เมื่อพลายงาม “คบซ้อน” สร้อยฟ้า-ศรีมาลา | ปริศนาโบราณคดี

“สร้อยฟ้า” เป็นตัวละครหนึ่งในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ปรากฏอยู่ตอนท้ายๆ เรื่อง มีศักดิ์เป็นสะใภ้นอกรีตของขุนแผน-นางพิม กล่าวให้ชัดก็คือ เป็นเมียแถมที่ไม่ได้ตั้งใจรักของพลายงาม
หากกล่าวในภาษาปัจจุบันที่นิยมพูดกันก็คล้ายๆ กับ “การคบซ้อน” นั่นเอง

สีสันของสร้อยฟ้า ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาพลักษณ์ของเสนียดหรือ “นางอิจฉา” เต็มๆ
แถมยังเป็นนางร้ายที่ระบุเจาะจงถึงถิ่นกำเนิด ภาษา กลิ่นกาย ตอกย้ำภาพของ “สาวเหนือ” ให้เต็มไปด้วยความน่าขยะแขยง มีพฤติกรรมงี่เง่าสิ้นคิด หลอกใช้เสน่ห์ น้ำตา มารยา สาไถย เพื่อเอาชนะความผิด ความพ่ายแพ้

ชวนให้นึกถึงคำประณามของคนที่มีอคติต่อแม่ญิงล้านนา ไม่ว่าจะร้องไห้ หรือถูกซุบซิบใส่ร้ายเชิงชู้สาวว่า

“อย่ามาบีบน้ำตาใช้มารยาหญิงเพื่อกลบเกลื่อนสิ่งที่ตนได้ทำไปแล้ว!”
“อย่ามาอ้างความเป็นหญิง(เหนือ) ในเมื่อทำผิดจริยธรรม!”

ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตของ “สร้อยฟ้า” นั้นมีตัวมีตนจริง หรือเป็นแค่ตัวละครสมมติ เนื่องจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนมีแฟนคลับติดนัวเนีย จึงแต่งเติมลากยาวชนิดจบกันไม่ลง มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
บางที “สร้อยฟ้า” อาจจะเป็นอีกหนึ่งภาพลวงตา เหมือนกับ “สาวเครือฟ้า” ที่จับแพะชนแกะ อุปโลกน์ยัดเยียดความมารยาสาไถยให้กับสาวเหนือ อีกก็เป็นได้

 

มารยาสาไถยของสาวเหนือ
ในสายตาชาวสยาม

ครั้งหนึ่งเคยเขียนถึงนางลาวทอง ว่าเป็นแม่ญิงล้านนาอีกคนเหมือนสร้อยฟ้า น่าสนใจยิ่งที่เสภาขุนแผนมีตัวละครสาวเหนือถึงสองนาง แถมให้มีชะตากรรมละม้ายกัน คนหนึ่งเป็นเมียน้อยพ่อ อีกคนเป็นเมียน้อยลูก

ลาวทอง มีฐานะต่ำศักดิ์กว่าสร้อยฟ้า เป็นแค่ลูกสาวกำนัน ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ ถูกพ่อแม่ยกให้ขุนแผนเพื่อไถ่กับอิสรภาพของหมู่บ้าน รูปร่างหน้าตาก็คงจะสวยพอประมาณ แต่วัฒนธรรมด้านอาหารการกินนั้น เป็นที่สะอิดสะเอียนในสายตาชาวสยามเหลือกำลัง

พิศดูเมียใหม่ที่ได้มา
ทรวดทรงขนงหน้าดูคมสัน
ปรนนิบัติอื่นอื่นดีทั้งนั้น
แต่สำคัญทรลักษณ์ด้วยการกิน

อึ่งตะกวดตุ๊ดตู่งูเงี้ยว
ช่างกระไรเลยเคี้ยวกินเสียสิ้น

อาหารหยาบคายเป็นอาจิณ
มลทินรังเกียจเกลียดระอา

พิมเอ๋ยพี่ยังอาลัยอยู่
การกินรู้สารพัดจัดหา

ไม่เปื้อนเปรอะเหมือนลาวชาวพนา
น้ำมือโอชาอร่อยรส

ในขณะที่สร้อยฟ้า เป็นถึงราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ ใช้นามสมมติว่าพระเจ้าพิไชยแห่งเชียงอินทร์ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงก็ไม่ทราบว่าตรงกับกษัตริย์พระองค์ไหน และราชวงศ์ใด ในล้านนา?

วรรณคดีระบุว่าอยุธยายกทัพขึ้นไปปราบเชียงใหม่ โทษฐานที่บังอาจมาช่วงชิงนางสร้อยทอง ราชธิดาของพระเจ้าล้านช้างที่ส่งมาถวายเชื่อมสัมพันธไมตรีกับอยุธยาระหว่างทาง

เหตุการณ์ตอนนี้มีความสับสนยิ่ง ตามประวัติศาสตร์เท่าที่ทราบนั้น กล่าวถึงการถวายราชธิดาระหว่างเมืองสู่เมือง ประมาณสามครั้งเด่นๆ

ครั้งแรกพระเมืองเกษเกล้าแห่งล้านนาถวายราชธิดาชื่อ “นางยอดคำทิพย์” แด่พระเจ้าโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 จากนั้นมาล้านช้าง-ล้านนามีความสัมพันธ์แนบแน่น ช่วยกันต่อต้านอยุธยาและพม่า

ครั้งที่สองช่วงใกล้เสียกรุงครั้งที่ี 1 ราชวงศ์อยุธยา โดยพระมหาธรรมราชาได้ถวายพระราชธิดาแก่พระเจ้ากรุงลาว ด้วยเห็นว่ากองทัพพม่ายึดล้านนาแล้ว จึงหวังว่าจะได้ล้านช้างมาผูกมิตร แต่ระหว่างทางถูกเจ้าเมืองพิษณุโลกแย่งชิงตัวราชธิดาไป เหตุการณ์นี้เกิดประมาณปี พ.ศ. 2103

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากเสียกรุงครั้งที่ี 1 ไปแล้ว สมัยพระเพทราชา กษัตริย์ล้านช้างได้ถวายราชธิดาแด่กรุงศรีอยุธยา แต่ออกหลวงสรศักดิ์ (ว่าที่พระเจ้าเสือ) ได้ถือวิสาสะช่วงชิงนางไปเป็นสนมก่อน โดยไม่รายงานพระราชบิดา

จึงทำให้สับสนว่า การที่กษัตริย์เชียงใหม่ยกทัพไปชิงตัว “ธิดาล้านช้างจากอยุธยา” นั้น มีปรากฏอยู่ในพงศาวดารตอนไหนหรือ?

เข้าใจแล้วว่าในเมื่อคนแต่งเป็นชาวสยาม จึงย่อมผูกเรื่องให้เชียงใหม่เป็นผู้ร้าย สร้างล้านช้างให้สวามิภักดิ์โอนอ่อนต่ออยุธยา

เมื่อเสร็จศึกเชียงใหม่ พระพันวษารับนางสร้อยทองธิดาเจ้าล้านช้างคืนมาเป็นพระสนม ในขณะเดียวกันกลับพระราชทานนางสร้อยฟ้าธิดาเจ้าเชียงใหม่บำเหน็จรางวัลให้แก่ “พลายงาม” ลูกของขุนแผน ในฐานะแม่ทัพเอก

หรือว่าเรื่องราวตอนนี้จำลองมาจากชีวิตจริงของสมเด็จพระนารายณ์ ที่ได้นางกุสาวดี ธิดาเจ้าเชียงใหม่ (พระญาแสนหลวง) มาแล้วยกให้พระเพทราชา?

พลายงามได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “จมื่นไวยวรนาถ” หรือที่นิยมเรียกว่า “พระไวย” ไม่ต่างไปจากพลายแก้วเมื่อเสร็จศึกเมืองเชียงทองกลับมาก็ได้รับทินนามเป็น “ขุนแผนแสนสะท้าน”

สรุปแล้ว เนื้อหาซ้ำรอยกันสองรุ่น รุ่นพ่อเสร็จศึกได้นางลาวทองเป็นเมีย ส่วนรุ่นลูกกลับมาได้ความดีความชอบคือนางสร้อยฟ้า คือทั้งพ่อทั้งลูก ต่างก็ “คบซ้อน” ว่างั้นเถอะ

เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะพลายงามแอบได้เสียกับศรีมาลา ลูกของพระพิจิตรก่อนวันออกไปรบหนึ่งคืนแล้ว

ในเมื่อสร้อยฟ้าตกอยู่ในที่นั่งส่วนเกินของผัวหนึ่งเมียสอง ทำอะไรย่อมดูขัดหูขัดตาสามีไปหมด แถมวันดีคืนดีคุณย่าทองประศรี (แม่ขุนแผน-ย่าพลายงาม) ยังขอให้หลานสะใภ้ทั้งสองทำขนมเบื้องประชันกันอีก ฝีมือของศรีมาลานั้นกินขาดสมกับเป็นแม่ศรีเรือน ส่วนขนมเบื้องของสร้อยฟ้านั้นถูกล้อว่าเหมือนแป้งจี่ ช่างไร้เสน่ห์ปลายจวักน่าสมเพชเสียนี่กระไร

“โอวาอนิจจาตัวกูเอ๋ย
ไมคิดเลยเมื่อพอพามาถวาย

จะถูกทั้งตีด่าประดาตาย
แสนอายสุดอยางแลวครั้งนี้

พอแมอยูไกลไมเหลียวเห็น
จะไดใครผอนเข็ญใหกูนี่

จึ่งผัวดังเอาตัวทุมอัคคี
เขาขยี้เหยียบยับดังสับปลา”

ท่ามกลางบรรยากาศแปลกหน้า ความเจ็บช้ำน้ำใจที่ต้องห่างไกลวัฒนธรรมเมืองเหนือ ทางออกสุดท้ายที่กวียัดเยียดให้สร้อยฟ้า ยิ่งดูสมบทบาท “แม่ญิงคนชั่ว” มากยิ่งขึ้น นั่นคือลงเอยที่การเข้าหาหมอเสน่ห์ชื่อเถนขวาด (เถรขวาด) กับเณรจิ๋ว ทำไสยศาสตร์ให้พระไวยหลงรัก

เมื่อถูกจับได้ ต้องลุยไฟพิสูจน์ความจริง ปรากฏว่าเท้าพองไหม้ พระพันวษาสั่งลงโทษประหารชีวิต แต่นางศรีมาลา (นางเอกผู้แสนดี) ได้ขอพระราชทานอภัยโทษไว้ทันควัน

อวสานของสร้อยฟ้า ถูกเนรเทศให้หอบท้องไปคลอดลูกที่เกิดจากพลายงามชื่อ “พลายยง” ที่เชียงใหม่ตามลำพัง

ทำราวกับว่าสร้อยฟ้าเป็นเพียงตัวละครเดียวในเรื่องขุนแผนที่ใช้ไสยศาสตร์ ก็ตลอดทั้งเรื่องนั้นขุนแผน-พลายงาม พระเอกสองรุ่น ต่างก็เต็มไปด้วยการแปลงกาย สะเดาะโซ่ หุ่นพยนต์ ปลุกผี คงกระพันชาตรี เสกใบไม้ มิใช่หรือ?

ยิ่งฉากสับปะดี้สีปะดน ตอนพลายงามใช้มนตร์เรียกฝนกรวดสาดใส่แสนตรีเพชรกล้า แม่ทัพเชียงใหม่ ร้อนขนลุกขนพองจนต้องแก้ผ้าแก้ผ่อนกันเป็นที่ขำกลิ้งของฝ่ายสยาม

หรือตอนขุนแผนเป่ามนต์สาธยายอัดทวารใส่ขุนช้าง จนอุจจาระไหลไม่หยุดมิรู้กี่กะละมัง สร้างความหน้าแตกหน้าแตนต่อหน้าธารกำนัล ขณะที่พระหมื่นศรีกำลังชำระคดีความกับขุนช้าง

แล้วพฤติกรรมวิปริตเล่า ถึงขนาดผ่าท้องเมียคือนางบัวคลี่ เพื่อเอาลูกมาทำกุมารทอง ไฉนกลับกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคมไทย

หรือขึ้นชื่อว่าพระเอกก็ย่อมมีอภิสิทธิ์ที่จะรังแกคนอื่นได้ ไม่มีใครประณาม ไม่ต้องถูกจับลุยไฟ
แต่แล้วเมื่อสร้อยฟ้าไร้ที่พึ่ง ทำเสน่ห์ให้สามีตัวเองหลงใหล กลับถูกต้องโทษถึงประหารชีวิต

พระพันวษาไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ถึงปมปัญหาในใจของสร้อยฟ้า ว่าเวลาที่หล่อนทะเลาะกับศรีมาลา พลายงามเข้าข้างใคร เคยเฆี่ยนตีนางสร้อยฟ้ามาแล้วกี่หน และลึกๆ แล้วสร้อยฟ้ารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเพียงไรที่เป็นถึงพระราชธิดาของกษัตริย์เชียงใหม่ แต่กลับถูกยกให้เป็นเมียของขุนนางไพร่ (ไม่มีวาสนาเหมือนนางสร้อยทอง ราชธิดาล้านช้าง มีฐานะเท่ากันแท้ๆ แต่ได้เป็นชายากษัตริย์) ท่ามกลางการไม่ให้เกียรติของชาวสยามที่รุมเยาะเย้ยถากถางให้กลายเป็นตัวตลก

วรรณกรรมไทย มักเสี้ยมสอนลูกหลานให้มองเพื่อนบ้านชาติพันธุ์อื่นเป็นคนชั่วร้าย แฝงมาในบทของตัวประกอบที่ดูเปิ่นเป๋อเด๋อด๋า

ใช่เพียงแต่คนเหนือเท่านั้น ชาวพม่ามักหนีไม่พ้นภาพลักษณ์ของคนมักมากในกามคุณ คนญวณชอบเนรคุณ เขมรคือคนดุดันขมังเวทย์ คนลาวสกปรกกินหนอนกินงู เกียจคร้าน

แม้จะรวมแว่นแคว้นเผ่าพันธุ์ต่างๆ มาเป็นประเทศเดียวกันแล้ว แต่การสร้างภาพผู้ต่ำต้อย เพื่อใช้กดขี่ชาวชนบทที่มาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ยังคงดำเนินอยู่

———————————————————————————————————-

ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 68
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1648 (วันที่ 16-22 มีนาคม 2555)