พระพี่นางสุพรรณกัลยา vs นางพญาวิสุทธิเทวี องค์ประกันทางการเมือง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระมหาเทวี และพระพี่นาง องค์ประกันทางการเมือง

หลายปีก่อนยุคที่มีกระแส “สุริโยไท-สุพรรณกัลยาฟีเวอร์” กระหึ่มในรูปแบบภาพยนตร์-ละคร ได้มีผู้ตั้งคำถามเชิงสนเท่ห์ในทำนองว่า พระศรีสุริโยทัยถูกฟันด้วยของ้าวเพื่อปกป้องพระสวามีจริงหรือ?
กรณีของพระสุพรรณกัลยา ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ อยู่ๆ ก็โผล่ตัวตนขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นในวัยเด็ก (ของคนที่มีอายุ 40 อัพ) ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของราชนารีผู้นี้ในวิชาประวัติศาสตร์มาก่อนเลย
รวมไปถึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมดวงวิญญาณของพระสุพรรณกัลยาต้องไปกรากฏใน “นิมิตฝัน” ของหลวงปู่โง่น โสรโย จนนางได้เลื่อนสถานะจาก “เจ้าหญิง” กลายเป็น “เทพ” ให้ผู้คนบูชา


ดูเหมือนแฟนหนังชาวไทยเกินครึ่งประเทศ ไม่สนใจที่จะสืบค้นหาความจริง มากไปกว่าการ “อิน” ในชีวิตร้าวรันทดของพระพี่นางผู้เสียสละตน ยอมเป็นจำเลยรักกษัตริย์พม่า เพื่อให้พระนเรศวร “กู้ชาติ” ได้สำเร็จ เข้าทำนองคนดีที่ปิดทองหลังพระ

.
ถึงขนาดบริษัททัวร์พาเที่ยวพม่า แต่เดิมเน้นแค่ไปพระธาตุชเวดากอง พระธาตุอินทร์แขวน ทะเลสาบอินเล ณ บัดนี้ยังต้องเพิ่มโปรแกรมเมืองหงษา (หงสาวดี) เพื่อไปชี้จุดตำหนักที่ประทับของพระสุพรรณกัลยา

.
ขณะที่กระแสความสงสัยในเงื่อนงำนี้ยังไม่สร่างสิ้น พลันมีปริศนาใหม่ที่อุบัติขึ้นมาท้าทายองค์ความรู้เดิมๆ อีก อันเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันโดยมี “จะเด็ด-ผู้ชนะสิบทิศ” ของ “ยาขอบ” หรือ “บุเรงนอง” เป็นพระเอกยืนอยู่ตรงกลาง

.
ใช่แล้ว! เรากำลังกล่าวถึง “นางพญาวิสุทธิเทวี” กษัตรีย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเดิมเชื่อกันว่า เคยตกเป็นหนึ่งในชายาของบุเรงนองเช่นกัน อยู่ๆ ก็กลับตาลปัตรกลายเป็นว่าไม่ใช่ไปเสียอีก
ตกลงแล้วระหว่าง “สุพรรณกัลยา” กับ “วิสุทธิเทวี” นั้น ใครกันแน่ที่ถูกบุเรงนองพาไปเป็น “องค์ประกันทางการเมือง” คนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคน ฤๅไม่ใช่เลยสักคน?

สุพรรณกัลยา คือตระละแม่ “อะเม้ียวโยง”?
บุคคลแรกที่เอ่ยนามของ “พระสุพรรณกัลยาณี” ก็คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในหนังสือ “พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” โดยระบุว่าเป็นพระพี่นางของพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ (ยังมีพระอินทรเทวีเป็นพี่สาวคนโตอีกองค์) ทรงประสูติที่พิษณุโลก มีพระชนก-ชนนีคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช-พระวิสุทธิกษัตรี (ชื่อนี้อย่าได้สับสนกับ “นางพญาวิสุทธิเทวี” แห่งล้านนาที่เรากำลังพูดถึงอีกองค์)

.
เป็นเอกสารเพียงเล่มเดียวที่เขียนว่า “พระสุพรรณกัลยาณี” ทว่าหลักฐานชิ้นอื่นนั้น เรียก “พระสุวรรณ” ซึ่งอันที่จริงก็มีความหมายเดียวกัน อาทิ พระราชพงศาวดารมหาราชวงศ์ของพม่า ระบุว่ามหเสีของบุเรงนององค์หนึ่งเป็นพระพี่นางของ “กษัตริย์นริศ” (พระนเรศวร) แห่งอยุธยา นามว่า “สุวรรณ” ภาษาพม่าเรียก “อะเมี้ยวโยง – A Myo Yong”

.
เช่นเดียวกับพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า ชำระเมื่อปี 2372 แปลเป็นไทยสมัยรัชกาลที่ 5เขียนว่า “ออกยาพิศนุโลกผู้ครองกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายบุตรีพระชนม์ 17 ปี มีนามว่า พระสุวรรณ (Bra Thawan) พระเจ้าหงษาวดีทรงรับไว้”

.
สำหรับเอกสารฝ่ายไทยที่ปรากฏเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา ก็มีอยู่ใน สังคีติยวงศ์ รจนาโดยสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน ด้วยภาษามคธ เมื่อปี 2332 มีการเอ่ยถึงพระพี่นางของพระนเรศวรแต่ไม่ระบุนามว่า “พระมหาธรรมราชา ได้ถวายสมเด็จพระนริสสราชแก่พระเจ้าหงษา (หมายถึงบุเรงนอง) พร้อมด้วยพระราชธิดา พระเจ้าหงษาจึงพาไปอยู่หงษานครกับด้วยพระภาดาหลายปี”


เมื่อประมวลหลักฐานจากหลายฝ่าย เห็นได้ว่า “พระสุพรรณกัลยา” นั้นมีตัวตนอยู่จริง และถูกส่งไปเป็นชายาของบุเรงนองอยู่ที่หงสาวดีจริงตามธรรมเนียมของเมืองประเทศราช แต่ที่นั่นคนเรียกพระนางว่า “อะเมี้ยวโยง”

.
ส่วนประเด็นซอกแซกที่หลายคนยังคาใจว่า หลังจากบุเรงนองตายแล้ว พระสุพรรณกัลยาต้องตกเป็นสนมของนันทบุเรงต่อจริงไหม ทำไมจึงรักลูกรักผัวที่เมืองหงษามากกว่าจะยอมกลับไปกู้ชาติกับน้องชาย หรือตอนที่พระนเรศวรกอบกู้กรุงศรีอยุธยาสำเร็จ นันทบุเรงเกิดความคลั่งแค้นที่พระมหาอุปราชาเสียชีวิตจากการชนช้าง จนเอาดาบฟันพระพี่นางขณะนอนให้น้ำนมลูกอ่อนตายอนาถจริงหรือ ?

.
เรื่องดราม่าเหล่านี้ ต้องฟังหูไว้หู เพราะมีข้อมูลจากนักวิชาการชาวตะวันตกที่สืบค้นอย่างละเอียด พบว่าหลังจากสิ้นบุเรงนองแล้ว พระพี่นางได้ย้ายไปอยู่กรุงอังวะ จนมีลูกหลานเหลน เหลนคนนี้เองที่บวชเป็นพระและทำหน้าที่ีบันทึกพงศาวดารพม่า ไม่มีตอนใดกล่าวถึงการถูกโอนไปเป็นนางสนมของนันทบุเรง ยิ่งต้องมาตั้งครรภ์ในวัยเกือบ 40 แล้วถูกสวามีใหม่ฆ่าตายนั้นยิ่งฟังไม่ขึ้น!

นางพญาวิสุทธิเทวี ไม่ใช่ “เจ้าตนคำ” เสียแล้ว?
ข้างฝ่ายล้านนาช่วงที่บุเรงนองยกทัพมาเชียงใหม่ในปี 2101 ก็มีหลักฐานระบุว่า กษัตริย์ล้านนาจำต้องส่งราชธิดานาม “เจ้าตนคำ” ไปถวายเป็นบาทบริจาริกาเช่นกัน เจ้าตนคำ คือพระธิดาของท้าวซายคำ (ท้าวซายคำเป็นโอรสของพระเมืองเกษเกล้า)

.
และเรายังคงเชื่อต่ออีกว่า ยุคที่พม่าเรืองอำนาจ เจ้าตนคำได้รับการสถาปนาโดยภัสดาบุเรงนองให้เป็น “นางพญาวิสุทธิเทวี” ที่ถูกส่งกลับมาเป็นกษัตรีย์ครองเชียงใหม่ภายใต้ร่มเงาหงษา แถมยังมีพยานรักด้วยกันหนึ่งคนคือ “เจ้าฟ้ามังทรา” (นรตรามังช่อ-นรธาเมงสอ)

.
ที่กล่าวมานั้นเป็นองค์ความรู้เดิมๆ ที่เกิดขึ้นจากการปะติดปะต่อคลำทางจากหลักฐานอันจำกัด ในเมื่อบุเรงนองเคยนำเจ้าหญิงล้านนาไปเป็นองค์ประกันหนึ่งนาง และต่อมาบุเรงนองก็แต่งตั้งให้ราชนิกูลล้านนานางหนึ่งขึ้นนั่งเมือง จึงทำให้นักประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงทศวรรษ 2520-2540 ย่อมอดคิดไม่ได้ว่าแม่ญิงสองนางนี้ต้องเป็นคนเดียวกัน มิเช่นนั้นบุเรงนองจะไว้ใจใครอื่นได้หากมิใช่ชายาของตัวเอง
หลักฐานที่ชวนให้เชื่อว่า นางพญาวิสุทธิเทวีเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ามังทราผู้เป็นโอรสบุเรงนอง ปรากฏอยู่ใน

“โคลงมังทรารบเชียงใหม่”

“ได้แล้วภิเสกท้าว เทวี
เป็นแม่มังทราศรี เร่งเรื้อง”
องค์ความรู้นี้ยังต่อยอดไปอีกว่า เมื่อนางพญาวิสุทธิเทวีสวรรคตภายหลังครองราชย์ได้ 14 ปีแล้ว บุเรงนองได้ส่งโอรสชื่อนรธามังช่อมาครองเชียงใหม่สืบแทนพระมารดาด้วย ดังบทโคลงที่ว่า
“ลูนนั้นยกเจื่องเจ้า สาวถี
นรทรามังช่อศรี ลูกฟ้า
มาเสวยราชธานี แทนแท่น พระนี”

.
อาจกล่าวได้ว่าประวัติความเป็นมาของเจ้านางองค์นี้ เกิดขึ้นจากการตีความบทโคลงอันคลุมเครือเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอื่นใดมารองรับว่าแท้จริงแล้ว “นางพญาวิสุทธิเทวี” เป็นใครกันแน่ เป็นคนเดียวกันกับ “เจ้าตนคำ” หรือไม่ รวมไปถึง “นรธามังช่อ” เป็นลูกของนางจริงหรือ?


จนกระทั่ง ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา ได้สืบค้น “ทำเนียบมเหสีของบุเรงนอง” ทั้งกลุ่มมเหสีใหญ่และมเหสีเล็ก จากพงศาวดารพม่า สรุปความได้ว่า ทั้งสองทำเนียบ นับเฉพาะที่ให้กำเนิดโอรสธิดานั้นมีทั้งสิ้น 42 นาง มีอยู่องค์หนึ่งเป็นธิดาของเจ้าซินเหม่ (เชียงใหม่) ภาษาพม่าเรียกชื่อนางว่า “เคงเก้า – Khin Kank” น่าจะเป็นองค์เดียวกับ “เจ้าตนคำ” แต่…ต่อมาได้กลายเป็นวิสุทธิเทวีหรือไม่ยังน่าสงสัย

.
เหตุเพราะ “ตระละแม่เคงเก้า” มีธิดากับบุเรงนองหนึ่งองค์ชื่อ “ราชมิตร” หาใช่โอรสนาม “นรธามังช่อ” ไม่ อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดระบุว่าบุเรงนองมอบหมายให้ตระละแม่เคงเก้าพร้อมลูกชายกลับไปนั่งเมืองเชียงใหม่

.
แล้วใครเล่าเป็นพระมารดาของนรธามังช่อ ทำเนียบมเหสีฉบับเดิมชี้ชัดว่า นรธามังช่อเป็นโอรสของพระมเหสีราชเทวี นามเดิมคือ “เชงทเวละ” ผู้เป็นธิดาของเจ้าสตุกามณี แห่งเมืองดีมเยง (น่าจะอยู่ใกล้เมืองแปร) โดยนรธามังช่อมีศักดิ์เป็นโอรสองค์โต ยังมีอนุชาอีกองค์หนึ่งซึ่งได้ครองเมาะตะมะ
ถ้าเช่นนั้นพงศาวดารพม่ามิขัดแย้งกับข้อความที่ระบุในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ดอกรึ?
เรื่องนี้ ดร.สุเนตร เสนอว่าขอให้กลับไปทบทวนตีความ “นัยยะ” ที่ปรากฏในโคลงนั้นใหม่อีกครั้ง การระบุว่านางพญาเชียงใหม่ “เป็นแม่มังทราศรี” นั้น ในที่นี้มิได้หมายถึงชื่อเฉพาะของ “เจ้าฟ้ามังทรา” เหตุเพราะคำว่า “มังทรา” หรือ “มังนรธา” มีรากศัพท์มาจาก “เมงตะยา” แปลว่า “ธรรมราชา” ในภาษาพม่ายังใช้เรียก “กษัตริย์หรือเจ้าฟ้า” โดยรวมได้อีกด้วย

.
แล้ว “กษัตริย์” องค์ใดเล่าที่เป็นลูกของนางพญาวิสุทธิเทวี หากมิใช่ “นรธามังช่อ” ดร.สุเนตรเสนอว่า โอรสของนางพญาวิสุทธิเทวีน่าจะเป็น “ท้าวเมกุฏิ” กษัตริย์ล้านนาองค์ก่อน ที่กล้าแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนข้อให้กับบุเรงนองก็เป็นได้ ทำให้บุเรงนองไม่ไว้ใจ ต้องจับลูกมาเป็นตัวประกันที่หงษา แล้วแต่งตั้งแม่เป็นกษัตริย์แทน

.
หลายคนฟังแล้วอาจค้านในใจ ด้วยรู้มาว่าท้าวเมกุฏินั้น ก่อนนั่งเมืองเชียงใหม่ เคยบวชเป็นพระอยู่ที่เมืองนายอันเป็นแว่นแคว้นเขตไทใหญ่ แต่ให้เผอิญว่าเป็นเจ้าฟ้าที่มีเชื้้อสายราชวงศ์มังรายอยู่บ้าง (สายขุนเครือ ซึ่งเป็นโอรสองค์สุดท้องของพระญามังราย) เช่นนี้แล้ววิสุทธิเทวีก็มาจากเมืองนายด้วยล่ะหรือ
เรื่องสายเลือดผสม “ไทใหญ่” นี้ไม่ทราบชัดนัก แต่มีข้อสังเกตว่านามเต็มของท้าวเมกุฏิคือ “เมกุฏิ(วิ)สุทธิวงศ์” นั้น อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าสืบสายวงศ์มาจากวิสุทธิเทวีผู้เป็นมารดาก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้ว โคลงมังทรารบเชียงใหม่เรื่องเดิมยังระบุว่า มหาเทวีองค์นี้เสวยราชย์ในวัยชราภาพพอสมควร
“มหาอัครราชท้าว เทวี
ย้อมหงอกกินบุรี ก่อมเถ้า”
หากเรามองภาพเปรียบเทียบระหว่าง การที่บุเรงนองจำต้องยึดตัว “ท้าวเมกุฏิ” ผู้เอาใจออกห่างจากพม่ามาขังไว้ที่หงษา แล้วมอบวิสุทธิเทวีผู้แม่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องยอมปรองดองทุกวิถีทาง ให้นั่งเมืองแทน เพราะหากแม่กระด้างกระเดื่องเมื่อใดก็ตาม ผลร้ายก็จะตกมาอยู่กับลูกผู้เป็นตัวประกัน
ภาพดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากการที่บุเรงนองกล้าปล่อยน้องชายคือ “พระนริศ” (เป็นคำที่พม่านิยมเรียกพระนเรศวร) แต่กักพี่สาวไว้ก่อน เชื่อว่าน้องคงไม่ตุกติกคิดแข็งเมืองแน่ เพราะชะตากรรมของพี่สาวยังอยู่ในกำมือ

.
แต่ไฉน ฉากอวสานของตัวประกันฝ่าย “โยเดีย” (อยุธยา) และ “ซินเหม่” คือทั้งพระสุพรรณกัลยาและท้าวเมกุฏิ ต่างก็ถูกสังหารโดยน้ำมือสองพ่อ-ลูก “บุเรงนอง-นันทบุเรง” ไม่ต่างกัน ไม่ว่าพระนเรศวรจะกล้าต่อกร หรือนางพญาวิสุทธิเทวีจะยอมอ่อนข้อก็ตาม
แม้หลายคนอาจรู้สึกรำคาญต่อละครน้ำตาท่วมจอ ที่มุ่งเชิดชูวีรกรรมความเสียสละของพระสุพรรณกัลยา อยู่บ้าง แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ “ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งพงศาวดารมองข้าม” ได้ออกมายืนนอกร่มเงา “พระนเรศวรมหาราช” บ้าง
ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากเชื่อว่า “พระสุพรรณกัลยา” มีตัวตนจริง ที่ไหนได้พระนางกลับมีชีวิตโลดแล่นในนามตระละแม่ “อะเมี้ยวโยง” ซึ่งมีอยู่จริงในเมืองหงษา


ในขณะที่นางพญาวิสุทธิเทวี ซึ่งนักประวัติศาสตร์เคยเชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำว่าเป็น “เจ้าตนคำ” จำเลยรักของบุเรงนอง กลับกลายเป็น “แม่ผู้ชราภาพ” ของตัวประกัน (พระเมกุฏิ) ไปซะงั้น

จากบทความปริศนาโบราณคดีตอนที่ 88 มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1668 (3-10 สิงหาคม 2555) ปีที่ 32 ชื่อเรื่องเดิม เงื่อนงำจำเลยรัก “บุเรงนอง” สุพรรณกัลยา VS วิสุทธิเทวี