ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : บัลลังก์สิงห์ ในธรรมเนียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บทความเรื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ของ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่กำลังวางแผงอยู่นี้ (ธันวาคม 2559) มีข้อความตอนหนึ่งที่ไม่ได้กล่าวถึง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงเทพฯ เลย แต่ก็มีประโยชน์อยู่มาก เพราะกล่าวถึงรากเหง้าของพิธีบรมราชาภิเษกในไทย ที่มีต้นเค้ามาจากอินเดียนั่นเอง

ในอินเดียเรียกพิธีการสถาปนาบุคคลขึ้นเป็นพระราชา ที่มีรูปแบบและรายละเอียดที่แตกต่างกันไปอย่างนี้ รวมๆ กันว่า “พิธีราชสูยะ” โดยในพิธีราชสูยะก็จะมีขั้นตอนสำคัญจำแนกแยกย่อยลงไปอีก ซึ่งขั้นตอนต่างๆ หากนำมาเปรียบเทียบกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าความคล้ายคลึงอย่างน่าสนใจ และมีนัยยะสำคัญ

แต่ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นพิเศษในที่นี้ก็คือ สิ่งที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยเราไม่มี นั่นก็คือ “ราชสีหาสน์”

 

“ราชสีหาสน์” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าคือ “บัลลังก์สิงห์” หรือพระเก้าอี้รูปสิงห์ ดังนั้น บัลลังก์ที่ว่าจึงต้องจำหลักรูปหัวสิงห์สองข้างไว้ที่บริเวณที่วางพระกร หรือไม่ก็มีรูปราชสีห์นั่งชันเข่าประดับอยู่ที่ขาของบัลลังก์องค์นี้นั่นเอง

อ.นนทพร ระบุว่า พิธีราชสูยะของอินเดีย จะต้องประกอบในพระราชมณเฑียร (ซึ่งก็คือ ท้องพระโรง) ซึ่งมี “บัลลังก์สิงห์” ตั้งอยู่ตรงกลาง บนบัลลังก์สิงห์ยังต้องปูพรมขนสัตว์อย่างดี เนื้อละเอียด แถมยังต้องปูทับไว้ด้วยหนังราชสีห์ซ้ำอีกด้วย

สองข้างของบัลลังก์สิงห์ ด้านหนึ่งตั้งกูณฑ์ (เตาไฟ) มีปุโรหิตกับฐานานุกรมอยู่ประดับ อีกด้านหนึ่งตั้งตั่งไม้มะเดื่อ (ตั่งอุทุมพร) ซึ่งทำอย่างเกลี้ยงๆ เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่สรงน้ำมูรธาภิเษก ถัดออกมาค่อยเป็นพวกหัวหน้าวรรณะทั้งสี่ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร ทั้งฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง มานั่งเรียงเป็นวงโค้งไปข้างหน้าแบบอัฒจันทร์

พูดง่ายๆ ว่าบัลลงก์สิงห์นี่แหละครับ ที่เป็นศูนย์กลางของมณฑลพิธี และก็เป็นศูนย์กลางของจักรวาลจำลอง ที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงขึ้นเสวยราชสมบัติปกครองด้วย ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย ประกาศพระนาม พร้อมทั้งกระทำสัตย์สาบานว่า จะปกครองแผ่นดินโดยธรรมแล้ว จึงต้องเสด็จขึ้นประทับบนราชสีหาสน์ที่ว่านี้เพื่อให้บรรดาพราหมณ์ถวายน้ำมนต์ สวดถวายพระพร แล้วถวายเครื่องราชสมบัติ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์นั่นเอง

 

“บัลลังก์สิงห์” ในพิธีราชสูยะของอินเดีย จึงไม่ต่างไปจาก “พระที่นั่งภัทรบิฐ” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกรุงรัตนโกสินทร์

และอันที่จริงแล้ว ตามธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่เดิม พระราชบัลลังก์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษกของสยามนั้นก็ต้องปูลาดด้วยหนังราชสีห์ด้วย ในสมัยหลังจึงค่อยเปลี่ยนเป็นแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณมาปูลาดทับไว้บนพระราชบัลลังก์แทนหนังราชสีห์ ซึ่งก็คงเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดจากอินเดียมาแล้วค่อยปรับเปลี่ยนเอาทีหลังนั่นแหละ

ควรสังเกตด้วยว่า ทั้งพิธีราชสูยะของอินเดีย และพระราชพิธีบรมราชภิเษกของไทย ต้องมีตั่งไม้อุทุมพร หรือไม้มะเดื่อ (ของไทยเรียก พระที่นั่งอัศทิศ) ที่ใช้ประทับสำหรับประกอบพระราชพิธีก่อน ขึ้นเสวยราชย์สมบัติบนพระราชบัลลังก์ คือบัลลังก์สิงห์ หรือพระที่นั่งภัทรบิฐในชั้นกรุงเทพฯ

“ตั่ง” คือ ที่นั่งไม่มีพนักพิง ไม่มีที่วางแขน จะใช้นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ก็แล้วแต่อัธยาศัยของใครของมัน แต่ไม่ใช้นั่งห้อยขาอย่างบัลลังก์ ไม่มีพนักพิงให้เอนหลัง และไม่มีที่สำหรับไว้เท้าแขน

ทั้งชาวอินเดีย และชาวอุษาคเนย์แต่ดั้งเดิม ต่างก็ไม่นั่งห้อยขาเหมือนกันนะครับ เก้าอี้ที่นั่งห้อยขาไม่มาจากจีน (แม้แต่คำว่า เก้าอี้ เองเป็นคำไทยที่ทับศัพท์มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว) ก็เอามาจากฝรั่ง ดังนั้น ในหลายๆ ครั้งจึงมีการเรียกพระพุทธรูปที่ประทับนั่งห้อยพระบาทว่า ประทับนั่งแบบยุโรป

เอาเข้าจริงแล้ว “บัลลังก์” จึงไม่ใช่เรื่องพื้นเมืองของอินเดียเขาด้วยอีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นอะไรที่หยิบยืมมาจากวัฒนธรรมทางทิศตะวันตกของพวกเขา บัลลังก์สิงห์ที่บัญญัติไว้ว่า ต้องมีทั้งพนักพิง ทั้งมีที่เท้าแขน แถมยังต้องมีบันไดสำหรับก้าวขึ้นไปนั่งให้สูงเด่นเป็นสง่ากว่าใครๆ ในมณฑลพิธีอีกสามขั้น จึงไม่ใช่ของอินเดียมาแต่เดิม

ยิ่งรูปราชสีห์ หรือสิงโตที่ประดับอยู่สำหรับเป็นสัญลักษณ์ขององค์ราชา บนบัลลังก์สิงห์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งดูไม่ใช่สัตว์พื้นเมือง ที่เคยเดินป้วนเปี้ยนอยู่ในป่า หรือทุ่งหญ้าไหนๆ ในอินเดียได้เลยนะครับ

 

คําว่า “บัลลังก์” ตามความเข้าใจอย่างไทย ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “throne” มีรากมาจากภาษากรีกโบราณว่า “thronos” ซึ่งแปลว่า “ที่นั่ง” หรือ “เก้าอี้”

แต่คำว่า “thronos” เองก็มีรากมาจากคำว่า “เธร” (dher-) ซึ่งแปลว่า “สนับสนุน” ในภาษาที่เก่าแก่กว่าคือกลุ่มภาษาก่อนอินโดยูโรเปียน คำคำเดียวกันนี้เองก็เป็นต้นเค้าของคำว่า “ธรรมะ” ซึ่งสามารถแปลว่า “หลัก” ก็ได้ในภาษาสันสกฤต

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ในภาษากรีกยุคเก่ามีคำว่า “Dios thronous” การสนับสนุนจากสวรรค์ และสามารถแปลว่าแกนของโลกก็ได้

ในโลกทัศน์แต่ดั้งเดิมของกลุ่มคนในสายตระกูลอินโดยูโรเปียน (ซึ่งหมายรวมตั้งแต่กรีกจนถึงตอนเหนือของชมพูทวีป) “บัลลังก์” จึงไม่ได้สื่อความถึงเก้าอี้ของประมุขเท่านั้น แต่มีนัยยะเกี่ยวพันไปถึงความเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาลวิทยาหนึ่งๆ ซึ่งหมายถึงอำนาจที่มีเหนือจักรวาลวิทยานั้นด้วย

 

หลักฐานตั้งแต่ในไบเบิล ในบท 1 คิง ได้พรรณนาถึงบัลลังก์ของกษัตริย์โซโลมอนไว้ละเอียดว่าทำขึ้นจากงาช้าง ประดับไปด้วยทอง และตั้งขึ้นอยู่บนฐาน 6 ชั้น

ที่น่าสนใจก็ตรงฐาน 6 ชั้นนี่แหละครับ ใน “สิงหาสนทวาตริงศติกา” หรือนิทานที่ว่าด้วยบารมีของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ (กษัตริย์ในตำนานของอินเดีย คล้ายพระร่วง พระเจ้าอู่ทอง ของไทย) ก็กล่าวถึงบัลลังก์สิงห์ที่มีบันไดสูง 23 ขั้น พร้อมตุ๊กตาแก้วประดับอยู่ทุกขั้นบันไดเหมือนอย่างชื่อเรื่อง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่บัลลังก์สิงห์ ในพิธีราชสูยะก็ต้องมีบันไดขึ้นไปสามขั้นกับเขาด้วย (ส่วนบัลลังก์ของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในตำนานอย่างพระเจ้าวิกรมาทิตย์ จะมีบันไดให้ต้องปีนสูงกว่าใครเขาก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัยอะไรนัก)

เรื่องของบัลลังก์สิงห์จึงไม่ใช่คติแท้ๆ ของอินเดียแน่

 

เท่าที่ผมพอจะนึกออก บัลลังก์รูปสิงห์ เก่าแก่ที่สุดที่พบในงานศิลปะอินเดีย ก็ไม่ใช่ศิลปะของชนชาวอินเดียแท้ๆ เพราะปรากฏอยู่ในประติมากรรมสลักหินรูป “วีมะทักษุมัสยะ” จากศาสนสถานมัต ในเมืองมถุรา ประเทศอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟเซส

พระเจ้าวีมะ แคดฟเซส อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปเท่าพระราชโอรสของพระองค์ ที่ทรงพระนามว่า พระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งชนชาวพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับถือไม่ต่างไปจากที่ชาวเถรวาทนับถือพระเจ้าอโศก รูปเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟเซส ก็เป็นพระราชโอรสผู้โด่งดังของพระองค์นี่เองที่สร้างให้เมื่อปีที่ 6 ในรัชสมัยของพระองค์ (ครองราชย์ พ.ศ.621-644)

แต่รากเหง้าของราชวงศ์กุษาณะไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในอินเดียนะครับ เพราะเป็นชาวซิเถียน คือชนเผ่าเร่ร่อนบริเวณเอเชียกลาง

แรกเริ่มเดิมทีราชวงศ์ที่ว่ามีถิ่นทางอยู่ทางด้านตะวันตกของจีน แต่ถูกชาวฮั่นขับไล่มาผสมปนเปกับพวกกรีกที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งไว้ที่แคว้นแบกเตรีย-คันธาระ ทางตอนเหนือของอินเดีย บริเวณคาบเกี่ยวประเทศอัฟกานิสถาน, อุซเบกิซสถาน และทาจิกิสถาน เมื่อคราวที่พระองค์ยกทัพมารบกับพระเจ้าจันทรคุปต์ พระอัยกา (ปู่) ของพระเจ้าอโศกคนดัง คนเดิม

พวกซิเถียนจึงเป็นเครือข่ายในโลกเฮเลนิสติกของชาวโรมันที่ทำการค้าทางบกผ่านเส้นทางสายแพรไหม โดยมีพื้นฐานที่ผสมปนเปกับลูกหลานชาวกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งชาวอินเดียเรียกว่า โยนก จนผสมปนเปกันไปมา

แล้วผู้นำของคนพวกนี้กลุ่มหนึ่งก็สถาปนาราชวงศ์กุษาณะ ที่สร้างบัลลังก์สิงห์อยู่บนรูปเหมือนพระมหากษัตริย์ของพวกเขา

ดังนั้น ถ้าคติเรื่องบัลลังก์สิงห์ในอินเดีย จะเข้ามาพร้อมกับการขยายอำนาจของราชวงศ์กุษาณะก็ไม่เห็นจะแปลก?

 

และก็น่าสังเกตว่า ด้วยอำนาจของราชวงศ์กุษาณะนี่แหละนะครับ ที่ทำให้มีการสร้าง “พระพุทธรูป” ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก (นี่ไม่แปลกอะไรเลยอีกเช่นกัน เมื่อคำนึงว่าเขาอยู่ในเครือข่ายของพวกกรีก-โรมัน ที่นิยมสร้างประติมากรรมรูปเทพเจ้าต่างๆ) ทั้งที่เรียกว่าศิลปะอินเดียแบบคันธาระ และแบบมถุรา เพราะเมื่อถึงสมัยพระเจ้ากณิษกะ ซึ่งกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ ท่านได้รุกคืบมาทางใต้และปกครองลุ่มน้ำคงคา ยมุนา ที่มีเมืองมถุราเป็นศูนย์กลาง

พระพุทธรูปแบบมถุรา ในอุปถัมภ์ของราชวงศ์กุษาณะ ก็มีรูปสิงห์ประดับอยู่ที่ฐานทั้งสองข้าง ในตำแหน่งเดียวกับขาของบัลลังก์ ซึ่งในไทยมักจะมีคำอธิบายแบบไม่มีที่มาที่ไปให้ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าหมายถึง พระพุทธเจ้าเป็นสิงห์แห่งราชวงศ์ศากยะ

ผมคิดว่าไม่ใช่หรอกนะครับ ภาพสิงห์ที่ฐานพระพุทธรูปพวกนี้คงจะหมายถึงบัลลังก์สิงห์ ที่สื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระจักรพรรดิราชในทางโลก

ในขณะเดียวกับที่มีนัยยะในมุมกลับว่า พระมหากษัตริย์ของพวกเขามีฐานเป็นพระพุทธเจ้าในทางธรรมนั่นเอง

ถ้ายังไม่เชื่อผมก็ลองนึกถึงแผ่นทองรูปราชสีห์เขียนด้วยชาดหรดีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยเราเปรียบเทียบดูก็แล้วกัน

คำอธิบายภาพประกอบ

ประติมากรรมสลักหินรูป “วีมะทักษุมัสยะ” จาก ศาสนสถานมัต ในเมืองมถุรา ประเทศอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเหมือนของพระเจ้าวีมะ แคดฟเซส แห่งราชวงศ์กุษาณะ สร้างเมื่อ พ.ศ.626 (ภาพจาก Susan L. Huntington. The Art of Ancient India. New York : Waterhill, 1999.)