จังหวะชีวิตของพวกเราช่างโชคดีเหลือเกิน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ
ภาพจาก Tongthong Chandransu

ผมได้กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จังหวะชีวิตของพวกเราช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาประสบพบเห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลปัจจุบัน

คนไทยในวันคืนที่ผ่านมาหลายคนไม่มีโอกาสอย่างเรานะครับ

เพราะนับเวลาจากงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อครั้งรัชกาลที่เก้ามาจนถึงครั้งนี้ก็เป็นเวลาห่างกันถึง 69 ปี

ยิ่งใกล้วันงานเข้าไป ความตื่นเต้นก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเป็นทวีตรีคูณ

ในวงสนทนาที่อยู่ใกล้ตัวผมหรือแม้กระทั่งในสื่อโซเชียลมีเดียก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่วนเวียนพูดคุยกันในเรื่องของความรู้ความคืบหน้าของงานพระราชพิธีครั้งนี้ทั้งสิ้น

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ การฝึกซ้อมกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเพื่อเลียบพระนคร ที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 และ 28 เมษายน ทั้งๆ ที่อากาศร้อนแสนร้อน แต่พี่น้องผองเพื่อนของผมก็หาได้ย่อท้อไม่

หลายคนได้ใช้เวลาตลอดบ่ายของสองวันนั้น ซึมซับบรรยากาศและประสบการณ์ที่ตนเองไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน

มีการบันทึกภาพมาแบ่งปัน มีการนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง

ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์แห่งความสุขที่จะอยู่ในความทรงจำของเราไปอีกแสนนาน

มีวงสนทนาหนึ่งที่มีผู้ถามผมขึ้นว่า นอกจากความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในทางประวัติศาสตร์ และประเพณีการปกครองที่ทำให้เรามีความมั่นใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยยังดำรงคงมั่นและเป็นขวัญชีวิตจิตใจของพวกเราไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว

ผมมองเห็นอะไรเป็นพิเศษในเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้บ้าง

คำตอบคือ ถึงแม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะยังคงรักษาหลักสำคัญของการพระราชพิธีไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งแวดล้อมของเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากครับ

ถ้าพูดด้วยสำนวนคนโบราณก็ต้องบอกว่า ผมดีใจที่ในเวลาของ “ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่” อย่างนี้ คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้อยู่ในวัยที่เป็นน้องคนเล็กหรือเป็นลูกเป็นหลานของผมได้ เขายังกระตือรือร้นสนใจ และเห็นคุณค่าของงานพระราชพิธีครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

มีผู้คุ้นเคยกับผมท่านหนึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในโรงเรียนประจำจังหวัดทางภาคตะวันออก อายุอานามก็อ่อนวัยกว่าผมหลายสิบปี

ทางจังหวัดได้มอบหมายให้อาจารย์ท่านนี้มีส่วนร่วมในการสำรวจแหล่งน้ำที่จะทำพิธีพลีกรรมตักน้ำเพื่อใช้ในพระราชพิธี

รวมตลอดถึงได้มีบทบาทที่เหมาะสมตลอดกระบวนการพลีกรรมตักน้ำและพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเสกน้ำในจังหวัดของเธอ

จากที่ได้พูดคุยกันรู้สึกได้ทีเดียวว่าอาจารย์มีความภาคภูมิใจมาก และรู้สึกปลาบปลื้มที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งแม้เพียงเล็กนิดเดียวในงานพระราชพิธีครั้งนี้

เคยมีชาวต่างประเทศถามผมว่า งานพระราชพิธีครั้งนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะมากหรือน้อยเป็นจำนวนสักเท่าไหร่

ผมตอบว่าเกินความรู้ของผมที่จะตอบได้เลยทีเดียว แต่แน่ใจว่าเป็นจำนวนนับแสนนับล้าน

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ เพียงพิธีพลีกรรมตักน้ำ และการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเสกน้ำสำหรับใช้ในงานพระราชพิธีทั้งที่เกิดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยและที่วัดสุทัศนเทพวรารามในกรุงเทพมหานคร ก็มีผู้เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเป็นจำนวนมากแล้ว

อย่าลืมว่าน้ำที่ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเกิดขึ้นจากความร่วมใจของประชาชนทั้งประเทศเหล่านั้นจะได้เป็นส่วนสำคัญที่สุดในงานพระราชพิธีทั้งขั้นตอนการสรงพระมูรธาภิเษก และการถวายน้ำอภิเษกโดยผู้แทนจากทิศทั้งแปด ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ไม่เคยมีครั้งคราใดในประวัติศาสตร์ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพลีกรรมตักน้ำและการเสกน้ำที่จะถวายในงานพระราชพิธีเป็นไปโดยกว้างขวางถึงเพียงนี้มาก่อน

ประโยชน์โดยอ้อมอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการค้นคว้าและสืบสานความรู้ที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองเรา แน่นอนครับว่าเมื่อมีพระราชพิธีสำคัญอย่างนี้เกิดขึ้น ย่อมเป็นโอกาสที่จะทำให้มีการศึกษาค้นคว้าและนำความรู้ที่ได้เหล่านั้นมาบอกเล่ากับสาธารณะ

วิชาช่างหลายอย่างที่เป็นงานฝีมือชั้นยอดของเมืองไทยก็ได้รับการสืบทอด

และไม่ใช่การสืบทอดแบบเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือใส่ตู้ลั่นกุญแจ ไม่ใช่อย่างนั้นเลยครับ

ความรู้และฝีมือเหล่านี้ได้รับการสืบทอดแบบมีชีวิตชีวา สัมผัสได้ จับต้องได้ และเป็นพยานที่ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้ตระหนักรับรู้ว่า บ้านเมืองของเรามีความเป็นมาเก่าแก่ที่น่าภาคภูมิใจ

และเมื่อบรรพบุรุษของเราได้เคยสั่งสมสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ด้วยสองมือสองแขนและสติปัญญาของท่าน

เหตุใดเล่าเราผู้เป็นลูกหลานซึ่งก็มีสองมือสองแขนและมีสติปัญญาที่สืบมรดกมาจากท่านจะรักษาความภาคภูมิใจเหล่านี้เพื่อเป็นรากฐานที่จะสานต่อสำหรับความเจริญในวันข้างหน้าสืบเนื่องไปอีกไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะพูดไว้ในโอกาสนี้ คือบรรยากาศแห่งความสุขและความกลมเกลียวที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

สังเกตไหมครับว่าเมื่อเราพูดกันถึงเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว น้ำเสียงที่พูดคุยกันก็เปี่ยมไปด้วยความสุข

ถนนหนทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ดูสะอาดงดงามชื่นตา

ประดับประดาตกแต่งด้วยธงทิวและต้นไม้ดอกไม้สวยงาม มีซุ้มถวายพระพรเฉลิมพระเกียรติอยู่เป็นระยะ ความขัดแย้งที่มีมานานปีดูจะทุเลาเบาบางลงไป

พูดอย่างสำนวนโบราณของผมก็ต้องบอกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ “ด้วยเดชะพระบารมี”

เมื่อได้เห็นอารมณ์และบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเมืองไทยในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะย้อนรำลึกถึงหนังสือเล่มโปรดของผมคือหนังสือเรื่องสี่แผ่นดิน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

ได้เล่าถึงเหตุการณ์อันคุกรุ่นด้วยความขัดแย้งของสมาชิกภายในบ้านของพลอยผู้เป็นตัวเอกของเรื่องในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แปดจะเสด็จนิวัตพระนครว่า

“…ข่าวในหลวงเสด็จฯ กลับนั้น ได้ทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวของพลอยดีขึ้นทั่วๆ ไป เพราะตาอั้นก็ดี ตาอ๊อดก็ดี ตลอดจนประไพและคุณเสวีต่างพากันพูดถึงข่าวนั้นด้วยความปีติยินดี และต่างคนต่างรอวันที่จะเสด็จฯ กลับมาถึงพระนครด้วยความกระหายอยากชมพระบารมีเป็นพิเศษ เมื่อคนที่เคยมีความเห็นแตกต่างกันในหลายเรื่องหลายราวจนถึงกับบาดหมางกันอยู่ในใจ มามีวัตถุอันเป็นสิ่งที่รวมความสนใจ ก่อให้เกิดความปีติยินดีร่วมกันและความหวังร่วมกันดั่งนี้ ความบาดหมางกินใจที่เคยมีอยู่เหมือนกับคลื่นใต้น้ำก็ดูออกจะเบาบางลงไป และคนทั้งนั้นดูเหมือนจะหันหน้าเข้าหากันด้วยความสามัคคี…”

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่เราจะได้พบเห็นร่วมกันในสัปดาห์นี้จะไม่ใช่เรื่องการเสด็จนิวัตพระนคร อย่างในเรื่องสี่แผ่นดิน แต่บรรยากาศของความสามัคคีปรองดองที่เกิดขึ้น “การมีความปีติยินดีร่วมกันและความหวังร่วมกัน” ดูเหมือนจะได้ย้อนกลับมาให้เราได้เห็น ได้ประจักษ์ด้วยตัวเราเองอีกครั้งหนึ่ง ทำอย่างไรหนอเราจะรักษาบรรยากาศของบ้านเมืองที่เปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างนี้ให้อยู่ได้ยั่งยืนตลอดไป คำถามข้อนี้คนไทยทุกคนต้องช่วยกันตอบครับ

เวลาประมาณหลังเที่ยงวันของวันเสาร์ที่สี่พฤษภาคมนี้ ถ้อยคำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่เราคุ้นเคยกันมาเป็นเวลาสองปีเศษ จะแทนที่โดยคำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตามประเพณีไทยของเราที่จะเรียกขานพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้วเช่นนั้น คำลงท้ายในเวลากราบบังคมทูลพระกรุณา ที่เคยใช้ตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ก็จะมีข้อความต่อท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

ด้วยเดชะแห่งพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จงได้อภิบาลรักษาสยามประเทศให้มีแต่ความวัฒนาถาวร และขอรัชสมัยที่รุ่งเรืองนี้จงได้ยั่งยืนอยู่ชั่วกาลนาน