“อำนาจ” เปลี่ยน “วันขึ้นปีใหม่” เปลี่ยน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER

 

วันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันที่เด็กๆ ที่เป็นคริสต์ศาสนิกชน จะตั้งตารอของขวัญจากคุณลุงซานตาคลอส ที่แอบย่องเข้าบ้านของพวกหนูๆ ผ่านทางปล่องไฟ เนื่องในคืนคริสต์มาสอีฟ (คืนสุกดิบก่อนถึงวันที่พระเยซูคริสต์จะประสูติ) แล้ว

ยังเป็นวันที่รัฐไทยประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากธรรมเนียมแบบดั้งเดิมเป็นวันที่ 1 มกราคม ตามอย่างสากล มาจนกระทั่งทุกวันนี้อีกด้วย

ประกาศฉบับที่ว่าคือ “ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่” ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 ตรงกับสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศฉบับนี้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ช่วงทศวรรษ 2480 ประเทศสยามภายหลังผ่านเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ตรงกับช่วงที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (16 ธันวาคม พ.ศ.2481-1 สิงหาคม พ.ศ.2487)

และคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. ก้าวขึ้นมาพร้อมกับ “ลัทธิชาตินิยม”

มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” 12 ฉบับ ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2482-2485

 

“รัฐนิยม” ที่ว่าก็คือประกาศของทางการ เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ

ซึ่งก็ครอบคลุมตั้งแต่ การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม มาเป็น ไทย อย่างที่ใช้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ (ฉบับที่ 1 ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482)

การเรียกชื่อชาวไทย ด้วยการไม่ให้เรียกชื่อคนในประเทศไทยตามเชื้อชาติ และความนิยมของผู้ถูกเรียก หรือแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายหมู่เหล่า (ฉบับที่ 3 ประกาศวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2482)

พร้อมกันนั้นยังมีการบังคับให้ภาคภูมิใจในหนังสือและภาษาไทย (ฉบับที่ 9 ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483), บังคับเรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย อย่างการห้ามนุ่งแต่เพียงกางเกงชั้นใน หรือไม่ใส่เสื้อ ให้แต่งกายตามแบบสากลนิยม (ฉบับที่ 10 ประกาศวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2484) เป็นต้น

ช่วงเวลาที่มีการประกาศรัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ จึงเป็นช่วงที่จอมพล ป. ท่านกำลังเปลี่ยนรัฐ “สยาม” ที่ยังคงมีกลิ่นฟุ้งของธรรมเนียมรัฐจารีตแบบอุษาคเนย์โบราณ ให้กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่เรียกว่าประเทศ “ไทย” อย่างเต็มตัว

 

และถึงแม้ว่า “ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่” จะไม่ถูกประกาศเป็น “รัฐนิยม” แต่ก็ประกาศใช้ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการออกรัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ซึ่งเป็นช่วงประกอบสร้างรัฐไทยให้เป็นรัฐสมัยใหม่

ข้อความบางส่วนในประกาศที่ว่า “…นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบูรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่…” ก็แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐนิยม คือสร้างความเป็นอารยะ (ตามอย่างมาตรฐานตะวันตก) ให้กับประเทศไทย

ก่อนหน้าที่รัฐบาลของจอมพล ป. จะประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นอย่างปัจจุบันนี้ ประเทศไทย (ที่สืบเนื่องมาจากประเทศสยาม) ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่ของทุกปี

ที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้ปี พ.ศ.2483 ของประเทศไทยมีไม่ครบ 12 เดือน เพราะได้ตัดเอาเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งนับเป็นสามเดือนสุดท้ายปี พ.ศ.2483 ตามธรรมเนียมการนับปีเดิม มาเป็นสามเดือนแรกของปี พ.ศ.2484 แทน ด้วยเหตุผลอย่างนี้ พ.ศ.2483 ของประเทศไทย จึงเป็นปีที่มีจำนวนเดือนน้อยเพียง 9 เดือนเท่านั้น

อันที่จริงแล้ว สยามเองก็เพิ่งจะมานับวันที่ 1 เมษายน เป็นขึ้นปีใหม่เอาเมื่อเรือน พ.ศ.2432 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง โดยก่อนหน้านั้นสยามใช้นับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งตรงกับวัน “มหาสงกรานต์” และนับเป็นวันเปลี่ยนรอบนักษัตร เป็นวันขึ้นปีใหม่มาก่อน

คำว่า “สงกรานต์” เป็นคำที่ไทยเราหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงฺกฺรานฺติ” แปลว่า คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง ดังนั้นเฉพาะการ

ในหนังสือเก่า หลายครั้งเราจะพบคำว่า “ตรุษสงกรานต์” คำว่า “ตรุษ” คำคำนี้มีรากมาจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกันคือคำว่า “ตฺรุฏ” หมายถึงการ “ตัด”

พูดง่ายๆ ก็คือ คำว่า “ตรุษสงกรานต์” หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์โคจร (คำนี้เป็นคำทางโหราศาสตร์ เพราะที่จริงแล้วพระอาทิตย์ไม่ได้โคจร โลกของเราต่างหากที่กำลังโคจรอยู่ทุกขณะจิต) ผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง หนึ่งปีจึงมีตรุษสงกรานต์ 12 ครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีน (มีนาคม) เข้าสู่ราศีเมษ (เมษายน) เป็นนับเป็น “วันขึ้นปีใหม่” จึงเรียกกันว่า “มหาสงกรานต์” นั่นเอง

การนับวันขึ้นปีใหม่อย่างนี้เป็นคติพราหมณ์ฮินดู แปลว่าไม่ใช่ของพื้นเมืองสยาม หรือแม้กระทั่งอุษาคเนย์ทั้งแผ่นผืนภูมิภาคมาแต่เดิม เพราะเป็นของอิมพอร์ตเข้ามาใหม่พร้อมกับศาสนาจากอินเดียต่างหาก อย่างไรก็ตาม สยามประเทศไทย (โดยรัฐ และราชสำนัก) ก็นับวันขึ้นปีใหม่อย่างนี้มาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนสาเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แทนนั้น คงเป็นไปเพื่อความสะดวก เพราะเป็นการนับตามปฏิทินแบบสุริยคติ ซึ่งใช้กันตามอย่างนานาอารยประเทศในสมัยนั้น (และจวบจนปัจจุบันนี้) เช่นเดียวกัน

 

เรื่องของเรื่องมีอยู่ใน พระบรมราชโองการที่เรียกว่า “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่” เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2431 (ถ้านับอย่างปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ.2432)

เนื่องจากในพระบรมราชโองการฉบับนี้ มีข้อความระบุตั้งตอนต้นเลยว่า “…ข้อ 1 ให้ตั้งวิธีการนับปีเดือนตามปฏิทินสุริยคติกาลดังว่าต่อไปนี้เป็นปีปรกติ 365 วัน ปีอธิกสุรทิน 366 วัน ให้ใช้ศักราชตามปี…”

แน่นอนว่าแต่เดิมสยามใช้วิธีการนับปีเดือนตามปฏิทินแบบจันทรคติ ซึ่งเป็นคติตามแบบศาสนาผีพื้นเมือง

วิธีนับเดือนปี เดือนแรกของปีคือ “เดือนอ้าย” ซึ่งตรงกับช่วงเวลาประมาณเดือน “ธันวาคม” ตามปฏิทินแบบอธิกสุรทินแบบที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากคำว่า “อ้าย” ในภาษาไทย เป็นทั้งคำเรียงลำดับ และนับคำนวณ แปลว่า “หนึ่ง” หรือ “แรก”

ดังนั้น แต่ดั้งเดิมชาวสยามจึงนับช่วงเวลาประมาณเดือนธันวาคมเป็นช่วงเริ่มต้นของรอบปีใหม่ รอบฤดูกาลใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก

แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงสภาพการณ์เฉพาะของกลุ่มคนที่อยู่ทางแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเครือข่าย ทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันเท่านั้นนะครับ

ในพื้นที่บริเวณอื่นซึ่งได้รับผลกระทบของลมมรสุม ซึ่งยังผลให้เกิดการปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไม่เหมือนกัน และมีรอบของฤดูกาลแตกต่างกันก็จะนับรอบปี และรอบฤดูกาลแตกต่างออกไปอีกต่างหาก

 

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นพื้นที่เครือข่ายทางวัฒนธรรมของล้านนามาก่อน โดยล้านนาจะนับรอบปีเร็วกว่าพื้นที่ทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันราวสองเดือน

น่าสนใจว่า “ล้านนา” ก็ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง โดยปีเดียวกันกับที่มีการออกพระราชโองการฉบับนี้ (นับตามธรรมเนียมเดิม) ก็เป็นปีที่ เจมส์ ฟิตซรอย แม็กคาร์ธี (Jame Fitzroy McCarthy) ชาวอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นรับราชการเป็น “พระวิภาคภูวดล” ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของสยาม ได้จัดทำ “แผนที่ราชอาณาจักรสยามและประเทศราช ฉบับแม็กคาร์ธี พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888)” ออกมา

ในปีพุทธศักราชนั้น สยามยังปักปันเขตแดนกับชาติมหาอำนาจตะวันตก ทั้งสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสไม่เสร็จสิ้น แต่ในแผนที่ฉบับนี้ ถึงแม็กคาร์ธีจะไม่ระบุถึง “พรมแดน” และ “เขตแดน” ของสยามให้ชี้ชัดลงไป แต่ก็ได้ระบาย “สีเหลืองอ่อน” ที่ถือได้ว่าเป็นพรมแดนของสยาม ที่อยู่ระหว่างการช่วงชิงกันกับสองชาติมหาอำนาจยุโรป (และบางแห่งก็รวมถึงจีน)

แน่นอนว่าดินแดนล้านนาทั้งหมดต่างก็ถูกระบายด้วยสีเหลืองอ่อนนี้ด้วย

 

ถึงแม้ดินแดนล้านนาจะอยู่ระหว่างการถูกช่วงชิง แต่เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรแห่งนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ผนวกรวม “ล้านนา” เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งทางภาคเหนือของสยาม ก็ได้ถวายตัวเป็นสนมในรัชกาลที่ 5 (ต่อมาดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระราชชายา) เมื่อปี พ.ศ.2429 สองปีก่อนจะมีพระราชโองการ “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่”

ถึงแม้ว่าทั้งสยามที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ และล้านนา ต่างก็เป็นอารยธรรมที่นับถือศาสนาพุทธเป็นสำคัญ แต่ต่างก็เคยนับถือผี (บรรพบุรุษ) คนละตนมาแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะหันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่างน้อยการนับปีเดือนที่แตกต่างกัน ก็แสดงให้เห็นถึงจักรวาลวิทยาที่ไม่ได้ต้องตรงกันทุกกระเบียด

ดังนั้น หากเมื่อสยามผนวกรวมล้านนาเข้ามาได้เมื่อไหร่ พระราชโองการฉบับนี้ก็จะทำให้ ล้านนากับสยาม ไม่ใช่คนอื่นคนไกลกัน อย่างน้อยก็นับวันขึ้นปีใหม่ตรงกัน ไม่ใช่ห่างกันตั้งสองเดือนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแต่เดิม