ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ลายสือไท พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ไว้ให้ใครอ่าน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

วันที่ 17 มกราคม ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” เนื่องจากเป็นวันที่รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่ยังทรงผนวชเป็น วชิรญาณภิกขุ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงค้นพบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หรือที่มักจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า จารึกสุโขทัย หลักที่ 1

อะไรหลายๆ อย่างในศิลาจารึกหลักนี้แปลกประหลาดอยู่มากนะครับ

อย่างหนึ่งก็คือ ข้อความในจารึกที่ว่า “…เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี 1205 ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึงมีพ่อขุนรามคำแหงใส่ไว้…”

คำจารึกดังกล่าวแปลเป็นภาษาปัจจุบันได้ความว่า เมื่อก่อนไม่มีตัวอักษรไทย เป็นพ่อขุนรามคำแหงนี่แหละที่ทรงให้ประดิษฐ์ใส่ในศิลาจารึกหลักนี้เอาไว้เมื่อ พ.ศ.1826 (1205 ศก) ซึ่งฟังผ่านๆ ก็ดูไม่เห็นจะมีอะไรแปลกที่ตรงไหน

แต่มันออกจะขัดกับความเชื่อที่เราได้ยินผ่านหูกันอยู่บ่อยๆ ว่า คนไทยไม่มีนิสัยชอบจด ชอบบันทึก เราจึงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากนัก

ต่างกับชาติอื่นๆ อย่างจีน หรือฝรั่งที่มีนิสัยชอบจด ชอบเขียนมากกว่าจึงทำให้มีข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่มาก

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วพ่อขุนรามคำแหงจะทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไปทำไมกัน?

 

ความเชื่อดังกล่าวก็ชวนให้คล้อยตามอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะเราไม่ค่อยมีบันทึกทางประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรมากเท่ากับอีกหลายชาติจริงๆ

แต่ผมไม่แน่ใจนักว่า ข้ออ้างข้างต้นสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้จริงหรือเปล่า?

เพราะส่วนใหญ่ดูจะเป็นการอ้างขึ้นอย่างลอยๆ ไม่ได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อะไรมาสนับสนุนเอาเสียเลย

และที่สำคัญก็คือการที่เราไม่มีหลักฐานเอกสารหลงเหลือมาถึงปัจจุบันมากนัก ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับว่า คนไทยเราชอบจดบันทึกหรือไม่เสียหน่อย

เพราะการจดบันทึก แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ดูจะเป็นอุปนิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคลเสียมากกว่า ไม่ใช่ว่าชาวจีน หรือพวกฝรั่งตาสีน้ำข้าวทุกคนจะชอบจด ชอบเขียน พอๆ กับที่คนไทยหลายคนก็ดูจะมีนิสัยชอบจดชอบเขียน โดยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอุปนิสัยร่วมของชนชาติตนเอง

แน่นอนว่า สังคมและสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยที่ว่าอยู่ด้วย

แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย ที่เป็นตัวแปรสำหรับการมีข้อมูลเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากยิ่งกว่า

ตัวอย่างเช่น หน้าที่ และบทบาทของผู้จดบันทึก จุดมุ่งหมายของการจดบันทึก หรือค่านิยมของชนชั้นสูงในสังคม เป็นต้น

ข้อมูลในเอกสารของฝรั่งหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การจดบันทึกของพวกเขานั้นสัมพันธ์อยู่กับการก้าวไปสู่สถานภาพทางสังคมที่ดียิ่งขึ้น บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ของฟานฟลีต (หรือที่คุ้นหู คุ้นปากคนไทยในชื่อ วันวลิต มากกว่า) แสดงให้เห็นว่า จุดประสงค์ในการเขียนงานของเขา ไม่ต่างอะไรกับการทำวิจัยขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน (แม้ว่าตำแหน่งที่ฟานฟลีตต้องการได้จะเป็นตำแหน่งด้านงานบริหารก็ตามที)

และก็ไม่มีข้อมูลสนับสนุนใดๆ ที่แข็งแรงพอที่จะยืนยันได้ว่า ถ้าการจดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถผลักดันให้ฟานฟลีตสามารถก้าวไปสู่สถานภาพทางการงานที่ดีกว่า เขาจะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้หรือไม่?

นี่แทบไม่ต่างอะไรกับการจดบันทึกถึงเรื่องรัฐ หรือชนชาติต่างๆ ทางตอนใต้ของจีน ที่หม่าฮวน เลขานุการของเจิ้งเหอ ผู้นำทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ได้จัดทำเอาไว้ โดยถือว่าทั้งหมดเป็นการกระทำในหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง (ไม่ว่าจะเป็นการ “กระชับมิตรภาพ” อย่างที่จีนเสนอเป็นแคมเปญสำคัญเมื่อหลายปีก่อน

หรือเป็นการ “ล่าเมืองขึ้น” อย่างที่นักประวัติศาสตร์บางท่านเสนอไว้ก็ตามที)

 

แน่นอนว่า ข้อมูลที่ผมนำเสนอมาข้างต้นนั้นเป็นเอกสารที่ว่าด้วยการที่ชาวต่างชาติ ต่างภาษา มาจดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอยุธยา จึงมีจุดมุ่งหมายที่เฉพาะเจาะจงมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ที่สำคัญก็คือ ธรรมชาติของการจดบันทึกของแต่ละชนชาติ ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมดโดยเหมารวมเอาว่าเป็นอุปนิสัยร่วมของชนชาติใด ชนชาติหนึ่งแน่

แต่ข้อมูลประเภทที่ว่านี้ก็มีข้อดีตรงที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การจดบันทึกไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคลอย่างที่มักจะเข้าใจกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ การจดบันทึกสัมพันธ์อยู่กับตัวอักษร และสถานภาพของตัวอักษรในวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ ก็แตกต่างไปจากที่ในจีน ยุโรป หรืออีกหลายๆ พื้นที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

การขุดค้นในแถบพื้นที่มณฑลซีอาน ประเทศจีนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ทราบว่าตัวอักษรจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 6,000 ปีมาแล้ว เบียด “ตัวอักษรลิ่ม” หรืออักษร “คูนิฟอร์ม” ซึ่งปรากฏขึ้นในวัฒนธรรมสุเมเรียนทางตอนใต้ของประเทศอิรักเมื่อเกือบ 5,400 ปีที่แล้ว เจ้าของตำแหน่งตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคนเดิมเสียจนตกขอบเวที

ไม่ว่าค่าอายุดังกล่าวที่จีนนำเสนอต่อชาวโลกจะเก่าแก่เกินความจริงไปหรือไม่ก็ตาม (อย่างน้อยที่สุดค่าอายุจริงก็น่าจะมีอายุไล่เลี่ยกับตัวอักษรลิ่ม หรือมีอายุอ่อนกว่าไม่มากนัก) แต่หลักฐานที่ได้จากการขุดค้น และวิจัยทางด้านโบราณคดีของพวกเขา ช่วยให้เราทราบว่า แต่เดิมตัวอักษรโบราณของจีนน่าจะเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อเชิงศาสนา เพราะโดยมากพบอยู่บนกระดูกเสี่ยงทาย หรือกระดองเต่า (อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานว่าชาวจีนโบราณใช้ตัวอักษรทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยหรือไม่?)

ในขณะที่อักษรลิ่มของพวกตะวันออกกลางถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยในการจดจำ หรือบันทึกบัญชีสิ่งของด้วยวิธีที่คล้ายชวเลข หรือภาษาโทรเลข ซึ่งไม่มีไวยกรณ์ วิธีจดบันทึกที่ว่าค่อยเป็นที่นิยม และใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วดินแดนเมโสโปเตเมีย

นอกจากนี้ นักอ่านภาษาโบราณบางท่านยังอธิบายต่อไปว่า ตัวอักษรลิ่มนี่แหละที่ส่งอิทธิพลให้พวกอียิปต์ประดิษฐ์ตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกเมื่อราว 5,000 ปีที่แล้ว แต่ได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ของตัวอักษรในฐานะเครื่องช่วยจำสำหรับการทำบัญชี มาเป็นเครื่องช่วยจำในคติความเชื่อทางศาสนา นี่ไม่ต่างอะไรไปจากสถานภาพของตัวอักษรในสังคมจีนยุคบุพกาลเลย

โดยสรุปแล้ว ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มที่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรใช้ในโลก “ตัวอักษร” ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะแค่การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าอีกด้วยนั่นแหละครับ

ในปัจจุบันเรามักจะนึกถึงตัวอักษรในฐานะของของเครื่องมือที่ใช้ในการจดบันทึก และป่าวประกาศเพียงอย่างเดียว เมื่อพูดถึงการจดบันทึก จึงคิดถึงสถานภาพของตัวอักษรอยู่เพียงแง่มุมเดียวเท่านั้น

และแง่มุมที่ว่าก็ดูจะทำให้สถานภาพของ ตัวอักษร ในทัศนะของชาวอุษาคเนย์แต่ดั้งเดิมบิดเบือนไปเสียด้วยสิ

หลักฐานของตัวอักษรที่พบในอุษาคเนย์ยุคเก่าก่อนมักจะเป็นจารึก ที่สลักลงบนศิลาเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื้อความที่จารึกลงไปหากไม่ใช่เรื่องของการเชิดชูอำนาจ หรือคุณธรรมของพระราชา ก็เป็นเรื่องราวในพระศาสนาเสียเกือบทั้งหมด

ในขณะที่ข้อมูลของตัวอักษรก็พบที่อยู่บนวัสดุอ่อน อย่างสมุดข่อย หรือใบลาน ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดไม่มีที่เก่าไปกว่าสมัยอยุธยา (อาจเพราะวัสดุเหล่านี้เสื่อมสูญได้ง่ายกว่าจารึกที่ทำด้วยหิน) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของศาสนา วรรณกรรม หรือพงศาวดาร และตำนานอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเรื่องในพระศาสนา และเรื่องการยอพระเกียรติของกษัตริย์

การบันทึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวอักษรอย่างที่เข้าใจกันดูจะไม่เก่าไปกว่าสมัยรัตนโกสินทร์มากมายนัก

 

แน่นอนว่าบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไม่มีใครได้อ่านมากนัก เพราะอุษาคเนย์ในสมัยโบราณไม่ใช่สังคมที่ใครๆ ก็สามารถอ่านออกเขียนได้ (เช่นเดียวกับอีกหลายๆ สังคมในยุคเก่าแก่) โดยเฉพาะข้อความที่จำหลักอยู่ในจารึก ซึ่งคงจะไม่ใช่ประกาศให้ประชาชนพลเมืองอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่เป็นข้อความที่หากจะมีใครอ่านก็คงจะเป็น ผีสางเทวดา หรือเทพเจ้า เพราะประชาชนก็อ่านไม่ออก ที่ตั้งของใบประกาศหินเหล่านี้ถ้าไม่อยู่ที่วัด ก็ปราสาทราชวัง (แล้วไพร่ที่ไหนจะมีโอกาสไปอ่านได้ล่ะครับ?)

จึงไม่น่าแปลกอะไรที่เรื่องราวในจารึกมักจะกล่าวถึงคุณงามความดีของพระราชา หรือผู้สร้าง ทำนองว่าสร้างขึ้นเป็น เครื่องสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถให้คุณให้โทษได้ จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีความนิยมในการนำตัวอักษรบางชนิด เช่น อักษรขอม หรืออักษรมอญ มาสักไว้ตามร่างกาย ด้วยถือว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ มีวิทยาคม

ดังนั้น ถึงความเชื่อที่ว่าคนไทยไม่ชอบจดบันทึก เราจึงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากนักดูจะเป็นเรื่องยกเมฆ ที่ไม่มีมูล แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็ยังน่าแปลกใจอยู่มากเหมือนกันนะครับที่ จารึกของพ่อขุนรามคำแหง พูดถึงสภาพของเมืองสุโขทัยมากกว่าที่จะพูดถึงเรื่องราวของกษัตริย์อย่างที่นิยมในจารึกหลักอื่น

และเราก็ยังคงไม่อาจจะตอบคำถามได้เลยอยู่ดีว่า พ่อขุนรามคำแหงจะทรงประดิษฐ์ “ลายสือไท” ที่ “เมื่อก่อนนี้บ่มี” ไปทำไมกัน ในเมื่อสิ่งที่โดยปกติแล้ว สิ่งที่กษัตริย์ในอารยธรรมอุษาคเนย์โบราณจะทรงสื่อสารด้วยนั้น มักจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าไพร่ฟ้าหน้าใสๆ ของพระองค์?

สถานภาพของตัวอักษรในสังคมอุษาคเนย์โบราณไม่ได้มีไว้ใช้จดบันทึกจำพวกเรื่องสัพเพเหระ อย่างที่ในปัจจุบันจะทำได้ เพราะมีสถานภาพของความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับผี หรือเทพเจ้า

ที่จริงแล้วคนไทยจึงอาจจะไม่ได้มีนิสัยไม่ชอบจด ไม่ชอบบันทึก แต่ด้วยสถานภาพของ “ตัวอักษร” ในหัวของคนไทยสมัยเก่าก่อนต่างหากล่ะครับ ที่ทำให้การจดบันทึกข้อความเป็นเรื่องใหม่ และแปลกประหลาดสำหรับพวกเขา

จนน่าสงสัยว่าพ่อขุนรามคำแหงจะทรงประดิษฐ์ลายสือไทยนี้ไว้ให้ใครอ่าน?