สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (12) สังคมนิยมขึ้นสู่กระแสสูง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก        ที่จะหักพงแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง   ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา”
อุชเชนี

 

ผมเป็นนิสิตปีที่ 3 ในปี 2518 สถานการณ์ในช่วงปิดภาคฤดูร้อนก่อนเปิดเทอมต้นมีเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนแต่ร้อนแรงไปกับฤดูกาลของปีนั้น

เมษายนมีเรื่องการล้มของโดมิโน

พฤษภาคมมีกรณีเขมรแดงยึดเรือมายาเกวซ

และการประท้วงของนักศึกษาประชาชนในกรณีนี้ก็มีความเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งยังมีการประท้วงของชาวนา กรรมกร ครู ตำรวจ แล้วก็ตามมาด้วยข่าวลือเรื่องการรัฐประหาร (อีกตามเคย!)

เปิดเทอมต้นของปีการศึกษา 2518 จึงเป็นช่วงระยะเวลาของความผันผวนเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอีกด้านหนึ่ง ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุติสงครามเวียดนามด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐนั้น มีผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ “กระแสสังคมนิยม” ในไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

แล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 การต่อสู้อย่างยาวนานของปัญหาการรับรองจีนแผ่นดินใหญ่ในการเมืองไทยก็ยุติลงด้วยการลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง

การเปิดความสัมพันธ์เช่นนี้สอดรับกับภูมิทัศน์ใหม่ในภูมิภาคที่เห็นถึงการถดถอยของสหรัฐจากสงครามเวียดนาม…

การกำเนิดของรัฐบาลสังคมนิยมในเวียดนามและในกัมพูชา… การได้รับการยอมรับในเวทีการทูตมากขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน… การเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนให้ไทยมีนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐ และเปิดทางเลือกในการติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ให้มากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ดูจะประดังกันเข้ามาในช่วงปี 2518

นอกจากนี้ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2518 ซึ่งเป็นวันชาติอเมริกัน นิสิตนักศึกษาได้จัดการชุมนุมขนาดใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับชูคำขวัญว่า “ฐานทัพต้องออกไป อธิปไตยจึงสมบูรณ์”

แม้ในวันนั้น กลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เห็นต่างจะรวมตัวกันในชื่อของ “กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย” จะนำเอากระเช้าดอกไม้ไปมอบให้สถานทูตอเมริกัน เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการสนับสนุนอเมริกาก็ตาม

แต่การจัดงานของนักศึกษาในครั้งนี้มีนักศึกษาประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จนถือได้ว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งก่อนเหตุการณ์ในปี 2519

และอาจกล่าวได้ว่า การต่อต้านฐานทัพอเมริกันกำลังก่อตัวกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ในการเมืองไทย

กระแสซ้ายในคณะรัฐศาสตร์

ในขณะเดียวกัน เมื่อบรรยากาศของกระแสซ้ายพุ่งสูงขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ พวกเราก็จัดตั้งกลุ่มของตนเองในคณะชื่อ “กลุ่มศึกษาปัญหาการเมือง” คู่ขนานกับ “ชมรมรัฐศึกษา” ที่อยู่ในส่วนของมหาวิทยาลัย

ผมออกแบบตราสัญลักษณ์ของกลุ่ม โดยเอารูปคนวิ่งถือธงชาติตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นตัวแบบ มาทำเป็นบล็อกตรายาง และใช้คำขวัญว่า “กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ” เป็นธงนำ ซึ่งในยุคที่กลับมาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ผมยังเห็นโต๊ะเรียนบางตัวมีตราปั๊มของกลุ่มติดอยู่… ฝีมือผมเอง!

ในช่วงนี้ เราเริ่มสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องของลัทธิสังคมนิยมมากขึ้น

ผมกับเพื่อนๆ พยายามหาตำรับตำรามาอ่านเพื่อตอบความอยากรู้ของตนเอง

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในท่ามกลางการขึ้นสู่กระแสสูงของลัทธิสังคมนิยมนั้น อิทธิพลในทางความคิดมาจากงานของประธานเหมา เจ๋อ ตุง มากกว่าจะมาจากงานของ คาร์ล มาร์กซ์ หรือเฟรเดริก เองเกล โดยตรง

อาจจะเป็นเพราะงานของ “ลัทธิมาร์กซ์” ที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น ไม่เอื้อให้พวกเราได้อ่านง่ายๆ ในขณะเดียวกันงานของประธานเหมาถูกแปลออกมาเป็นภาษาไทย (โดยสำนักพิมพ์ปักกิ่ง) และเอื้อมากกว่าที่จะทำให้เกิดการเข้าถึงในการอ่าน

ในอีกด้านหนึ่ง ความสนใจในงานของฝ่ายซ้ายนั้นทำให้พวกเราหาหนังสือภาษาอังกฤษอ่าน ร้านหนังสือ “ดวงกมล” ที่สยามสแควร์ นำหนังสือภาษาอังกฤษราคาถูก (ราคานักศึกษา) ของสำนักพิมพ์เพนกวินเข้ามาจำหน่าย

เล่มที่พวกเราให้ความสนใจมากก็คือเรื่องราวของนักปฏิวัติในละตินอเมริกา “เช กูเวรา” (Che Guevara)…

แน่นอนว่าด้วยกลิ่นไอของสถานการณ์สงครามปฏิวัตินั้น ชื่อของเชเป็นตำนานเสมอ

เขาเป็นวีรบุรุษของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่เรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลง

การถูกลอบสังหารกลับยิ่งทำให้เขาเป็นดัง “นักบุญ” ในโลกของฝ่ายซ้าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำกล่าวของเขาที่ว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวอาร์เจนตินา ชาวคิวบา และชาวโบลิเวียด้วย ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้คนของประเทศใด แต่เป็นคนของทุกประเทศ”

คำกล่าวนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงอาการของสงครามปฏิวัติที่ไร้พรมแดน

เพื่อทลายข้อจำกัดทางภาษา เราจึงขอร้องให้รุ่นพี่ที่อ่านภาษาอังกฤษได้จัดการแปลออกมาเป็นภาษาไทย

หนังสือเรื่อง “เช” จึงกลายเป็นหนึ่งผลงานตีพิมพ์เล่มแรกของกลุ่มศึกษาปัญหาการเมืองในขณะนั้น

แต่ว่าที่จริงแล้ว อิทธิพลทางความคิดของฝ่ายซ้ายในแบบกระแสละตินอเมริกายังเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความรับรู้ของพวกเราอย่างมาก

เราอาจจะรู้จักชื่อของ “เช” หรือ “คาสโตร” แต่เรื่องราวของการปฏิวัติในอเมริกาใต้ตลอดรวมถึงทฤษฎีปฏิวัติในสำนักคิดดังกล่าวยังไม่เป็นที่รับรู้มากเท่าใดในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย

(ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ยังมีผู้นำเอามาตีพิมพ์ซ้ำขายในเวลาที่มีงานหนังสือหรือการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่มีใครรู้ว่าหนังสือเล่มนี้ถูกแปลขึ้นเพื่อสนองความอยากรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติทางสังคมของพวกเราในคณะรัฐศาสตร์ขณะนั้น)

ในขณะที่เราอ่านหนังสือฝ่ายซ้ายนอกห้องเรียนนั้น ในห้องเรียนเรายังคงเรียนทฤษฎีของนักคิดทางการเมืองตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของนักรัฐศาสตร์อเมริกัน ซึ่งขณะนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่อาจารย์หลายท่านกลับจากการศึกษาระดับปริญญาเอก

และหนึ่งในอาจารย์รุ่นใหม่ที่กลับมาขณะนั้นคือ “อาจารย์สุจิต” (ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ) การเรียนครั้งนี้ทำให้ผมมีโอกาสสัมผัสนักรัฐศาสตร์อย่าง แซมมวล ฮันติงตัน หรือ มาร์ติน ลิปเซต เป็นต้น

แม้ตอนเรียนจะมีความรู้สึกค้านอยู่ในใจกับความคิดของนักวิชาการอเมริกันเหล่านี้

แต่จนถึงวันนี้ หนังสือเล่มสำคัญที่ผมยังอ่านอยู่และถือว่าเป็นหนึ่งในตำรารัฐศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งก็คือ “ระเบียบทางการเมืองในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง” (Samuel Huntington, Political Order in Changing Societies, 1968)

หรืออย่างงานเรื่อง “มนุษย์การเมือง” ก็ยังเป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดเรื่องการสร้างประชาธิปไตยได้ แม้สาระบางส่วนจะเก่าไปบ้างก็ตาม (Seymour Martin Lipset, Political Man, 1960)…

ต้องขอบคุณ อ.สุจิต ที่แนะนำหนังสือเหล่านี้มาให้ผมรู้จัก และเมื่อต้องกลับไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกก็มีโอกาสได้อ่านอีก

ชาตินิยม vs สังคมนิยม

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น ด้วยบรรยากาศของกระแสฝ่ายซ้ายที่มาทั้งจากการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และขณะเดียวกันก็ยังถาโถมด้วยชัยชนะของประชาชนอินโดจีน

ทำให้ในชั้นเรียนพวกเราอ่านตำราสาย “เสรีนิยม” แบบอเมริกัน

แต่นอกห้องเรียน เรามีแนวโน้มที่ออกไปในทาง “สังคมนิยม” มากกว่า

และก็เป็นแนวคิดสังคมนิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับจีนในทางทฤษฎีของปีกฝ่ายซ้ายไทย…

จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ผมเคยกล่าวว่าคนยุคผมภายใต้กระแสซ้าย เราเป็น “มาร์กซิสต์” แต่อาจารย์ชาญวิทย์ (ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมเคารพ

กล่าวสวนว่า คนยุคผมไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์ แต่เป็น “เหมาอิสต์” ต่างหาก ซึ่งก็เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดที่การขยายตัวของกระแสฝ่ายซ้ายในสังคมไทยได้นำพาเอาความคิดแบบเหมาเข้าสู่วงปัญญาชนไทย มากกว่าจะเป็นความคิดทางทฤษฎีแบบลัทธิมาร์กซ์

ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับตัวผมเองแล้วรู้สึกอย่างมากว่าลัทธิสังคมนิยมดูจะตอบรับกับคำถามของลัทธิชาตินิยมได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะต้องคิดถึงอนาคตของการ “สร้างชาติ” ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการรวมดินแดนเพื่อสร้างรัฐในแบบกระแสขวา ปัญหานี้ทำให้ผมยังจำได้เสมอถึงคำถามของอาจารย์เขียน (ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์) ที่ตั้งปุจฉากับพวกเราตอนเรียนประวัติศาสตร์การเมืองจีนว่า “นักปฏิวัติจีนเป็นนักชาตินิยมหรือว่าเป็นสังคมนิยม”

คำถามเช่นนี้ท้าทายทางความคิดเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของบรรดาปัญญาชนจีนแล้ว เราคงจะต้องยอมรับว่า พวกเขาเริ่มต้นมาจากการเป็นนักชาตินิยมที่เคลื่อนไหวคัดค้านการเอารัดเอาเปรียบของจักรวรรดิตะวันตก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิจีนในสงครามฝิ่นแล้ว บรรดานักชาตินิยมจีนต้องอยู่ในภาวะ “หดหู่” อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ “รัฐบาลชิง” ของราชสำนักจีนจะอ่อนแอเท่านั้น แต่สังคมจีนก็อ่อนแอไม่ต่างกันเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจที่เหนือกว่าของจักรวรรดิอังกฤษ

ดังนั้น แม้การปฏิวัติซินไฮ่ของ ดร.ซุน ยัต เซน จะประสบความสำเร็จในปี 2454 (ค.ศ.1911) แต่ด้วยความอ่อนแอของจีนเองทำให้ต้องถูกตะวันตกและญี่ปุ่นเอาเปรียบ

อันนำไปสู่การกำเนิดของ “ขบวนการสี่พฤษภา” (The May Fourth Movement) ที่เรียกร้องให้จัดสร้างสังคมจีนใหม่

นักชาตินิยมเหล่านี้มองว่าค่านิยมเก่าทำให้สังคมอ่อนแอ และจำเป็นต้องนำเอา “อุดมคติตะวันตก” มาใช้ในการสร้างสังคม ซึ่งอุดมคตินี้มีบุรุษ 2 นาย คือ “นายวิทยาศาสตร์” (Mr. Science) และ “นายประชาธิปไตย” (Mr. Democracy) ที่จะต้องรับบทบาทหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ “สาธารณรัฐจีน” ที่เกิดใหม่

ว่าที่จริง เราอาจจะเห็นบทบาทของปัญญาชนชาตินิยมจีนตั้งแต่ยุค “การปฏิรูปร้อยวัน” ของฮ่องเต้กวางสูแล้ว

ถานซื่อถงถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของปัญญาชนรักชาติในยุคนั้น ที่จบบทบาทลงด้วยคมดาบที่ตัดศีรษะของเขากลางตลาดใจกลางกรุงปักกิ่งหลังจากความล้มเหลวในการปฏิรูปของจักรพรรดิ เขาพร้อมกับเพื่อนอีก 5 คน หรือที่ประวัติศาสตร์จีนยกย่องพวกเขาว่าเป็น “หกสุภาพบุรุษแห่งการปฏิรูปร้อยวัน” (Six gentlemen of the Hundred Days” Reform) ถูกตัดศีรษะพร้อมกันในวันที่ 28 กันยายน 2441 (ค.ศ.1898)…

แน่นอนว่าการเป็นปัญญาชนชาตินิยมจบลงด้วยความเจ็บปวดเสมอ และความเจ็บปวดเช่นนี้ส่งผ่านจากยุคของการปฏิรูปร้อยวันในยุคราชวงศ์ชิง สู่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจีน อันนำไปสู่การกำเนิดของขบวนการชาตินิยมที่สำคัญ คือ “ขบวนการสี่พฤษภา” และยังส่งอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการชาตินิยมเกาหลีในปี 2462 (ค.ศ.1919) ที่ทำให้เกิด “ขบวนการหนึ่งมีนา” (The First March Movement)

ซึ่งก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในเวลาต่อมาไม่แตกต่างกัน

จากชาตินิยมสู่สังคมนิยม

ผู้นำของขบวนการสี่พฤษภาของจีนต่อมาได้ขยับตัวทางความคิดจากความเป็น “นักชาตินิยม” ไปสู่ความเป็น “นักสังคมนิยม”

ดังนั้น พวกเขาเหล่านี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2464 (ค.ศ.1921) หรือผู้นำการเรียกร้องเอกราชของเวียดนามอย่างโฮจิมินห์ก็ดูจะมีจุดเริ่มต้นมาจากนักชาตินิยมเช่นกัน

ดังจะเห็นได้ว่า ช่วงชีวิตของเขาในปารีสนั้น เขาใช้ชื่อในการเขียนบทความเรียกร้องเอกราชของเวียดนามว่า “เหงียนผู้รักชาติ” (Nguyen the Patriot หรือในภาษาเวียดนามคือ Nguyen Ai Quoc)

จนเขาประสบกับความผิดหวังในการเรียกร้องให้มหาอำนาจตะวันตกยอมรับ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” (The principle of self-determination) ของชาวเวียดนามในการประชุมสันติภาพแวร์ซายส์ เขาจึงเริ่มหันความคิดไปทางซ้าย

นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่าถ้าโมเมนตัมของ “กระแสวิลสัน” ที่นำโดยประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกาถูกขับเคลื่อนได้จริงในการประชุมที่แวร์ซายส์ในปี 2462 (ค.ศ.1919) แล้ว บางทีโฮจิมินห์อาจจะไม่หันไปเอียงซ้าย หรือบางทีเขาอาจจะกลายเป็นผู้นำที่ “นิยมอเมริกัน” (Pro-American) ก็ได้

แน่นอนว่าไม่มีใครเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ ดังนั้น สิ่งที่เป็นความผิดหวังของขบวนการชาตินิยมจึงได้กลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเหล่านี้หันไปเป็น “ฝ่ายซ้าย”

ปรากฏการณ์เช่นนี้ตอบคำถามอย่างน่าสนใจว่า สำหรับนักสังคมนิยมในเอเชียแล้ว พวกเขาเติบโตมาจากการเป็นนักชาตินิยมมาก่อนเกือบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สำหรับนักชาตินิยมหลายๆ คนแล้ว พวกเขาเชื่อว่าลัทธิสังคมนิยมจะเป็นทิศทางของนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศได้มากกว่านโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่ไม่อาจต้านทานการบุกของรัฐมหาอำนาจภายนอกได้เท่าที่ควร

แม้กรณีของนักชาตินิยมอย่างประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียก็อาจถือเป็นอีกหนึ่งในกรณีนี้ได้เช่นกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คำถามเช่นนี้ท้าทายต่อสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองภายในของไทยสำหรับคนยุคผมเป็นอย่างยิ่ง!