ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2559 ตอนเช้านายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ชลบุรี

แต่ก็ต้องเดินทางกลับโดยด่วน ปล่อยให้รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปฏิบัติภารกิจแทน

และเรียกให้ผมไปพบที่อาคารมูลนิธิรอยต่อ 5 จังหวัด อันเป็นที่ทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ณ ที่นั้น ท่านนายกฯ นั่งหน้าเครียดอยู่กับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์

ท่านนายกฯ สั่งสั้นๆ ว่า สถานการณ์ไม่สู้ดี ขอให้ติดตามข่าว ช่วยเตรียมการและช่วยกันสวดมนต์ ขอให้ประเทศชาติไม่ต้องเผชิญกับเรื่องร้ายแรงที่สุดในชีวิตของพวกเรา

 

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม

ผมเชิญเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในฝ่ายรัฐบาลมาหารือเป็นการภายใน

ผมเคยตกอยู่ในสภาพอย่างนี้แล้วเมื่อคราวสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคตในปี พ.ศ.2539

ขณะนั้นผมเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและจังหวะนั้นมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากคุณชวน หลีกภัย เป็นคุณบรรหาร ศิลปอาชา พอดีในคืนที่สวรรคต

แต่ครั้งนี้เรื่องใหญ่กว่านั้นมากหลายเท่า

เวลาบ่าย 3 โมง ผมได้ไปหารือกับคุณกฤษณ์ กาญจนกุญชร ราชเลขาธิการที่ทำเนียบองคมนตรี

ท่านแจ้งว่าบัดนี้มาถึงวาระที่วิกฤต การมีสติและเตรียมการอย่างมีสติ รอบคอบ ถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นเรื่องสำคัญ

ถ้ามัวแต่ตกใจหรือช็อกจะทำอะไรไม่ถูก แล้วจะเกิดภาวะชะงักจนเสียงานได้

หารือได้ครู่หนึ่งท่านราชเลขาฯ ก็ได้รับโทรศัพท์ให้รีบไปที่โรงพยาบาลศิริราช

ผมพอเดาสัญญาณได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็รู้สึกเสียววาบใจหายวูบ

ขากลับระหว่างนั่งรถกลับที่ทำงาน น้ำตาไหลกลั้นไม่อยู่

จนตำรวจติดตามที่มาด้วยถามว่า

“ไหวไหมครับ”

 

พอ 4 โมงเย็นก็เริ่มชัดเจนว่าน่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ครั้นเวลาประมาณ 18.00 น. จึงเริ่มมีประกาศสำนักพระราชวังแจ้งข่าวการเสด็จสวรรคตว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตแล้วในวันนี้ (13 ตุลาคม พ.ศ.2559) เวลา 15.52 น. สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติ 70 ปี

รัฐบาลนี้เป็นคณะรัฐมนตรีชุดสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 9

หลังประกาศของทางราชการ ผมรีบนำเอกสารและการเตรียมการไปรายงานสรุปกราบเรียนนายกรัฐมนตรีที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

โผล่เข้าไปเห็นท่านนายกฯ นั่งนิ่งหน้าตาเศร้าหมองอยู่หน้าโทรทัศน์ ตาแดงก่ำ ไม่พูดไม่จา

ต่างคนต่างนิ่งกันอยู่สักพักจึงได้หารือกันด้วยอาการเหมือนต่างพยายามกลั้นสะอื้น

ท่านนายกฯ เป็นฝ่ายปลอบผมว่า

มีสตินะพี่! ผมเป็นฝ่ายปลอบท่านกลับว่า ทำใจดีๆ นะครับท่าน!

ว่าแล้วเราทั้งสองก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่

 

การเตรียมการของรัฐบาลเป็นเรื่องการออกแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีต่อประชาชน การสั่งลดธงครึ่งเสา การประกาศไว้อาลัยถวายเป็นเวลา 1 ปีตามแบบเมื่อครั้งรัชกาลที่ 8 สวรรคต

และการเตรียมการอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์

ส่วนการเตรียมการพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพ ไม่ใช่กิจที่รัฐบาลจะทำแต่ต้องประสานกับสำนักพระราชวังและรอพระราชวินิจฉัย

การก่อสร้างพระเมรุมาศได้ดำเนินการในเวลาต่อมา โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับราชการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน

แต่งานทุกอย่างสำเร็จลงได้ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนฯ นั้นทรงรับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการและทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการที่ทำเนียบรัฐบาลทุกครั้ง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแก่ท่านนายกฯ ว่าถ้ามีอะไรก็ให้ปรึกษาสมเด็จพระเทพรัตนฯ ถ้าต้องวินิจฉัยชี้ขาดเพราะมีหลายทางเลือกจึงค่อยเสนอขึ้นไปถึงพระองค์ท่าน

งานพระบรมศพเป็นงานใหญ่ที่สุดในแผ่นดินเท่าที่ชีวิตคนเราจะได้ประสบพบพาน ต้องใช้สถาปนิก วิศวกร จิตรกร ประติมากร และช่างฝีมือทุกประเภท

ไหนจะต้องระดมหาไม้ หาอุปกรณ์ กระดาษ ผ้าวัสดุต่างๆ ต้นไม้มาใช้ก่อสร้าง ประดับ ตกแต่ง

สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจการก่อสร้างและพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดที่บริเวณก่อสร้างหลายครั้ง

งานนี้กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร บริษัทก่อสร้างเอกชน และช่างหลวง ช่างสมัครเล่น ต่างทำงานถวายสุดฝีมือ

พล.อ.ธนะศักดิ์ก็มีส่วนควรได้รับคำชมเชยในความเอาใจใส่ดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วนตามวิสัยนายทหารเก่าที่คุ้นเคยกับงานโยธาอย่างดี

ท่านนายกฯ เองก็เรียกดูรายงานการก่อสร้างทุกวันจนขึ้นใจรายละเอียดต่างๆ ทุกขั้นตอน

ท่านเคยเปรยว่าเพียงแค่ฐานะพสกนิกรไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน เราก็ต้องทำถวายเต็มที่อยู่แล้ว

นี่เป็นรัฐบาล ถือว่ามีหน้าที่โดยตรง ต้องทำมากกว่าเต็มที่เป็น 2 เท่า

และในฐานะที่เราเคยเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในยามยังมีพระชนม์อยู่ มีพระมหากรุณาธิคุณต่อเราเป็นส่วนตัวล้นเหลือ มาถึงบัดนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะได้ทำงานถวาย ขอให้ทำให้เต็มที่เพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า

ทำด้วยกาย ทำด้วยใจนะ ขาดอะไร ต้องการอะไรให้บอกรัฐบาล

 

งานพระบรมศพสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย สมบูรณ์ สง่างาม มีพระราชาธิบดี พระราชวงศ์ ผู้แทนพระองค์ ประมุขและหัวหน้ารัฐบาลหลายประเทศมาร่วมงานถวายพระเพลิง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560

ประชาชนเองก็ให้ความร่วมมืออย่างดีด้วยความจงรักภักดีในการช่วยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วทั้งแผ่นดิน

ผู้ที่ควรได้รับคำชมเชยอีกฝ่ายหนึ่งคือคณะอาสาสมัครจิตอาสาตามโครงการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งสมัครเข้ามาช่วยงานอย่างเต็มใจ แบ่งเบาภาระของทางการในการรักษาความสงบเรียบร้อย การจัดแถวประชาชน การทำอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงานและผู้ช่วยงาน การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย

เรียกว่างานนี้เป็นงานของชาติ ใครช่วยอะไรได้ช่วยกันทั้งนั้น ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีสีเสื้อ ไม่มีฝ่าย

คณะจิตอาสานี้ ต่อไปจะพัฒนาไปเป็นคณะทำความดีด้วยหัวใจ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าผูกคอ หมวกและบัตรแสดงตน โดยให้เข้ารับพระราชทานอย่างเป็นทางการเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศหลายล้านคน

กิจกรรมคือการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ช่วยขุดลอกคูคลอง เก็บผักตบชวา

 

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 เป็นงานยิ่งใหญ่ ตอนเช้ามืดมีการจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เคลื่อนออกจากพระบรมมหาราชวังไปเข้าขบวนราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ ตามแบบธรรมเนียมโบราณแล้วยาตราเข้าสู่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ระยะทางไม่ไกลนัก แต่ขบวนต้องเดินด้วยจังหวะสโลว์ มาร์ช และรักษาระยะให้งดงามเข้ากับจังหวะเพลงพญาโศก เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสรรเสริญพระนารายณ์

ในการซ้อมใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาเสด็จร่วมด้วย

ในวันจริง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นขบวนที่สง่างามแต่น่าโศกสลดรันทดใจแก่ราษฎรสองข้างทางและผู้ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์หลายล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งจะอยู่ในความทรงจำของชาวไทยไปนานแสนนาน

ผมเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายพิธีการ จึงได้รับเลือกให้เข้าร่วมขบวนในแถวนำพระบรมโกศด้วย

นอกจากผมก็มีท่านนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้แทนคณะกรรมการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย

คุณวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายจดหมายเหตุ

และคุณพัชราภรณ์ อินทรียงค์ “ปลัดหนิง” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฝ่ายงบประมาณซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวในขบวนคณะกรรมการ

ในการซ้อมใหญ่ครั้งแรก ผมเดินตุปัดตุเป๋ไม่เข้ากับจังหวะเพราะไม่เคยเดินอย่างนี้ ทั้งยังเหนื่อยและอากาศร้อนมาก สุขภาพก็ไม่ดีอยู่แล้ว เคยเข้าขบวนคู่เคียงพระบรมโกศหนหนึ่งในงานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อ 20 ปีก่อนในฐานะเลขาธิการ ครม. แต่ตอนนั้นยังหนุ่มแน่น แข็งแรงกว่านี้มาก

ท่านนายกฯ ซึ่งเดินอยู่ข้างหน้าผมคงสังเกตเห็นและเป็นห่วงสุขภาพพลานามัยผมอยู่แล้วว่าจะล้มลงจึงแอบกระซิบถามบ่อยๆ ว่าไหวไหม

รุ่งขึ้นท่านก็ส่งนายทหารมาจับผมซ้อมเดี่ยวอยู่นานสองนาน

พอเข้าขบวนซ้อมใหญ่อีกครั้งชักเดินได้คล่อง

ที่สำคัญคือ นายกฯ แนะเคล็ดลับว่า

“ผมเป็นทหาร เดินขึงขังอกผายไหล่ผึ่งได้ พี่ไม่ใช่ทหาร เดินให้เข้าจังหวะก็พอ ไม่ต้องเอาอย่างผม แต่ทะมัดทะแมงเข้าไว้ มีโดรนลอยอยู่ข้างบนหลายตัวนะจ๊ะ”

 

ครั้นถึงวันจริง ต้องแต่งเต็มยศ เหรียญตรา สายสะพายเต็มอกหนักกว่าเวลาซ้อม

แต่ความมานะจึงกัดฟันทนว่านี่เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณครั้งสุดท้าย เป็นไงเป็นกัน

เอาเป็นว่า แฟนคลับที่ดูทีวีหลายคนชมว่ากลมกลืนเข้าจังหวะไปกับคนอื่นได้ดี

ไม่รู้เลยว่ายากเข็ญเหมือนต้องข้ามนทีสีทันดรมา แต่ผมก็ภาคภูมิใจ ถือว่านี่เป็นมงคลและเกียรติประวัติหนึ่งในชีวิตที่จะเล่าให้ลูกหลานฟัง

คณะรัฐมนตรีมีโอกาสขึ้นพระเมรุมาศถวายพระเพลิงและได้อยู่รอรับและส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการถวายพระเพลิงจริงตอนดึกของวันที่ 26 ตุลาคมเป็นคณะสุดท้าย

ได้เห็นตั้งแต่พนักงานปิดพระฉากบังเพลิง เห็นแสงไฟและควันลอยจากพระเมรุมาศสู่สรวงสวรรค์จนกระทั่งไฟมอดดับลง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระเมรุมาศตอนดึกมากแล้ว ทอดพระเนตรเห็นนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีมายืนส่งเสด็จอยู่ที่เชิงบันไดพระเมรุมาศ มีพระราชกระแสรับสั่งว่าไฟมอดแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยดี ขอบใจมาก ขอให้ไปพักผ่อนได้

อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะต้องมางานเก็บพระบรมอัฐิและเชิญพระบรมอัฐิกลับเข้าพระบรมมหาราชวังอีก

เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตลอดเวลาที่มีพระราชพิธีและพระราชทานเงินอื่นสมทบ พระราชทานแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

เป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท