จัตวา กลิ่นสุนทร : จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ

ถึงอย่างไรการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเก็บรวบรวมเรื่องราวต่างๆ บันทึกทางประวัติศาสตร์ ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างรวดเร็วดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ก็ตาม

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดพิมพ์หนังสือ “จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ” ขึ้นมาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พุทธศักราช 2559 หนังสือเล่มนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และมอบแด่หน่วยงานต่างๆ

แต่เท่าที่ทราบ ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์ขึ้นเพียง 2,500 เล่มเท่านั้น เท็จจริงไม่ปรากฏ แต่ทว่า เท่าที่บังเอิญได้เห็นหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ย่อมต้องบอกว่าน่าจะต้องให้เกิดการแพร่กระจายมากกว่านี้ถ้าหากมีงบประมาณเพียงพอ

เป็นหนังสือขนาดกระดาษ เอ4 ซึ่งเรียกกันว่าขนาด 8 หน้ายก ปกแข็งพิมพ์นูนอาบพลาสติก กระดาษเนื้อในอาร์ตพิมพ์ 4 สีตลอดทั้งเล่ม ความหนา 210 หน้า

เนื้อหาหนังสือนอกจากจะเป็นภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ จำนวนกว่า 100 ภาพแล้วก็ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ฉายกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และภาพพระราชกรณียกิจ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างละเอียด

เป็นหนังสือดีแน่นอน จะเป็นการเก็บบันทึก “ประวัติศาสตร์” ในวงการศิลปะของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่า “ศิลปิน” ทั้งหลายในแผ่นดิน

หน่วยงานทั้งหลายย่อมต้องขวนขวายไขว่คว้าหาเอาเอง ซึ่งก็คงไม่มีหนทางอื่นนอกจากติดต่อถามหาจากกระทรวงวัฒนธรรมผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตในการดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือ “จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ”

ขออนุญาตคัดลอกข้อเขียนซึ่งเกี่ยวข้องกับงานจิตรกรรมจากหนังสือเล่มนี้มาเผยแพร่เป็นบางช่วงบางตอน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับ งานจิตรกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัย และมีพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “ในหลวงกับงานช่าง” ว่า

“สมัยที่ท่านอยู่ประถมต้นที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น ยกตัวอย่างเช่น การวาดรูปภาพเพื่อให้เข้าใจเรื่องเส้น เรื่องฟอร์มของรูปนั้นมีแบบฝึกหัดอยู่อันหนึ่ง ครูจะวาดรูปทรงกลม ทรงรี หรือรูปต่างๆ บนกระดาษแล้วลบทิ้งแล้วให้เด็กจำแล้ววาดตาม เริ่มจากง่ายแล้วยากขึ้นๆ ทุกที เวลายากๆ ท่านบอกว่าเพื่อนทั้งชั้นทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เพราะมีนิสัยในด้านนี้”

พระองค์ทรงวาดภาพอย่างจริงจัง น่าจะอยู่ในช่วงที่มีพระชนมพรรษาประมาณ 18 พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงใช้อุปกรณ์การวาดภาพที่มีผู้นำมาถวายสมเด็จพระราชชนนี ดังที่พระองค์ทรงเล่าให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฟัง และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงบันทึกไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” ว่า

“ท่านชิ้น (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) นำเครื่องเขียนครบชุด มีแปรง สี ผ้าใบ ฯลฯ มา จะให้แม่เขียนให้ได้ รู้สึกรำคาญเลยเอามาเขียนเสียเอง”

 

ต่อมาภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว พระองค์ยังคงทรงงานจิตรกรรมอย่างต่อเนื่องในระหว่างช่วงพุทธศักราช 2502-2510 พระองค์ทรงศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำราที่ทรงซื้อ และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายในขณะประทับอยู่ต่างประเทศ เมื่อพระองค์สนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก มีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงานจนเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี

มีศิลปินอาวุโสหลายคนในวงการศิลปะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายงานด้านศิลปะ เช่น เหม เวชกร, เขียน ยิ้มศิริ, จำรัส เกียรติก้อง, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์, อวบ สาณะเสน, เฉลิม นาคีรักษ์, จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์, พิริยะ ไกรฤกษ์ และ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เป็นต้น

ความสนพระราชหฤทัยในงานสร้างสรรค์ และวิธีการของศิลปินยังปรากฏให้เห็นเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อพุทธศักราช 2507 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมนายออสการ์ โคคอซกา (Oskar Kokoschka) ศิลปินชาวออสเตรียที่สตูดิโอของเขาในเมืองวิลเนิฟ (Villeneuve) ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางในการสร้างสรรค์กับศิลปิน

ผลงานสร้างสรรค์ของโคคอซกา มีลักษณะของการแสดงออกของศิลปินลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของพระองค์ที่ทรงใช้ฝีแปรงอย่างอิสระ รวดเร็ว รุนแรง สะท้อนการเคลื่อนไหวที่ประสานสัมพันธ์กัน

นอกจากนี้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทสสหราชอาณาจักรเป็นการส่วนพระองค์ ในพุทธศักราช 2509 เพื่อทรงเยี่ยมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะทรงศึกษา ณ โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซ็กส์ (King”s Mead School, Seaford, East Sussex) ในครั้งนั้นทรงซื้อตำราทางศิลปะและสีเขียนภาพเพื่อนำกลับมาทรงงานด้วย

เมื่อพระองค์ทรงศึกษาจากตำราทางศิลปะและเข้าพระราชหฤทัยในกระบวนการทำงานของศิลปินเหล่านั้นแล้ว จะทรงฝึกฝนด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ จนกระทั่งทรงพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นตามแนวทางที่มีลักษณะเฉพาะ

 

สารของ “นายวีระ โรจน์พจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรงวัฒนธรรม ในการจัดพิมพ์หนังสือสำคัญเล่มนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็น “บรมครูยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินไทย” พระเกียรติเกริกไกรไพศาล ด้วยทรงพระปรีชาสามารถ “สรรพศาสตร์” และ “สรรพศิลป์” ทรงประเดิษฐ์บรรจงที่เจิดจรัสประดุจอาภรณ์ประดับแผ่นดินไทยไว้ยั่งยืนตราบนิรันดร์ ยังประโยชน์สุขทั้งการบำรุงอาชีพมั่นคงประเทืองปัญญาและจิตใจอันบริสุทธิ์ ทรงนำความเป็นชาติอารยะเผยแพร่ให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

เมื่อรัฐบาลและประชาชนชาวไทยจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ในพุทธศักราช 2559 นั้น กระทรวงวัฒนธรรมได้รับมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ล้ำค่าจำนวนกว่าร้อยองค์ มาจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นตำราแห่งศาสตร์แขนงนี้ กำหนดชื่อหนังสือว่า “จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ” เผยแพร่ในโอกาสสำคัญของชาติครั้งนี้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้

ครั้นถึงวันมหาวิปโยคของชาวไทยทั้งประเทศ วันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย หนังสือ “จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ” เล่มนี้ จึงเป็นประดุจพระอนุสรณ์แห่งพระเมตตายิ่งใหญ่ที่พระราชทานไว้แก่ชาติและประชาชนชาวไทยเล่มสุดท้ายแห่งรัชกาล และตราตรึงไว้ในดวงใจคนไทยตราบนิจนิรันดร์”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 13 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2505

“งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมอัจฉริยภาพของศิลปินแล้ว ยังสร้างเกียรติให้แก่ชาติ และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวมให้มีโอกาสใฝ่ใจในสิ่งที่สวยงาม เจริญตาแลเจริญใจ เป็นผลให้เกิดนิสัยรักความประณีตวิจิตรบรรจง มีความรู้สึกละเอียดอ่อน เกิดความคิดในทางที่ดีงามเป็นการยกระดับทางจิตใจของประชาชนในชาติให้สูงขึ้น”

อยากได้หนังสือ ติดต่อสอบถามกระทรวงวัฒนธรรมเอาเอง