ตรุษจีน พระป้าย และแซ่ของพระมหากษัตริย์สยาม | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 20 ก.พ. 2558

ใครที่รู้ประวัติศาสตร์ไทยก็คงพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อจีนทางใต้ แบบที่เรียกกันว่าจีนแต้จิ๋ว

แถมยังระบุได้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่าท่านแซ่ “แต้” (ตรงกับภาษาจีนกลางว่า “เจิ้ง” แซ่เดียวกับคนดังในอดีตอย่าง เจิ้งเหอ หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันว่า ซำปอกง)

และมีชื่อออกเสียงพยางค์เดียวว่า “สิน” รวมกันเป็น “แต้สิน” (สิน ในที่นี้คือคำเดียวกับ “สิน” ในชื่อตากสิน ในภาษาจีนกลางออกเสียงคำนี้ว่า “ซิน” ชื่อของพระเจ้าตากจึงออกเสียงอย่างภาษาจีนมาตรฐานว่า “เจิ้งซิน”)

พระมหากษัตริย์สยามในแผ่นดินถัดลงมาแม้จะไม่ได้ทรงสืบสายเชื้อเนื้อหน่อมาจากพระเจ้าตากสิน แต่ก็ทรงใช้แซ่แต้ ตามอย่างพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยเช่นกัน

ซ้าย-พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ร.๔)
ขวา-พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (ร.๕ )

ในประวัติศาสตร์ของจีน ได้จดบันทึกหลักฐานตรงนี้เอาไว้ โดยปราชญ์เกี่ยวกับเรื่องจีนๆ อย่าง คุณลิขิต ฮุนตระกูล ได้แปลความตรงนี้ออกมาว่า

“พ.ศ.2325 (ค.ศ.1791) พระเจ้าเช็งเคี่ยนล้ง ครองราชย์ปีที่ 47 แต้ฮั้ว อนุชา แต้เจียว ได้เถลิงถวัลยราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศสยาม และส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีเป็นครั้งแรก”

(ราชสำนักชิง หรือที่คุณลิขิตออกเสียงว่า เช็ง ไม่ได้ออกเสียงพระนามของพระเจ้าตากเป็นภาษาจีนกลางอย่างที่ควรจะเป็นว่า เจิ้งซิน แต่ออกว่า เจิ้งเจา ตรงกับเสียงแต้จิ๋วที่คุณลิขิตถอดออกมาว่า แต้เจียว ส่วนพระนามแต้ฮั้ว ตรงกับ เจิ้งหัว ในเสียงจีนกลาง)

เรือน พ.ศ.2325 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนาราชวงศ์จักรี และเสด็จขึ้นครองราชย์ และถึงแม้ว่าราชสำนักจีนของพระเจ้าเช็งเคี่ยนล้งจะเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ 1 เป็นพระอนุชา คือน้องชายของพระเจ้าตาก ก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงใช้พระปรมาภิไธยว่า แต้ฮั้ว จริงๆ

และก็ไม่ใช่เฉพาะเพียงรัชกาลที่ 1 เท่านั้นที่ทรงนำ “แต้” มาใช้เป็นแซ่ของพระองค์ รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระประมาภิไธยเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต้ฮุก (จีนกลางคือ เจิ้งฝอ)

รัชกาลที่ 3 คือ แต้ฮก (เจิ้งฝู)
รัชกาลที่ 4 คือ แต้เม้ง (เจิ้งหมิง)
พระปิ่นเกล้าซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง คู่กันกับรัชกาลที่ 4 ในช่วงต้นรัชสมัยคือ แต้เจี่ย (เจิ้งเจิ้ง)
รัชกาลที่ 5 คือ แต้ล้ง (เจิ้งหลง)
รัชกาลที่ 6 คือ แต้ป้อ (เจิ้งเป่า)
รัชกาลที่ 7 คือ แต้กวง (เจิ้งกวง)
รัชกาลที่ 8 คือ แต้ฮี (เจิ้งซี่)
และรัชกาลปัจจุบันคือ แต้กู่ (เจิ้งกู้) เรียกได้ว่าเป็นแซ่ประจำราชวงศ์จักรีนั่นเอง

พระป้ายฉลองพระองค์ สถิตพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเพื่อบูชาในพระราชวังบวรสถานมงคลตามคติอย่างจีน ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4หรือต้นรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ห้องพระป้าย พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

น่าสนใจนะครับว่าทำไมกษัตริย์สยามจึงต้องมีพระปรมาภิไธยจีนด้วย?

พระปรมาภิไธยเหล่านี้ถูกส่งไปพร้อมกับการ “จิ้มก้อง” แก่จักรพรรดิจีน เช่นเดียวกับที่รัชกาลที่ 1 ส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าเช็งเคี่ยนล้ง

“จิ้มก้อง” เป็นคำที่เรียกเพี้ยนมาจากคำดั้งเดิมในภาษาจีนว่า “จิ้นกัง” คำนี้ออกเสียงตรงกันทั้งในภาษาจีนกลางและจีนฮกเกี้ยน (แต่ภาษาไทยคงเพี้ยนมาจากทางฮกเกี้ยน เพราะจีนกลุ่มนี้สังคมกับชนชั้นสูงของสยามในยุคต้นกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก) แปลเป็นไทยได้ใจความไม่ต่างกันสักนิดว่า “ส่งบรรณาการ”

ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า วิธีการค้าขายของสยามที่เปลี่ยนจากธรรมเนียมโบราณหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

ประกอบกับการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระทัยกับการไม่ให้เกียรติของขุนนาง และราชสำนักจีนที่มีต่อสยาม ทำให้พระองค์ประกาศยุติการจิ้มก้องให้กับจีนเมื่อ พ.ศ.2411

และถึงแม้ว่า จีนจะทวงจิ้มก้องเข้ามาอีกเมื่อ พ.ศ.2427 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ฐานอำนาจจีนกำลังสั่นคลอนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากกรณีเฉพาะหน้าในขณะนั้นที่ฝรั่งเศสคุกคามจนนำไปสู่สงครามอ่าวตังเกี๋ย ซึ่งจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จีนจึงมีสถานภาพที่ตกต่ำลงไปทุกที

และทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยุติธรรมเนียมการจิ้มก้องแก่จีนอย่างถาวรนับแต่บัดนั้น

เรือสำเภาจีนโบราณ แบบเดียวกับที่พ่อค้าจีนจากสยามนำคณะราชทูตเชิญเครื่องจิ้มก้องไปเมืองจีนเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือหน้าหนึ่งในสยาม ของ ไกรฤกษ์ นานา)
ภาพวาดพระเจ้าเซียนเฟ็งฮ่องเต้และพระสนมเอก (ต่อมาได้เป็นพระนางซูสีไทเฮา) ครองราชย์ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของสยาม (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือหน้าหนึ่งในสยาม ของ ไกรฤกษ์ นานา)

บทบาทที่ตกต่ำลงเป็นอย่างมากของจีน ในเวทีโลกยุคนั้น กลับไม่ทำให้ประเพณีการตั้งพระปรมาภิไธยเป็นภาษาจีนเลือนหายไปพร้อมกับธรรมเนียมการจิ้มก้อง

พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ ที่พระราชวังบางประอิน ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อเรือน พ.ศ.2432 เป็นพระที่นั่งกรมท่าซ้าย ในกำกับของพระยาโชตึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) สร้างถวาย

กรมท่าซ้าย เป็นหน่วยราชการที่ดูแลการค้าขายข้ามสมุทรฟากฝั่งตะวันออกของสยาม ที่มีจีนเป็นสำคัญมาแต่โบราณ

เก้าอี้ตัวใหญ่สุดของหน่วยงานนี้ในตำแหน่งหัวหน้าคือ “พระยาโชตึกราชเศรษฐี” จึงมักจะนั่งไว้ด้วยคนเชื้อสายจีนไม่ใช่เรื่องแปลก

และก็ไม่แปลกอะไรที่พระที่นั่งองค์ดังกล่าวจะสร้างขึ้นด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบจีน

ซ้ำยังมีชื่อจีนด้วยคือ “เทียนเม่งเต้ย” (หรือ เทียนหมิงเตี้ยน ในสำเนียงจีนกลาง)

30 พฤศจิกายน พ.ศ.2433 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “แกซิ้น” หรือ “พระป้าย” อักษรจีน ลงพระปรมาภิไธยจีนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ แน่นอนว่าบนพระป้ายต้องจารึกพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยจีน

(ที่พระที่นั่งแห่งนี้ยังมีพระป้ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระป้ายจารึกพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ อีกด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระป้ายของผู้ทรงเป็นพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์เมื่อ พ.ศ.2470 โดยประดิษฐานอยู่ที่ห้องเดียวกับพระป้ายของรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทร์ฯ นั่นเอง)

“แกซิ้น” คือแผ่นป้ายจารึกชื่อ วันเดือนปีที่เกิดและตาย ของบรรพบุรุษ บุพการี ที่ตั้งไว้เคารพบูชาตามบ้าน

ชาวจีนเคารพนับถือเรื่องกตัญญูกตเวทิตาคุณเป็นอย่างมาก และถือว่าการเซ่นสรวงเป็นการแสดงความมีกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ตามอิทธิพลของลัทธิของจื๊อ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อผู้ปฏิบัติ

“แกซิ้น” จึงเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อระหว่างโลกของคนเป็นกับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ซึ่งย่อมหมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติที่สามารถดลบันดาลคุณและโทษ ที่ต้องไหว้ให้ดีพลีให้ถูก เพราะโดยนัยยะแล้ว แกซิ้นก็เปรียบเสมือนสถานที่สิงสถิตอำนาจเหนือธรรมชาติ

โดยปกติแล้วชาวจีนจะมีประเพณีเซ่นสรวงบูชาบรรพบุรุษ พิธีใหญ่บ้าง เล็กบ้างเป็นประจำตลอดทั้งปี

แต่พิธีที่ใหญ่และสำคัญที่สุดจะเซ่นสรวงกันในช่วงปีใหม่ หรือตรุษจีนนั่นเอง

เรียกได้ว่าตรุษจีนเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการเซ่นสรวงแกซิ้นในแต่ละปี

และไม่ว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษจะรับรู้ถึงความกตัญญูกตเวทีจากพิธีเซ่นสรวงเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม แต่อำนาจของเครือข่ายในสังคมที่ข้องเกี่ยวอยู่กับวัฒนธรรมจีนก็รู้แน่ ที่ให้คุณให้โทษจะมีอำนาจของบรรพบุรุษหรือเปล่าไม่รู้

แต่จารีตของสังคมสามารถให้คุณให้โทษกับสมาชิกทุกคนในสังคมนั้นอย่างแน่นอน

 

ต่อมาเมื่อพระที่นั่งอัมพรสถานสร้างแล้วเสร็จเมื่อเรือน พ.ศ.2449 รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างพระป้ายประจำพระราชบิดาของพระองค์เองขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง พร้อมด้วยรูปพระสยามเทวาธิราชที่จำลองพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ประดับอยู่คู่กับพระป้ายแผ่นนี้ ประดับไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถานแห่งนี้

อ้างต่อๆ กันมาว่า พระปิยมหาราชทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มี “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย”

ซึ่งก็คือการนำพิธีราษฎร์อย่างชาวจีนไปปรับให้เป็นพิธีหลวงนั่นแหละครับ

โดยกำหนดการแต่เดิมจะจัดให้มีพิธีสังเวยที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญก่อน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของชาวจีน และจะจัดพิธีสังเวยที่พระที่นั่งอัมพรสถานในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของจีน คือวันตรุษจีนนั่นเอง

น่าสงสัยว่าเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีพระราชพิธีสังเวยพระป้ายแล้ว พระป้ายของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้านี้มีไว้ทำอะไร?

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เขียนขึ้นในยุคของพระเจ้าตาก ระบุไว้เพียงแต่ว่าเมื่อพระเจ้าตากทรงได้ชัยที่ค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว ทรงเลือกกลับมาพำนักอยู่ที่ “พระตำหนักเมืองธนบุรี”

พระตำหนักที่ว่าตั้งอยู่ที่ฟากเมือง “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “บางกอก” แน่ แต่ไม่ได้หมายความว่าอำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรี จำครอบคลุมอยู่เฉพาะทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเท่านั้น

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ระบุว่า เมื่อพระเจ้าตากสถาปนากรุงธนบุรีและทำพิธีปราบดาภิเษกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดให้นายสุดจินดา (บุญมา) มหาดเล็กหุ้มแพร (ขุนศึกคู่พระทัยของพระองค์ พระอนุชาของรัชกาลที่ 1 ซึ่งต่อมาจะดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาถ) ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงพระนครทางด้านเหนือของวัดตองปุ หรือวัดกลางนา

พื้นที่ดังกล่าวทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คนละฟากกับพระตำหนักเมืองธนบุรี ที่ประทับของพระเจ้าตาก พื้นที่บริเวณนี้เรียกต่อๆ กันมาว่า “บางจีน” เพราะมีชาวจีนอยู่มากมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระราชวังที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้อพยพเอาคนจีนเหล่านี้โยกไปอยู่ที่สำเพ็ง

ส่วนพระราชวังก็สร้างทับบนบางจีน

จนทำให้คนโบราณเรียกขานเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ไล่ที่ทำวัง” นั่นแหละ

แน่นอนว่าพื้นที่แถบบางจีนนั้นอยู่ใต้พระราชอำนาจอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ยุคของพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ในเมื่อพระเจ้าตากทรงมีเชื้อสายจีน จะสร้างเมืองในพื้นที่อิทธิพลของชาวจีนก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหนนี่ครับ?

“พระเจ้าตาก” เองก็ทรงมี “พระป้าย” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์น้อย วัดอรุณราชวราราม วัดที่มีความสัมพันธ์กับพระองค์อย่างยิ่งมาตั้งแต่ครั้งที่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่

แม้ว่าทุกวันนี้ทางวัดอรุณฯ ได้จัดให้มีพิธีสักการะพระป้ายทุกช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่พระป้ายองค์นี้มีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ

เราไม่ทราบเลยว่าใครเป็นผู้สร้างพระป้ายองค์นี้ และสร้างขึ้นเมื่อไหร่แน่?

ทราบเพียงแต่ว่า พระป้ายองค์นี้ถือเป็นพระป้ายของพระมหากษัตริย์สยามพระองค์เดียว ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเซ่นสรวงบูชาพระป้ายได้ในช่วงเวลาเทศกาล

และอันที่จริงแล้ว เราสามารถไปชื่นชมพระป้ายแผ่นนี้ได้ทุกวันที่โบสถ์น้อยหลังนั้น เพียงแต่ไม่มีพิธีสักการะเท่านั้นเอง